…เราจะเห็นได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่อัตคัดทั้งสภาพบ้านช่อง ที่อยู่อาศัยและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งโดยตัวมันเองก็ไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี แต่ถูกกำหนดตายตัวอย่างไม่ยุติธรรมเวลาแบ่งปันกันระหว่างผู้มีสิทธิในที่ดินกับผู้ใช้ที่ดิน แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความสัมพันธ์ที่ขาดความสมดุลในทางวัตถุระหว่างเจ้ากับไพร่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…
หลังจากใช้เวลาทำวิจัยอยู่สองปี ลงมือเขียนอีกสองปี วิทยานิพนธ์ภาคภาษาอังกฤษ Revolution Interrupted โดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จึงได้รับการแปลโดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และ พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ในชื่อ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมายและความรุนแรงในภาคเหนือของไทย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ ในฐานะเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ออสเตรเลีย ได้กล่าวแนะนำทั้งตัวผู้เขียนและวิทยานิพนธ์ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือทางวิชาการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงการต่อสู้ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยจำเพาะเจาะจงไปที่บทบาทของสหพันธ์ชาวนาแห่งประเทศไทยในช่วง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 ผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ หนังสือในต่างจังหวัด บันทึกปากคำของผู้คนในยุคสมัยนั้น รวมถึงการลงพื้นที่สัมภาษณ์แกนนำนักศึกษาและชาวนากว่า 20 คน เพื่อเก็บประวัติศาสตร์ในรูปรอยของบทวิจัยเพื่อตอบคำถามสำคัญประการหนึ่งที่ว่า เหตุใดการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยจึงแทบไม่เคยมีการถูกกล่าวถึงในวงกว้าง
เหตุใดการต่อสู้ของชาวนาในยุคนั้นถึงกลายเป็น ‘การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน’
ในส่วนนี้ ประจักษ์เปิดงานเสวนา ‘เปิดพื้นที่ (ใหม่) ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองของประชาชน’ ด้วยการยกคำนำบางส่วนของ ธงชัย วินิจจะกูล มาเพื่ออธิบายในเชิงภาพรวมไว้ว่า
“อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขียนคำนำเสนอให้หนังสือเล่มนี้ ผมอยากจะอ่านข้อความที่อาจารย์เขียนส่วนหนึ่ง”
“ฮาเบอร์คอร์นเขียนหนังสือเพื่อป้องกันไม่ให้ชีวิตเลือนหายไปสู่การลืมเลือน เธอเล่าเรื่องราวซึ่งนำผู้ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เธอทำอย่างนั้นแบบที่นักวิชาการที่ดีเท่านั้นที่จะทำได้ ด้วยความช่ำชอง ด้วยความละเอียดละอ่อน ด้วยความเข้าใจลึกซึ้ง และเธอยังมีใจรักอีกด้วย นี่ไม่ใช่เพียงการเขียนรำลึก แสดงความเคารพเหยื่อแบบง่ายๆ เท่านั้น ไม่ใช่เลย วิธีการที่ดีที่สุด ในการจดจำผู้ที่ถูกลืม ดังที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้เห็นก็คือการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบ และการตีความแม้กระทั่งรายละเอียดที่เล็กมากจนคนอื่นแทบมองไม่เห็น เพื่ออธิบายว่าอะไรเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ และสังคมไทยได้จัดการกับชีวิต จิตวิญญาณ และเรื่องราวของพวกเขาอย่างไร นี่ไม่ใช่คำกล่าวรำลึกมรณกรรม แต่เป็นการมองลึกเข้าไปในสังคมไทย ลึกลงไปในใบหน้า ลึกลงไปในดวงตา เพื่อทำความเข้าใจด้านตรงข้ามของยิ้มสยาม ฮาเบอร์คอร์นแสดงให้เห็นว่าเหตุใดชาวนาและนักศึกษาจึงลุกขึ้นมาท้าทาย ทำไมพวกเขาถึงถูกปิดปาก และทำไมจึงมีการลอบสังหารและกักขังตามอำเภอใจ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงให้เสียงต่อผู้ที่ถูกปิดปากเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามต่อสังคมไทย และประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง สังคมไทยจะมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเผชิญกับคำถามเหล่านี้…” – ธงชัย วินิจจะกูล
