ภาพถ่าย: นิธิ นิธิวีรกุล / ภาพประกอบ: Shhhh
หลังจากกลุ่มขบวนการก่อการร้ายสร้างรัฐอิสลามขึ้นในดินแดนบางส่วนของซีเรียและอิรัก ปรากฏการณ์ของ
‘ขบวนการรัฐอิสลาม’ (Islamic State : IS) ได้เป็นกระแสที่แวดวงวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น…
จากหนังสือ ขบวนการรัฐอิสลาม
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะสนใจหรือไม่สนใจ ภาพข่าวคลื่นผู้อพยพทั้งในซีเรียและรัฐยะไข่ล้วนต้องเคยผ่านตา และอาจก่อให้เกิดเป็นคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น?
ยิ่งเมื่อตัดอคติความเกลียดชังที่มักพบเห็นได้ทั่วไปบนโลกโซเชียลมีเดีย คำถามต่อจากนั้นคือ สิ่งใดที่ก่อให้เกิด IS ขบวนการก่อการร้ายที่น่าสะพรึงที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน มากกว่านั้น การปรากฏตัวขึ้นของความรุนแรงที่เรียกว่า lone wolf หรือ ‘การก่อการร้ายส่วนบุคคลโดยผู้ก่อการร้ายเพียงลำพัง’
ทั้งหมดนี้บอกอะไร?
การก่อการร้ายส่วนบุคคลและขบวนการก่อการร้าย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
เพื่อจะตอบคำถามนั้น ชมรม Politicus คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาในชื่อ ‘Lone Wolf : the terror threat among us’ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมสะสางคำถามเพื่อตอบให้ได้ถึงที่มาที่ไปของ lone wolf
Lone Wolf คืออะไร
หากจะกล่าวว่า การกระทำของ lone wolf ไม่แตกต่างจากการก่ออาชญากรรมทั่วไปก็คงไม่ผิดนัก ทว่าในความเป็นจริง lone wolf หรือที่บางคนแปลว่า ‘การก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยว’ มีสาแหรกที่แยกขาดจากความรุนแรงในลักษณะของการก่ออาชญากรรมทั่วไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว โดยอาทิตย์อธิบายว่า การจะเข้าใจต้องย้อนกลับไปทบทวนนิยามของคำว่า ‘การก่อการร้าย’ ที่โดยส่วนตัวแล้วเขาพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้ และเปลี่ยนไปใช้คำเรียกตามลักษณะกิริยาอาการของการกระทำมากกว่า เช่น วางระเบิดก็วางระเบิด วินาศกรรมก็คือวินาศกรรม เพราะคำว่าก่อการร้ายไม่ได้บอกอะไรเรา บอกแต่ว่ามีสิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นเท่านั้น
“ทีนี้คำกลางๆ ที่พอจะยอมรับกันได้ทั่วไปก็คือ ‘การก่อการร้าย’ คือการกระทำความรุนแรงเพื่อก่อให้เกิดมุ่งความสะพรึงกลัว โดยมีจุดมุ่งหมายในทางการเมือง แต่อยากให้ใส่วงเล็บเล็กๆ ลงไปด้วยนะครับ ว่าไม่ใช่ความหมายที่อยากให้ยอมรับกันทั่วไป”
อาทิตย์อธิบายสั้นๆ ถึงนิยามของคำว่าการก่อการร้าย ก่อนจะอธิบายความหมายของ lone wolf ไว้ว่า เป็นอีกประเภทหนึ่งของการก่อการร้าย ซึ่งจะง่ายกว่า หากพิจารณาว่า lone wolf ไม่จัดอยู่ในรูปแบบใดบ้าง
ข้อแรกอาทิตย์อธิบายว่า lone wolf คือ การกระทำในลักษณะปัจเจกบุคคลไม่ใช่กลุ่มหรือองค์กร ประการถัดมา lone wolf เป็นการกระทำโดยลำพัง โดยไม่ขึ้นต่อการสั่งการและเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรใด
ธรรมชาติถึงที่สุดของพวกเขาคือ วางตัวซ่อนอยู่ในสังคมที่เป็นเป้าหมายการโจมตี และครอบครองศักยภาพในการกระทำการโดยตัวเองในเวลาใดก็ได้
Sleeper Cell และ Lone Wolf
