ประวัติศาสตร์การรุกราน: เมื่อครั้งรัสเซียบุกเชโกสโลวาเกีย จนถึงวันที่ยูเครนถูกล้อม

“Inter arma silent leges”
กลางดงศาสตรา อาญาจะเงียบงัน 

ข้อความนี้มิได้เป็นเพียงแค่คำตัดพ้อต่อความโหดร้ายของโลกใบนี้ หากแต่เป็นคาถาสำคัญในโลกนิติศาสตร์ยุคโบราณของยุโรป แม้กาลเวลาจะล่วงมาเนิ่นนานราว 1 สหัสวรรษแล้ว กระนั้น วาทะข้างต้นก็ยังคงตามหลอกตามหลอนมนุษยชาติอย่างไม่ลดละ เมื่อกองกำลังรัสเซียบุกข้ามเส้นอธิปไตยของยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา การบุกครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปในหมู่ผู้ติดตามทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้สึกคึกคักขึ้นอักโขหลังจากที่ได้เห็นรัสเซียอวดโอ้แสนยานุภาพทางการทหาร หรือจะเป็นผู้ที่รู้สึกสะทกสะท้อนใจอย่างมิอาจอดกลั้น เพราะตระหนักถึงความจริงอันแสนขมขื่นว่า โลกของพวกเขายังไปไม่ถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สันติภาพ’

ปฏิบัติการดานูบ: การรุกข้ามเส้นเขตแดนรัฐอื่นโดยรัสเซียในรอบกึ่งศตวรรษ

แม้การบุกยูเครนของรัสเซียจะสร้างความวิตกกังวลอย่างมหาศาลแก่ประชาคมโลก กระนั้น สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักคือ การยกพลบุกรัฐอื่นของรัสเซียในครั้งนี้มิได้เป็นเรื่องที่สดใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากเราต้องการจะพิจารณาถึงพฤติกรรมการใช้กำลังทหารเพื่อบุกเข้าควบคุมรัฐเพื่อนบ้านที่มหาอำนาจรายนี้ได้เคยทำไว้ในอดีต ว่ามีพัฒนาการอย่างไรแล้วนั้น เราก็สามารถย้อนกลับไปได้ถึงเหตุการณ์ในยุโรปช่วงกลางสงครามเย็น อันเป็นห้วงเวลาที่รัสเซียครองบทบาทศูนย์กลางสหภาพคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่นามว่า สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต 

กล่าวเฉพาะในปี ค.ศ. 1968 ปฏิบัติการทางทหารของผู้นำค่ายสังคมนิยมรายนี้เกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่า ‘ค่ายตะวันออก’ (Eastern Bloc) หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก เหยื่อความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ เชโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐคอมมิวนิสต์ใต้อิทธิพลของโซเวียต โดยในคืนวันที่ 20 สิงหาคม โซเวียต-รัสเซียพร้อมทั้งบรรดาชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization) ได้เริ่มปฏิบัติการดานูบ (Operation Danube) ด้วยการนำกำลังทหารรุกข้ามไปยังดินแดนของเชโกสโลวาเกีย แล้วมุ่งตรงมาที่กรุงปรากเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ อเล็กซานเดอร์ ดุบเช็ก (Alexander Dubček) ในปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้น เอกสารของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้อ้างกลับไปถึงรายงานความเสียหายที่ถูกบันทึกโดยกระทรวงกิจการภายในเชโกสโลวาเกีย ว่า มียอดพลเรือนเสียชีวิตถึง 435 ศพ 

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ว่า แรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการบุกเชโกสโลวาเกีย มาจากความวิตกอกสั่นของโซเวียตและพันธมิตรเอง โดยพวกเขานั้นหวั่นว่าการปฏิรูปเพื่อเปิดเสรีทางการเมืองในเชโกสโลวาเกียของดุบเช็กนั้น จะส่งแรงกระเพื่อมในระดับสากลจนอาจสั่นคลอนอำนาจเผด็จการของพันธมิตรคอมมิวนิสต์ในละแวกข้างเคียงได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากประเด็นเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่เหล่าสมาชิกวอร์ซอกำลังกังวล โซเวียตในฐานะผู้นำของโลกสังคมนิยมยังหวาดระแวงไปถึงความเสียเปรียบในด้านยุทธศาสตร์การทหาร ด้วยเกรงว่าหากปล่อยให้การปฏิรูปในเชโกสโลวาเกียยังคงดำเนินไป ในท้ายที่สุดฝ่ายปฏิกิริยาก็อาจจะเป็นผู้ชนะในเวทีการเมือง และเปลี่ยนเชโกสโลวาเกียให้กลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรของฝ่ายเสรีนิยมไปในที่สุด หากเป็นเช่นนั้นแล้วไซร้ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอและโซเวียตเองก็จะสูญเสียเชโกสโลวาเกีย ซึ่งหมายความว่าพวกเขากำลังจะปล่อยให้ชัยภูมิสำคัญสำหรับการขับเคี่ยวกับศัตรูตัวฉกาจอย่างองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หลุดมือไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาอำนาจเช่นโซเวียตยากจะยอมรับได้ 