ภาพเลือนรางของการปฏิวัติของชาวนา
“…คือหนังสือเล่มนี้มันเป็นเล็กมากนะคะ ถ้ามองจากชื่อเรื่อง มันคือการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาที่คนในสังคมไทยถามว่า มันเคยมีอยู่ด้วยเหรอ มันมีการปฏิวัติชาวนาในสังคมไทยด้วยเหรอ แต่พอคุณอ่านหนังสือเล่มนี้นะคะ มันจะทำให้เราเข้าใจเลยว่า ประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยคิดว่ามันถูกสรุปไว้เรียบร้อยแล้ว ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยในช่วงก่อน 14 ตุลา กับ 6 ตุลา มันเป็นเรื่องที่เราอาจจะเข้าใจมันน้อยมาก…” กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงคุณูปการสำคัญของงานชิ้นนี้ของไทเรลในแง่ของการฉายภาพให้เราเข้าใจเรื่องราวของเหตุการณ์ในช่วง 14 ตุลา จนถึง 6 ตุลา ใหม่ โดยขยายให้เห็นความแตกต่างระหว่างชุดเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ ภาพความเข้าใจที่มีต่อสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย จากที่เรามักคิดแต่เพียงว่าเป็นขบวนการในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา
นอกจากนี้ งานของไทเรลยังให้ภาพของขบวนการชาวนาที่ผู้สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้นไม่ค่อยรู้จักมาก่อน
“ส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงชาวนาชาวไร่ในฐานะคนทั่วไป เราจะนึกถึงภาพอีสานใช่ไหม เราจะนึกไม่ออกว่าสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือมีความเข้มแข็ง หรือมีนัยยะสำคัญขนาดที่ต้องไปศึกษามันจริงๆ เหรอ”
กนกรัตน์ยอมรับว่า ครั้งแรกที่รู้จักงานชิ้นนี้ยังเข้าใจว่าการที่ไทเรลไปศึกษาบทบาทของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือเพราะไม่อยากทำเรื่องชาวนาในอีสาน โดยไม่รู้เลยว่าการศึกษาเรื่องสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือมีนัยยะเชื่อมโยงไปยังชื่อหนังสือที่ไทเรลได้ตั้งไว้ผ่านการปฏิวัติของขบวนการชาวนาด้วยข้อกฎหมาย ไปจนถึงความพยายามลอบสังหารผู้นำขบวนการชาวนาของฝ่ายอำนาจรัฐ
ในช่วง 14 ตุลา ภาพที่เราเข้าใจมักจะถูกเน้นไปที่บทบาทของนักศึกษามากกว่าบทบาทของชาวนาที่มักจะถูกจดจำในนิยาม โง่ จน ไม่มีอำนาจ เป็นเพียงพันธมิตรของขบวนการนิสิตนักศึกษา แต่ไม่ได้มีพลังตื่นตัวทางการเมือง ไม่มีความเข้าใจทางการเมือง แต่งานของไทเรลได้ชี้ให้เห็นในเชิงสถิติว่าสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีสมาชิกถึง 1.5 ล้านคน ในยุคสมัยที่ประเทศไทยมีประชากรทั้งประเทศ 35 ล้าน นับเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทัั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลืองในจำนวนหลักแสน แต่สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในยุคสมัยนั้นกลับมีจำนวนนับล้านคน นั่นทำให้ต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าความตื่นตัวทางการเมืองที่เคยมีแต่ในขบวนการนักศึกษามาตลอดไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว
แรงกระตุ้นเร้าของการปฏิวัติ
กนกรัตน์อธิบายต่อว่า งานของไทเรลไม่ได้แค่เพียงทำการศึกษาบทบาทสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เพื่อฉายให้เห็นภาพที่ถูกซ่อนภายใต้มายาคติของความจน ความเขลา เท่านั้น แต่ยังฉายให้เห็นภาพสำคัญที่สุดของเหตุผลที่นำมาสู่การก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ คือปัญหาเรื่องราค่าเช่าที่ทำนา โดยกนกรัตน์อธิบายว่า ราคาค่าเช่าในภาคกลางเมื่อเทียบกับภาคอื่นแล้ว มีราคาที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยการผลิต แต่ภาคเหนือกลับมีราคาค่าเช่าอยู่ที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้ชาวนาภาคเหนือมีแรงกดดันสูงมากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่ตามมาในเชิงไม่เห็นด้วยทั้งจากฟากฝ่ายนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศที่ได้อ่านงานของไทเรล ว่าเหตุการณ์ในเรื่องเรียกร้องค่าเช่าที่นาจะเทียบกับการปฏิวัติได้อย่างไร แต่กนกรัตน์อธิบายว่า การจะเข้าใจที่มาที่ไปของการปฏิวัติในแง่มุมของไทเรล ต้องทำความเข้าใจกรณีศึกษาเล็กๆ กรณีหนึ่งเสียก่อนว่า
“สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องชาวนาชาวไร่อย่างดิฉัน ตอนที่เห็นกรณีนี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ กรณีศึกษาที่ว่านั้นก็คือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าเช่าที่นา ตอนที่ดิฉันอ่านแรกๆ ก็รู้สึกว่ามันจะมีนัยยะสำคัญยังไง แต่งานของอาจารย์ไทเรลตีความว่าการเข้าไปต่อรองเรียกร้องเพื่อให้มี พ.ร.บ.ค่าเช่าที่นาที่ยุติธรรมของชาวนา คือการปฏิวัติของชาวนา ซึ่งในงานกระแสหลักจะตีความว่าแบบนี้ไม่ใช่การปฏิวัติ มันก็คือการเข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเองแบบหนึ่งเท่านั้น”
การเข้าไปเรียกร้องของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในชนบทนี้เองคือการแสดงออกถึงการตื่นตัวทางการเมืองในช่วง 14 ตุลา ที่ไม่ได้มีแต่เพียงขบวนการนิสิตนักศึกษาเท่านั้นที่ผูกขาดบทบาทต่อสู้อำนาจรัฐ
“งานของอาจารย์ไทเรลได้บอกให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. นี้ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงชุดอำนาจระหว่างชาวนากับเจ้าที่ดิน ชาวนากับขบวนการนิสิตนักศึกษา ชาวนากับเจ้าหน้าที่รัฐ และระหว่างชาวนาด้วยกันเอง ในท้ายที่สุดขบวนการชาวนาประสบความสำเร็จในการผลักดันพระราชบัญญัติค่าเช่านาในปี 2518 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สำคัญ ทำให้เจ้าที่ดินกลายเป็นผู้มีอำนาจด้อยกว่าผู้เช่าที่ดิน แล้วก็นำไปสู่การที่เจ้าที่ดินและรัฐใช้การลอบสังหารเพื่อจัดการกับชาวนา มันคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของคนธรรมดาที่เคยเป็นผู้ด้อยอำนาจในสังคมผ่าน พ.ร.บ.ค่าเช่านา”
นิยามของการปฏิวัติ
ประจักษ์กล่าวสอดคล้องเช่นกันกับกนกรัตน์ว่าในงานชิ้นนี้ของไทเรล คำหนึ่งที่สำคัญมากคือ ‘การปฏิวัติ’ โดยไทเรลพยายามจะนิยามคำว่าการปฏิวัติใหม่ ดังนั้นการจะเข้าใจแง่มุมการถกเถียงในงานชิ้นนี้ ว่าทำไมการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในยุคนั้นที่ไม่มีการจับปืนขึ้นสู้กับอำนาจรัฐและเจ้าที่ดินแต่อย่างใด ผ่านเครื่องมือทางกฎหมาย ว่าเป็นการปฏิวัติ ก็ต้องเข้าใจไทเรลว่านิยามความหมายของการปฏิวัติไปที่ความหมายหนึ่ง
การปฏิวัติสำหรับอาจารย์ไรเทลก็คือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แม้แต่ในชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่วันที่ชาวนาลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง แล้วมีสำนึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองเต็มขั้นของประเทศนี้ แล้วก็ใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่ปกติเป็นของรัฐและชนชั้นนำเท่านั้น เป็นเครื่องมือที่จะให้อำนาจและประโยชน์กับตัวเอง ตรงนี้เอง การปฏิวัติได้เกิดขึ้นแล้ว
ในขณะที่ สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวสอดรับกับความเห็นของประจักษ์ในนิยามของคำว่าปฏิวัติที่ไม่อาจให้ความหมายได้เพียงแง่มุมเดียว แม้แต่การปฏิวัติเงียบก็นับเป็นการปฏิวัติ และบางครั้งการปฏิวัติเงียบก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าการปฏิวัติด้วยการต่อสู้ด้วยซ้ำ
ส่วนข้อคิดเห็นต่องานของไทเรล สมชัยมองการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือผ่านการเรียก พ.ร.บ.ค่าเช่านา เป็นประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาสู่การมองประเด็นการเมืองไทยในปัจจุบันด้วย
“งานของอาจารย์ไทเรลเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าชาวนาได้เคยต่อสู้กับระบบอุปถัมภ์มายาวนาน เวลาเราอ่านวิชาการ เราจะมีความคิดว่าเพราะชาวนาอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ไง และระบบอุปถัมภ์อยู่ที่ไหน อยู่ที่นักการเมืองชั่วๆ ไง แต่งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนชนบทไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบไม่ลืมหูลืมตา สั่งให้หันซ้ายหันขวา คือไม่ใช่ ที่เขาไม่ชอบก็มี ที่เขาต่อสู้ก็มี แต่จริงๆ แล้วที่เราไม่พูดกันก็คือ ศูนย์กลางของระบบอุปถัมภ์อยู่กรุงเทพฯ”
