ผิด – ถูก – ชั่ว – ดี เกี่ยวกับ ฟิเดล คาสโตร

fidel-1-2
ที่มา: conversation.com

 

  • ฟิเดล คาสโตร เป็นผู้นำประเทศที่ครองอำนาจทางการเมืองยาวนานที่สุดคนหนึ่งของโลก คือเกือบ 50 ปี นับจากชัยชนะในงานปฏิวัติ ปี 1959 ถึง 1976 ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ จาก 1976 ถึง 2008 ในตำแหน่งประธานาธิบดี
  • ยุคที่คาสโตรมีอำนาจ การดำรงอยู่ของเขาเป็นหนามยอกอกสหรัฐอเมริกามหาอำนาจเพื่อนบ้าน ซึ่งมีผู้นำประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีจำนวน 10 คน นับตั้งแต่ ไอเซนเฮาเออร์, เคนเนดี, จอห์นสัน, นิกสัน, ฟอร์ด, คาร์เตอร์, เรแกน, บุชผู้พ่อ, คลินตัน และ บุชผู้ลูก
  • ฟิเดล คาสโตร เกิดในครอบครัวเจ้าของฟาร์มอ้อยขนาดใหญ่สุดแห่งหนึ่งในคิวบา เขาเป็นลูกนอกสมรสที่เกิดจากอดีตคนงานในไร่อ้อย เรียนจบจากโรงเรียนของคณะเยซูอิต คาทอลิก หลังจากนั้นเข้าเรียนวิชากฎหมายระดับมหาวิทยาลัย
  • ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาทำกิจกรรมและได้เป็นประธานสโมสรนักศึกษา จบออกมาทำงานเป็นทนายความ เปิดสำนักงานกฎหมาย ตอนนั้นเขาเคลื่อนไหวอย่างสันติ เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หลังจาก พลเอกฟุลเยซิโอ บาติสตา ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 1952 ตั้งตนเป็นผู้นำเผด็จการโดยมีอเมริกาหนุนหลัง คาสโตรยังคงเคลื่อนไหวอย่างสันติ ใช้วิธีฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดกับนายพลบาติสตา แต่ไม่สำเร็จ
  • ปี 1953 เขากับน้องชาย ราอูล คาสโตร จึงรวบรวมคนหนุ่มสาวประมาณ 150 คน ติดอาวุธ พยายามเข้ายึดอำนาจ แต่พ่ายแพ้ราบคาบ ทั้งสองคนถูกจับกุมสั่งจำคุก 15 ปี
  • ระหว่างติดคุกคาสโตรยังพยายามวางแผนต่อสู้ โดยตั้งกลุ่ม ’26th of July Movement’ แต่แล้วพี่น้องคาสโตรก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาปี 1955 โดยมีข้อตกลงกับรัฐบาลบาติสตาว่าจะไม่เคลื่อนไหว หลังจากนั้นทั้งคู่จึงลี้ภัยไปเม็กซิโก

 

 

che-guevara-and-fidel-castro
เช เกวารา และ ฟิเดล คาสโตร

 

