รอยยิ้มต้องเท่าเทียม: ทพญ.มาลี วันทนาศิริ

เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ: ศุภโชค พิเชษฐ์กุล

 

ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลลำลูกกา และผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข 

ในหมู่ผู้ใช้สิทธิทำฟันในระบบประกันสังคม ได้แต่บ่นปรับทุกข์กันเองเรื่องสิทธิที่เบิกได้คนละไม่กี่ร้อยบาทต่อปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 900 บาทต่อปี ไม่ต้องสำรองจ่าย)

“อุดแค่ซี่สองซี่ก็หมดแล้ว เผลอๆ เงินหมดต้องเก็บไว้อุดปีหน้า” พูดเสร็จก็เดินกุมกระพุ้งแก้ม กลับบ้านไป

คนฟังอย่างหมอฟัน – ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลลำลูกกา ได้ยินเรื่องนี้มานักต่อนัก พยายามให้ข้อมูลว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้โรคอะไรจะตามมาบ้าง ยกตัวอย่างตั้งแต่กลิ่นปากไปจนถึงมะเร็ง สุดท้ายคนไข้ก็ยังขอกลับบ้านอยู่ดีเพราะใช้สิทธิประกันสังคมหมดแล้ว

“มันคงไม่ใช่เคสใดเคสหนึ่งน่ะค่ะ แต่ว่าเป็นน้องๆ เวลาเรามาคุยๆ กัน บางทีน้องๆ ที่ทำงานเขาก็จะรู้สึกสงสารคนไข้แล้วก็มาเล่าสู่กันฟังอะไรอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาในการทำงานแล้วเรารู้สึก เขาก็รู้สึก คือน้องๆ ก็รู้สึกค่ะว่าทำไมถึงได้ไม่เท่าคนอื่น ทำไมถึงจะต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ่ายได้แค่นี้ ทำได้แค่นี้ แต่มันก็จะมีบางเคสที่เรารู้สึกเสียดายว่าเราจะต้องทำต่อเขาบอกว่าไม่ทำ เพราะติดปัญหาว่ามันหมดสิทธิของเขาแล้ว ก็คุยว่า งั้นปีหน้ามาทำต่อนะ ในฐานะของทันตแพทย์ก็รู้สึกว่าต้องทิ้งให้คนไข้มาทำต่อปีหน้านะ แล้วสภาพฟันจะเป็นยังไง”

ผิดกับคนไข้ต่างด้าวที่เดินเข้ามาพร้อมบัตรประกันสุขภาพ ผุกี่ซี่ ก็อุดได้หมด

“ความรู้สึกมันก็เลยอยู่ในใจเรื่อยมา”

 

ฟ.ฟันต้องสร้างสุข

แทนที่จะเก็บไว้อยู่ในใจ ทพญ.มาลีเลือกที่จะแปรมันออกมาเป็นวิธีการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิทันตกรรม แต่จะเริ่มต้นได้อย่างไรในเมื่อคิดอยู่คนเดียว

“เรานั่งทำงานอยู่ในระบบของโรงพยาบาลของรัฐจะเห็นตลอด พอสนใจเรื่องนี้ก็เริ่มมาสังเกตว่า เอ๊ะ ทำไมเพื่อนๆ ที่อยู่คลินิกเอกชนเขาไม่รู้สึกกับเรื่องนี้ เนื่องจากเขาไม่เคยสัมผัสกับคนที่มีสิทธิบัตรทอง เขาไม่เคยสัมผัสกับคนที่มีสิทธิข้าราชการ เขาจะสัมผัสแค่คนที่จ่ายเงินและคนไข้สิทธิประกันสังคม ดังนั้นเราก็จะเห็นและเปรียบเทียบว่า เอ๊ะ ทำไมคนไข้บัตรทองไม่ต้องเสียอะไรเลยแต่รักษาได้หมด ขณะที่ประกันสังคมเขาต้องจ่ายเงินสมทบเพราะได้งบต่อปีจำกัดแค่ 900 บาท

หนักที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวซึ่งได้รับสิทธิเทียบเท่ากับบัตรทองเลย”