นอกจาก lone wolf แล้ว อาทิตย์ยังอธิบายถึงผู้ก่อการร้ายอีกประเภทที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ lone wolf ที่เรียกว่า ‘sleeper cell’ ซึ่งมีคีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่การนิ่งเงียบหรือหลับใหล ตามลักษณะนิยามที่เรียกว่า sleeper cell แต่จะ ‘ตื่น’ ขึ้นมาก่อการเมื่อได้รับคำสั่งจากกลุ่ม หรือองค์กรที่ตนสังกัด
ตรงนี้สำคัญยังไง ในขณะที่ seeper cell ทำงานบนตรรกะของการสั่งการ แต่ lone wolf จะทำงานบนตรรกะไม่ได้รับการสั่งการ พึงกระทำโดยตนเอง ทั้งการวางแผน การวางจุด การกำหนดทิศของการจะใช้ความรุนแรง หรือการก่อการร้าย ซึ่งทั้งหมดกระทำโดยเพียงลำพัง
ประเด็นสำคัญที่อาทิตย์กล่าวก็คือ ความแตกต่างของทั้ง lone wolf และ sleeper cell จะกำหนดทิศทางต่อการจัดการของรัฐ กล่าวให้ชัดคือ กรณี sleep cell รัฐสามารถใช้การสืบสวน หาข่าว เพื่อตัดตอนกระบวนการก่อนการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่กับ lone wolf
นอกจากนี้ ความแตกต่างอีกประการคือ sleeper cell อาจจะถูกจัดวางให้อยู่ในสังคมบางสังคม โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่นั้นๆ เลยด้วยซ้ำ เป็นแต่เพียงเป้าหมายที่ถูกกาหัวไว้
“แต่ lone wolf มักจะวางซุกอยู่ในสังคมที่มีความไม่เป็นธรรมปรากฏอยู่ และกระทบต่อความคับข้องใจของเขา”
ความเข้าใจต่อการตอบโต้ความรุนแรง
ไม่เพียงแต่ลักษณะการแตกต่างที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ แต่กรอบของการโต้ตอบของรัฐต่อทั้ง sleep cell และ lone wolf ก็เป็นสิ่งที่อาทิตย์มองว่า รัฐจำต้องทบทวนให้ได้ก่อนว่า การจะใช้วิธีการตอบโต้ lone wolf แบบเดียวกับ sleeper cell ด้วยการมุ่งโจมตีความเชื่อความศรัทธาของ lone wolf และคิดเอาเองว่า พวก lone wolf ถูกทำให้เชื่ออย่างผิดๆ เลยไปถึงถูกล้างสมองมา ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา
“ถ้าคุณมุ่งทำแต่เรื่องอย่างนั้นเพียงอย่างเดียว มันจะให้ผลตรงกันข้ามเช่นเดียวกัน เพราะเราเพิกเฉยต่อรากเหง้าที่เขาไปจับอาวุธไง เราไปบอกเขาว่าอย่าทำนะ เพราะเรื่องนี้ศาสนาไม่ได้สอน เรื่องนี้ไม่ดีอย่างนู้นไม่ดีอย่างนี้ แต่ไม่ได้สนใจว่าเขาคับข้องใจยังไง ซึ่งภาพของรัฐที่ออกมาแบบนี้ คือแม่งโคตรตอแหลเลย เชื่อถือไม่ได้ เพราะฉะนั้น แรงฟีดแบ็คโต้กลับก็อาจจะรุนแรงมากขึ้น พูดอีกแบบก็คือว่า งาน counter narrative (การตอบโต้ทางชุดความคิด) ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ปฏิบัติจริงในการจะดีลกับความคับข้องใจของผู้คนที่พวกเขาเผชิญ มากกว่าจะมาเซ็ตเรื่องเล่าตกแต่งอะไรต่างๆ นานาเพื่อจะไปต่อต้านความคิดในเรื่องการใช้ความรุนแรง”
Trigger Event
ในส่วนต่อมา อาทิตย์กล่าวว่า บรรดาความคิดความเชื่อ รวมไปถึงโฆษณาชวนเชื่อที่เกี่ยวโยงกับ lone wolf เป็นเพียงปัจจัยลำดับรอง แต่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด lone wolf คือสิ่งที่เรียกว่า trigger event หรือเหตุการณ์ที่นำไปสู่การลั่นไก
