กลุ่ม FTA Watch แถลงการณ์จับตารัฐธรรมนูญเปิดช่องการค้าเสรี ไทยเสียเปรียบทุกกรณี

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 กลุ่ม FTA Watch อ่านแถลงการณ์ ‘จับตาเอฟทีเอ: ยุคสมัยที่มาตรา 190 หายไปจากรัฐธรรมนูญ’ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีช่องโหว่ที่เอื้อให้รัฐบาลมีอำนาจทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้ โดยขาดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทุกกรณี อาทิ ผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่ถูกต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และในด้านการสาธารณสุข ไทยต้องเสียงบประมาณการจัดซื้อยาแพงขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา

พร้อมกันนี้กลุ่ม FTA Watch ยังได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อให้การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการประชาธิปไตย เนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้…


ขณะนี้ทางรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเตรียมการเพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (FTA ไทย-อียู) และขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งทั้งสองความตกลงนี้จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงยาของประชาชน กระทบต่อการกำหนดนโยบายด้านการสาธารณสุข สังคม สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค และยังกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย หากต้องเปิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยให้กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเจรจาขณะนี้ กลับมีความชัดเจนแค่ตัวเลขการส่งออกและรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีการพิจารณาลงรายละเอียดมากเพียงพอที่จะเปรียบเทียบผลได้และผลเสียอย่างชัดเจน

จากงานศึกษาวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสมัชชาสุภาพแห่งชาติ ด้านผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณซื้อยาในราคาแพงขึ้น 27,833 ล้านบาท ถ้ายอมรับเงื่อนไขขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรอีก 5 ปี และประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาแพงขึ้น 81,356 ล้านบาท ถ้ายอมตกลงในเรื่องการผูกขาดข้อมูลยานาน 5 ปี ตามที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเคยเรียกร้องในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีฉบับต่างๆ ที่หยุดชะงักไป

ด้านการเกษตร เกษตรกรจะต้องมีต้นทุนการผลิตในเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น 84,000 ล้านบาท ถึง 143,000 ล้านบาท ถ้าไทยยอมรับข้อผูกมัดที่ต้องเข้าร่วมหรือนำมาตรการในสนธิสัญญายูปอฟ (UPOV) 1991 มาบังคับใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ไปเพาะปลูกต่อได้

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งติดตามการเจรจาการค้าเสรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า เป็นเพราะเนื้อหารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในส่วนของการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น ล้าหลังที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยดึงอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไปอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ตัดการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ตัดเนื้อหาเชิงกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นยังเปลี่ยนการเยียวยาที่รวดเร็ว เหมาะสม เป็นธรรม เป็นแค่การเยียวยาเท่าที่จำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้น

นอกจากนี้ เดิมจะต้องมีงานวิจัยรองรับการเจรจา แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนการเจรจา และไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่รัฐสภาด้วยการนำเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา งานวิจัยที่มีคุณภาพอาจไม่ได้ถูกสนับสนุนให้ทำและนำไปใช้เพื่อพิจารณาทำความตกลงอย่างเต็มที่

“หากก่อนหน้านี้ใครบอกว่า รัฐบาลทักษิณเจรจา FTA แบบไม่สนใจใคร จนผลได้กระจุกในกลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล แต่ผลเสียกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นจากผลกระทบจากสินค้าเกษตรนำเข้าต่างๆ ที่ขณะนี้เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับภาวะความยากลำบากอย่างยิ่ง หรือ ผลกระทบจากการรับขยะสารพิษ พลาสติก และขยะต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นต้นมา สิ่งเหล่านี้จะหวนกลับมาอีกครั้งในการเจรจา FTA ฉบับใหญ่ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

กลุ่ม FTA Watch ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนและช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และในส่วนของการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา และการตรวจสอบการเจรจาของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องกลับมาเป็นหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบนโยบายสาธารณะและสร้างธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เราจะเผชิญความยากลำบากในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับภาคีต่างๆ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยง่าย เพื่อไม่ให้ผลได้กระจุกตัวแต่ในกลุ่มทุนชนชั้นนำ แล้วปล่อยให้สาธารณชนไทยแบกรับผลเสียอีกต่อไป

 

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

21 มกราคม 2563

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า