วงกว้างที่สุดที่พอจะปรับทุกข์กันได้คือเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาที่รู้สึกสงสารคนไข้ ช่วยเหลือได้ไม่เท่าคนไข้สิทธิอื่นทั้งๆ ที่อาการรุนแรงมากว่า แต่ต้องอดงำความเจ็บเก็บไว้ทำปีหน้าเพราะสิทธิของปีนี้สุดเพดานแล้ว

“ต้องคุยว่าปีหน้ามาทำต่อนะ ในฐานะของทันตแพทย์ก็รู้สึกเหมือนทิ้งคนไข้ แล้วสภาพฟันเขาจะเป็นยังไง”

ทิ้งตะกอนความรู้สึกนี้ไปพักใหญ่ กว่าจะได้นับหนึ่งงานนี้จริงๆ เมื่อได้มาเรียนหลักสูตร คศน. หรือ โครงการเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ และพบกับ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หรือ ‘ครูใหญ่’ ของโครงการฯ ผู้กำหนดให้ทุกคนคิดภารกิจพิเศษที่ต้องมาจาก passion อันแรงกล้า

ตอนแรก ทพญ.มาลี ยังไปไม่ถึงประเด็น ‘สิทธิทันตกรรมประกันสังคม’  เพราะโจทย์ในใจยังไม่ตกตะกอนดีพอ

“โจทย์หนึ่งที่อยู่ในใจ ทำไมวงการแพทย์ อย่างแพทย์ชนบทเขาทำงานเชิงสังคม แค่ทันตแพทย์ไม่ทำงานเชิงสังคม เพราะอะไร ติดอะไร ทำไมเราทำไม่ได้เหรอ เราก็ตั้งธงไว้ในใจว่า ต้องพยายามดึงเครือข่ายทันตแพทย์ออกมาทำงานสังคมให้ได้”

จุดแข็งอย่างหนึ่งของทันตแพทย์คือทำงานแบบลงรายละเอียด เก็บทุกเม็ด หลายๆ โครงการของโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีทันตแพทย์เป็นมือขวาในการทำงาน แต่ภูมิศาสตร์ของการทำงานจะอยู่ในวงจำกัด ลงลึกเป็นจุดๆ ไม่ได้ไปถึงภาพใหญ่หรือสาธารณะ

“ได้อาจารย์โกมาตรมาย้ำว่าให้ทำอะไรที่มันเป็นผลกระทบในเชิงสังคมก็เลยคิดไปคิดมา ว่าเรื่องประกันสังคมอยู่ในใจตลอดมา จนได้เริ่มลงมือ”

เริ่มจากการโยนหินถามทางลงไปในกลุ่ม Line เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หมอฟันที่เคยเจอ ประชุม ทำงานและช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ว่าสนใจทำเรื่องนี้มีใครสนใจบ้าง หลังไมค์มานะ

เสียง Line ดังตอบมาเป็นระยะ จนมีข้อความหนึ่งจากหมอฟันรุ่นน้องถามว่า “พี่มาลียังทำเรื่องนี้อยู่ใช่ไหม” ประโยคคำถามเรียบๆ ที่ว่านี้คล้ายสะกิดให้ยิ่งรู้สึกผิดในใจว่าทำไมถึงไม่ลงมือทำสักที ทพญ.มาลีจึงใช้เวลาคิดแผนอยู่ครึ่งวันก่อนต่อสายถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ลุยงานทันที ผลปรากฏว่านัดประชุมได้ภายใน 2 วัน ประกอบด้วยกลุ่มทันตแพทย์ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข โดยมี ทพญ.มาลีรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน

“พอเราไปประชุมจริงๆ ก็รู้สึกแปลกใจ เพราะทาง คปค. บอกว่าเรื่องนี้หมอต้องป็นคนพูดเท่านั้น คนอื่นพูดประกันสังคมเขาไม่ฟัง เราถึงเข้าใจว่าอ๋อ จริงๆ แล้วเราต้องทำงานร่วมกัน พอ 3 ฝ่ายมาเจอกัน สัมพันธ์กัน เกื้อกูลซึ่งกันและกันมันเลยเดินไปได้ ในส่วนของทันตแพทย์ที่ช่วยได้เต็มที่คือวิชาการที่ประยุกต์มาจากหน้างานจริง”

