February Revolution 1917: ก้าวที่หนึ่งของการปฏิวัติรัสเซีย

#100 ปีปฏิวัติรัสเซีย  

ก่อนปลายศตวรรษที่ 19 ปัญหาเศรษฐกิจและความอดอยากขาดแคลนอาหารแพร่กระจายทั่วรัสเซีย เช่นเดียวกับโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนนับล้าน ในทางตรงข้าม รัสเซียยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเก่า ความอดอยากไม่เกิดขึ้นกับชนชั้นนำและขุนนาง ซึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือชาวบ้านและชนชั้นแรงงาน

ผลจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัสเซียคือความพ่ายแพ้ในแนวหน้า เมื่อกองทัพของจักรวรรดิไม่สามารถรับมือทหารเยอรมันได้ งบประมาณและทรัพยากรที่ทุ่มไปกับการสงครามร่อยหรอลง แม้จะเป็นชาติที่พัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว แต่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกลำเลียงสู่สนามรบ ทำให้ประชาชนขาดแคลนอาหาร

ด้วยความอ่อนแอของผู้นำ การรบไร้ประสิทธิภาพ อาวุธไม่เพียงพอกับทหารที่ถูกเกณฑ์มา กองทัพรัสเซียถูกตีจนแตกพ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายนอกประเทศ-ทหารจำนวนมากเสียชีวิต ภายในประเทศ-ความอดอยากและอากาศหนาวเหน็บทวีความรุนแรง เศรษฐกิจอยู่ในขาลง คนตกงาน โรงงานปิดตัว ประเทศประสบภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่

‘ความอดอยาก’ ดำเนินยาวนานต่อเนื่องจนเข้าต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อบ่มเพาะผ่านเวลาหลายสิบปี ความอดอยากจึงพัฒนามาเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติสองครั้งสำคัญในปี 1917

จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ 23 กุมภาพันธ์เพื่อต่อสู้กับความอดอยากอยู่ที่เปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เมืองที่ต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทว่าขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ ประชาชนอดอยาก จนต้องเริ่มมีการชุมนุม และนำไปสู่การปฏิวัติครั้งแรกของปี 1917 การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ที่ใช้เวลาแค่แปดก็สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของ ‘จักรวรรดิรัสเซีย’ ไปตลอดกาล

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917

23 กุมภาพันธ์: (ตามปฏิทินจูเลียน หากนับตามปฏิทินเกรกอเรียนสมัยใหม่จะตรงกับ 8 มีนาคม) ชายชาวรัสเซียส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพจักรวรรดิ ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่คือแรงงานหญิง ซึ่งรวมตัวกันกลางเมืองเปโตรกราด ในวันสตรีสากล การชุมนุมอย่างสงบและไม่มีแกนนำนี้เรียกร้องหา ‘ขนมปังและสันติภาพ’ (bread and peace)

24 กุมภาพันธ์: การประท้วงขยายตัวเป็นวงกว้าง คนงานนับแสนมาร่วมการชุมนุมจนเต็มถนนเปโตรกราด ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมขยับจากความอดอยากไปสู่การยุติสงคราม รวมถึงการพ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ ความนิยมในตัวซาร์นิโคลัสที่ 2 ตกต่ำถึงขีดสุด ประชาชนสิ้นหวังกับระบอบซาร์และราชวงศ์โรมานอฟ

25 กุมภาพันธ์: ความไม่สงบดำเนินต่อเนื่อง กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย เมนเชวิคส์ (Mensheviks) จัดตั้ง Petrograd Soviet จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถควบคุมฝูงชนไว้ได้ ขณะที่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนกำลังพลส่วนใหญ่ที่อยู่ในแนวหน้า ได้ออกคำสั่งผ่านโทรเลขให้กองกำลังทหารเข้ายุติความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้นภายในวันรุ่งขึ้น

26 กุมภาพันธ์: จากคำสั่งของซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่มีมายังผู้บัญชาการเหล่าทัพ กองกำลังทหารเริ่มยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ขณะเดียวกัน ฝ่ายกองกำลังท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มขัดขืนคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

27 กุมภาพันธ์: ทหารกว่า 80,000 นายขัดขืนคำสั่ง และแปรพักตร์เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม กลายเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการปฏิวัติกุมภาพันธ์นี้ มีผู้เสียชีวิตราว 1,300 คน

28 กุมภาพันธ์: สภาดูมาได้หารือกับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย องค์กรปฏิวัติแรงงาน Petrograd Soviet และทหารภายใต้การนำของเมนเชวิคส์ จนได้ข้อสรุปว่า ความไม่สงบจะไม่มีทางยุติได้ ตราบที่รัสเซียยังอยู่ภายใต้การนำของซาร์นิโคลัสที่ 2 และตัดสินใจว่า ต้องทำการปฏิรูปประเทศ ล้มระบอบซาร์ และสถาปนารูปแบบการปกครองรัฐใหม่

2 มีนาคม: ซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ ถือเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์และจักรวรรดิรัสเซีย รัฐบาลเฉพาะกาลถูกตั้งขึ้นเพื่อบริหารประเทศ ภายใต้การนำของ จอร์จี ลวอฟ (Prince Georgy Lvov)

 


อ้างอิงข้อมูลจาก: history.com
orlandofiges.info
sparknotes.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า