เน้นบังคับ ไม่เน้นแก้ไข ส่องมาตรการรัฐไทยผ่านโรงพยาบาลสนาม

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีปริมาณมหาศาลทั้งในระบบและนอกระบบ ทำให้มาตรการของรัฐในการรักษาพยาบาลต้องหันไปใช้แนวทางการดูแลตนเองที่บ้าน (Home Isolation) แทนการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทว่าก่อนสถานการณ์โรคระบาดจะเดินมาถึงจุดนี้ สิ่งที่เรียกว่า ‘โรงพยาบาลสนาม’ เคยเป็นวิธีการที่มีบทบาทสูง แต่ท้ายที่สุดก็ค่อยๆ หมดบทบาทลงด้วยข้อจำกัดและจุดด้อยของระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการของภาครัฐที่มักใช้อำนาจเป็นตัวนำ

ย้อนกลับไปถึงช่วงแรกที่เริ่มมีการระบาด ตั้งแต่ในปี 2563-2564 โรงพยาบาลสนามแห่งแรกถูกตั้งขึ้นที่บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะกลายเป็นแม่แบบให้พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศดำเนินรอยตาม โดยหน้าที่หลักของโรงพยาบาลสนามหากกล่าวอย่างง่ายจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ‘การควบคุม’ ทั้งในแง่ของพื้นที่หรือเวลา และ ‘การดูแลรักษา’ เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับออกไปใช้ชีวิตได้โดยไม่เกิดการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลสนามกลับกลายเป็นสถานที่แห่งการควบคุมมากกว่ารักษา หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจของรัฐที่มีท่าที ‘ไม่เป็นมิตร’ กับผู้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลสนามเท่าไรนัก

สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้ในงานศึกษาชื่อ โรงพยาบาลสนามและโรคระบาดโควิด-19: พื้นที่ระหว่างการควบคุม-ดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ของ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลจากแหล่งเอกสารต่างๆ และลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม และจังหวัดตาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของโรงพยาบาลสนามที่มีหน้าที่มากไปกว่าการเป็นโรงพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังเป็น ‘แขนขา’ หนึ่งของอำนาจรัฐที่น่าชวนตั้งคำถามต่อไป

โรงพยาบาลสนาม แดนกักกันและสอดส่อง

การอธิบายแนวคิดของรัฐไทยที่สะท้อนให้เห็นผ่านวิธีการจัดการโรงพยาบาลสนาม อาจจะต้องย้อนกลับไปดูคำอธิบายเรื่อง ‘อำนาจ’ ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ที่ระบุว่า อำนาจสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ อำนาจแบบระเบียบวินัย อำนาจแบบชีวญาณ และอำนาจแบบตรวจตราสอดส่อง ซึ่งกรณีวิธีการจัดการโรงพยาบาลสนามของรัฐไทย คือดอกผลของอำนาจแบบตรวจตราสอดส่อง ซึ่งไปกันได้ดีกับเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเชิงตัวเลข และการบังคับใช้ผ่านมาตรการด้านความมั่นคง

โรงพยาบาลสนามเป็นแนวคิดที่ถูกเสนอมากขึ้นหลังภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 แต่ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจังโดยรัฐบาลใดเลย กระทั่งเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยในช่วงแรกนั้นโรงพยาบาลสนามยังไม่ถูกนำมาใช้งาน เนื่องจากหอผู้ป่วยรวมยังคงรับมือกับวิกฤติดังกล่าวได้ แต่หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ไม่นานผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องออกคำสั่งให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น และในการระบาดระลอกที่ 3 ก็ทำให้ต้นแบบการสร้างโรงพยาบาลสนามนี้กระจายไปยังทั่วประเทศ

จิราพรอธิบายถึงโรงพยาบาลสนามในฐานะพื้นที่การควบคุมของรัฐเอาไว้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการควบคุมตรวจสอบสูงมาก โดยยกคำให้สัมภาษณ์ของพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลสนามรายหนึ่งขึ้นมาประกอบการอธิบาย ลักษณะภายในของโรงพยาบาลสนามนั้นจะเต็มไปด้วยกล้องวงจรปิดทุกซอกทุกมุม ถ่ายทอดภาพมายังจอมอนิเตอร์หลายตัว และทำงานควบคู่ไปกับตะกร้าใส่เอกสารข้อมูลผู้ป่วยกับไมโครโฟน ขณะเดียวกัน ภายนอกของอาคารก็ถูกล้อมไปด้วยกำแพงสูงที่ประดับลวดหนามเอาไว้ป้องกันผู้ป่วยหลบหนี 