ถือคติบ่นให้คนฟังทั้งประเทศดีกว่านั่งงึมๆ งัมๆ อยู่คนเดียว ทพญ.มาลีจึงเปิดวงประชุมด้วยประเด็นสำคัญว่า ผู้ประกันตนไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าตัวเองมีสิทธิแค่ไหน

“นับถอยหลังก่อนปี 2545 ประกันสังคมของประเทศไทยถือว่าใช้ได้นะคะ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่หลังจากมีบัตรทอง มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับบริการทำฟันทั้งหมด เลยเกิดการเปรียบเทียบว่าด้อยกว่า ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกันตนก็ไม่เคยรู้ ก็ใช้สิทธิประกันสังคมของตัวเองไปเรื่อยๆ พอคุยกับหมอฟันถึงได้รู้ว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม”

จึงระดมสมองร่วมกันทุกฝ่ายว่า ผู้ประกันตนควรได้รับสิทธิแค่ไหน จะเรียกร้องเรื่องใดเพิ่มเติม โดยฝั่งทันตแพทย์รับหน้าที่หางานวิจัยและงานทางวิชาการมาสนับสนุนเพื่อให้ข้อเรียกร้องแข็งแรงและมีน้ำหนักมากขึ้น จากนั้นเอาเนื้อหามาประชุมและถอดออกมาเป็นข้อเสนอ จากนั้นจึงยื่นไปยังสำนักงานประกันสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน

ข้อเสนอเป็นไปตาม 2 เป้าหมายหลักคือ สิทธิทางทันตกรรมของผู้ประกันควรเท่าเทียมกับ 2 กองทุนคือ บัตรทองหรือสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับสวัสดิการข้าราชการ

ความพยายามเห็นผลล่าสุด 12 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักประกันสังคมเพิ่มวงเงินค่าบริการทันตกรรมรายปีจากเดิม 600 บาท เป็น 900 บาท และไม่ต้องสำรองจ่าย และยึดตามเกณฑ์ราคากลางของกระทรวงสาธารณสุข

นี่อาจเป็นธงระยะสั้น แต่ระยะยาว เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุขต้องการเชื่อมโยงการทำงานกับสำนักงานประกันสังคม

“การที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดแนวทางปฏิบัติอะไรบางอย่างแล้วไม่ได้ถามผู้ปฏิบัติ คือไม่ถามทั้งผู้ประกันตน ทั้งผู้ให้บริการมันก็เลยทำให้เกิดปัญหา เราอยากมีส่วนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในทางปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ต้องสำรองจ่าย ความเท่าเทียมกับสิทธิอื่นๆ และหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากคลินิกเอกชน”

เพราะฟันคือสิ่งสำคัญที่สุด

ไม่ว่าลงลึกภาคปฏิบัติหรือขับเคลื่อนระดับนโยบาย ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานและจรรยาบรรณของทันตแพทย์ที่ว่า “ฟันคือสิ่งสำคัญที่สุด”

“การตัดสินใจถอนฟันแต่ละซี่เป็นเรื่องที่ทันตแพทย์ตัดสินใจเยอะ เราจะเก็บรักษาฟันธรรมชาติเอาไว้ให้มากที่สุด แม้บางทีคนไข้ขอให้ถอนหน่อยจะได้ใส่ฟันปลอม เราบอกยังไงก็ไม่ถอน บางซี่โยกนิดเดียวเราก็ให้ใช้ไปก่อน”

เพราะการถอนฟันซี่หนึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีหมอฟันคนไหนอยากให้คนไข้ใส่ฟันปลอม ต่อให้ทำมาแพงแค่ไหนประสิทธิภาพบดเคี้ยวก็ไม่มีทางเทียบกับฟันจริงได้ ถ้าจะต้องถอนกันจริงๆ ก็ต้องถึงขั้นร้ายแรงมากอย่างมะเร็ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากโรคปริทันต์เล็กๆ อย่างฟันผุหรือเหงือกอักเสบแล้วไม่ยอมรักษา เพราะคิดว่าโรคทางกายอื่นๆ สำคัญกว่าฟัน

