เรื่อง/ภาพ: ปริตตา หวังเกียรติ
ใต้ทางยกระดับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ อันเป็นเสมือนประตูเชื่อมนานาชาติสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เอื้องผ้า ช้ำเกตุ เหลือบเห็นชายเร่ร่อนในชุดเสื้อผ้าเก่า เขานอนหลบฝนอยู่ใต้ทางลอยฟ้าอย่างโดดเดี่ยว
ในวันนั้น เอื้องผ้าไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องชายแปลกหน้าให้ใครฟัง แต่เธอยังเก็บภาพของเขาในความทรงจำ แม้เวลาล่วงผ่านไปหลายสัปดาห์
หากใครคนหนึ่งจดจำภาพที่เห็นโดยบังเอิญ มันคงมีเหตุผลมากกว่าแค่ความรู้สึกที่เกิดในวินาทีที่เห็นภาพนั้น สำหรับเอื้องผ้า เหตุผลของเธอคือเรื่องราวในอดีตที่เธอต้อง ‘จ่าย’ ต้นทุนชีวิตให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา
“วันที่พี่เข้ากรุงเทพฯ พี่เห็นคนเร่ร่อนนอนใต้สะพาน แล้ววันหนึ่งถ้าคนที่นอนข้างถนนคนนั้นเป็นลูกเราบ้างล่ะ? ถ้าการพัฒนาที่ผ่านมามันดีจริง ชีวิตคนต้องดีกว่านี้ ต้องไม่มีใครไปนอนข้างถนนแบบนั้น”
เอื้องผ้าคือแม่ลูกสอง อีกบทบาทหนึ่งคือสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เธอผลิตผักปลอดสารพิษในที่ทำกินผืนเล็ก ทำการตลาดให้กลุ่มซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คอยจัดเวรกันออกไปขายผลผลิตตามสถานที่ต่างๆ และขยายฐานลูกค้าในจังหวัดฉะเชิงเทราและกรุงเทพฯ
เกษตรกรหญิงกลุ่มนี้เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก สถานะทางเศรษฐกิจถือว่าพอมีพอกิน ไม่ขาดแคลน แต่หากมองย้อนกลับไป ณ ทศวรรษแห่งยุค ‘โชติช่วงชัชวาล’ พวกเธอบางคนเกือบเอาตัวไม่รอดจากภาวะยากจน
ความมั่งคั่งกล้ำกรายบทบาทหญิง
‘โชติช่วงชัชวาล’ คือวลีที่โด่งดังสมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย จนนำมาสู่การริเริ่มผลักดันโครงการ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ในปี 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 นับว่าเป็นการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของประเทศไทยโดยเปลี่ยนภาคตะวันออกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก เปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่เคยพึ่งพาเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออก
ผลลัพธ์คือเศรษฐกิจไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2531 อัตราการเติบโต GDP พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.3 เปอร์เซ็นต์ และยังคงรักษาระดับการเติบโตที่เฉลี่ย 7.5-8 เปอร์เซ็นต์ ในอีกทศวรรษต่อมา[1] นานาชาติยกให้ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีศักยภาพเป็น ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ ถัดจากสี่ประเทศอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงความมั่งคั่งนี้ หนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นคือ เอื้องผ้าและกลุ่มผู้หญิงในชุมชนของเธอ
การมาถึงของ ‘ความเจริญ’ ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเกษตรกรสู่เอกชน ที่ดินเดิมที่ชุมชนเคยร่วมใช้แหล่งน้ำและหาผักตามธรรมชาติไม่สามารถเข้าถึงได้อีก ดินเกิดการปนเปื้อน น้ำถูกสูบไปใช้เพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรเผชิญเคราะห์ซ้ำจากสภาวะราคาสินค้าเกษตรขาดเสถียรภาพ
บทบาทของ ‘ผู้หญิง’ เปลี่ยนไปเช่นกัน แต่เดิมผู้หญิงในหลายพื้นที่ของสังคมไทยมีบทบาทสำคัญในการพยุงโครงสร้างทางสังคม ผู้หญิงมักทำงานในครัวเรือน ขณะที่ผู้ชายออกไปหางานทำนอกบ้านหรือในต่างถิ่น ผู้หญิงจึงเป็นผู้ดูแลควบคุมทรัพยากรในครอบครัว รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัว
แต่เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจเอื้อให้เกิดการแย่งยื้อทรัพยากรไปจากชุมชน รายได้ในครัวเรือนที่เคยพึ่งพาทรัพยากรท้องถิ่นไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้หญิงหลายคนต้องทิ้งบ้านเพื่อออกไปหางานทำในภาคอุตสาหกรรม สมาชิกกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์สนามชัยเขตหลายคนเล่าว่า เคยผ่านการเป็น ‘สาวโรงงาน’ มาก่อน บทบาททางสังคมอื่นนอกเหนือจากการเป็นลูกจ้าง เช่น แม่ ผู้นำชุมชน หรือผู้ดูแลทรัพยากร ถูกทำให้แหลกสลายในสายพานการผลิตที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานและมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส
เอื้องผ้าในวัย 19 ปี ทิ้งอาชีพเกษตรกรก่อนเดินเข้าสู่โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งเป็นระยะเวลาแปดปี แต่ในท้ายที่สุดเธอไม่มีเวลาและเงินเก็บเหลือ เธอตัดสินใจลาออกจากงานและย้อนกลับเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมอีกครั้งด้วยเหตุผลที่หลายคนอาจไม่เห็นด้วย
“ตอนพี่มีลูกคนแรก พี่ออกจากงาน เพราะอยากเลี้ยงลูก” เอื้องผ้าบอก “พี่อยากเห็นพัฒนาการของเขา เพราะต่อให้มีเงินส่งมาเลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่ไม่ได้อยู่ดูแลกัน มันไม่ใช่
“พื้นที่การพัฒนาบ้านเราขยายไปเรื่อยๆ มีความเจริญ มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้น แต่ทำไมลูกหลานของเรายังมีคนจนอยู่ มีมลพิษ มีคนป่วย มีอาชญากรรม”
สามทศวรรษแห่งการพัฒนาบนหลังคน
ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังริเริ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระลอกใหม่ภายใต้โครงการ ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor: EEC) เอื้องผ้าตั้งคำถามถึงแนวทางการพัฒนาแบบเดิมที่มาเร็ว โตเร็ว แต่ก็ทิ้งปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลัง
การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในห้วงสามทศวรรษที่ผ่านมาถูกวิเคราะห์ว่าเป็นการเสพติดแนวคิด Pro-Growth คือเน้นปั่นยอดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค (macroeconomics) ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น และลดข้อจำกัดด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน
ธนาคารโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงทศวรรษ 2520 ยกย่องให้ประเทศไทยเป็น ‘เรื่องราวความสำเร็จ’ เพราะสามารถไต่เต้าจากประเทศรายได้น้อยมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนในเวลาเพียง ‘หนึ่งชั่วอายุคน’
แต่ในมุมมองของเอื้องผ้า แม่คนหนึ่งที่มองหาความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่มั่นคงให้กับลูก เส้นทางการพัฒนาเช่นนี้ไม่อาจให้ความหวังแก่เธอได้
แม้ว่าประเทศไทยสามารถลดอัตราความยากจนจาก 67 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในปี 2529 เหลือเพียง 7.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558[2] แต่กลับพบว่าปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำ มีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายของประเทศถึง 10 เท่าในปัจจุบัน[3] ขณะที่ผลการสำรวจภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2558-2559 โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่า พบสารก่อมะเร็งรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด[4]
ผู้หญิงหลายคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเห็นเหรียญอีกด้านของการพัฒนา เพราะพวกเธอมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ต้นทุนที่เธอจ่ายไปนั้นกลับถูกมองว่าเป็น ‘ของฟรี’
รักษ์ ลูกจ้างในโรงงานผลิตเบรกรถยนต์ จังหวัดระยอง ต้องฝากลูกสองคนไว้กับตายายในต่างจังหวัด และได้พบลูกเพียงสองครั้งต่อปี ต่าย พนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น กำลังเผชิญกับโรคปวดหลังเรื้อรังสืบเนื่องจากการยืนทำงานตลอดวัน ปัญหาครอบครัวและความเจ็บป่วยของทั้งสองทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเพิ่มขึ้น พร้อมกับการขึ้นโบนัสหลักล้านของผู้บริหาร พวกเธอไม่สามารถบอกชื่อจริง เพราะกังวลต่อสถานะการจ้างงาน
อรุณรัตน์ เนาวโอภาส คืออีกคนที่ต้องสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตให้กับการพัฒนา สามีของเธอหรือผู้ใหญ่บ้าน ประจบ เนาวโอภาส ถูกฆาตกรรมในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 จากกรณีเป็นแกนนำชุมชนคัดค้านการลักลอบทิ้งขยะสารพิษจากภาคอุตสาหกรรมในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา อรุณรัตน์กลายเป็นเสาหลักครอบครัวในการส่งเสียและดูแลลูกสองคน
เมื่อมลพิษทำให้เกิดความเจ็บป่วย ผู้หญิงต้องกลายมาเป็นคนดูแลผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าหน้าที่นี้เป็นของผู้หญิง บางคนต้องลาออกจากงานและเสียโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ
