‘เด็กอ้วนๆ’ ความน่ารักอันกระเสาะกระแสะ วิธีแก้คือผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง

ภาพ: พิศิษฐ์ บัวศิริ

 

จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2557) โดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า ความชุกของเด็กวัยเรียนที่น้ำหนักเกินมีสูงถึงร้อยละ 13.9 ที่น่าตกใจคือสถิตินี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2538 ที่สำคัญคือเด็กที่อยู่นอกเขตเมืองเองก็มีแนวโน้มจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเท่ากับสถิติเด็กน้ำหนักเกินในเมือง นั่นเพราะอาหารสุขภาพราคาแพง เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งสภาพแวดล้อมรอบบ้านและโรงเรียนยังไม่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ที่เฮลตี้เท่าที่ควร

หลักสูตรกุมารแพทย์ไม่เคยสอนเรื่องโรคอ้วนในเด็ก

เมื่อถามถึงปัญหาเร่งด่วนในภาวะโภชนาการเด็กวัยเรียนในไทย ส่วนใหญ่แล้วส้มมักจะไปหล่นอยู่ที่ปัญหาความเตี้ยหรือผอมเกินไปอันเนื่องมาจากการขาดสารอาหารที่เพียงพอ เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก นั่นจึงทำให้โรคอ้วนไม่เคยถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของเหล่ากุมารแพทย์ แต่ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็อร่อยไปหมดแถมต่อแถวซื้อแป๊บเดียวก็ได้กิน ทั้งยังมีสิ่งเร้าความสนใจไม่ว่าจะเป็นเกมในแท็บเล็ต โลกโซเชียล ทีวี หรือบางคนต้องทุ่มเวลาไปกับการเรียนกวดวิชา ทำให้เด็กมีกิจกรรมทางกายลดน้อยลง หาของกินประเภทเอาสะดวกไว้ก่อน ผลลัพธ์ก็คือ น้ำหนักตัวที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนอาจกลายเป็น ‘โรคอ้วน’ ในที่สุด

“ปัจจัยพื้นฐานคือเรื่องอาหารการกินที่มีมากมาย เข้าถึงได้ง่าย มีการโฆษณาชวนเชื่อให้กิน วิถีชีวิตที่ไม่มีกิจกรรมทางกายเพราะต้องเรียนเยอะ จราจรติดขัด กลับถึงบ้านดึก นอนน้อย ไม่ปลอดภัย ไปวิ่งข้างนอกไม่ได้ เล่นข้างนอกไม่ได้ ดูแต่ทีวี ต้องเรียนให้มากขึ้น เพราะว่าเดี๋ยวต้องไปสอบ”

ชั่วโมงทีวีที่มากขึ้นเรื่อยๆ

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สะท้อนปัจจัยสำคัญอันเป็นสาเหตุของอาการอ้วนในเด็กวัยเรียน ซึ่งนอกจากเรื่องอาหารการกินจะเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่มีผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กแล้ว ยังมีเรื่องพฤติกรรมการนอนไม่พอที่กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่จะไปกระตุ้นให้ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวออกมา ดังนั้นโรคอ้วนจึงไม่ได้เกิดจากเพียงแค่ปัจจัยทางพันธุกรรม หากแต่เป็นสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่หล่อหลอมให้เกิดความเสี่ยงและอาการของโรค

ช่วงโมงนอนที่ลดลงเรื่อยๆ

ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับโรคอ้วนในเด็ก?

กับผู้ใหญ่ที่โตแล้ว ควบคุมตัวเองได้ดี เมื่อรู้สึกทนไม่ได้กับน้ำหนักที่เกินมาของตัวเอง ก็แค่ปรับอาหารการกิน จัดตารางออกกำลังกายให้เสร็จสรรพ ก็พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีน้ำหนักในเกณฑ์มาตรฐานพร้อมสุขภาพที่ลงตัว แต่กับเด็กที่ยังจัดการอะไรในชีวิตไม่ได้มาก อาหารถูกบริการโดยผู้ปกครอง ร้านสะดวกซื้อ หรือรถเข็นข้างทาง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารพลังงานสูง บวกกับค่านิยมเป็นต้นว่าเด็กอ้วนคือเด็กน่ารัก หรือมีอันจะกิน รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นการบริโภคที่ทำร้ายตัวเอง จะเทรนด์ให้กลับมาผอมก็เหนื่อยจนหลายคนท้อใจ

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ

“คนในชนบทอ้วนมากขึ้น เมื่อก่อนอัตราส่วนเมื่อเทียบในเขตเมืองกับชนบท อาจจะห่างกันประมาณครึ่งหนึ่ง ตอนนี้มันใกล้เคียงกัน เมื่อก่อนเราบอกว่าเด็กที่อ้วนคือเด็กที่รวย เด็กในเมืองที่มีของกินเยอะแยะ มันไม่จริงแล้ว แล้วอาจจะกลับกัน เด็กที่จนอาจจะอ้วนกว่าเด็กที่รวย เพราะอาหารที่ดีต่อสุขภาพมันแพง เข้าถึงยาก ผักผลไม้ที่ปลอดภัยแพง ในขณะที่ขนมราคาถูก ได้อาหารพลังงานสูงเยอะมากแต่กิจกรรมทางกายมีน้อยลง”