ปวดจนทนไม่ได้แล้วค่อยมาหา หรือถ้าเสียซี่หนึ่งไปก็ยังมีซี่ปลอม-อะไหล่ใหม่เข้ามาแทน… คนทั่วไปจะคิดอย่างนี้

“นี่คือความยากในการทำงานด้านสุขภาพช่องปาก ทันตแพทย์ทำงานยากมากเพราะเรากำลังทำงานกับเรื่องที่คนคิดว่าไม่สำคัญ เราต้องทำความเข้าใจกับเขาว่า เรื่องฟันไม่ได้เอาไว้ใช้เคี้ยวข้าวอย่างเดียวนะ ถ้าฟันมันสะอาดมันจะทำให้ลดเชื้อในช่องปาก ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในร่างกายก็น้อยลง เชื่อมให้เขาเห็นว่ามันมีความร้ายแรงยังไงบ้างอย่างมะเร็งในช่องปาก”

ได้ผล… เริ่มต้นจากแผลในช่องปากที่คนไข้ให้ค่าแค่แผลร้อนใน ไม่มีอะไรแต่ไม่หายสักที ซึ่งตรงกับแผลของมะเร็งบางชนิดที่เป็นๆ หายๆ หรือรายที่สะสมทั้งฟันผุ หินปูน โรครำมะนาดไว้ในปากเยอะๆ จนกลายเป็นแผล แผลเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งในช่องปาก ซึ่งเคยมีเคสมาแล้วกับคนไข้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม

“คนไข้ประกันสังคมรายหนึ่งมีแผลในช่องปาก ก็ไม่กล้าเข้าคลินิก คิดว่าค่ารักษาเป็นพัน พอไม่กล้าเข้า ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว จากโรคมะเร็งในช่องปาก เป็นเคสที่น่าเสียดาย ในทางกลับกันถ้าเขาถือบัตรทอง กรณีเหล่านี้จะไม่ค่อยเกิดปัญหา เพราะไม่ว่าอย่างไรเขาก็เดินเข้ามาในคลินิกได้”

 

ป้องกันสำคัญกว่ารักษา

ปลายทางอย่างสิทธิประกันสังคมก็ต้องแก้ปัญหากันไป แต่จะดีกว่าไหมถ้าจะป้องกันตั้งแต่ต้นทาง หมายความว่าถ้าทุกคนเห็นความสำคัญของฟันอย่างที่ทันตแพทย์เห็น ประเทศไทยคงไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้

สัดส่วนประชากร 1 ใน 3 มีภาวะฟันผุ และประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ควรจะได้รับการขูดหินปูน และดูแลปัญหาปริทันต์

สอดคล้องกับความคิดของ ทพญ.มาลีที่สนใจในงานป้องกันมากกว่างานรักษา เจ้าตัวเข้าใจว่าน่าจะซึมซับแนวความคิดนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มทำงาน ปีแรกก็ขอย้ายจากโรงพยาบาล มาช่วยงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

จากงานลงคลินิก-ตรวจคนไข้ ก็ย้ายมาสู่งานโครงการ ลงพื้นที่ และเริ่มสนุก มีความสุขกับงานทันตสาธารณสุข

“เป็นลักษณะของการทำงานแล้วทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต่างจากการทำคลินิกที่ดูแลคนไข้หนึ่งคน แต่การทำโครงการแบบนี้ คือทำงานกับชุมชน กับโรงเรียน กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กับคุณครู กับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เน้นงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่ถ้าเราทำคลินิกคือแก้ปัญหาเฉพาะราย ที่สำคัญงานด้านส่งเสริมป้องกันเป็นความชอบส่วนตัวด้วย