  • ปี 1955 คาสโตรพบกับ เช เกวารา ขณะเชทำงานเป็นแพทย์และลี้ภัยอยู่ในเม็กซิโกซิตี้ เชรู้จักและกลายเป็นเพื่อนกับราอูล คาสโตรก่อน เมื่อเชได้คุยกับฟิเดลเป็นครั้งแรกชั่วคืนเดียว ก็ตอบตกลงร่วมขบวนปฏิวัติ เชกล่าวภายหลังว่า “พอรุ่งเช้าผมก็กลายเป็นผู้กำลังจะเข้าร่วมชะตากรรมกับคณะสู้รบที่จะเดินทางโดยเรือกรันมา” (กรันมาเป็นชื่อเรือยนต์ขนาดเล็กที่พาทั้งสามคนเดินทางสู่คิวบา)
  • ระยะแรกของการปฏิวัติในคิวบา คาสโตรและเชถูกทหารของรัฐบาลตีแตกพ่าย กองกำลังถูกสังหารเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สองปีถัดมา พวกเขารวบรวมกำลังเป็นกลุ่มก้อนใช้กลยุทธ์กองโจร ค่อยๆ ยึดหมู่บ้านและเมืองทีละแห่ง กระทั่งปฏิวัติสำเร็จในปี 1959
  • คาสโตรพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจไปในแนวทางสังคมนิยม ผนวกกิจการเข้าเป็นของรัฐและขจัดอิทธิพลของทุนนิยมอเมริกัน บริษัทใหญ่หลายแห่งไม่พอใจนโยบายนี้ จึงถอนการลงทุนและต่อมารัฐบาลอเมริกันก็ตัดการสั่งซื้อน้ำตาล ผลิตผลสำคัญของคิวบา เมื่ออเมริกาไม่ยอมส่งน้ำมันและกีดกันการค้า คาสโตรจึงต้องพาคิวบาหันไปซบปีกสหภาพโซเวียต
  • มกราคม 1961 ประธานาธิบดีอเมริกัน ดไวท์ ไอเซนเฮาเออร์ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา
  • เมษายน 1961 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี สั่งให้องค์กรซีไอเอบุกคิวบา พร้อมส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าทำลายสนามบินต่างๆ และให้พวกคิวบาอพยพ 1,400 คน ที่ได้รับการฝึกสู้รบกับซีไอเอ พยายามบุกขึ้นฝั่งคิวบา แต่ประสบความล้มเหลวพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง เพราะประชาชนคิวบาออกมาต่อสู้ปกป้องรัฐบาล
  • คาสโตรยิ่งนำประเทศขยับเข้าใกล้ชิดโซเวียตและรับความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น นำไปสู่แผนการทางทหารเพื่อป้องกันคิวบาร่วมกัน
  • ปี 1962 รัสเซียพยายามนำจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์มาประจำบนเกาะคิวบา เพื่อเล็งไปที่เมืองต่างๆ ของสหรัฐ เพราะสหรัฐก็มีจรวดนิวเคลียร์ในยุโรปที่เล็งไปที่เมืองของรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีเคนเนดีไม่ยอม และพร้อมจะกดปุ่มเริ่มสงครามโลกครั้งที่สาม ในที่สุด ครุสชอฟ ยอมเสียหน้าถอนอาวุธทั้งหมดออกไป
  • ฟิเดล คาสโตร กับ เช เกวารา ปฏิรูปรื้อถอนระบบการแพทย์และบริการรักษาพยาบาลในประเทศทั้งหมด โดยจัดให้เด็กชนบทเข้าเรียนแพทยศาสตร์และกลับไปรับใช้บ้านเกิด ทำให้การสาธารณสุขสำหรับคนทั่วไปพัฒนาขึ้นมาก ไม่เพียงสำหรับคนคิวบา รัฐได้ปรับปรุงมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ละตินอเมริกา ให้การศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ทั่วลาตินอเมริกาและแคริบเบียนโดยไม่มีคิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยมีเงื่อนไขว่านักศึกษาแพทย์ต้องกลับไปช่วยเหลือดูแลประชาชนในชนบทของประเทศตนเอง
  • แม้ว่าคิวบาจะมีชื่อเสียงเรื่องขยายการศึกษาได้ครอบคลุม มีอัตรารู้หนังสือร้อยละ 98 และปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างเห็นผล แต่คาสโตรก็เป็นผู้นำเผด็จการขนานแท้ เขาปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขาจำนวนมาก ทั้งโทษจองจำ ประหารชีวิต และบังคับเนรเทศ ชาวคิวบาจำนวนหนึ่งอพยพลี้ภัยออกจากประเทศทางเรือมุ่งสู่ฟลอริดา เป็นข่าวใหญ่ช่วงทศวรรษ 1960

 