ทั้งนี้ แม้ว่าการที่ผู้เขียนพิจารณาผู้นำโซเวียตช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ในฐานะกลุ่มอนุรักษนิยมของโลกคอมมิวนิสต์นั้น อาจจะดูพิลึกพิลั่นไปบ้าง เพราะในห้วงเวลาดังกล่าว จอมรวมศูนย์อำนาจเช่น โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ก็พ้นจากตำแหน่งผู้นำของโซเวียตไปแล้ว อีกทั้งโซเวียตก็เข้าสู่ช่วงปฏิรูปการเมืองเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งให้ความประนีประนอมกับฝ่ายเสรีนิยมมากขึ้น ภายใต้การบริหารของผู้นำคนต่อมาอย่าง นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) กระนั้น กระบวนการปฏิรูปอันกระท่อนกระแท่นของครุชชอฟนี่เองที่ในเวลาต่อมาได้สร้างแรงเหวี่ยงกลับอย่างมหาศาล นำพาโซเวียตและโลกสังคมนิยมกลับสู่ความเป็นอนุรักษนิยมและการรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง

ระยะ 11 ปี ที่โซเวียตอยู่ภายใต้การปฏิรูปของครุชชอฟ แม้ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนแผนอุตสาหกรรม กระนั้น เสรีภาพที่ครุชชอฟมอบให้ประชาชนก็เป็นสิ่งที่สุดแสนอิหลักอิเหลื่อ เพราะเขาเองก็ยังสั่งห้ามตีพิมพ์วรรณกรรมบางเล่มที่เห็นว่าเป็นภัยต่ออำนาจของตน ส่วนการบริหารเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้น นโยบายบางประการของครุชชอฟยังได้กลายเป็นดาบสองคมที่หันมาทำร้ายตนเอง อาทิ การปฏิรูปสังคมรัสเซียและโซเวียตเพื่อลดการรวมศูนย์อำนาจและลดอิทธิพลของฝ่ายทหาร ได้สร้างความไม่พอใจแก่บรรดาเจ้าหน้าที่พรรคฝ่ายต่างๆ ที่รู้สึกว่าอำนาจของตนกำลังถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ

ในท้ายที่สุด ด้วยภาพฝันที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยความล้มเหลวในนโยบายด้านการเกษตร ทั้งยังมีแง่มุมหลายประการขัดแย้งกับแนวคิดกระแสหลักของคอมมิวนิสต์โซเวียต บวกกับความไม่พอใจของบรรดาสมาชิกพรรคซึ่งเปรียบดั่งแขนขาและอำนาจของผู้นำประเทศ ครุชชอฟก็ไม่เหลือทั้งความชอบธรรมและไร้ซึ่งความเข้มแข็งด้านกำลัง เขาจึงลงเอยด้วยการถูกยึดอำนาจโดยเจ้าหน้าที่คนสนิทอย่าง เลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะเป็นหัวหอกคนสำคัญของคอมมิวนิสต์สายอนุรักษนิยม และเป็นผู้สั่งการให้กองกำลังของพันธมิตรวอร์ซอบุกเชโกสโลวาเกีย เพื่อทำลายการปฏิรูปที่มีลักษณะคล้ายกับแนวทางของครุชชอฟ

ปรากสปริง: ดอกไม้แห่งเสรีภาพที่เบ่งบาน ก่อนถูกเคียวเกี่ยวจนขาดวิ่น แล้วทุบซ้ำด้วยค้อนจนแหลกสลาย

แม้เชโกสโลวาเกียในคริสต์ทศวรรษ 1960 จะไม่ได้แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อโซเวียตและบรรดาพันธมิตรวอร์ซอเหมือนอย่างที่ยูเครนประกาศกร้าวต่อรัสเซียว่าจะเข้าร่วม NATO ในอีก 44 ปีให้หลัง กระนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า นโยบายปฏิรูปของดุบเช็กที่แม้จะดำเนินไปภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกีย ก็ย่อมต้องมีข้อขัดเคืองใจสำคัญบางประการที่ทรงพลังมากพอจนสามารถเขย่าขวัญรัฐคอมมิวนิสต์อื่นๆ ให้อยู่ไม่เป็นสุข และกระตุ้นให้พวกเขายกกำลังทหารข้ามเส้นเขตแดนเข้ามาบดขยี้การปฏิรูปครั้งดังกล่าวก่อนที่จะสายเกินไป

