การจากลาอันเปลี่ยวเหงาของคนตาย และการทยอยล้มหายของธุรกิจงานศพ

พิธีกรรมว่าด้วยความตาย นัยหนึ่งก็เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รักตามความเชื่อของแต่ละศาสนา แต่สำหรับคนเป็น ผู้ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียและต้องดำรงชีวิตต่อไป ‘งานศพ’ จึงเหมือนกระบวนการเยียวยาจิตใจของญาติมิตรชิดใกล้ เป็นช่วงเวลาของการแบ่งปันความรู้สึกทุกข์โศก และเป็นพิธีกรรมเพื่อความวางใจว่า เรากำลังเดินทางไปส่งผู้ล่วงลับในโลกหลังความตายอย่างไม่บกพร่อง 

ความหมายใน ‘พิธีศพ’ ของแต่ละความเชื่อนั้น ซุกซ่อนกุศโลบายในรายละเอียดของกระบวนการ การจัดพิธีศพจึงเป็นพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้ในช่วงเวลาปกติ แม้รายละเอียดในพิธีกรรมของแต่ละความเชื่อจะถูก ‘ลดทอน’ หรือ ‘เพิ่มเติม’ องค์ประกอบมากน้อยต่างกันไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ทว่าในยุคของโรคระบาด ผู้คนมากมายสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างฉับพลัน ความตายรายวันเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ลำพังสภาพจิตใจภายใต้สถานการณ์วิกฤติก็ยากจะรับมืออยู่แล้ว ไหนเลยจะต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การงาน ธุรกิจล้มหายตายจาก บ้างรอวันฟื้นฟู บ้างก็กู่ไม่กลับ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ธุรกิจงานศพ’

นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล หรือ ‘อาจารย์สื่อ’ ประจำภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเกิดในครอบครัวคนจีนโพ้นทะเล คลุกคลีอยู่กับความเชื่อและพิธีกรรมของจีนตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะยุคเฟื่องฟูของพิธีกรรมและธุรกิจเกี่ยวกับงานศพ เรื่อยมาจนถึงยุคของการกลืนกลายและคลายความนิยมตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ประจวบกับวิกฤติโรคระบาด 

เขาเฝ้ามอง สังเกต และพินิจรายทางนี้มาอย่างยาวนาน กระทั่งนำมาสู่การสนทนาครั้งนี้

“รากฐานเดิมของคนจีนนั้น พิธีของความตายถือว่าเป็นงานสำคัญอันหนึ่งของชีวิต นอกจากการเกิด การข้ามพ้นสู่วัยผู้ใหญ่ งานแต่งงาน และงานว่าด้วยความตาย ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญมาก เพราะพื้นฐานคนจีนนั้นคือการแสดงความกตัญญู”

‘คนจีน’ ในบทสนทนานี้ หมายถึงคนจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศ หรือ ‘จีนแต้จิ๋ว’ ซึ่งเดิมทีพิธีกรรมในงานศพตามความเชื่อของชาวจีนนั้นจะผสมผสานความเชื่อของลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า กล่าวคือ ลัทธิขงจื๊อสอนให้บุตรหลานมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ชาวจีนจึงต้องฝังศพเท่านั้น เพราะการฝังศพสามารถจารึกชื่อ แซ่ และคุณความดีของบรรพบุรุษไว้ที่หน้าฮวงซุ้ย มีการเขียนป้ายชื่อไว้กราบไหว้บูชาที่บ้าน และเมื่อครบรอบวันเช็งเม้ง ก็จะต้องมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ลูกหลานจึงต้องเดินทางไปแสดงความกตัญญูอยู่ไม่ขาดระยะ 

ส่วนลัทธิเต๋าจะสอนในเรื่องธรรมชาติ การหาฮวงซุ้ยจึงต้องหาทำเลทางธรรมชาติที่เหมาะสมและสามารถเกื้อกูลให้บุตรหลานมีโชคลาภในอนาคต เมื่อชาวจีนได้รับคติพุทธศาสนา นิกายมหายาน จึงมีการจัดศาสนพิธีขึ้น เพื่อชำระล้างบาปและมลทินของดวงวิญญาณให้บริสุทธิ์ และสร้างกุศลกรรมแก่ดวงวิญญาณให้ได้ประสบสุคติ ในปรโลก

“คนจีนจะต้องเตรียมการ ซึ่งการ ‘เตรียมความตาย’ ของคนจีน สมัยก่อนจะมีเจ้าพ่อคนหนึ่ง อยู่แถวภาคกลาง เขาซื้อโลงศพเป็นไม้สักเตรียมไว้ในบ้าน สมัยนั้นราคาสองแสนบาท เพราะคนจีนนั้นถ้ามีเงินเขาจะซื้อโลงศพเตรียมเอาไว้ หรือไม่ก็ไปซื้อหลุมฝังศพ ซื้อเสื้อผ้าสำหรับวันที่ต้องเดินทางไกล เตรียมสถานที่ที่จะไปอยู่ เตรียมการสั่งเสีย ส่วนลูกหลานจะต้องมีหน้าที่ในการจัดเตรียมพิธีต่างๆ ให้เขาเมื่อเขาเสียในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นพิธีกรรมความตายสำหรับคนจีนจึงถือเป็นงานใหญ่ที่จะต้องเตรียมล่วงหน้า”