หากบทเรียนที่สะท้อนโดยผู้หญิงเหล่านี้ถูกนับรวมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของประเทศตั้งแต่อดีต ทิศทางการพัฒนาของไทยคงแตกต่างไปจากทุกวันนี้ และการพัฒนาในอนาคตอาจมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเพียงการปั่นตัวเลข GDP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
วิธีคิดแบบ growth-based economy เป็นวิธีคิดแบบ masculinity มีสมมุติฐานว่าตัวเองเป็นคุณพ่อรู้ดี ต้องพาไปข้างหน้า โดยไม่สนใจว่ามีความเสียหายและราคาที่ต้องจ่าย เพื่อจะยึดพื้นที่เศรษฐกิจต้องแลกกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง คือขอรวยก่อนแล้วค่อยมาแก้ไข
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ทับจุมพล นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ความเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ สะท้อนในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคแบบ top-down ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่ง ผศ.นฤมล อธิบายลักษณะการพัฒนาเช่นนี้ว่า “มองแต่ความก้าวหน้า แต่ไม่ได้มองความมั่นคง” แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในระดับการวางแผนนโยบายการพัฒนาประเทศ “แต่ผู้หญิงที่เข้ามาจะเป็น gimmick ต้องคิดแบบ masculinity (ความเป็นชาย)”
“ถ้าคำนึงถึงประเด็น gender การพัฒนาไทยจะกลับไปดูแลกลุ่มคนเปราะบางมากกว่านี้ ถ้าเราพูดเรื่องคนเปราะบางในการพัฒนา วิธีคิดการพัฒนาจะเป็นแบบสังคมไทยช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แบบสังคมไทยโชติช่วงชัชวาล”
ยอมรับความผิดพลาดในอดีต…ก่อนก้าวสู่ EEC
บทบาทผู้หญิงไทยในปัจจุบันถือว่าก้าวหน้าไปจากอดีต การเคลื่อนไหวทางสังคมหลากประเด็นมีแนวหน้าเป็นผู้หญิง ดังกรณีแกนนำชุมชนคัดค้านโครงการพัฒนาที่ได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองทอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
ในปี 2561 องค์กร Grant Thornton เผยแพร่ผลการสำรวจภาคธุรกิจกว่า 5,500 ราย ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยจัดอันดับประเทศไทยไว้ที่อันดับ 3 ของประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับอาวุโสมากที่สุด โดยมีผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วน 31 เปอร์เซ็นต์ รองจากอินโดนีเซีย 46 เปอร์เซ็นต์ และฟิลิปปินส์ 40 เปอร์เซ็นต์[5]
อย่างไรก็ตาม บทบาทผู้หญิงในระดับการตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐยังถือว่าไม่โดดเด่นนัก
ภายใต้รัฐบาลทหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสัดส่วนสมาชิกหญิงและชายอยู่ที่ 13 : 237 คน[6] คณะกรรมการปฏิรูปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีสัดส่วนสมาชิกหญิงและชายที่ 12 : 108 คน[7] บอร์ดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่วางแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนามีผู้หญิงสามคน จากสมาชิก 15 คน[8]
เมื่อหันมาพิจารณากลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนา โดยเฉพาะในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีสัดส่วนสมาชิกหญิงและชาย 0 : 15[9] เป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจในโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. … ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติ ถือเป็นการเริ่มต้นโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าปี 2561 คือ ‘ปีแห่งการพัฒนา EEC’ ซึ่งรัฐบาลจะเดินสายชักชวนเอกชนจากนานาชาติมาร่วมลงทุนและเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสามจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง
EEC เป็นพื้นที่นำร่องนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายสร้างโมเดลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่ทำให้ประเทศไทยยังคงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางและไม่สามารถกลับไปโชติช่วงชัชวาลได้เหมือนแต่ก่อน
รัฐบาลยังคงสร้างจุดขายให้โครงการ EEC ด้วยการชูตัวเลข GDP และความมั่งคั่งในอนาคต
บทความ ‘The next Japan is not China but Thailand’ เผยแพร่ใน The Economist เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า โชคไม่ดีที่นักวางแผนนโยบายด้านเศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเน้นเพียงการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอัมพาตมาก่อน[10]
