16 ตุลา วันประวัติศาสตร์ ที่เราอาจเข้าใจผิด

1

มันคือวันที่ 16 ตุลา 19?

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ใช่ 16 ตุลาคม

2

ทำไมแยก 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ไม่ออก

ไม่แปลก ถ้าคุณจะสับสนระหว่างเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา ไม่ว่าจะเกิดทันหรือไม่ ส่วนใหญ่คนมักจะจำ 14 ตุลา ได้มากกว่า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ ‘ประชาธิปไตย’ ที่นักศึกษาและประชาชนเป็นฝ่ายชนะ ต่างจาก 6 ตุลา ที่มีคนอยากให้ลืมเพราะเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

3

6 ตุลา มีคนตาย 1 คน?

สมัคร สุนทรเวช กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ทั้งที่ตัวเขาเองเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวกับนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสในปี 2520 ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา มีผู้เสียชีวิต 48 คน

ไม่ใช่มีแค่ 2 คน คือ วิชิตชัย อมรกุล กับ จารุพงษ์ ทองสินธุ์?

  • จากเอกสาร ‘Facts of the Incident on 6th October 1976’ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้สถานทูตไทยเผยแพร่ทั่วโลกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1976 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

มีผู้เสียชีวิต (were killed) 46 คน

เอกสารยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 3,059 คน และได้รับการประกันตัวไปแล้ว 2,600 คน

  • ข้อมูลจากการชันสูตรโดยแพทย์ พบผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 46 คน เป็นนักศึกษา ประชาชน 41 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน
  • นิโคลัส เบนเนตต์ (Nicholas Bennett) หนึ่งในผู้ประสานงานของ Coordinating Group for Religion in Society (CGRS) องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย ประมาณการว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มีผู้เสียชีวิต 300 คน และมีผู้ถูกจับกุมตัว 11,000 คน ด้วยข้อหาภัยสังคม (a threat to society)
อ้างอิงจาก: เอกสารวิชาการตลาดวิชา ชุด ตุลา/ตุลา/พฤษภา เอกสารหมายเลข 2 ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา ธงชัย วินิจจะกูล

8

มีคนถูกผูกคอกับต้นมะขามคนเดียวแน่ๆ?

40 ปีผ่านไป เราเพิ่งทราบว่า ผู้ที่ถูกแขวนคอกับต้นไม้มีมากกว่า 2 คน จากภาพถ่ายที่มีพบว่ามีผู้ถูกแขวนคออย่างน้อย 4-5 คน แถมต้นไม้ที่ว่าก็มีทั้งมะขามและต้นหางนกยูงฝรั่ง

อ้างอิงจาก: เสวนา ‘ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 30 กันยายน 2559

4

คนตายไม่ใช่คนไทย แต่เป็นญวน?

ข้อมูลจากการชันสูตรโดยแพทย์ ไม่มีการพูดถึงชาวต่างชาติ หรือชาวเวียดนามแต่อย่างใด

5

กิตติวุฑโฒ พูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ?

กิตติวุฑโฒ ไม่เคยพูดประโยคนี้…แต่ในนิตยสาร จัตุรัส ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2519 เขาให้สัมภาษณ์ว่า

จัตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์ บาปไหม

กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

จัตุรัส: ผิดศีลไหม

กิตติวุฑโฒ: ผิดน่ะมันผิดแน่ แต่ว่าผิดนั้นมันผิดน้อย ถูกมากกว่า ไอ้การฆ่าคนคนหนึ่งเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ ไอ้สิ่งที่เรารักษาปกป้องไว้ มันถูกต้องมากกว่า …

จัตุรัส: ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ

กิตติวุฑโฒ: ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์

จัตุรัส: คนฆ่าฝ่ายซ้ายที่ไม่ถูกจับมาลงโทษ ก็คงเป็นเพราะบุญกุศลช่วย

กิตติวุฑโฒ: อาจจะเป็นได้ ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ (หัวเราะ)

 

kitt-1

กิตติวุฑโฒ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร?

ไม่ใช่! (เสียงแหลม) กิตติวุฑโฒภิกขุ เป็นอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าอาวาสวัดจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี ส่วนจอมพลถนอมบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ และพยายามกลับเข้าประเทศมาอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดย สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งฉายาว่า ‘สุกิตติขจโร’

6

ขบวนการฝ่ายขวา ‘กระทิงแดง’ มีความสัมพันธ์กับเครื่องดื่มกระทิงแดง

แบรนด์นี้ยืนยันว่าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งถือว่ามีมาก่อน ‘ขบวนการกระทิงแดง’ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่เริ่มมีบทบาทในปี 2517

อ้างอิงจาก: มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2549 คอลัมน์ ‘ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด’ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

7

ตำรวจที่คาบบุหรี่ถือปืนคือ สืบสาย หัสดิน หรือ สล้าง บุนนาค และคนทางซ้ายคือ ทักษิณ ชินวัตร!!

อันนี้ร้ายมาก ไม่ใช่ทั้งคู่ คนที่อยู่ในภาพนี้คือ ร.ต.ท.วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล ผู้บังคับกองร้อยที่ 1 บางเขน โรงเรียนนายสิบตำรวจบางเขน และคนด้านซ้ายภาพ คือ จ่าสิบตรีอารีย์ มนตรีวัตร ไม่ใช่ ทักษิณ ชินวัตร

ที่มา:  ข่าวสด

ข้อมูลจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพของแพทย์

ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยอิสระและผู้สร้างสารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลา ให้ภาพรวมการเสียชีวิตใน

เหตุการณ์ดังกล่าว โดยข้อมูลหลักได้มาจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพของแพทย์ พบว่า

  • มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 46 คน เป็นนักศึกษา ประชาชน 41 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน
  • เป็นชายไทยทราบชื่อ 30 คน เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ 3 คน หญิงไทยทราบชื่อ 4 คน ศพที่ถูกเผาและไม่ทราบเพศแน่ชัดอีก 4 คน
  • ไม่มีการพูดถึงชาวเวียดนาม
  • อายุต่ำสุดคือ นายอภิสิทธิ ไทยนิยม อายุ 17 ปี ทราบเพียงว่ามาจากจันทบุรี
  • สถาบันการศึกษาของผู้เสียชีวิต คือ รามคำแหง ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ มหิดล ม.กรุงเทพ โรงเรียนเพาะช่าง นักศึกษามหิดลและรามคำแหง ส่วนใหญ่ทำหน้าที่การ์ด
  • ภูมิลำเนาของผู้เสียชีวิต พบว่ามาจากทุกภาคยกเว้นภาคตะวันตก และภาคใต้เยอะที่สุด
  • สาเหตุ ถูกระเบิด กระสุนปืน จมน้ำ ถูกแทง ถูกรัดคอ
  • สถานที่พบศพ แม่น้ำ 2 คน (พบที่ท่าสวัสดิการทหารเรือ วันที่ 7 ตุลาคม) ส่วนใหญ่พบที่โรงพยาบาลตำรวจ
  • การจัดการศพ ส่วนใหญ่มอบคืนให้ญาติ และมีการระบุด้วยว่า จัดการตามประเพณี แสดงว่า อาจมีส่วนที่ญาติไม่ได้มารับไปด้วย

ภัทรภรกล่าวว่า สามารถติดต่อญาติผู้เสียชีวิตได้ 10 ครอบครัว โดยพบว่า ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นลูกชายคนแรก หรือลูกคนเดียวของครอบครัว ซึ่งเป็นคนที่มีโอกาสดีที่สุดในครอบครัว

อ้างอิงจาก: http://prachatai.com/journal/2016/10/68177

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า