“ยกตัวอย่างไปอบรมให้ อสม. ถามเขาว่า ไปดูแลลูกบ้านแต่ละครั้ง ได้ตรวจฟันไหม เขาตอบว่าไม่ เราถามว่าทำไม เขาบอกว่าหมอไม่สั่ง เราเลยบอกว่า ณ วันนี้หมอก็ไม่สั่งอยู่ดีนะคะ แต่หมอจะขอฝากเรื่องสุขภาพช่องปากไว้ในหัวใจของพี่ๆ อสม. ทุกคน พูดอย่างนี้หลายๆ ครั้ง ทุกๆ 2 3 4 ปี เราเชื่อว่าเรื่องนี้จะอยู่ในหัวใจของเขา คือถ้าเรื่องพวกนี้อยู่ในหัวใจของเขาเขาจะต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว แล้วก็ดูแลคนในชุมชน เราเชื่ออย่างนั้น”

ลงลึกไปมากกว่านั้น ทพญ.มาลี บอกว่าชอบทำงานกับผู้คน ทั้งพูดคุย ประสานงาน วิเคราะห์ และชอบที่จะถือเอกสารโครงการอบรมมากกว่าจับเครื่องมือขูดหินปูน

“ชอบที่เป็นฝ่ายบุ๋นมากกว่าค่ะ (ยิ้ม)”  ที่สำคัญบุ๋นเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย ความคิดเรื่องการไปเป็นมือปืนรับจ้างตามโรงพยาบาลเอกชน เก็บเงินสักพักแล้วไปเปิดคลินิกส่วนตัว ไม่เคยอยู่ในหัวทันตแพทย์หญิงคนนี้

เพราะอะไร?

เจ้าตัวตอบแทบจะทันทีว่า “เพราะไม่ชอบอยู่ห้องสี่เหลี่ยม” ก่อนอธิบายยาวๆ ให้เข้าใจว่าการนั่งตั้งแต่เช้ายันเย็นถือเป็นงานหนัก แถมด้วยปัญหาสุขภาพสารพัดทั้งออฟฟิศซินโดรม-คอ บ่า ไหล่ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ฯลฯ

ต่างจากเพื่อนร่วมรุ่น ส่วนใหญ่เลือกเป็นทันตแพทย์เอกชน ใช้ทุนจนครบกำหนดก็ออกมารับจ้างตามโรงพยาบาล /คลินิกทั่วไป ลงท้ายด้วยการเปิดคลินิกส่วนตัวตามสูตรสำเร็จ

มันต่างจิตต่างใจ ชอบคนละแบบจริงๆ เรื่องพวกนี้ (ยิ้ม)”

หนึ่งเดียวคนนี้

จะบอกว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยเหมือนใคร ก็คงใช่ คงต้องย้อนกลับไปสมัยเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ที่เชียงใหม่ นศ.ทพญ.มาลี เลือกไปเทคคอร์สการพูดแบบไม่ปรึกษาใคร ไม่ชวนเพื่อนด้วย

“ก็แปลกใจตัวเองนะคะ ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน ในรุ่นก็ไม่มีใครเรียน จำไม่ค่อยได้ว่าเพราะอะไร รู้แต่ว่าต้องเรียน อยากเรียน ก็ไปเรียนกับคุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ทุกวันอาทิตย์ตอนบ่าย ประมาณอาทิตย์ละสองสามชั่วโมง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียน”

เก็บหน่วยกิตการพูดมาแล้วก็ยังไม่พอ ตอนเป็นหมอฟันใหม่ๆ ยังเจียดเวลาไปเรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เลยว่าเจ้าจอสี่เหลี่ยมหนาหนักที่มาพร้อมคีย์บอร์ดนั้นใช้งานอย่างไร

“พอเรียนจบออกมาทำงานเป็นเหรัญญิกชมรมทันตภูธรน่ะค่ะ เพื่อนที่เป็นประธานชมรมบอกว่า มาลี ไปซื้อคอมพิวเตอร์มาหนึ่งตัว ให้คีย์รายชื่อสมาชิก แล้วก็ไปทำให้เป็นด้วย เราก็ไปหามาแล้วก็ไปลงเรียนคอมพิวเตอร์ คือจะเป็นอย่างนี้น่ะค่ะอะไรที่ต้องรู้ก็ไปหาให้ได้”

