Thermobaric Weapons: รู้จัก ‘ระเบิดสุญญากาศ’ อาวุธพิฆาตที่ไม่ปรานีต่อมนุษยธรรมในสงครามยูเครน-รัสเซีย

นอกเหนือไปจากความหวาดระแวงของประเทศฝ่ายตะวันตกว่า รัสเซียกำลังมีแผนจะใช้งานอาวุธเคมีในสงครามยูเครน วันที่ 10 มีนาคม 2022 กระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักรยืนยันว่า รัสเซียกำลังเตรียมใช้อาวุธร้ายแรงอย่าง ‘ระเบิดสุญญากาศ’ ในความขัดแย้งนี้อีกด้วย

แน่นอนว่าการใช้อาวุธชนิดนี้พัวพันอยู่กับหลายข้อห้ามของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (law of armed conflict: LOAC) หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (The Convention on Certain Conventional Weapons) ซึ่งทำให้การกล่าวอ้างของกระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักรว่ารัสเซียกำลังใช้อาวุธชนิดนี้ในความขัดแย้งเหนือประเทศยูเครนเป็นคำกล่าวที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเมื่ออาวุธชนิดนี้มีโอกาสจะถูกใช้โดยไม่เลือกว่าเป้าหมายจะเป็นพลเรือนหรือทหารก็ตาม

ต่อไปนี้คือรายละเอียดของอาวุธร้ายแรงชนิดนี้ ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีทางการทหารและอาจจะกำลังถูกใช้งานจริงกับมนุษย์แบบไม่เลือกหน้า

อะไรคือระเบิดสุญญากาศ 

ระเบิดสุญญากาศถูกพัฒนาครั้งแรกๆ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้สำหรับกำจัดกับระเบิดในสงครามเวียดนามช่วงปี 1960 เป็นต้นมา โดยระเบิดจะทำงานด้วยการดูดอากาศรอบๆ บริเวณเข้าไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้ ต่อมาหลังสงครามเวียดนาม เทคโนโลยีชนิดนี้ได้รับการสานต่อทั้งจากประเทศฝั่งตะวันตกและสหภาพโซเวียต

การระเบิดด้วยการใช้อากาศเป็นเชื้อเพลิงจะทำให้เกิด ‘แรงดันส่วนเกิน’ (overpressure) ที่มากกว่าปกติในการอัดกระแทก ซึ่งในการใช้งานจริงนอกจากจะส่งแรกกระแทกดังกล่าวแล้ว ยังทำให้เกิดการดูดอากาศออกจากปอดของเหยื่อ ทำลายเนื้อเยื่อปอดและอวัยวะภายใน โดยผู้เชี่ยวชาญบางสำนักวิเคราะห์ว่าการดูดอากาศอย่างรุนแรงนั้นอาจจะทำลายปอด หรือดูดอากาศออกมาอย่างรุนแรงมากก่อนที่เหยื่อจะเสียชีวิต แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้ไปแล้วก็ตาม 

จากข้อมูลของสำนักข่าวด้านการทหารอย่าง SOFREP ระบุว่า แรงดันมหาศาลจากการดูดอากาศออกจากปอดจะทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำลายอวัยวะการได้ยินทั้งหมด และในกรณีที่สยดสยองที่สุด อาจจะดันให้ลูกตาหลุดออกจากเบ้า ทำให้เหยื่อทุกข์ทรมานจนกว่าจะเสียชีวิต

การระเบิดของระเบิดสุญญากาศยังทิ้งกลุ่มเมฆดอกเห็ดที่มีพิษต่อร่างกายเอาไว้อีกด้วย อันตรายของมันทำให้อาวุธชนิดนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอาวุธต้องห้ามที่ไม่ควรถูกนำมาใช้งานอย่างถึงที่สุดชนิดหนึ่ง

ด้วยเป้าหมายของระเบิดสุญญากาศจะเน้นไปที่การสังหารตัวบุคคล จึงนิยมนำมาใช้ในการกวาดล้างอาคารหรือบังเกอร์ทางการทหาร สิ่งปลูกสร้างจะได้รับความเสียหายจากระเบิดชนิดนี้น้อยกว่าชีวิตของบุคคล

ประเทศที่ครอบครอง และประเทศที่ใช้งาน

ข้อมูลของสำนักข่าว The Economist ระบุว่า หลายชาติตะวันตกมีอาวุธชนิดนี้ไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะการนำไปดัดแปลงเพื่อติดตั้งในจรวดเฮลไฟร์ (Hellfire) บนอากาศยาน และเครื่องยิงจรวดชนิดพกพาอื่นๆ 