บทวิเคราะห์ในเอกสารชื่อ ‘From Spring into a Long Winter’s Night: The Czechoslovakian Crisis of 1968 Part One’ ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2003 มองว่า ดุบเช็กนั้นมีความสัมพันธ์อันดีและเส้นสายที่เข้มแข็งกับพรรคคอมมิวนิสต์สโลวาเกีย ดังนั้น การที่ดุบเช็กจะเป็นพวกปฏิกิริยาต่อต้านอุดมการณ์สังคมนิยมนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ 

แน่ละ การอ่านเอกสารจากอริของโซเวียตนั้นย่อมต้องเจือปนอคติทางการเมืองอย่างมิต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิรูปของดุบเช็กจะเป็นชนวนนำไปสู่การบุกกรุงปรากของกองทัพโซเวียตและพันธมิตร กระนั้น หน่วยงานความมั่นคงของมหาอำนาจโลกเสรีมิได้ยกยอว่า เขาผู้นี้คือวีรบุรุษของเสรีชนหรือพันธมิตรของค่ายเสรีนิยมแต่อย่างใด เอกสารที่ผู้เขียนยกมานี้ยังวิพากษ์วิจารณ์ดุบเช็กเสียด้วยซ้ำว่า เขาออกนโยบายปฏิรูปการเมืองเพื่อสวมหน้ากากแห่งมนุษยธรรมให้แก่อุดมการณ์สังคมนิยม

หากวิเคราะห์มุมมองของสหรัฐในเอกสารดังกล่าว เราก็จะพบว่า พญาอินทรีแห่งแอตแลนติกเหนือรายนี้เว้นระยะให้ตัวเองห่างจากการปฏิรูปของดุบเช็กอยู่พอสมควร ด้วยพวกเขามองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือพลวัตและความขัดแย้งภายในโลกสังคมนิยม ในทางกลับกัน สำหรับประชาชนของเชโกสโลวาเกียแล้ว การปฏิรูปของดุบเช็กในปี ค.ศ. 1968 เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งความหวัง ณ ปลายอุโมงค์ที่ส่องลงมายังผืนแผ่นดินอันแห้งแล้งให้กลับมามีชีวิตชีวา จนทำให้ดอกไม้แห่งเสรีภาพเบ่งบานขึ้นมาในที่สุด

ดุบเช็กเริ่มต้นด้วยการเปิดเสรีภาพในการพูดและการวิพากษ์วิจารณ์ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เต็มไปด้วยการตั้งคำถามต่อสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่และอนาคตที่ควรจะเป็นของเชโกสโลวาเกีย พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียถูกปล่อยให้รับการวิจารณ์โดยไม่มีการเอาผิดผู้วิจารณ์ บรรดานักโทษทางการเมืองซึ่งถูกจับกุมในสมัยที่สตาลินเรืองอำนาจก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ นอกจากนี้ ดุบเช็กยังเปิดให้วัฒนธรรมจากโลกทุนนิยมที่บรรดารัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่างพากันต่อต้าน ให้ไหลบ่าเข้ามายังประเทศของตน จนทำให้เยาวชนชาวปรากได้มีโอกาสเต้นเพลงแจ๊สในจัตุรัสกลางย่านเมืองเก่า

การเปิดเสรีในสังคมเชโกสโลวาเกียที่ทั้งโลกขนานนามว่า ‘ปรากสปริง’ (Prague Spring) นั้น แม้จะทำให้ประชาชนภายในประเทศรู้สึกชุ่มชื่นมีชีวิตชีวา และทำให้ดุบเช็กเองได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้คนใต้การปกครองของเขา แต่ในขณะเดียวกัน เงามรณะจากพันธมิตรวอร์ซอก็กำลังเคลื่อนเข้าทับชะตาของรัฐบาลดุบเช็ก เพื่อรอวันประหารคณะรัฐบาลชุดนี้ให้ล่มไป ทั้งนี้ การปฏิรูปของดุบเช็กมิได้ส่งผลอย่างจำกัดแค่ภายในประเทศของเขาแต่เพียงเท่านั้น ประชาชนในโปแลนด์ก็เริ่มออกมาเรียกร้องให้พรรคสหกรรมกรโปแลนด์ (Polish United Workers’ Party) ซึ่งกุมอำนาจในขณะนั้น ให้เปิดเสรีทางการเมืองบ้าง นอกจากนี้ ความกังวลยังลุกลามไปถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกและในบัลแกเรีย ซึ่งวิตกว่าประชาชนของตนจะลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในโปแลนด์ ท้ายที่สุด ดุบเช็กจึงถูกพันธมิตรวอร์ซอมองว่าเป็นภัยคุกคามที่ต้องรีบจัดการ

