ลาวาร้อนระอุพวยพุ่งจากปากปล่องภูเขาไฟ ใกล้ๆ กันนั้นมีคนสวมชุดอลูมิไนซ์สำหรับป้องกันความร้อนอยู่ 2 คน พวกเขาเคลื่อนไหวราวกับกำลังเต้นรำ โดยมีฉากหลังเป็นการปะทุของภูเขาไฟ ความน่าอัศจรรย์ที่น้อยคนจะได้สัมผัส และเต็มไปด้วยอันตรายหากไม่ระวังมากพอ
ภูเขาไฟไม่ได้มีเพียงความร้อนและความน่าสะพรึง แต่ยังเป็นบ่อเกิดความรักของนักภูเขาไฟวิทยาคู่หนึ่ง พวกเขาทุ่มเทให้กับงานที่พวกเขารักอย่างไม่เกรงกลัวอันตรายใดๆ ยิ่งกว่านั้นยังเปิดโลกทัศน์ใหม่ที่ทำให้พวกเขารู้จักและเข้าใจในคุณค่าชีวิตมากขึ้น
Fire of Love เรื่องราวของสามีภรรยานักภูเขาไฟวิทยาชาวฝรั่งเศส คาเทีย และ มอริซ คราฟท์ ไม่เพียงบอกเล่าชีวิตรักของทั้งคู่ แต่ยังรวมถึงความรักในสิ่งที่พวกเขาหลงใหล นั่นคือการศึกษาการปะทุของภูเขาไฟอย่างใกล้ชิด ผ่านการเรียงร้อยวิดีโอและภาพถ่ายของคาเทียและมอริซขณะเดินทางสำรวจภูเขาไฟแต่ละลูก เพื่อเผยให้เห็นจังหวะชีวิตของแผ่นเปลือกโลก สลับกับแอนิเมชันที่ฉายภาพการเคลื่อนไหวภายใต้เปลือกโลกให้ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังได้ มิแรนดา จูลาย มาให้เสียงบรรยายเพื่อเชื่อมเรื่องราวเข้าไว้ด้วยกัน ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป โดยคงภาพถ่ายและวิดีโอของมอริซกับคาเทียได้ทำงานกับผู้ชมอย่างเต็มที่ อีกทั้งไม่ลืมที่จะใส่ตัวตนของคนทั้งสอง โดยเฉพาะมอริซที่มักทำอะไรเรียกความขบขันเสมอ อย่างการทำไข่ดาวบนลาวาที่กำลังเย็นตัวลง หรือการทดสอบความทนทานของชุดกันความร้อนที่คาเทียใส่
ในความรักมีความลับ ยิ่งรู้จักยิ่งหลงใหล
สำหรับความรักระหว่างคาเทียกับมอริซ จุดเริ่มต้นอาจไม่แน่ชัดนักจากหลากหลายเรื่องเล่า แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือความรักที่พวกเขามีต่อภูเขาไฟ มอริซสนใจภูเขาไฟตั้งแต่ไปเที่ยวกับครอบครัวที่ภูเขาไฟสตรอมโบลี (Stromboli) บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี ตอน 7 ขวบ ส่วนคาเทียตกหลุมรักภูเขาไฟในวัย 14 ปี ตอนไปเที่ยวกับครอบครัวที่แมสซีฟเซ็นทรัล (Massif Central) ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก เธอได้เห็นภูเขาไฟที่ดับสนิท
จากความรักในภูเขาไฟได้พาพวกเขามาพบกันในเส้นทางของนักธรณีวิทยา ยิ่งทำความเข้าใจยิ่งหลงใหล และเมื่อคาเทียกับมอริซได้เห็นภูเขาไฟปะทุต่อหน้าก็ยิ่งหลงใหลมากขึ้น เพราะการปะทุของภูเขาไฟนั้นยากที่จะคาดเดาช่วงเวลาเกิด อีกทั้งภูเขาไฟแต่ละลูกมีลักษณะเฉพาะตัว จึงเสมือนความลับที่รอให้พวกเขาค้นหาคำตอบ
ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้ทบทวนความหมายของชีวิตมนุษย์ อย่างที่คาเทียกล่าวว่า “เมื่อคุณได้เห็นการปะทุของภูเขาไฟต่อหน้าสักครั้ง คุณจะมีชีวิตอยู่โดยขาดมันไม่ได้อีก
เพราะมันช่างยิ่งใหญ่ ทรงพลัง เราเกิดความรู้สึกว่าตัวเราช่างเล็กกระจ้อยร่อย เมื่อมาอยู่ท่ามกลางสิ่งที่เหนือการควบคุมเช่นนี้”
การคัดสรรวิดีโอและภาพถ่ายมาบอกเล่าโดยผู้กำกับ ซารา โดซา ทำให้ผู้ชมราวกับได้เดินทางไปสำรวจภูเขาไฟและเห็นการปะทุของลาวาเช่นเดียวคู่สามีภรรยา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อได้เห็นสิ่งที่พวกเขาเห็นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมคาเทียกับมอริซถึงรักและอุทิศชีวิตให้กับภูเขาไฟ
แน่นอนว่าชีวิตการทำงานของนักภูเขาไฟวิทยานั้นไม่ง่าย ตั้งแต่ค่าใช้จ่าย การเดินทางไปยังภูเขาไฟต่างๆ รถที่คาเทียกับมอริซได้รับบริจาคมาใช้งานเคยเสียระหว่างเดินทาง 20 กว่าครั้ง การปืนสำรวจปากปล่องภูเขาไฟโดยตั้งเต็นท์ค้างแรมหลายสัปดาห์ กระทั่งสังเกตการณ์และบันทึกภาพการปะทุของลาวา ซึ่งบางครั้งพวกเขาอยู่ห่างเพียง 50 เมตร
