ที่โรงพยาบาลลินคอล์น นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา แพทย์ที่นี่เลือกที่จะไม่เขียนใบสั่งยา แต่เขียนใบสั่งผักและผลไม้ ให้คนไข้กลับไปซื้อกินแทน
เรื่องทั้งหมดเริ่มหลังจาก ไมเคิล นิชชาน เชฟในเมืองนิวยอร์ค พบว่าลูกชายทั้ง 2 คนเป็นโรคเบาหวาน จึงทำให้เขาลงมือค้นคว้าหาข้อมูลจนรู้ว่า โรคดังกล่าวสามารถควบคุมได้ และ ในบางรายอาจหายขาดได้ถ้ารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และทำให้เชฟอย่างเขาลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เมนูง่าย อร่อย ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญราคาย่อมเยา
ความคิดดังกล่าว นิชชานไม่หยุดอยู่แค่ลูกชายทั้งสอง หากแต่ต้องการขยายผลไปยังเด็กอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เขาจึงเริ่มหาวิธีการที่จริงจังขึ้น และค้นพบว่า ถ้างานนี้ได้แพทย์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมด้วย จะประสบความสำเร็จเพราะคนส่วนใหญ่จะเชื่อคำแนะนำของหมอ
หัวใจสำคัญของงานนี้คือ ‘ใบสั่งยา’ นิชชานคิดว่า ถ้าเปลี่ยนไปสั่งยาเป็นใบสั่งผักและผลไม้สดที่ดีต่อสุขภาพล่ะ ที่สำคัญแพทย์เป็นคนเขียนด้วย ทำไมคนไข้จะไม่เชื่อ
นิชชาน เริ่มโดยการเข้าไปพูดคุยและหาพันธมิตรจากศูนย์การแพทย์และสุขภาพ โรงพยาบาลลินคอล์น และได้ความร่วมมืออย่างดีจากทีมกุมารแพทย์ โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ คือ ครอบครัวที่ลูกๆ มีน้ำหนักเกิน
“มันออกจะแปลกไปหน่อย เพราะแต่ไหนแต่ไรมาเราจะเคยชินกับการเขียนแต่ใบสั่งยา” ซีมา กุมารแพทย์คนหนึ่งในโรงพยาบาลลินคอล์นยอมรับ
ตามโครงการนี้ เด็กๆ จะได้พบแพทย์และนักโภชนาการ อาทิตย์ละครั้ง และระหว่างนั้นจะได้รับการตรวจความดันเลือด ระดับน้ำตาลอินซูลินและน้ำหนัก
ก่อนกลับบ้าน แพทย์ก็จะจ่ายยา ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็น “ตระกร้าสุขภาพจาก 140 ฟาร์มทั่วเมือง” ได้ โดยฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคนละ 1 ดอลลาร์ต่อวัน ดังนั้นถ้าครอบครัวเกษตรกรมี 4 คน หมายความว่าครอบครัวนั้นจะได้รับค่าตอบแทน 28 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
โจฮันนา เทอร์รอน เด็กสาววัย 14 ปีที่มีโรคประจำตัวหอบหืด น้ำหนักลดถึง 20 ปอนด์เมื่อปีที่แล้ว เธอได้รับใบสั่งยาที่เป็นผักและผลไม้จากการดูแลของกุมารแพทย์โรงพยาบาลลินคอล์น
“แต่ก่อนหนูไม่แตะผักกับผลไม้เลย กินแต่แฮมเบอร์เกอร์กับอาหารขยะเกือบทุกวัน อย่าง มันฝรั่งทอด ลูกอม น้ำอัดลม ไอศกรีม ไม่เคยกินลูกแพร์หรือแคนตาลูปเลยสักชิ้น แต่ปีที่แล้ว หนูเปลี่ยนมากินหัวผักกาดแดงและเขียว และมันทำให้ปุ่มรับรสของหนูเปลี่ยนไป หนูไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แต่ผักผลไม้มันอร่อยขึ้นจริงๆ ”
โจฮันนาบอกอีกว่า ตัวเองสุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลาหืดหอบกำเริบอีกต่อไป และครอบครัวก็หันมาเปลี่ยนวิธีการกินเหมือนเธอหมด
ซีมา อธิบายว่า นี่เป็นแค่ก้าวแรกในกระบวนการยาวๆของการลดน้ำหนัก แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ทรงพลังและน่าประทับใจ
ต้นคิดแผนการนี้ทั้งหมดอย่าง นิชชาน ที่ใช้เวลาหลายปีไปกับการคิดว่าโครงการนี้จะเวิร์คอย่างไร แต่ผลตอบรับก็เป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้มีข้อมูลจากโครงการนำร่องเก็บไว้แล้ว 2 ปี และสามารถนำมาแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่ามีคนเข้าร่วมโครงการนี้มากแค่ไหน
“ปีแรก ผู้เข้าร่วมโครงการ 38.1 เปอร์เซ็นต์ดัชนีมวลกายลดลง และ ปีที่ 2 ก็เพิ่มเป็น 39 เปอร์เซ็นต์ มันไปได้ดี เราตื่นเต้นมากๆ ” นิชชาน บอกอีกว่า กำลังขยับขยายโครงการนี้ต่อไปทั่วประเทศ
………………………………………….
ที่มา : npr.org