ด้านความขัดแย้งกับโซเวียตนั้น แม้เอกสารของสหรัฐจะมองว่าโซเวียตกังวลเกี่ยวกับเชิงภูมิศาสตร์การทหารเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในเอกสารฉบับเดียวกันกลับระบุข้อมูลว่า ในช่วงที่มีการปฏิรูปนั้น นายทหารคนสำคัญของดุบเช็ก เช่น นายพลบาชลอฟ ปริชลิก (Vaclav Prchlik) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการครอบงำองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอโดยโซเวียต พร้อมกับการวิจารณ์โซเวียตโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเชโกสโลวาเกีย ขณะเดียวกัน รัฐบาลของดุบเช็กก็ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่และนายทหารระดับสูงที่มีความคิดต่อต้านการปฏิรูปของเขาให้พ้นจากตำแหน่งเป็นจำนวนมาก ด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดสหภาพโซเวียตจึงมีความรู้สึกทั้งกังวลทั้งโกรธเกรี้ยวต่อรัฐบาลสายปฏิรูปของดุบเช็ก จนถึงขั้นรวมกำลังกับพันธมิตรวอร์ซอแหกเส้นเขตแดนเข้ายึดกรุงปรากอย่างแทบจะทันทีทันใด

หลังจากที่พันธมิตรวอร์ซอ โซเวียต และกลุ่มเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์สโลวาเกียสายอนุรักษนิยมเข้ายึดกรุงปรากได้สำเร็จ ดุบเช็กและคณะถูกส่งไปจำคุกและทรมานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น ด้วยเหตุที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรคไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลคณะใหม่ขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น ดุบเช็กจึงได้กลับมาเป็นผู้นำประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งเขาใช้มันเพื่อพยายามฟื้นฟูปรากสปริงกลับมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อรัฐบาลคณะใหม่ได้รับการจัดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ดุบเช็กก็ถูกส่งไปทำงานเป็นช่างซ่อมเลื่อยตัดไม้ในป่า พร้อมกันกับการส่งบรรดาปัญญาชนและผู้ต่อต้านไปใช้แรงงานอย่างหนัก หลังวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ฤดูใบไม้ผลิอันแสนสั้นที่กรุงปรากก็เป็นอันสิ้นสุดลง เชโกสโลวาเกียกลับเข้าสู่คืนอันเหน็บหนาวที่ยืดยาวต่อไปอีก 20 ปี ก่อนที่รุ่งสางแห่งเสรีจะมาถึงพร้อมกับการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ในปี ค.ศ. 1989

หากมองที่เปลือกนอกของความขัดแย้ง การบดขยี้ปรากสปริงของโซเวียตนั้นย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มีที่มาจากความกังวลด้านภูมิศาสตร์การทหารและอุดมการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปถึงเจตจำนงของดุบเช็กและความหวังในจิตใจของประชาชนที่สนับสนุนเขา เราก็จะพบว่า เชโกสโลวาเกียนั้นมีชุดความหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ที่ต่างออกไปจากชุดความหมายหลักในกลุ่มพันธมิตรวอร์ซอ พวกเขากำลังก่อรูปสังคมนิยมที่มีเสรีภาพให้เป็นรูปธรรมผ่านนโยบายปฏิรูป และพยายามสร้างความเสมอภาคในกลุ่มพันธมิตรวอร์ซอผ่านการวิจารณ์อำนาจนำของโซเวียต 

เมื่อมีผู้มองเห็นจุดนี้ และมิได้ทำตัวเป็นอีกาคาบคัมภีร์เกินไป เขาก็จะตระหนักได้ว่า เชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1968 กำลังสร้างสมดุลให้กับตัวแบบสังคมนิยม ที่ในทางหนึ่งไม่กดปราบประชาชนจนเกินไป และในอีกทางหนึ่ง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าดุบเช็กทำตัวสนิทสนมกับสหรัฐหรือสมาชิกโลกเสรีชาติอื่น แต่เขาก็ทำให้สังคมคอมมิวนิสต์ของตนมีความกลมกลืนและลื่นไหลไปกับกระแสวัฒนธรรมโลกเสรี อย่างไรก็ตาม ด้วยจินตนาการที่ขัดแย้งกับโซเวียตและพันธมิตร ดุบเช็กที่แม้ยังภักดีต่ออุดมการณ์สังคมนิยมจึงมิอาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนั้น แล้วในท้ายที่สุด โครงการเปลี่ยนภาพฝันให้เป็นความจริงของเขา ซึ่งยังไม่ได้รับการวางรากฐานลงในจิตสำนึกของประชาชนอย่างมั่นคง ก็ถูกบดขยี้และปิดตายด้วยกำลังทางทหารของบรรดาสหายต่างแดน 

