เสียงของผู้หญิง นักศึกษา และกวี บนบรรทัดที่ถูกขีดเส้นใต้ไว้เมื่อคืน

วันที่ 16 สิงหาคม 2563

นับเป็นอีกหนึ่งวันที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งใหม่สำหรับใครหลายคน เพราะการชุมนุมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำโดยคณะประชาชนปลดแอก (Free Youth) อาจเป็นการชุมนุมครั้งแรกในชีวิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว

เพื่อสำรวจและบันทึกความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมในเส้นทางการต่อสู้ครั้งนี้ WAY คุยกับ 3 บทบาท ทั้งนักศึกษา ผู้ที่เรียกตัวเองว่าอนาคตของชาติ, ผู้ใหญ่ที่ทำงานและขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิสตรี, นักกวีผู้ที่มีประสบการณ์การร่วมชุมนุม ผ่านร้อนหนาวมากมาย 

นักศึกษา: “เรามองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม”

“เรารู้สึกว่าเราต้องออกมาเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เผด็จการกัดกินพวกเรา พวกเราคือเด็กที่จะต้องใช้ชีวิตต่อในประเทศนี้ แต่กลับมองไม่เห็นแสงสว่างในประเทศนี้ วันนี้เราจึงออกมาต่อสู้ เพื่ออนาคตของเราและเพื่อนๆ”

“ที่ออกมา เพราะเราทนไม่ไหวอีกแล้วกับความอยุติธรรมที่เห็นตามหน้าข่าว เรามีแค่กระดาษ ปากกา ไมค์ ลำโพง คุณฟังเสียงพวกเราบ้าง เราคืออนาคต วันเวลาของเราอยู่ข้างหน้า เราอยากเจอสิ่งที่ดีที่สุด เรามองไม่เห็นทิศทางของอนาคต เราก็เหมือนคนเดินหลงทาง”

“แม้จะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาจากการที่เราออกมา แต่ยินดีที่จะรับความเสี่ยงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

“เราเคยออกมาร่วมชุมนุมในรั้วมหา’ลัยครั้งหนึ่ง บรรยากาศวันนี้ (16 สิงหาคม) แตกต่างกันมาก บรรยากาศวันนี้คึกคักมาก ผู้คนออกมามากมาย เหมือนเราได้เจอเพื่อน เจอคนที่คิดเหมือนกัน เราเจอคนที่กำลังต่อสู้ในเรื่องเดียวกันอยู่”

“พวกเรามีมันสมองนะคะ ได้รับการศึกษา คิดวิเคราะห์แยกแยะเป็น รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในประเทศ ฉะนั้นไม่มีทางที่ใครจะมาจูงจมูกเรา เราตกผลึกความคิดด้วยตัวเอง พวกเรามองเห็นความผิดพลาด ความอยุติธรรมที่เกิดในสังคม เรารู้ได้ด้วยตัวเอง”

ตัวแทนจากภาคีนักศึกษาศาลายา

นักสิทธิสตรี: “ถึงพวกที่ใช้ชีวิตมานมนาน คุณต้องแบ่งอนาคตให้คนอื่นได้ใช้บ้าง”

“เราสนใจประเด็นสิทธิ LGBTQ+ สนใจเรื่องเฟมินิสต์ สิทธิของผู้หญิง และเรารู้สึกว่าตัวเองมีพลังพอที่จะออกมาพูดในสิ่งที่เราเคยพูดในโลกทวิตเตอร์ เอาออกมาพูดให้เป็นประเด็นสาธารณะ”

“วันนี้คณะผู้หญิงปลดแอกมีแถลงการณ์ฉบับแรกว่าด้วยประเด็นสิทธิการทำแท้งอย่างปลอดภัย เราอยากให้การเข้าถึงการทำแท้งเป็นบริการสุขภาพอนามัยอย่างแท้จริง เราจึงออกมาต่อสู้ให้มีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง (ยกเลิกมาตรา 301) เพราะสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงก็คือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์เหมือนกัน”

“การพูดเรื่องสิทธิผู้หญิงในโลกออนไลน์มีข้อแตกต่างจากการสื่อสารในที่สาธารณะ ตรงที่เราได้สบตากัน ใจมันส่งถึงใจกันมากกว่า”