ภูเขาไฟกลายเป็นบ้านของมอริซและคาเทียที่ไม่อยากจาก มอริซถึงกับเอ่ยปากอย่างติดตลกว่า “ถ้าผมสามารถกินก้อนหินได้ ผมจะอาศัยอยู่บนภูเขาไฟและไม่กลับลงมาอีก” ทว่าบางครั้งพวกเขาจำเป็นต้องจากมา ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายบรรยายตามที่ต่างๆ การเขียนหนังสือขาย หรือการทำภาพยนตร์จากบันทึกยามที่ทั้งสองคนสำรวจภูเขา แล้วออกเดินทางสู่ภูเขาไฟครั้งแล้วครั้งเล่า
เมื่อความเข้าใจเป็นอีกด้านหนึ่งของความรัก สู่ความตระหนักถึงชีวิต
Fire of Love อาจไม่ได้ฉายความรักของคาเทียและมอริซอย่างหวานชื่น แต่แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีกันและกันเสมอ ไม่ว่าคาเทียหรือมอริซต่างไม่สามารถทำงานสำรวจปากปล่องภูเขาไฟโดยขาดอีกฝ่ายได้ ทั้งสองเป็นความแตกต่างของกันและกัน และทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว คาเทียเป็นนักธรณีวิทยาเคมีซึ่งใส่ใจภาพรวมของปฏิกิริยาเคมีภายในภูเขาไฟ รวมถึงรายละเอียดของหินแต่ละก้อนที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ขณะที่มอริซพุ่งเป้าไปที่ลาวากับการปะทุของภูเขาไฟอย่างไม่เกรงกลัว
‘เมื่ออยู่ลำพัง พวกเขาได้แต่ฝันถึงภูเขาไฟ
เมื่ออยู่ด้วยกัน พวกเขาทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้’
แม้มอริซและคาเทียจะพยายามไม่แบ่งประเภทภูเขาไฟ เนื่องจากภูเขาไฟแต่ละลูกมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ทว่าภายหลังการเดินทางสำรวจภูเขาไฟหลายร้อยลูก พวกเขาได้แบ่งภูเขาไฟเป็น 2 ประเภท คือ ภูเขาไฟสีแดง อุณหภูมิกว่า 1,200 องศาเซลเซียส มีทิศทางการไหลของธารลาวาที่ชัดเจน เสมือนการโอบกอดความเปลี่ยนแปลงชีวิตและพัดพาความอุดมสมบูรณ์ไปยังทุกพื้นที่ที่ลาวาไหลผ่าน
ส่วน ภูเขาไฟสีเทา เป็นภูเขาไฟอีกประเภท ซึ่งขึ้นชื่อว่า ‘นักฆ่านักภูเขาไฟวิทยา’ จากการระเบิดของภูเขาไฟที่ปล่อยแก๊สร้อน เถ้าถ่าน และเศษหิน เป็นกระแสไพโรคลาสติก (Pyroclastic flow) ที่ไหลอย่างรวดเร็ว คาดเดาทิศทางการไหลได้ยาก ภูเขาไฟประเภทนี้จึงคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากโดยไม่ทันตั้งตัว เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนของชีวิต
ภูเขาไฟสีแดง ภูเขาไฟสีเทา
มอริซและคาเทียตระหนักถึงความงดงามและอันตรายของภูเขาไฟ รวมทั้งความเข้าใจต่อสิ่งมีชีวิตโดยรอบ ระบบนิเวศ บริบทพื้นที่ทางวัฒนธรรม และชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณภูเขาไฟ คุณูปการของทั้งสองคนจึงไม่ได้มีเพียงในแวดวงธรณีวิทยา แต่รวมถึงการป้องกันภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟและอพยพผู้คน
วิดีโอหลายร้อยชั่วโมง ภาพถ่ายหลายพันภาพ หนังสือที่พวกเขาเขียน ภาพยนตร์ที่พวกเขาสร้าง บันทึกข้อมูลการปะทุของภูเขาไฟและผลกระทบต่อระบบนิเวศ ล้วนมีส่วนช่วยให้ผู้คนเข้าใจธรรมชาติของภูเขาไฟที่ทั้งสองคนรักมากขึ้น อีกทั้งลดโอกาสที่ภูเขาไฟจะคร่าชีวิตผู้คน
ในวันที่ 3 มิถุนายน 1991 วันสุดท้ายของคาเทียและมาริซมาถึงอย่างไม่คาดคิด จากการปะทุของภูเขาไฟอุนเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดกระแสไพโรคลาสติกพุ่งเข้าใส่ รวมคนอื่นๆ อีก 41 คน ที่ร่วมสังเกตการณ์และถ่ายทำภูเขาไฟอุนเซ็นกับทั้งสองคน สามีภรรยานักภูเขาไฟวิทยาจึงลงเอยด้วยการตายเคียงข้างกันในลาวา
‘ในโลกนี้มีไฟ และในไฟนี้มีคู่รักคู่หนึ่งได้พบบ้าน’