สภาวะที่ถูกจับตามองจากทุกทิศทุกทาง ทำให้ผู้ป่วยขาดความส่วนตัวในการใช้ชีวิต ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนมาไหนได้ ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้โรงพยาบาลสนามมีลักษณะไม่ต่างจากพื้นที่คุมขังนักโทษ ในงานศึกษาของจิราพรระบุว่า พื้นที่โรงพยาบาลสนามถูกทำให้เป็น ‘พื้นที่ที่ไม่มีชีวิตทางสังคม’ 

โยนภาระให้ประชาชนจัดการกันเอง

แน่นอนว่าเพราะความไม่เข้าใจ ‘ชีวิตมนุษย์’ ของรัฐไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมของโรงพยาบาลสนามในช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น กรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกอยากหลบหนีออกจากโรงพยาบาลสนาม หรือการแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติภายในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นอีกหลายปัญหา เช่น ทรัพยากรภาครัฐที่ไม่พร้อม เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัฐไทยมุ่งแต่ผลลัพธ์ โดยจิราพรระบุว่า รัฐไทยต้องการกดหัวกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำ และทำทุกวิถีทางเพื่อลดจำนวนตัวเลข แต่ไม่ได้สนใจปัจจัยอื่นๆ 

การพยายามควบคุมตรวจสอบของรัฐโดยใช้โรงพยาบาลสนามนั้น รัฐยังไม่ได้เป็นผู้ที่กระทำฝ่ายเดียว แต่ยังได้มอบหมายอำนาจในการควบคุมตรวจสอบนี้ให้แก่ประชาชนเพื่อตรวจสอบกันเองผ่านชุดศีลธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามช่วงแรก ได้เล่าประสบการณ์ไว้ในเว็บไซต์ YouTube และ Tiktok ว่าโรงพยาบาลสนามไม่มีความพร้อม ร้อน ขาดความเป็นส่วนตัว และขาดปัจจัยอำนวยความสะดวก ไปจนถึงสิ่งของจำเป็น และอื่นๆ ทำให้ถูกกระแสโต้กลับจากโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดถูกนำไปพูดถึงในรายการข่าวแห่งหนึ่ง พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ป่วยรายนี้ควร ‘เสียสละ’ มากกว่านี้

ทั้งหมดนี้ทำให้โรงพยาบาลสนามนอกจากจะกลายเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนชุดวิธีคิดของภาครัฐแล้ว ยังเป็นต้นเหตุหนึ่งของความแตกแยกของสังคมในสถานการณ์โรคระบาดอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลสนามเองก็ไม่ได้มีแต่ด้านลบจากการกระทำโดยรัฐ แต่โรงพยาบาลสนามยังเป็นโอกาสอันดีที่เผยให้สังคมไทยเห็นถึงชุดคุณค่าบางอย่างที่ยังนำมาใช้ได้ดีในสถานการณ์วิกฤติ โดยจิราพรระบุเอาไว้ในงานศึกษาว่า ในระหว่างการระบาดได้เกิดสภาวะของการ ‘ปิดตาข้างเดียว’ เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น การอนุญาตให้คนไข้ได้ออกไปเอาสิ่งของที่จำเป็นสำหรับทารก หรือการจัดกิจกรรมสันทนาการภายในกันเอง สิ่งเหล่านี้ได้บิดความหมาย ‘พื้นที่ของการควบคุมตรวจสอบ’ และ ‘พื้นที่ปนเปื้อน’ โดยรัฐ ไปสู่ ‘พื้นที่กึ่งกลาง’ ของการควบคุมดูแลที่คืนชีวิตทางสังคมกลับเข้าไปในโรงพยาบาลสนาม

จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

จิราพรกล่าวว่า ไม่ใช่โรงพยาบาลสนามทุกแห่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่ดังที่กล่าวไปข้างต้นได้ แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความเข้าอกเข้าใจกันจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยได้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ภาครัฐไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรกับประชาชนเท่าที่ควร

แม้การระบาดอย่างรุนแรงจะผ่านพ้นไปแล้ว และเข้าสู่ช่วงเวลาที่แนวทางการรักษาแบบ Home Isolation กำลังเป็นที่นิยมขึ้นมาแทน สังคมไทยก็ไม่ควรหลงลืมบทเรียนจากการตั้งโรงพยาบาลสนามที่ไม่ตอบโจทย์และชวนอึดอัดของรัฐบาล เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนจะมีบ้านที่พร้อมจะทำ Home Isolation ได้ และในอนาคตหากเกิดวิกฤติขึ้นอีก การทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการช่วยรับประกันได้ว่า ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ทั่วถึง และเข้าอกเข้าใจกันมากกว่าที่ผ่านมา

อ้างอิง

จิราพร เหล่าเจริญวงศ์. โรงพยาบาลสนามและโรคระบาดโควิด-19: พื้นที่ระหว่างการควบคุม-ดูแลในสถานการณ์ฉุกเฉิน. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สนับสนุนโดย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า