“เหตุการณ์ที่มันเหนี่ยวนำให้เขาเริ่มที่จะคิดถึงคำตอบบางอย่าง ซึ่งอาจจะถูกโน้มนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในตอนนั้น เช่น เขาอาจจะเจอความไม่เป็นธรรมในชีวิตประจำวันซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วพอชุดข้อมูลบางอย่างจากกลุ่มองค์กรก่อการร้ายก็ดี หรือว่าอะไรก็ดี มาจ๊ะเอ๋เข้ากับคำถามที่เขามีในใจ ว่าทำไมเขาถึงโดนกระทำแบบนั้น แล้วคำตอบเหล่านี้ หนึ่งคือ มันอาจจะให้คำตอบที่เขาคิดว่า ใช่เลยว่ะ เออ ถูกต้อง เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือสอง – มันให้ความสบายใจกับเขา เช่น อาจจะบอกว่า เธอนี่จริงๆ แล้วไม่ใช่พลเมืองของรัฐนี้หรอก เธอเป็นกลุ่มของฉันมากกว่า และนี่คือการมอบคืนความหวังให้คน ฉะนั้นมันมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิด lone wolf ได้ทุกที่ในโลก แต่สังคมที่มอบความหวังให้มากกว่า โอกาสที่จะเกิด lone wolf จะมีน้อยกว่า”
อคติบนความเชื่อของรัฐสมัยใหม่
ความเชื่อหนึ่งที่มักมองว่า ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นคนในศาสนาอิสลาม ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ อาทิตย์อธิบายว่า เราต้องจำแนกให้ได้ก่อนว่าศาสนาอิสลามคือเรื่องหนึ่ง ขณะที่ชาวมุสลิมนั้นเป็นอีกเรื่อง
โดยข้อเท็จจริง แน่นอนว่าทุกศาสนาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเรียกร้องความรุนแรง แต่ด้วยจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีมากกว่าพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งดำเนินแนวทางห่างไกลจากแนวทางอิสลามโดยมุสลิมสุดโต่ง ด้วยจำนวนผู้นับถือที่มากมายนั่นเอง ผู้คนจึงเหมารวมว่าผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นคนละประเด็น
“ประการต่อมา เมื่อมาดูที่ตัวมุสลิม การที่เขาก่อการร้ายมันมีสาเหตุมาจากตัวศาสนาหรือมีเหตุปัจจัยอื่น”
อาทิตย์มองว่า หากย้อนกลับไปดูร่องรอยของประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มาจากปัจจัยทางการเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องทางโลกมากกว่าจะเป็นในเรื่องทางธรรม ยกตัวอย่างกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ของ บิน ลาเดน ที่เริ่มต้นจากการเป็นสำนักตัวแทนเรียกร้องระดมชาวมุสลิมทั่วโลกมาต่อสู้ขับไล่โซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน โดยได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธ และการฝึกฝนจาก CIA ของสหรัฐ
“กลุ่มอัลกออิดะห์เกิดขึ้นจากสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น ไม่ได้มาจากอัลกุรอาน”
การขึ้นมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลเช่นไรต่อ Lone Wolf
ประเด็นต่อมา การดำเนินนโยบายของสหรัฐถึงปัญหาต่อการเพาะเชื้อให้เกิดกลุ่ม IS ในซีเรียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยความเชื่อของทั้งจากอเมริกาและรัสเซียที่มองว่า กลุ่มคนมุสลิมในซีเรียเป็นแหล่งเพาะเชื้อที่ต้องทำลายให้สิ้น ไม่เช่นนั้นกลุ่มคนที่ติดเชื้อเหล่านี้จะข้ามแดนมายังยุโรปตะวันตก และอเมริกา จนมาติดพวกตนในที่สุด ซึ่งการกระทำเช่นนี้ยิ่งกลับเป็นการทำให้เชื้อนั้นแพร่กระจายมากขึ้น
ลึกไปกว่านั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะลุกขึ้นมาเป็น lone wolf ความรู้สึกแบบไหนที่ฉุดคนให้ลุกขึ้นมาจับอาวุธ ต่อประเด็นนี้ อาทิตย์มองว่า เราจำเป็นต้องมีกลไกทางสังคมในการตรวจสอบผู้คนในสังคมว่าปัจจัยไหนบ้างที่ส่งผลให้คนธรรมดาคนหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นผู้ก่อการร้าย
ความพร้อมของรัฐและสังคมไทย