พญ.ลัดดา ยังเสริมว่า โรคอ้วนเป็นพาหะสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา “สังเกตว่าเด็กที่อ้วนจะมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคกรน กรนแล้วหยุดหายใจ ทำให้ออกซิเจนในสมองตก ก็มีผลต่อสติปัญญาของเขา บางคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน โรคกระดูกข้อคดงอผิดรูป เพราะแบกรับน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็เดินไม่สะดวกไม่ทันเพื่อน หรืออาการภูมิแพ้ ต่อมทอนซิลโต โตขึ้นมาอีกนิดเจอโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง”

ลองจินตนาการว่าเด็กอายุ 4-12 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็น่าตกใจไม่น้อย เพราะนอกจากเบาหวานชนิดที่ 1 ที่อาจติดมาจากกรรมพันธุ์จนกลายเป็นความเสี่ยงหนึ่งแล้ว ยังมีเบาหวานชนิดที่ 2 อันเป็นเบาหวานที่เกิดมาจากน้ำหนักที่เกินมาดันไปดื้อฮอร์โมนอินซูลินที่จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ยิ่งเมื่อคุณหมอลัดดายกเคสของเด็กในความดูแลคนหนึ่งว่า มีอาการของโรคเบาหวานชนิดโคม่า เพราะมีน้ำหนักตัวถึง 150 กิโลกรัม

สุดท้ายต้องใช้วิธีผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ได้ผลที่สุดแต่ไม่ควรใช้กับเด็กอายุเท่านี้มากที่สุด นั่นเพราะร่างกายของพวกเขายังเติบโตได้อีกมาก” คุณหมอลัดดาย้ำ

กล่าวได้ว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases: NCDs) ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย สาเหตุเนื่องจากการบริโภคอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ และการบริโภคน้ำตาลเกินความเหมาะสม หรือเกินกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้บริโภคน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 12 ช้อนชาต่อวัน

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนด 9 เป้าหมายระดับโลก (9 global NCD targets)  เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยหนึ่งในเป้าหมายนี้คือ การควบคุมสถานการณ์โรคเบาหวานและภาวะอ้วนของประชากรให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ความอ้วนเชิงโครงสร้าง

แม้ว่าครอบครัวจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการเลี้ยงดูและปลูกฝังนิสัยการบริโภคและการขยับร่างกายให้กับเด็กสักคน แต่เมื่อพ้นจากรั้วบ้านก็เท่ากับว่าการช่วยดูแลนั้นสิ้นสุดลง โรงเรียนจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งหน่วยสำคัญในการจัดการเรื่องโภชนาการของเด็กวัยเรียน

“เด็กบางคนกินข้าวเช้าถึงเย็นที่โรงเรียน พอเราจัดการที่ครอบครัวได้แล้ว แต่มาที่โรงเรียนไม่มีผักให้กินเลย บอกเด็กว่าอย่ากินของทอดนะ แต่โรงเรียนขายแต่ของทอด น้ำหวาน รอบโรงเรียนมีแต่ของแบบนี้ แล้วจะให้เด็กกินอะไร ในโรงเรียนเราเข้าไปทำเรื่องอาหารกลางวัน ทำโปรแกรมอาหารกลางวัน มีเครื่องมือแต่เอาไปใช้หรือเปล่านี่คืออีกเรื่องหนึ่ง อย่างแม่ครัวก็ต้องช่วยกัน ถ้าแม่ครัวยังปรุงตามใจอยู่ก็จบ แต่ระบบโรงอาหารในโรงเรียนยังใช้ระบบการประมูลว่าเจ้าไหนถูกสุดได้มาขาย ถูกที่สุดไม่ได้แปลว่าสารอาหารจะครบถ้วน” พญ.ลัดดากล่าว

ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาเรื่องโรคอ้วนในเด็กอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเพียงอย่างเดียวเสมอไป อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าโรคอ้วนเกี่ยวพันกันกับปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด ดังนั้นในระดับไมโครทำอะไรไปก็อาจจะไม่มีผล เมื่อความอ้วนผูกอยู่กับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ครอบประเทศ

“ปัจจัยแวดล้อมเราส่งเสริมให้อ้วนหมดเลย ซึ่งหลายอย่างมันเกี่ยวกับนโยบายที่ไม่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว เช่น กระทรวงการคลังต้องเก็บภาษีจากสินค้าให้ได้มากๆ ถ้าไปบอกขายอาหารที่ไม่มีประโยชน์ให้น้อยลง เขาจะยอมไหม การแก้ปัญหาไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพเท่าไหร่แล้ว เกี่ยวกับคนอื่นหมดเลย ถ้าภาพใหญ่ยังครอบอยู่ รถยังติดอยู่อย่างนี้ เด็กไม่มีเวลาออกกำลังกายจะไปไหนรอด การศึกษายังแข่งกันอยู่อย่างนี้ ต้องไปเรียนพิเศษมันก็ไม่มีเวลา”

ต่อให้ความอ้วนจะเป็นเรื่องมากกว่าตัวเรา แต่ใช่ว่าอ้วนแล้วจะอ้วนเลย เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลับมาอยู่ในช่วงน้ำหนักได้มาตรฐานได้เสมอเมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ความตระหนักรู้ในเรื่องโรคอ้วนในเด็ก ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือการจัดการที่ดีจึงเป็นการป้องกันโรคอ้วนที่ดีที่สุด


 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า