จากโคลนคลั่งสู่ฝุ่นคลุ้ง: มลภาวะทางอากาศที่รอซ้ำเติมหลังน้ำท่วมและดินถล่ม

เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่ข้างเคียงถูกกระหน่ำด้วยน้ำท่วมและดินถล่มซ้ำหลายครั้ง ผลกระทบที่ตามมาคือบ้านเรือนจำนวนมากถูกถมทับอยู่ใต้ชั้นโคลนหนาเตอะ แต่หลังจากระดับน้ำลดลง แสงแดดก็แผดเผากองโคลนเฉอะแฉะให้กลายเป็นก้อนดินเกรอะกรัง ที่พร้อมจะแตกเป็นผุยผงแล้วเปลี่ยนจังหวัดเชียงรายให้กลายเป็นทะเลฝุ่น

เราจะรับมือกับทะเลโคลนเฉอะแฉะที่แปรสภาพเป็นผงฝุ่นได้อย่างไร ผมจะชวนผู้อ่านมาเรียนรู้และหาคำตอบร่วมกันในบทความนี้ครับ

จากภูเขา สู่ทะเลโคลน และม่านฝุ่น

การแปรสัณฐานของแผ่นธรณี (plate tectonics) ทำให้แผ่นดินภาคเหนือมีลักษณะเป็นพื้นที่สูงและแน่นขนัดไปด้วยภูเขา หลังจากพวกมันตั้งตระหง่านท้าทายแรงโน้มถ่วงผ่านกาลเวลามายาวนาน ผิวหินด้านนอกของภูเขาก็ผุพังเพราะอิทธิพลของแดด ลม และฝน แล้วคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุจนกลายเป็นดิน ซึ่งจะถูกโอบกอดไว้ด้วยพืชพรรณนานาชนิดอีกทีหนึ่ง

ด้วยหน้าตาทางภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติสรรสร้าง ทำให้เมื่อฤดูฝนมาเยือน เราจึงพบน้ำป่าไหลหลากเป็นประจำแทบทุกปี บ้างรุนแรงมาก บ้างรุนแรงน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณของฝนและความหนาแน่นของป่าบนภูเขา แต่ ‘โคลนจากดินถล่ม’ ที่มากมายก่ายกองจนผิดปกติในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่าป่าบนภูเขาถูกแผ้วถางและบุกรุกจนหน้าดินไม่อาจทานทนต่อฝนปริมาณมหาศาลได้ เมื่อฝนตกแรงและนาน ผิวดินจึงถูกเซาะกร่อนอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อดินซึมซับน้ำเอาไว้มากจนกลายเป็น ‘ดินอิ่มน้ำ’ (saturated soil) แล้วเปลี่ยนเป็นสายธารแห่งดินโคลนทะลักทลายลงมาด้านล่าง หลังจากนั้นจึงกลายเป็นกองตะกอนแห้งผากที่ยากต่อการกำจัด

ภาพจำลองเมืองที่ถูกฝังอยู่ใต้ตะกอนโคลนจากน้ำท่วม

กองตะกอนแข็งเหล่านี้ไม่ได้สร้างปัญหาเพียงเพราะพวกมันกลบฝังสิ่งต่างๆ เอาไว้ด้านล่างและกีดขวางเส้นทางจราจรหรอกครับ เพราะเมื่อน้ำระเหยไป ทะเลโคลนแห้งๆ จะกลายเป็น ‘แหล่งกำเนิดฝุ่น’ (dust source) ที่พร้อมฟุ้งกระจายเมื่อสายลมพัดผ่านหรือถูกย่ำทับด้วยเท้าและล้อรถ

ข่าวร้ายคือ ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี คนในพื้นที่อาจต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศ (air pollution) ที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการก่อโรคนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นผื่นคัน ภูมิแพ้ หอบหืด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว ไปจนถึงมะเร็ง!!

‘เวียงกุมกาม’ การล่มสลายของนครโบราณที่คนยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้

หลายคนอาจคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มจนทำให้ชุมชนเมืองถูกกลบฝังอยู่ใต้ทะเลโคลนเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ใช่ไหมครับ แต่ความจริงแล้วเหตุการณ์คล้ายกันเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บรรพบุรุษของเราต้องย้ายเมืองเลยทีเดียว!!