เรามักจะเดินตามหลังผู้ก่อการร้ายก้าวหนึ่งเสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้รัฐที่ประกาศตัวว่ามีเข้มแข็งและมีความสงบเรียบร้อยอย่างที่สุด ก็ยังไม่มีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อการป้องกันการก่อการร้าย ซึ่งเมื่อหวนกลับมาดูหน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิตย์มองว่า เราต้องการการแชร์ข้อมูลในระดับสากล
“พูดอีกแบบก็คือว่า การแชร์ข้อมูลกับตำรวจสากล กับอินเตอร์โปล บัญชีแบล็กลิสต์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นแบล็กลิสต์ของอาชญากร หรือผู้ที่มีคดีทางอาญา เพราะว่าเราก็ไม่ต้องการให้คนพวกนี้เข้าประเทศมาเป็นข้อต่อหนึ่งในเครือข่ายก่อการร้าย ซึ่งตรงจุดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเรามีการแชร์ข้อมูลกับอินเตอร์โปลหรือยัง”
อาทิตย์มองว่า เครื่องมือจำเป็นในการใช้ป้องกันภัยการก่อร้ายเป็นคนละอย่างกับที่รัฐไทยทุ่มงบประมาณซื้ออยู่ในตอนนี้ เช่น ไบโอแมทริกซ์ การสแกนม่านตา การใช้ชิปเพื่อฝังลงไปตามบัญชีสินค้าที่นำไปเป็นวัตุสำคัญในการประกอบระเบิด หรือการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมไปถึง cctv ที่จะไม่ดับเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้
ข้อต่อมา แม้สังคมไทยจะยังคงคิดว่าภัยก่อการร้ายจาก IS เป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลประโยชน์ของกลุ่มชาติศัตรูของ IS ก็มีอยู่ในประเทศไทยเองไม่น้อย ทั้งรัสเซีย จีน และสหรัฐ
ไม่เพียงเท่านั้น อาทิตย์ยังมองอีกว่า สังคมไทยจำเป็นต้องมีเซนส์ของความรู้สึกว่าต้องป้องกันภัย ไม่ใช่ด้วยความหวาดระแวง แต่วางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า มันอาจเกิดขึ้นได้
สังคมที่ไม่อ่อนไหวในเรื่องควรอ่อนไหว
ที่ผ่านมาสังคมไทยมักมีเรื่องของการล้อเลียนจนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้สังคมไทยไม่เซนสิทีฟกับเรื่องนี้ ซึ่งในอีกด้าน ปัจจัยของการล้อเลียนนี้ นอกสังคมไทยอาจกลายเป็นสาเหตุให้เกิด trigger event ขึ้นได้
“เพราะฉะนั้นระดับที่ปัจจัยตรงนี้จะก่อให้เกิด trigger event นำไปสู่การก่อการร้ายได้นี่ระหว่างในไทยกับในตะวันตกไม่เท่ากัน ขณะเดียวกัน ในภาพทางวิชาการ งานของ เบน แอนเดอร์สัน ในเล่ม ไทยคดีศึกษา และงานอีกชิ้นของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ในเล่ม Siam Mapped ซึ่งพูดเรื่องเดียวกัน นั่นคือ วิธีการที่สังคมหรือนักวิชาการไทยมองตัวเอง มองเข้าใจสังคมไทย มันเป็นลักษณะของ self apporved พูดอีกแบบ คือ มันหลงใหลตัวเอง มันหลงตัวเอง”
ในแง่นี้ อาทิตย์หยิบยืมวลีจาก เกษียร เตชะพีระ มาอธิบายว่าเป็น “ความหลงตัวเองของสังคมไทยในระดับญาณวิทยา” ที่ต่อให้เป็นนักวิชาการจากต่างประเทศก็ไม่มีวันเข้าใจคนไทย ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่อาทิตย์มองว่า เป็นชุดความเชื่อที่อันตราย เพราะจะมองไม่เห็นจุดบกพร่อง จุดอับที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย แล้วพอเกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น เราก็จะบอกว่ามันเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คนไทย
“เราจะหาทางอยู่ร่วมในสังคมที่เราจะเจอความแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ในระยะยาว อันนี้อันตราย”