ทั้งนี้ เรื่องหนึ่งที่สามารถตระหนักถึงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก คือ ดุบเช็กถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรงอันเป็นธรรมเนียมการแก้ปัญหาทางการเมืองของโลกสังคมนิยมในขณะนั้น หรือหากจะมองหาความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจของธรรมเนียมแบบนี้ โดยการแหงนหน้าขึ้นมองยอดพีระมิดขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ เราก็จะเห็นว่า การแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นวิธีของโซเวียต-รัสเซีย

หลักการเบรชเนฟ: ภาษา อุดมการณ์ และอาวุธที่ต้องการความชอบธรรม

แม้จะหวั่นวิตกในด้านยุทธศาสตร์การทหาร ทั้งในแง่ของการควบคุมบริวารภายในกลุ่มสังคมนิยมและในแง่ของการวางยุทธศาสตร์ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม กระนั้น เลโอนิด เบรชเนฟ ผู้นำของโซเวียตซึ่งในขณะนั้นก็พรั่งพร้อมไปด้วยสรรพาวุธมากมายมหาศาล ก็ยังอ้างความชอบธรรมในการบุกครั้งนั้นด้วยหลักการว่า เป็นการปกป้องอุดมการณ์สังคมนิยมและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของสหายปฏิวัติทั้งหลาย ข้ออ้างของเขาได้รับการสถาปนาให้กลายเป็น ‘หลักการเบรชเนฟ’ (Brezhnev Doctrine) ที่เวลาต่อมาก็จะถูกใช้โดยโซเวียตเพื่ออ้างความชอบธรรมในการบุกรัฐอื่น เช่น อัฟกานิสถาน ในปี ค.ศ. 1979

Leonid Brezhnev

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า ในการรุกรานรัฐอื่น หรือโค่นล้มรัฐบาลชาติอื่น จำเป็นต้องพึ่งพากำลังทหารและสายลับ เพื่อการเดินทัพและปฏิบัติการจู่โจมทำลายฝ่ายตรงข้าม กระนั้น จวบจนถึงปัจจุบันเราก็จะเห็นว่า ไม่มีการรุกรบครั้งใดที่ปราศจากข้ออ้าง แม้แต่ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันก็ยังคงต้องอ้างความสำคัญของรัสเซียในประวัติศาสตร์ยูเครน หรืออ้างความสำคัญของรัสเซียที่เคยมีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างการกวาดล้างอุดมการณ์นาซี เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิบัติการทางการทหารของตนในยูเครน 

การบุกเชโกสโลวาเกียของโซเวียต-รัสเซีย ในปี ค.ศ. 1968 ก็กระทำไม่ต่างกัน ภายหลังจากที่ เลโอนิด เบรชเนฟ ทำลายแผนการปฏิรูปของครุชชอฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สายตาของเขาก็หันไปเพ่งมองที่เชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1968 อันเป็นช่วงเสรีภาพกำลังผลิบานใต้การปฏิรูปของดุบเช็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโซเวียตและพันธมิตรจะเตรียมการทางการทหารเพื่อบุกเชโกสโลวาเกียไว้ระยะหนึ่งแล้ว ดังที่ นายพลบาชลอฟ ปริชลิก อ้างว่า โซเวียตและพันธมิตรวอร์ซอได้เข้ามาตั้งทัพประชิดชายแดนเชโกสโลวาเกีย กระนั้น เบรชเนฟผู้นำโซเวียตเองก็ยังต้องใช้ภาษาเพื่อเอ่ยอ้างความชอบธรรมบางอย่างก่อนจะติดเครื่องยนต์รถถังของตน

วันที่ 3 สิงหาคม ในปีเดียวกัน ณ เมืองบราติสลอวา เชโกสโลวาเกีย เบรชเนฟได้กล่าวในที่ประชุมองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว่า ชาติสังคมนิยมทุกชาติมีหน้าที่ต้องดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ารัฐบาลโซเวียตคงรู้สึกว่าความชอบธรรมที่เบรชเนฟเอ่ยอ้างขึ้นมานั้น น่าจะหนักแน่นมากพอด้วยฉันทมติหรือความภักดีจากพันธมิตรวอร์ซอ พวกเขาจึงไม่รีรอในการใช้กำลังทหารเพื่อโค่นล้มดุบเช็กในวันที่ 20 ของเดือนเดียวกัน 