เคยวิเคราะห์ตัวเองไหมว่าทำไมถึงเดินคนละทางกับคนอื่นมาตลอด… เจ้าตัวนิ่งคิดไปพักใหญ่ก่อนจะขอย้อนเวลากลับไปสมัยสวมชุดนักเรียนชั้นประถม

“ตอนเด็กๆ ทุกปิดเทอมจะต้องมีภารกิจทำ สมัยนั้นชอบทำงานฝีมือน่ะค่ะ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องสำเร็จเทอมละหนึ่งชิ้นให้ได้ ชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำคือปักครอสติชประมาณห้าสิบกว่าชิ้นเป็นผ้าคลุมเตียง พอปิดเทอมปั๊บก็ไปพาหุรัด ไปซื้ออุปกรณ์มาเตรียม วางแผนว่าปิดเทอมนี้จะทำอะไรบ้างแล้วก็ทำให้จบ”

มีอยู่ปีหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานฝีมือแต่ ด.ญ.มาลีเลือกเรียนพิมพ์ดีด แต่ไม่ได้ไปเสียเงินเรียนที่ไหนทั้งนั้น อาศัยเครื่องพิมพ์ดีดว่างๆ ในบ้าน หัดพิมพ์ไปต๊อกแต๊กๆ จนพิมพ์สัมผัสได้เป็นผลสำเร็จภายในปิดเทอมนั้น

อุปนิสัยทำอะไรต้องทำให้สำเร็จติดตัวมาถึงตอนโต ความจริงข้อนี้เจ้าตัวเพิ่งตระหนักดีเมื่อไม่นานที่ผ่านมาในคอร์สนพลักษณ์…ที่เจ้าตัวก็สนใจขวนขวายไปเรียนเองอีก

“มาเรียนนพลักษณ์ก็พบว่าตัวเองเป็นคนลักษณ์ 1 เรียกว่าเพอร์เฟ็คชันนิสต์ เมื่อก่อนไม่รู้หรอกค่ะ ถ้าไม่มาเรียนเรื่องนี้คงจะทุกข์กว่านี้อีกเยอะ เพราะเข้ากับคนอื่นลำบากเหลือเกิน”

เวลาทำงานหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ ลูกน้องทุกคนจะรู้ดีว่า ทพญ.มาลีจะเตรียมแผนมาล่วงหน้าเสมอ เวลาทำงานใดๆ สักชิ้น สิ่งที่มีติดตัวประจำคือกระดาษโน้ต จะจดทุกอย่างลงในนั้น พอมีหลายๆ ใบก็จะใช้วิธีซ้อนแล้วแม็กเป็นปึกหนา ไม่นิยมพกสมุดจด

“จะมีบางคนสงสัยว่าตามงานอะไรได้เยอะขนาดนั้น เพราะสมมุติว่าทำอะไรก็จะจดไว้ อันนี้ของวันไหน เราขี้เกียจพิมพ์ อันนี้จะเป็นรายละเอียดย่อยว่าเราต้องตามใคร ตามเรื่องอะไร วันที่เท่าไร ตามใคร ต้องซื้ออะไร ถ้าหาย… โห เดือดร้อน กลุ้มใจมากเลย”

เคยจดลงสมุดแล้วครั้งหนึ่ง ความที่รายละเอียดเยอะมาก จดจนแน่นสมุด จบเล่มแล้วก็ยังไม่จบเรื่อง

“แต่ถ้าเป็นกระดาษจะต่อกี่แผ่นก็ได้ แม็กรวมๆ ไว้ ทำเสร็จแล้วเราก็ดึงออก หรือไม่ก็ขีดฆ่าทิ้ง สะดวกดีค่ะ

 

…………………………………………

 

ทุกวันนี้ ทพญ.มาลี ไม่ลงคลินิกแล้ว ชีวิตส่วนใหญ่ง่วนอยู่กับงานบริหารทั้งในและนอกโรงพยาบาล