fidel-alejandro-castro

  • ปี 1965 คาสโตรผนึกอำนาจครองคิวบา รวบหน่วยปฏิวัติทั้งหมดเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งตัวเองเป็นประธาน สนับสนุนการปฏิวัติในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ในทศวรรษ 1970 เขาส่งเสริมให้เกิดการลุกฮือขึ้นในอังโกลา เอธิโอเปีย และเยเมน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางทหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเศรษฐกิจคิวบาเองก็ย่ำแย่มาก
  • ตัวตนของคาสโตรคือสัญลักษณ์ต่อต้านจักรวรรดินิยมที่ยืนยงยาวนาน เป็นแรงบันดาลใจแก่ อูโก ชาเวซ แห่งเวเนซูเอลา อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย และผู้นำลาตินอเมริกันรุ่นหลังอีกหลายคน เขาไม่เคยย่อท้อยอมแพ้ต่อการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่ก่อความเดือดร้อนลำบาก
  • คาสโตรรอดพ้นจากความพยายามลอบสังหารโดยซีไอเอราว 600 กว่าครั้ง (บางครั้งเป็นเพียงการทำให้อับอายเสียหน้า) คาสโตรคุยโม้ว่าหากการเอาชีวิตรอดจากฝีมือซีไอเอเป็นเสมือนการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิค เขาก็คือนักกีฬาเหรียญทอง
  • เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง เศรษฐกิจคิวบาปั่นป่วนมาก ไม่มีใครพูดถึงการปฏิวัติอีกแล้ว ตลาดสินค้าส่งออกของคิวบาก็หายไปด้วย คาสโตรพยายามหาทางให้อเมริกาอ่อนข้อเรื่องปิดกั้นแต่ไม่ได้ผล จึงพยายามนำมาตรการตลาดเสรีหลายประการมาใช้บรรเทา เปิดรับเงินดอลลาร์ รับนักท่องเที่ยว นักลงทุน ฯลฯ
  • พฤษภาคม 2004 คาสโตร เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น เนื้อหาจดหมายประณามบทบาทด้านสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม และนโยบายสงครามของสหรัฐอย่างชัดถ้อยชัดคำทรงพลัง
  • ปี 2008 ฟิเดล คาสโตร ขณะอายุ 81 ปี และป่วยเจ็บด้วยโรคภัย มอบอำนาจบริหารเต็มให้แก่ ราอูล น้องชาย ซึ่งต่อมาก็เป็นตำแหน่งประธานพรรคด้วย
  • ปี 2010 หลังจากมอบอำนาจแก่น้องชายราอูลมาได้สี่ปี ฟิเดล คาสโตร เอ่ยปากยอมรับว่าระบอบคอมมิวนิสม์ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจคิวบา และยังจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางหลายอย่าง นั่นเป็นครั้งแรกที่ ฟิเดล คาสโตร ยอมรับความผิดพลาดนี้อย่างตรงไปตรงมา
  • คาสโตรใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการพักผ่อนอยู่บ้าน เขียนเรื่องลงคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ออกหนังสือรวบรวมความทรงจำ และเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของเขา ทางการคิวบาก็จะนำภาพถ่าย ฟิเดล คาสโตร ขณะกำลังง่วนอยู่กับพืชสวนในบ้านมาตีพิมพ์ให้ชมกันสักครั้งหนึ่ง
  • นานๆ ทีเขาก็จะยอมพบปะแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญผู้มาเยือนอยู่บ้าง เช่น มาห์มุด อามาดิเนจัด แห่งอิหร่าน สันตะปาปาเบเนดิกต์ สันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำชาวละตินบางคน รวมถึงวงดนตรีร็อคอย่างแมนิค สตรีท พรีทเชอร์ส
  • มีนาคม 2016 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา เดินทางเยือนคิวบาในฐานะผู้นำสหรัฐคนแรกนับตั้งแต่ปี 1928 ที่เดินทางไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอดีตคู่อาฆาต โอบามาได้พบแค่ ราอูล คาสโตร ผู้นำปัจจุบัน เพราะฟิเดลไม่ยอมให้เข้าพบ ข่าวกระแสหนึ่งอ้างว่าเขาอาจมีอาการป่วยมากแล้ว
  • มีข่าวแชร์ในโซเชียลมีเดียระบุว่า ฟิเดล คาสโตร เคยกล่าวคำทำนายไว้ตั้งแต่ปี 1973 แล้วว่า “อเมริกาจะมาหาเราแน่ เมื่อใดที่คนผิวดำได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันพร้อมกับชาวละตินอเมริกันได้ขึ้นเป็นพระสันตปาปา” ข้อนี้เป็นเรื่องไม่มีมูล สันนิษฐานว่าต้นตอแหล่งหนึ่งมาจากนักข่าวรายงานการพูดคุยกับคนขับแท็กซี่ในคิวบาที่เพียงพูดจาส่งเดชกับผู้โดยสารเชิงประชดประชัน และอีกแหล่งหนึ่งเป็นโจ๊กที่คอลัมนิสต์ชาวเม็กซิกันเขียนขึ้นเอง ซึ่งไม่มีใครในสื่อเหล่านี้เคยสัมภาษณ์คาสโตรในยุคนั้นเลย
  • แต่ที่มีหลักฐานยืนยันความคงเส้นคงวาของ ฟิเดล คาสโตร คือ เขาเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ แสดงความรู้สึกไม่ไว้วางใจการมาเยือนของโอบามาเพื่อประสานสัมพันธ์กับคิวบาว่า “เราไม่จำเป็นต้องให้จักรวรรดิมามอบของขวัญแก่เรา” (We don’t need the empire to gift us anything.)

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า