คำถามของความรุนแรง
สมชัยตัั้งคำถามสำคัญสองประเด็นหลังจากได้อ่านงานของไทเรลว่า ในช่วงเวลานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐ และฝ่ายต่อต้านรัฐ รวมไปถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลเผด็จการ อย่างเช่น สมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประมาณ อดิเรกสาร กลับเอ่ยวลี “ขวาพิฆาตซ้าย” ในทำนองสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มแนวคิดสังคมนิยมในสมัยนั้น ขณะที่นักการเมืองร่วมรัฐบาลกลับแสดงความเห็นไปอีกทาง ประเด็นนี้นำมาสู่การตั้งคำถามต่อสิ่งที่ไทเรลเขียนไว้ในเรื่องของรัฐไทยไร้เอกภาพว่า ถ้าหากรัฐเข้มแข็งจะไม่มีความรุนแรงไหม
“มันมีคำถามที่เกี่ยวข้องอีกว่า ถ้าไม่ต่อสู้เรื่องค่าเช่า จะมีการสังหารชาวนาหรือไม่ สมมุติเราบอกว่าความรุนแรงมาจากการที่เราไปต่อสู้เรื่องค่าเช่า ไอ้นี่ก็ชัดเจนล่ะครับ คือถูก แต่ปัญหาคือว่า ถ้าเกิดชาวนาไม่ได้รวมตัว สหพันธ์ชาวนาไม่ได้ต่อสู้ในเรื่องค่าเช่า ต่อสู้เรื่องอื่นๆ แล้วจะถูกฆ่าไหม”
กล่าวต่อจากประเด็นของสมชัย ไทเรลบอกเล่าว่า วิทยานิพนธ์ตั้งต้นจากคำถามจากชั่วโมงสอนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่ ธงชัย วินิจจะกูล เคยไปสอนเรื่องเหตุการณ์หลัง 14 ตุลา ในช่วงเหตุการณ์ปะทะกันที่พลับพลาชัยปี 2517 เมื่อเกือบ 16 ปีก่อน ทำให้ไทเรลสนใจกรณีอื่นๆ ในประเทศไทยนอกเหนือจากสิ่งที่ธงขัยได้พูดไว้ ยิ่งเมื่อบวกจากพื้นเพครอบครัวชนชั้นกลางในเมือง ไม่ได้มีที่ดิน จึงพุ่งความสนใจไปที่บทบาทของชาวนาในเชียงใหม่ ไทเรลจึงเดินทางมายังสถานศึกษาที่เชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงสิ่งตีพิมพ์ในนามของนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา แต่กลับได้รับคำตอบจากบรรณารักษ์ว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ถ้าอยากรู้อะไรให้ลงไปกรุงเทพฯ” ซึ่งคำตอบของบรรณารักษ์สะท้อนสิ่งที่ไทเรลมองว่า ประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศไทยถูกลืมได้โดยง่ายและเร็วมาก เพียงในช่วงระยะไม่กี่สิบปี
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เรื่องความรุนแรงที่ยังเป็นบาดแผล เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เลยเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกพูดถึง”
ส่วนต่อมา ไทเรลตอบคำถามสมชัยต่อประเด็นถ้ารัฐมีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นในตอนนั้น ความรุนแรงอาจไม่เกิดขึ้น คงไม่อาจฟันธงได้ แตกต่างจากประจักษ์ที่มองว่า ถ้ารัฐมีความเข้มแข็งอาจมีความรุนแรงมากกว่าที่เกิดด้วยซ้ำ แต่ไทเรลก็ไม่สามารถชี้ลงไปได้ว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง แม้วารสารฝ่ายซ้ายจะบอกว่าอาจเป็นฝีมือของ KGB และ CIA แต่ไทเรลคิดว่าเป็นปัจจัยภายในประเทศระหว่างความสัมพันธ์ของอำนาจรัฐต่อเจ้าที่ดิน เจ้าที่ดินต่อชาวนา ชาวนาต่อ พคท. และรวมถึงนักศึกษามากกว่าปัจจัยการเมืองภายนอก ซึ่งนำไปสู่คำตอบต่อประเด็นของสมชัยอีกประเด็นคือ ถ้าชาวนาไม่ต่อสู้ในเรื่องค่าเช่า อาจไม่ถูกกระทำรุนแรง ซึ่งไทเรลอธิบายว่า
“ถ้าไม่มีเรื่องค่าเช่า ก็จะมีการต่อสู้เพื่อเป็นพลเมืองแบบอื่น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ที่ทำให้สหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีพลังคือ ชาวนาต่อสู้เพื่อเป็นพลเมืองเจ้าของที่ดิน เหมือนนักศึกษา เหมือนทนาย เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิชาการที่จะไม่ค่อยบอกว่าชาวนาเป็นผู้ที่ต่อสู้ ทำให้คิดว่าน่าจะมีอีกหลายกรณีที่ชาวนาลุกขึ้นสู้ก่อนหน้านี้เหมือนกัน แต่ยังไม่มีคนหาข้อมูล ยังไม่เขียนถึง แต่ฉันคิดว่าการพยายามใช้สิทธิเต็มที่ของราษฎรเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐไทยและผู้มีอำนาจอื่นๆ รู้สึกกลัวในปัจจุบัน”