ถ้าใครเคยนั่งรถเลาะเลียบแม่น้ำปิงผ่านถนนเชียงใหม่-ลำพูน หลายคนน่าจะเคยแวะชมซากโบราณสถาน ‘เวียงกุมกาม’ ซึ่งเคยเป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพญามังรายเมื่อประมาณ 700 ปีก่อน ก่อนที่นครโบราณแห่งนี้จะถูกทิ้งร้างแล้วแทนที่ด้วยเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

ซากโบราณสถานเวียงกุมกาม | photo: สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

หากเราเปิดแผนที่เมืองเชียงใหม่บริเวณที่แม่น้ำปิงสายปัจจุบันไหลผ่าน เราจะพบสถานที่ที่เรียกว่า ปิงเก่า ปิงห่าง และวัดเกาะกลาง ปรากฏอยู่ ซึ่งชวนให้สงสัยว่า แม่น้ำปิงมีกี่สาย และทำไมถึงมีคำว่า ‘เกาะ’ อยู่ในชื่อวัด?

นักวิชาการสายหนึ่งเชื่อว่า สาเหตุที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างเป็นเพราะศึกสงคราม แต่นักวิชาการอีกสายหนึ่งคิดต่างออกไป เพราะพวกเขาเชื่อว่า ‘น้ำท่วมใหญ่’ ต่างหากที่เป็นสาเหตุของการย้ายเมือง

ผลการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แม่น้ำ (river science) ตะกอนวิทยา (sedimentology) ธรณีวิทยา (geology) โบราณคดีวิทยา (archaeology) และประวัติศาสตร์ (history) พบว่าเวียงกุมกามเคยเผชิญกับการเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำ (avulsion) อยู่หลายครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การทับถมของตะกอนบนท้องน้ำของแม่น้ำปิงสายเก่า ความลาดเอียงของแอ่งเชียงใหม่ และปริมาณน้ำหลากที่มากเป็นประวัติการณ์ ผลลัพธ์คือเวียงกุมกามเกิดน้ำท่วมซ้ำซากและถูกฝังกลบอยู่ใต้ชั้นตะกอนในที่สุด!!

ทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่เมื่อมองจากลานชมวิวของวัดพระธาตุดอยคำ | photo: RungRawee PhuPhichit

แม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเวียงกุมกามถูกสร้างขึ้นเมื่อใด และเหตุใดจึงต้องย้ายเมือง แต่ผมคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากและทะเลโคลนที่เวียงกุมกาม ควรนำมาเป็นบทเรียนสำคัญให้คนยุคปัจจุบันรู้จักครับ

ทะเลโคลนและฝุ่นคลุ้ง โจทย์ใหม่ที่ภาครัฐต้องตระหนัก

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สาเหตุที่ทำให้จังหวัดเชียงรายและพื้นที่ข้างเคียงเกิดน้ำท่วมรุนแรงในปีนี้ เกิดจากความแปรปรวนของธรรมชาติและความประมาทของมนุษย์รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ฝนที่ตกมากกว่าปกติ การลดจำนวนของป่าไม้ การขยายตัวของเมืองอย่างไม่เหมาะสม การรุกล้ำเขตแดนธารน้ำ การกีดขวางธารน้ำ และความไม่ชัดเจนเรื่องข้อมูลปริมาณน้ำข้ามพรมแดน

จากข้อมูลข้างต้น เราอาจจำแนกพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางภาคเหนือออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ชุมชนบนพื้นที่สูง ชุมชนติดธารน้ำ ชุมชนใกล้พื้นที่สูงกับธารน้ำ และชุมชนไกลพื้นที่สูงกับธารน้ำ ซึ่งความเปราะบาง (vulnerability) ของพื้นที่เหล่านี้สามารถพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. ความล่อแหลม (exposure) หมายถึง โอกาสที่ชุมชนจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ระยะห่างของชุมชนจากพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ
  2. ความอ่อนไหว (sensitivity) หมายถึง ลักษณะของชุมชนที่ตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น ชุมชนที่มีบ้านใต้ถุนสูงจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่มน้อยกว่าชุมชนที่มีบ้านชั้นเดียว
  3. ความสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) หมายถึง ประสิทธิภาพในการปรับตัวหรือจัดการภัยพิบัติของชุมชน เช่น ชุมชนที่มีมาตรการรับมือภัยพิบัติจะฟื้นตัวเร็วกว่าชุมชนที่ไม่มีมาตรการรับมือภัยพิบัติ

ปัญหาน้ำท่วมเมืองสามารถบรรเทาได้ด้วยการติดตั้งระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงตามเวลาจริง (real-time monitoring system) ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า (early warning system) การพัฒนาระบบระบายน้ำบนพื้นผิวดิน (surface drainage system) การสร้างช่องทางน้ำไหล (channelization) การออกแบบอาคารที่สามารถปรับตัวเข้ากับน้ำท่วม (flood resilient building) การปรับเปลี่ยนถนนและทางเดินเป็นวัสดุที่ยอมให้น้ำซึมผ่าน (pervious material) หรือบางกรณีอาจจำเป็นต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ

ภาพจำลองการออกแบบที่อยู่อาศัยที่สามารถรับมือกับน้ำท่วม

สิ่งที่ควรทราบคือ น้ำสามารถไหลลงสู่ที่ต่ำ ซึมลงดิน และระเหยได้ แต่ตะกอนโคลนจะค้างเติ่งอยู่บนพื้นผิวและแห้งแตกกลายเป็นฝุ่น คำถามคือเราจะจัดการกับมันอย่างไร เพราะในสถานการณ์ที่น้ำประปาหยุดไหล กระแสไฟฟ้าดับ ไม่มีสัญญาณสื่อสาร และเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด การสูบน้ำมาพรมบนพื้นดินหรือการขนย้ายกองโคลนออกไปจะทำได้ยาก ยังไม่นับรวมเส้นทางที่มีความลาดชันสูง ถนนที่คับแคบ ซอกซอยที่คดเคี้ยว และกองโคลนภายในบ้านเรือน ซึ่งรถขุดดิน รถตักดิน เครื่องเจาะดิน เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง อาจไม่ตอบโจทย์ในการกำจัดกองโคลนแห้งกรังเหล่านี้

หากพิจารณาอย่างรอบด้าน ความจริงแล้วภายในตะกอนดินจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อพืชและสัตว์ปะปนอยู่มากมาย ซึ่งเราอาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมหรือถมที่ดินได้ แต่การถล่มของโคลนปริมาณมหาศาลย่อมส่งผลร้ายต่อมนุษย์อย่างไม่อาจปฏิเสธเช่นกัน

ในทางปฏิบัติ มนุษย์มีเทคนิคทางวิศวกรรมมากมายสำหรับการสร้างเสถียรภาพ (stabilization) และการบรรเทาผลกระทบ (mitigation) ที่เกิดจากหิน ดิน และโคลนถล่ม ได้แก่ การปรับแต่งความสูง ความลาดชัน และรูปร่างของภูเขา การลดปริมาณมวลบนภูเขาที่อาจถล่มลงมา การเพิ่มความแข็งแกร่งให้พื้นที่ลาดชัน การยึดตรึงก้อนหินให้ติดอยู่กับที่ การระบายน้ำส่วนเกินออกจากเนินเขา การปรับแต่งรูปร่างและพื้นผิวของธารน้ำ การสร้างฝายดักตะกอน การสร้างช่องทางไหลของโคลน การสร้างกำแพงกันดิน การวางตาข่ายคลุมดิน และการปลูกพืชยึดหน้าดิน แต่หลายครั้งวิธีการเหล่านี้อาจไม่สอดรับกับระบบนิเวศ วิถีชีวิต และธรรมชาติที่ผันผวน แล้วทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม เช่น ทำลายพืชพรรณธรรมชาติบนภูเขา ขัดขวางการหาของป่า-ล่าสัตว์ของชาวบ้าน ฝายบนภูเขาพังทลายและไหลลงมาพร้อมกับโคลน

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและมีโอกาสในชีวิตน้อย พวกเขาจึงเปราะบางอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ซึ่งมาตรการรับมือภัยพิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทัน ความเสียหายจึงมีมาก และการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างเนิบช้า หลายคนอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวหรือบอบช้ำเรื้อรังไปอีกแสนนาน

คงถึงเวลาแล้ว ที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการรับมือภัยพิบัติด้วยมาตรการปฏิบัติ มิใช่ทุ่มงบประมาณจากภาษีประชาชนเกือบทั้งหมดไปกับสิ่งก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่ล้าหลัง ราคาแพง และไม่ค่อยตอบโจทย์ โดยไม่คิดจะเฟ้นหาวิธีการรับมือใหม่ๆ หรือพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัย

ใช่หรือไม่ว่า ท่ามกลางภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme climate) และฤดูกาลแปรปรวนสุดขีด (hyper-seasonality) ที่รุนแรงเกินคาดเดา เราย่อมไม่อาจรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ ได้เลย

อ้างอิง:

  • Peter Knippertz and Jan-Barend W. Stuut. (2014). Mineral Dust: A Key Player in the Earth System.
  • Fabio Vittorio de Blasio. (2011). Introduction to the Physics of Landslides: Lecture notes on the dynamics of mass wasting.
  • United States Geological Survey and Geological Survey of Canada. (2008). The Landslide Handbook: A Guide to Understanding Landslides.
  • Donald Watson and Michele Adams. (2010). Design for Flooding: Architecture, Landscape, and Urban Design for Resilience to Climate Change.
  • สมาธิ ธรรมศร. (2558). รู้วิทย์ พิชิตภัยพิบัติ.
  • ปกรณ์ สุวานิช. (2552). ธรณีพิบัติภัย: การเรียนรู้และจัดการ.
  • เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า