“นี่คือม็อบครั้งแรกในชีวิต อากาศร้อนมาก! แต่การได้เจอเพื่อนร่วมม็อบ รู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อน การได้ฟังคำปราศรัยในประเด็นต่างๆ ก็รู้สึกฮึกเหิม ครั้งหน้าถ้ามีม็อบออกมาเคลื่อนไหว เราก็อยากจะออกมาอีก”

“เจ้าของอนาคตคือเด็กและเยาวชน ถึงแม้เราจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่อนาคตที่เหลือเป็นของเด็กไม่ใช่หรือ เราควรซัพพอร์ตอนาคตของชาติ เราไม่อยากให้เด็กเดินตามเราเพราะสิ่งที่เราเคยผ่านมามันไม่เวิร์ค เราอยากให้เขาออกแบบอนาคตแบบที่เขาต้องการเอง”

“พวกคนที่ใช้ชีวิตมานานแล้วน่ะ แบ่งอนาคตให้คนอื่นใช้บ้าง”

ตัวแทนจากคณะผู้หญิงปลดแอก (Women for Freedom and Democracy)

กวี: “อะไรที่เราพอจะสนับสนุนพวกเขาได้ อาจจะไม่ต้องรอให้เด็กๆ ร้องขอ”

“เราเป็นกลุ่มกวีราษฎร์ที่เคยต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 53 ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง ตอนนั้นเรารณรงค์เรื่องการยกเลิก ม.112 เพราะเราเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักศึกษาหรือว่าเป็นชาวบ้าน ทุกคนควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือพูดถึงสิ่งที่ไม่ยุติธรรมทั้งหลาย”

“ผู้มีอำนาจมักไม่ได้รับโทษทัณฑ์ แต่ชาวบ้านหรือกับคนอย่างเราๆ กลับได้รับโทษทางกฎหมายอย่างไม่ยุติธรรม เราก็ต่อสู้กันมาเรื่อยๆ จนมาในจุดที่ประเทศนี้… ดูแล้วอาจจะไม่มีความหวัง เพราะว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ใช่อำนาจธรรมดา เราไม่สามารถมีปากมีเสียงหรือพูดได้อย่างเสรีภาพ มีการอุ้ม บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดกลัว”

“จนกระทั่งครั้งนี้มีกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นลูกออกมาเคลื่อนไหว ความคิดของพวกเขาได้ดันเพดานไปไกลกว่าที่เราเคยพูดกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราเคยคิดว่าอยากจะพูดอย่างนี้แหละ แต่ไม่ได้มีโอกาสหรือว่าอาจจะไม่กล้าพอ ไม่มีแรงสนับสนุนพอ แต่ว่าตอนนี้เราเห็นแล้วว่าเด็กๆ พูดเหมือนที่เราอยากจะพูด เราก็เลยออกมาสนับสนุน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้มากน้อยในฐานะประชาชนทั่วๆ ไป”

“อันที่จริงผมไม่อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นหลังนะ เพราะเขามีความกล้าหาญมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มันมาจากความรู้สึกของเขา การฝากเป็นเหมือนมรดกอะไรสักอย่าง เราก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้น ประเทศเรามันยุ่งยากเพราะเรื่องการฝากมรดกกันมานี่แหละ ผมก็เลยคิดว่าอะไรที่เราพอสนับสนุนได้ อาจจะไม่ต้องให้เด็กๆ ร้องขอหรอก”

“10 ปีที่ผ่านมา ในฐานะเคยเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อแดง การห้ามจัดกิจกรรม ห้ามมีการพูดถึง เรารู้สึก… มันห่อเหี่ยวนะ อย่างน้อยเวลาจัดงานรำลึก เรายังได้เจอเพื่อน ผมเสียเพื่อนจากเหตุการณ์วัดปทุมฯ การกลับไป ได้รำลึกกัน มันไม่ทำให้เราสิ้นหวัง เหมือนอย่างม็อบวันนี้ ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำอะไรร่วมกับเด็กๆ แต่เรารู้สึกมีความหวังขึ้นมาว่าประเทศเราอนาคตมันอาจจะดีกว่ายุคของเราก็ได้”

คาล รีอัล ตัวแทนกลุ่มกวีราษฎร์

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า