จุดที่น่าสนใจอยู่ที่เหตุการณ์หลังจากนั้น แม้ว่าจะยึดกรุงปรากและรัฐบาลของเชโกสโลวาเกียได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โซเวียตก็ยังคงดิ้นรนสถาปนาข้ออ้างของเบรชเนฟให้กลายเป็นความชอบธรรมในระดับสถาบัน โดยในเดือนกันยายน ค.ศ. 1968 หลักการของเบรชเนฟได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นบทความที่มีชื่อว่า ‘Sovereignty and the International Obligations of Socialist Countries’ ในหนังสือพิมพ์ ปราฟดา (Pravda) ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในการควบคุมของรัฐบาลโซเวียต เนื้อความในบทความดังกล่าวระบุว่า “(โซเวียตและพันธมิตร) จะไม่ยอมให้มีการตัดสินใจใดๆ มาทำลายอุดมการณ์สังคมนิยม ไม่ว่าจะในประเทศนั้นหรือในระดับสากล” หลังจากที่นำเอาเจตจำนงของตนบรรจุลงเอกสารสาธารณะแล้ว 2 เดือนถัดมา เบรชเนฟก็ประกาศนโยบายที่อนุญาตให้โซเวียตสามารถแทรกแซงทางการทหารต่อชาติพันธมิตร เพื่อปกป้องอุดมการณ์สังคมนิยมจากการรุกรานของทุนนิยม

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคำประกาศในที่ประชุมของเบรชเนฟนั้น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเป็นตราประทับรับรองคมกระสุนที่ยิงตัดผ่าเส้นเขตแดนและอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป คำกล่าวนี้ก็ถูกนำมายกระดับปรับแต่งให้ดูมีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง ผ่านการตีพิมพ์ลงในเอกสารของรัฐและการประกาศเป็นหลักการสากล ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าความยุ่งยากและความล่าช้าในการสถาปนารัฐบาลที่ภักดีต่อตนจะกระตุ้นให้โซเวียตต้องยกระดับภาษาและสร้างกลไกทางความหมาย เพื่อให้ข้ออ้างดังกล่าวมีอุดมการณ์สังคมนิยมอันศักด์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้น หลักการเบรชเนฟยังคงมีมนต์ขลังต่อไปจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนกระทั่งเมื่อผู้นำโซเวียตสายปฏิรูป เช่น มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) พบว่า หลักการเบรชเนฟที่เคยเอื้อให้โซเวียตแผ่ขยายอำนาจและกำลังทหารข้ามเส้นเขตแดนรัฐอื่นได้นั้น กลับกลายเป็นดั่งโครงสร้างหรือคำบัญชาที่บีบให้โซเวียตเข้าไปติดกับดักสงครามอันยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน จนเป็นเหตุให้มหาอำนาจรายนี้อ่อนแอลง หลักการเบรชเนฟจึงถูกละทิ้งไปในที่สุด พร้อมกับการถอนทหารของโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่โซเวียตได้รับจากการทำศึกครั้งนั้น ก็ได้เข้าร่วมผสมโรงกับวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่โซเวียตกำลังเผชิญ จนในที่สุดสหภาพคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ถูกฉีกทึ้งออกเป็นรัสเซียและบรรดารัฐเล็กรัฐน้อยในแถบเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก

หลังสงครามเย็นสิ้นสุด: ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และข้ออ้างที่เปลี่ยนไปของรัสเซีย

สงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1991 พร้อมกันนั้นมนต์เสน่ห์ของอุดมการณ์ทางการเมืองในฐานะหัวใจของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็พลันเสื่อมความขลังไปด้วย อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ถูกมองว่าพ่ายแพ้และไร้ประสิทธิภาพจากความพินาศทางเศรษฐกิจของรัฐคอมมิวนิสต์ และการล่มสลายของหัวหอกสังคมนิยมเช่นโซเวียต ส่วนอุดมการณ์ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็กลับมาได้รับความนิยมจนถึงขนาดที่ว่า หนึ่งปีหลังจากนั้น ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) เสนอไว้ในหนังสือชื่อดังของเขาเรื่อง The End of History and the Last Man ในทำนองว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยจะเป็นทางออกสุดท้ายแก่มวลมนุษยชาติ