แม้ GDP ยังคงเติบโตทุกปี แต่การเน้นเพียงเศรษฐกิจมหภาคทำให้เศรษฐกิจไทยขาดเสถียรภาพและความยั่งยืน การพึ่งพาอุตสาหกรรมส่งออกและเงินลงทุนต่างประเทศมาอย่างยาวนานทำให้ไทยมีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ โดยไม่สามารถสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง ขณะที่สี่เสือแห่งเอเชีย ซึ่งเคยเป็นแบบอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ได้ลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา จนสามารถขยายเศรษฐกิจสู่ภาคบริการและเทคโนโลยีในปัจจุบัน
พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานวิชาการและแผน คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในเทคโนแครตหญิงระดับผู้บริหารไม่กี่คนที่ทำงานเชิงนโยบายมายาวนานกว่า 36 ปี เธอมีบทบาทสำคัญในการทำแผนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมฯ มาบตาพุด และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพัฒนาโครงการ EEC
“เรามีแนวคิดอยากให้ EEC เป็นพื้นที่นำร่องไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำให้เกิดการ ‘เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาตลอดชีวิต’ EEC จะเป็นฉบับสมบูรณ์ของอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เอาศักยภาพในพื้นที่มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” พจณีกล่าว
นิยามของการเรียนรู้ตลอดชีวิตในมุมมองของเธอคือ “การพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการตลาด และทำให้ลูกหลานมีรายได้ดี ไม่ตกงาน” รวมถึงจะมีการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เช่น การได้รับทุนการศึกษา สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่และเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมให้สถาบันอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นสามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และดึงศักยภาพการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมท้องถิ่นเพื่อสร้าง Economic Fruits Corridor ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม
ปลายทางของ EEC ในมุมมองของพจณีคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและตอบโจทย์การเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของไทยไปพร้อมกัน
ยังมีเทคโนแครตหญิงอีกจำนวนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายพัฒนา และยังคงเป็นคำถามว่าเสียงของพวกเธอได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงไร ในยามที่รัฐบาลทหารจำกัดสิทธิการแสดงออกอย่างเข้มข้นและต้องการสร้างผลงานด้านเศรษฐกิจให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเร่งด่วนเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา
“เราเห็นความผิดพลาดในการพัฒนาที่ผ่านมา” อรุณี ห่อทองคำ รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนนาเกลือ จังหวัดชลบุรี เอ่ยขึ้นขณะมองไปยังเงาทะมึนของท่าเรือแหลมฉบังอีกด้านของเวิ้งทะเล
ครอบครัวของอรุณีเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกรัฐเวนคืนที่ดินในปี 2521 เพื่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังภายใต้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เธอได้รับเงินชดเชยไม่ถึงหลักล้านซึ่งใช้จ่ายไปกับการโยกย้ายที่อยู่อาศัยจนหมด วันนี้เธอเห็นบริษัทเอกชนในพื้นที่ท่าเรือทำรายได้เป็นกอบเป็นกำและสามารถจัดสตาฟฟ์ปาร์ตี้หรูหราทุกปี ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถหาปลาได้อย่างแต่ก่อน สมาชิกชุมชนได้แต่กังวลถึงปัญหาจากมลพิษ
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้หญิงในชุมชนนาเกลือลุกขึ้นมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเติมรายได้ที่สูญหายไปจากการเสียที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในอดีต
อรุณีเชื่อว่าการพัฒนาอยู่ร่วมกับชุมชนได้ หากเพียงนักวางนโยบายยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และไม่เดินซ้ำรอยอีกครั้งกับการพัฒนาระลอกใหม่
*หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก Mekong Eye เครือข่ายสื่อเพื่อการพัฒนายั่งยืน ภายใต้การดูแลขององค์กร Earth Journalism Network, Internews