5 ความจริงของอาหารมหัศจรรย์

 

ร่วมถอดความจริงจากคุณสมบัติและโภชนาการล้ำๆ ของ ‘อาหารมหัศจรรย์’ ที่เรามักได้ยินเพียงคำเล่าลือในเรื่องสรรพคุณ แต่อาจไม่เคยตั้งคำถามกับมันอย่างจริงจัง ดเวน เมลเลอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโภชนาการ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม และโฆษกสมาคมโภชนาการอังกฤษ (British Dietetic Association) จะเป็นผู้ช่วยถอดคุณสมบัติอาหารทั้ง 5 อย่างให้เห็นความจริงที่ผู้บริโภคควรทราบ

 

Calicut, Kerela

1. น้ำมันมะพร้าว

เป็นไขมันอิ่มตัว ที่เคยเชื่อกันว่าอาจนำไปสู่ภาวะอุดตันเส้นเลือดหัวใจ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปว่าไขมันอิ่มตัวจะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลทั้งดีและไม่ดี น้ำมันมะพร้าวจะไปเพิ่มปริมาณไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

มีผู้แนะนำว่าน้ำมันมะพร้าวจะช่วยจัดการปริมาณน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันอาการหลอดเลือดสมองตีบและอัลไซเมอร์ ซึ่งยังไม่มีการยืนยันผลจากการทดลองในอาสาสมัคร

คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ: การรับประทานอาหารที่ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นครั้งคราว น่าจะดีต่อสุขภาพกว่าการรับประทานทุกวัน

 

 

Apple_vinegar

 

2. น้ำส้มหมักจากแอปเปิล

ผลด้านสุขภาพที่คาดว่าจะได้รับจากการรับประทานน้ำส้มสายชูแอปเปิล หรือที่นิยมเรียกว่า แอปเปิลไซเดอร์ มีตั้งแต่ ช่วยป้องกันระบบทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย แก้เจ็บคอ ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันมะเร็ง รังแค เป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน และยังช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด

องค์การอาหารปลอดภัยแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ยังไม่ให้การรับรองสรรพคุณที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่การทดลองยังคงอาศัยสัตว์ทดลองหรือเซลล์มนุษย์  และเกิดขึ้นจากการควบคุมตัวแปรต่างๆ ในห้องแลบ

คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ:  ปกติแอปเปิลไซเดอร์มักใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร เช่น ใส่แทนน้ำมันหรือมายองเนสในน้ำสลัด หรือใช้ร่วมกับซอสต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร โดยช่วยลดการเติมเกลือได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น คุณประโยชน์ของมันอาจอยู่ที่การแทนที่เครื่องปรุงอาหารอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพน้อยกว่า

 

 

Honey

3. น้ำผึ้งมานูกา

มานูกา เป็นชาชนิดหนึ่งที่พบมากแถบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คุณสมบัติพิเศษของน้ำผึ้งดอกมานูกาที่ได้รับการกล่าวอ้าง คือมีสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติ โดยมีเมทิลไกลออกซาล (methylglyoxal) ในปริมาณมากกว่าที่พบในน้ำผึ้งทั่วไป

ผลการศึกษาระบุว่า น้ำผึ้งมานูกาสามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆ อาทิ อาการไอ ได้ดี แต่ไม่แน่ชัดว่าผลที่เกิดขึ้นคือผลของสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในน้ำผึ้งหรือมาจากสัมผัสนุ่มคอที่เป็นคุณสมบัติของน้ำเชื่อมโดยทั่วไป

คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ:  ผลทางการรักษาของน้ำผึ้งมานูกายังไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ เมื่อเทียบระหว่างคุณสมบัติด้านสุขภาพที่จะได้รับในฐานะสารปฏชีวนะตามธรรมชาติ กับปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายจะได้รับเข้าไปแล้ว อาจไม่สมเหตุสมผลเท่าไรที่จะเลือกน้ำผึ้งมานูกาเป็นคำตอบแรกในการบรรเทาอาการระคายคอ

 

 

Spirulina

 

4. สาหร่ายเกลียวทอง

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes for Health) สหรัฐ เตือนว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองคุณสมบัติด้านสุขภาพของสาหร่ายเกลียวทอง หรือที่รู้จักกันในชื่อสาหร่ายสไปรูลินาอย่างเป็นทางการ

ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติในการเพิ่มระบบเผาผลาญอาหาร และอาการผิดปกติของหัวใจ การควบคุมความดันโลหิต และเบาหวาน ไปจนถึงช่วยฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า รวมทั้งอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder:  ADHD) เนื่องจากมีสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ ตั้งแต่ แคลเซียม ไนอะซิน โปแตสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี เหล็ก และกรดอะมิโนจำเป็นอีกหลายชนิด แต่ประเด็นคือ ไม่มีใครยืนยันว่าร่างกายจะสามารถดูดซึมสารเหล่านี้จากสาหร่ายได้แค่ไหน

คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ:  เราไม่ควรพึ่งพาสารอาหารจากสาหร่ายสไปรูลินา อาจจะดีกว่าถ้านำเงินจำนวนเดียวกันไปซื้อผักผลไม้สด แทนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมสาหร่ายมารับประทาน

 

 

-

 

5. เมล็ดเชีย

ด้วยคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า 3 แต่ร่างกายคนเราอาจไม่สามารถดูดซึมโอเมกา 3 จากพืชได้ดีเท่าจากสัตว์ อาทิ น้ำมันจากปลาแซลมอน แต่สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานปลา เมล็ดเชีย (Chia seeds) ซึ่งแต่เดิมนิยมบริโภคกันในแถบเม็กซิโก อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีโปรตีนและกากใย เมื่อนำไปแช่น้ำก่อนรับประทาน เมล็ดจะพองตัวคล้ายเม็ดแมงลัก ที่จะช่วยลดน้ำหนักโดยลดปริมาณอาหารที่รับประทานตามปกติ ขณะที่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับคุณสมบัติช่วยลดน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ

คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ: เหมาะจะเป็นส่วนผสมในขนมปังธัญพืช ขณะเดียวกัน เมล็ดฝ้ายหรือเมล็ดกัญชาก็มีปริมาณโอเมกา 3 สูงเช่นเดียวกัน การรับประทานเมล็ดเชียจึงไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้ร่างกายได้รับกรดไขมันตัวนี้

 

 

จากคำยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะพร้าว เมล็ดเจี่ย หรือแอปเปิลไซเดอร์ รวมทั้งอาหารต่างๆ ที่กล่าวมา ล้วนยังไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันความมหัศจรรย์ของพวกมัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่คำอธิบายสรรพคุณน่าเชื่อถือต่างๆ มาจากการตลาดและการโฆษณาแทบทั้งสิ้น

แต่ปัญหาที่พบคือ เมื่อคนทั่วไปได้รับข้อมูลคุณสมบัติของอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะทางออนไลน์ ก็มักไม่ค่อยตรวจสอบความถูกต้อง และเลือกที่จะเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามหรือหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

 

ที่มา: theguardian.com

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า