ไม่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองในโลกจะเหลืออยู่กี่สำนัก สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งทางการเมืองหลังสงครามเย็นอีกต่อไป อย่างน้อยก็สำหรับรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยในปี ค.ศ. 1993 ขณะที่ไฟสงครามกลางเมืองกำลังลุกโชนในยูโกสลาเวีย ซึ่งเป็นอดีตสหพันธ์แถบคาบสมุทรบอลข่าน ที่กำลังจะแตกกระจายออกเป็นรัฐชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ นั้น รัสเซียก็ได้เข้าไปหนุนกลุ่มชาติพันธุ์เซิร์บและรัฐบาลของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในศึกชิงกระถางตามล่ากวางครั้งนั้น มหาอำนาจแห่งยูเรเซียผู้นี้ก็มิได้แสดงตัวชัดเจนในการช่วยเหลือรัฐบาลของชาวเซิร์บในการรบพุ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในคาบสมุทรบอลข่าน ความเอื้อเฟื้อของรัสเซียต่อชาวเซิร์บหัวรุนแรงนั้น เกิดขึ้นเพียงแต่ในสภาดูมา ส่วนท่าทีของผู้นำรัสเซียในขณะนั้นซึ่งก็คือ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ค่อนข้างจะให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการรักษาสันติภาพเหนือภูมิภาคดังกล่าว 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกำลังทางเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซียในขณะนั้นยังมีไม่มากพอ อีกทั้งพวกเขาเองก็มิได้ถือครองอุดมการณ์ทางการเมืองอันศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อครั้งสงครามเย็นอีกต่อไปแล้ว มหาอำนาจผู้นี้จึงไม่อาจสถาปนาหลักการของตนเพื่อส่งกำลังรุกเข้ารัฐเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวกโยธินเหมือนในสมัยของเบรชเนฟ และในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็มิได้ถือครองอุดมการณ์อันเป็นสากลใดๆ ที่จะนำมาอ้างเพื่อใช้กำลังอย่างเต็มที่ในสมรภูมิบอลข่าน ด้วยสภาวะที่ขัดสนทั้งในแง่ของวัตถุและอุดมการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจ หากรัสเซียจะทำได้เพียงแค่แทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนานาชาติ เพื่อสร้างบทบาทในนามของสันติภาพเหนือเพื่อนบ้านของตน

ความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่านที่เกิดจากรอยแยกทางชาติพันธุ์ในอดีตของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียนั้น มิได้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่งที่เอื้อให้รัสเซียได้แสดงบทบาทของมหาอำนาจในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ยังบอกแก่เราได้อีกด้วยว่า แม้ความขัดแย้งที่รัสเซียเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น กระนั้น หลังจากที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง รูปแบบความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้นได้เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นสากลและปัจจุบันขณะ มาสู่อุดมการณ์ด้านชาตินิยมหรือชาติพันธุ์นิยมที่เน้นความเฉพาะตัวและอดีตอันไกลโพ้น 

แน่ละ รถถัง เครื่องบิน และสรรพาวุธต่างๆ ยังคงถูกใช้เพื่อจัดการความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น กระนั้น ข้ออ้างที่จะสร้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธเหล่านี้ก็จำต้องยอมตามความเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างข้างต้น เพราะแม้แต่การบุกยูเครนในปี ค.ศ. 2022 ผู้นำรัสเซียเช่น วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ยังต้องเปลี่ยนมาอ้างความใกล้ชิดระหว่างยูเครนและรัสเซียในประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นในฉบับของเขา

“ความเกลียดชังต่อรัสเซียกำลังถูกโหมกระพือในดินแดนประวัติศาสตร์ของเรา” เป็นข้ออ้างหนึ่งที่ปูตินใช้สร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนกำลังเข้าไปยังเขตอธิปไตยของยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการพูดถึงประวัติศาสตร์ของรัสเซีย-ยูเครน ผู้นำรัสเซียได้พุ่งโจมตีไปยังใจกลางอธิปไตยยูเครนว่า “ยูเครนนั้นไม่ได้มีชาติเป็นของตัวเอง” โดยปูตินอ้างว่า ดินแดนดังกล่าวเป็นเพียงพื้นที่ที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากรัสเซียในสมัยที่ วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ปกครองสหภาพโซเวียต คำกล่าวในเชิงประวัติศาสตร์ของปูตินมิได้เพิ่งถูกประดิษฐ์ แต่ถูกเขียนเป็นบทความโดยตัวเขาเองตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในบทความเชิงประวัติศาสตร์ของเขานั้น ปูตินอุปมาว่ารัสเซียกับยูเครนเป็นหนึ่งเดียวกันมานานแล้ว เพียงแต่ถูกตัดแยกโดยเส้นเขตแดนและกลุ่มอำนาจภายนอก

จากปราก ’68 ถึงเคียฟ ’22: ด่วนไปที่จะสรุป แต่จะสายเกินไปหากไม่ต่อสู้

ในการทบทวนประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า การรุกรานของรัสเซียทั้ง 3 ครั้ง ล้วนแล้วแต่มีการหยิบฉวยภาษามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่อาวุธและการเคลื่อนพลข้ามเขตแดนของตนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่รัสเซียฉวยใช้นั้นก็จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปหลังสงครามเย็นจบลง จากการยกย่องอุดมการณ์ทางการเมืองมาสู่การอ้างประวัติศาสตร์ระหว่างชาติและชาติพันธุ์ เช่นนั้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่ตัวภาษาที่มีอำนาจในการรับรองอาวุธก็ยังมีสภาพที่ไม่คงทนถาวร เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย

ในฐานะผู้ต้องการสันติภาพ และผู้ที่เฝ้ามองจากภายนอก ผู้เขียนจึงเห็นว่า แม้เราจะไม่ได้จับปืนไปช่วยรบ แต่พลเรือนธรรมดาสามัญก็สามารถต่อต้านความรุนแรงจากการรุกรานได้ในแนวรบของภาษา มหาอำนาจจำเป็นต้องหยิบยืมคำหรือประโยคที่มีความชอบธรรมมาใช้เพื่อทำสงคราม ดังนั้น สิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การตั้งคำถามต่อคำและการใช้คำของมหาอำนาจผู้รุกราน เพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศ 

ภาพการประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตรัสเซีย ลอนดอน| photo: Loco Steve

แน่ละ ลำพังอำนาจทางภาษาอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอในการกดดันชาติมหาอำนาจให้ยุติสงคราม แต่ภาษาก็สามารถปลุกเร้า ระดมพล ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือแม้แต่ตราระเบียบสังคมชุดใหม่ขึ้นมาได้ ในตอนท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอบอกแก่บรรดานักวิจารณ์ว่า อย่าได้ยอมแพ้ต่อการคิดและแสดงความคิดเห็นต่อต้านความอยุติธรรมไม่ว่าจะในระดับใด เพราะท่านก็ได้เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสำนึกแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุด ท่านก็ได้แสดงให้เห็นอย่างท้าทายว่า ท่ามกลางศาสตรา อาญาก็มิได้เงียบงันเสมอไป

อ้างอิง
  • “From Spring, into a Long Winter’s Night: The Czechoslovakian Crisis of 1968 Part One”. Cryptologic Almanac 50th Anniversary Series. (2003). Retrieved 2022, 27 Feb from https://www.nsa.gov/portals/75/documents/news-features/declassified- documents/crypto-almanac-50th/From_Spring_Part_One.pdf 
  • “From Spring, into a Long Winter’s Night: The Czechoslovakian Crisis of 1968 Part Two”. Cryptologic Almanac 50th Anniversary Series. (2003). Retrieved 2022, 27 Feb from https://www.nsa.gov/portals/75/documents/news-features/declassified- documents/crypto-almanac-50th/From_Spring_Part_Two.pdf
  • Bowker, M. (1998). “The Wars in Yugoslavia: Russia and the International Community”. Europe- Asia Studies, 50(7), 1245–1261.
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2018, March 7). Prague Spring. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/event/Prague-Spring
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2020, May 11). Soviet invasion of Afghanistan. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/event/Soviet-invasion-of-Afghanistan
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2020, May 12). Czechoslovakia. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/event/Prague-Spring
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2020, June 12). Velvet Revolution. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Velvet-Revolution
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2021, May 17). Warsaw Pact. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Leonid-Ilich-Brezhnev
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2021, June 21). Cold War. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/event/Brezhnev-Doctrine
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2021, July 27). Brezhnev Doctrine. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/event/Brezhnev-Doctrine
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2021, November 23). Alexander Dubček. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Alexander-Dubcek
  • Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2021, December 15). Leonid Brezhnev. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Leonid-Ilich-Brezhnev
  • Fawn, Rick et al. (2018). “The Prague Spring and the 1968 Warsaw Pact Invasion of Czechoslovakia in an International Context”. Europeum, 2018 (December). Prague: The Ministry of Foreign Affairs of the Czech Republic.
  • Fellmeth, Aaron et al. (2011). Guide to Latin in International Law. New York: Oxford University Press
  • Fukuyama, Francis. (1992). The End of History and the Last Man. New York: Free Press.
  • Gibney, F. B. (2021, September 7). Nikita Khrushchev. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Nikita-Sergeyevich-Khrushchev
  • Harding, Luke et al. (2022, 24 Feb). “Ukraine Fighting to Stop ‘A New Iron Curtain’ after Russian Invasion”. The Guardian. Retrieved 2022, 28 Feb from https://www.theguardian.com/world/2022/feb/24/russia-attacks-ukraine-news-vladimir-putin-zelenskiy-russian-invasion?fbclid=IwAR17bl3GxQkbtb8qlV1APQJgtuxI_wFctfM6xuwx9j4aI4pJkjFgZkhCw7Q
  • Vorobyov, Niko. (2022, 25 Feb). “Putin Says Russia, Ukraine Share Historical ‘Unity’. Is He Right?”. Aljazeera. Retrieved 2022, 28 Feb from https://www.aljazeera.com/news/2022/2/25/history-of-ties-between-ukraine-and-russia

กาญจนพงค์ รินสินธุ์
หนุ่มคาบสมุทรผู้สนใจปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ชื่นชอบภาษาเวียดนามเป็นชีวิตจิตใจ และมีนิสัย ‘พลีชีพบูชารัก’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า