กองทัพอากาศสหรัฐเคยใช้งานระเบิดสุญญากาศในเมืองการ์เดซ (Gardez) ประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) และตาลีบัน (Taliban) ช่วงปี 2002 ซึ่งคล้ายกับการใช้งานเพื่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของกองทัพสหราชอาณาจักร

ในช่วงสงครามกลางเมืองประเทศซีเรียหลังปี 2011 ก็ได้มีรายงานจากสหประชาชาติว่า รัฐบาลซีเรียมีการใช้อาวุธชนิดนี้ต่อกลุ่มกบฏเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุทธการอะเลปโป (Battle of Aleppo) และเมืองคาเฟอร์ บัตนา (Kafr Batna) ทางตอนใต้ของซีเรีย 

นอกเหนือไปจากการติดตั้งบนอากาศยานเพื่อยิงจรวดจากอากาศสู่พื้นดิน หรือจากเครื่องยิงจรวดชนิดพกพาแล้ว ยังมีการดัดแปลงเพื่อใช้ยิงจากยานพาหนะภาคพื้นดินอีกด้วย โดยรัสเซียได้พัฒนารถยิงจรวด TOS-1 ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับยิงระเบิดสุญญากาศออกไปยังเป้าหมายได้ทีละหลายๆ ลูก การคาดการณ์จากสำนักข่าว The Economist ระบุว่าสามารถยิงได้คราวเดียวถึง 24 ลูกด้วยกัน โดยถูกใช้งานจริงครั้งแรกในสนามรบอัฟกานิสถานช่วงปี 1988

การทดลองภาคสนามปี 2007 ของกองทัพรัสเซียยังระบุว่า การพัฒนาระเบิดทำลายล้างสูง Father of All Bombs (FOAB) สำเร็จด้วยดี โดยอ้างว่ามีอานุภาพเท่ากับระเบิดไดนาไมต์ 44 ตัน และสร้างแรงดันส่วนเกินออกมาได้รุนแรงคล้ายกับระเบิดนิวเคลียร์อีกด้วย

สำนักข่าว iNEWs รายงานเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2022 ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดสุญญากาศขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างอุณหภูมิได้ถึง 2,500 เซลเซียส ขณะเดียวกันกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐอินเดียก็มีการพัฒนากระสุนระเบิดสุญญากาศสำหรับติดตั้งบนรถถังอาร์จัน (Arjun) เช่นกัน

ระเบิดสุญญากาศที่สร้างความหวาดผวาในสงครามยูเครน

สำนักข่าว ABC News เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2022 ว่า มีรายงานจำนวนมากว่ามีการพบเห็นรถยิงจรวด TOS-1 เคลื่อนที่เข้ามาในยูเครนตะวันออกและบริเวณใกล้เมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) 

โฆษกประจำทำเนียบขาว เจ็น ซากี (Jen Psaki) ระบุว่ายังไม่ได้รับการยืนยันถึงการใช้งานอาวุธชนิดนี้ในยูเครน แต่หากมีการใช้งานจริงก็นับว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของอาชญากรรมสงคราม ขณะที่เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหรัฐอเมริกา ออคซานา มาร์คาโรวา (Oksana Markarova) ยืนยันว่ารัสเซียมีการใช้อาวุธชนิดนี้จริงบนแผ่นดินยูเครน และการใช้งานครั้งนั้นคร่าชีวิตทหารยูเครนไปถึง 70 ชีวิต

Oksana Markarova

หากคำกล่าวของมาร์คาโรวาเป็นความจริง ก็จะสอดคล้องกับรายงานของกระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักร ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ก็ตาม

จอห์น เทียร์นีย์ (John Tierney) คณะกรรมการบริหารจาก Center for Arms Control and Non-Proliferation ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ว่า หากรัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้จริงในยูเครน จะส่งผลให้ประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยเฉพาะสารพิษที่ตกค้างในอากาศโดยรอบ 

อย่างไรก็ตาม เทียร์นีย์ยังระบุว่า หากอาวุธนี้ถูกนำมาใช้งานจริงในสงครามยูเครน อาจจะหมายถึงความ ‘จนตรอก’ ของประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ที่สงครามครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้แต่แรก

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า