คิดถึงงานทำฟันบ้างไหม…

“เฉยๆ ค่ะ (ยิ้ม) เพราะมันเหมือนกับความชอบของเรามันอยู่อีกด้านหนึ่ง เมื่อสมัยทำงานใหม่ๆ ที่ไปทำงาน สสจ. ก็รู้สึกเหมือนกันว่า เอ๊ะ เราผิดไหม อุตส่าห์เรียนมาตั้งเยอะ จนตอนหลังต้องตัดใจแล้วก็บอกว่า นี่ไงมันก็เป็นงานอีกด้านหนึ่งของเรา และก็เป็นงานด้านที่ทันตแพทย์เฉพาะทางไม่เอานะคะ เพราะเขาไม่อยากยุ่งกับคน ไม่อยากไปคุยกับชาวบ้าน เขาไม่คุ้นเคย เราเลยพุ่งเป้าตัวเองมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไปเลย”

ประสบการณ์ด้านทันตสาธารณสุขหลายสิบปี เปิดโลกให้ ทพญ.มาลี เห็นว่ายังมีเพื่อนร่วมวิชาชีพอีกหลายคนที่พร้อมทำงานเพื่อสังคม แต่เกือบทั้งหมดอยู่ใต้กรอบความคิดที่ว่า “เราช่วยอะไรไม่ได้หรอก”

“ถ้าเราคิดว่าเราไม่เกี่ยว เราทำอะไรไม่ได้ มันก็จะไม่มีจุดเริ่มต้น จริงๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นอย่างนั้นด้วย ด้วยความที่เราทำงานอยู่ในระบบจำกัด ทำกับคนที่ไม่ค่อยเยอะ แล้วโรคของเราก็เป็นโรคเฉพาะด้วย คือถ้าเทียบกับแพทย์นะ แพทย์จะสัมผัสโรคที่ภาพรวม แต่เราอยู่แค่ช่องปากเล็กๆ จึงรู้สึกเป็นข้อจำกัดส่วนตัว พยายามช่วยๆ ดึงกันออกมา”

จนวันนี้ ชีวิตมาลงตัวที่เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทันตกรรมประกันสังคม ที่ ทพญ.มาลีบอกว่าคือความสุขในชีวิต เพราะความสุขของสุภาพสตรีคนนี้อยู่ที่งาน

“เขาเรียกว่าแต่งกับงาน (หัวเราะ) คือชีวิตส่วนตัวที่บ้าน เราก็ถือว่าเป็นงาน สมัยก่อนหลานยังเล็กๆ พาหลานไปดูหนังเราก็แพลน เดี๋ยววันเสาร์นี้จะต้องตื่นกี่โมง จะต้องไปจองตั๋วหนังให้หลานก่อน เราต้องวางแผนก่อนว่าจะไปตั้งแต่เช้าเพื่อให้ได้ที่นั่งที่ดีที่สุด จนพี่สาวว่าจะบ้าหรือเปล่า ดูหนังมันคือเรื่องเที่ยวนะ ทำให้เหมือนเที่ยวหน่อยได้ไหม แต่เราอยากให้หลานเราดูที่ดีที่สุด ชัดที่สุด แล้วเรารู้สึกว่านี่คือความสุขของเรา แต่ถ้าคนที่ไม่ใช่ type นี้จะไม่เข้าใจ คิดว่าเราบ้า เหมือนกับว่าทำไมชีวิตมันไม่มีความสุข แต่นี่ล่ะคือความสุขของเรา”

 


             

‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีย์เรื่องเล่า ว่าด้วยผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ พวกเขาเป็นใครหลายคน ทั้งทนายความ แพทย์ นักสิ่งแวดล้อม นักสันติวิธี นักดนตรี นักการละคร ฯลฯ
พวกเขาคือคนธรรมดา แต่ความตั้งใจและเนื้องานของพวกเขา ก่อให้เกิดมรรคผลต่อสังคม ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
บนเส้นทางที่แตกต่างหลากหลายนี้ พวกเขาแต่ละคนไม่ได้เดินเพียงลำพัง พวกเขามีเพื่อน เครือข่าย สหวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคนจำนวน ‘มาก’
‘น้อยไปหามาก’ คือซีรีย์เรื่องเล่า ที่มีทั้งรูปแบบบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น สารคดี และหนังสารคดี ผลิตโดยทีมงานนิตยสาร WAY

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า