พิธีกรรมในวงจรชีวิตของชาวจีน โดยเฉพาะประเพณีด้านความตาย ยิ่งเป็นพิธีศพของบุพการีด้วยแล้ว ผู้เป็นบุตรหลานจะต้องตระเตรียมการอย่างดีที่สุด เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา มีความละเอียดซับซ้อน สะท้อนภูมิปัญญาเก่าแก่ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ตาย และเพื่อความมั่นใจด้วยว่า ผู้ตายกำลังเดินทางไปยังภพภูมิที่ดี

“สมัยก่อนถ้าพ่อแม่เสีย จะเป็นงานที่โศกเศร้าที่สุด ลูกชายต้องโกนหัว เวลาอยู่ในงานศพก็ต้องใส่เสื้อผ้าที่ดูกระจอกที่สุด ดูโทรมและเศร้าที่สุด เป็นเสื้อที่ทำจากผ้าปอ จะไปรื่นเริงในช่วง 49 วันไม่ได้เลย เป็นบรรยากาศที่โศกเศร้าสุดๆ เมื่อบิดามารดาหรือบรรพชนของเราจากไป นี่คือในสมัยก่อนนะ ผมโตมาในบรรยากาศแบบนั้น

“คนจีนที่อยู่ในเมืองไทยก็จะรวมตัวกันเมื่อมีคนเสียชีวิต แล้วก็มาช่วยเหลือกัน จะมีสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อาจจะเป็นสมาคมคนแซ่เดียวกันบ้าง หมู่บ้านเดียวกันบ้าง ชุมชนเดียวกันบ้าง มาช่วยกันจัดงานและดำเนินการ มาร่วมพิธีเคารพศพกัน ถ้าย้อนไปสัก 20 ปีก่อน จะเห็นความคึกคักมาก แต่ภาพเหล่านี้กำลังจะหายไป อีกไม่นานก็น่าจะสูญหายหมดแล้ว”

พิธีการเดินข้ามสะพานกงเต๊ก

เมื่อกาลเวลาผ่านไป…น่าสนใจว่า การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของจีนได้ลดทอนขั้นตอนการปฏิบัติลงไป ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาอันเป็นรากฐานของพิธีกรรมและองค์ประกอบของพิธีกรรมที่ถูก ‘กลืนกลาย’ จากอิทธิพลของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหญ่ที่ห้อมล้อมวัฒนธรรมจีนอยู่ในเวลานี้ 

อาจารย์สื่อชวนมองความเปลี่ยนแปลงในระยะ 5 ปีให้หลัง ผ่านพิธีกรรมฝังศพของคนจีน เมื่อสุสานหลายแห่งแทบจะร้างผู้คน ความนิยมลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงธุรกิจงานศพที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูในยุคหนึ่ง บ้างก็ต้องปรับตัว และบ้างก็รอเวลาร่วงโรย…

“ความเปลี่ยนแปลงก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมการฝังศพแล้ว เพราะติดเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่าย สถานที่ หรือความทันสมัยขึ้นของยุคสมัย บางครั้งผู้ที่เสียชีวิตเองก็จะสั่งเสียลูกไว้ว่าไม่ต้องฝัง การฝังศพจึงน้อยลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เคลื่อนสู่ความทันสมัย ยังมีปัจจัยของ ‘ค่าใช้จ่าย’ อันมหาศาลในการประกอบพิธีกรรม 

“ค่าใช้จ่ายในการซื้อฮวงซุ้ยหลุมหนึ่งไม่ใช่น้อยนะครับ เหมือนซื้อทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งเลยล่ะ ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด บางทีอาจไม่ต่ำกว่าล้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างหนัก 

“เฉพาะค่าโลงศพแบบธรรมดาขั้นต่ำก็ 4-5 หมื่น ถ้าเป็นไม้สักก็หลายแสน แล้วถ้าจะฝังตามพิธีกรรมของจีนก็ต้องใช้โลงจำปา เพราะฉะนั้นงานฝังแบบสมัยก่อนจึงมีค่าใช้จ่ายมหาศาล”

พิธีกงเต๊ก ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

ปรากฏการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลาก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแน่นอนว่า เงื่อนไขหนึ่งของวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ สารคัดหลั่งในศพยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นั่นหมายความว่า ศพต้องถูกใส่ไว้ในซิปกันน้ำสองชั้น และห้ามเปิดถุงศพโดยเด็ดขาด

พิธีศพในปัจจุบันจึงตัดทอนขั้นตอนให้เหลือน้อยที่สุด รวดเร็วที่สุด คนมาร่วมงานน้อยที่สุด ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพใดๆ การสวดอภิธรรมเกิดอย่างขึ้นรวดเร็วเพียง 1-2 วัน แล้วเผาร่างทันที ไม่มีการยืดเยื้อข้ามคืน เพื่อกำจัดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 

“สมัยก่อนธุรกิจงานศพเฟื่องฟูมาก มีการเกื้อกูลกัน ทุกชุมชน ทุกสังคม ก็จะช่วยกันจัดงานศพ คนจีนจะรวมตัวกันเป็นสมาคม ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของสมาคมก็คือ ช่วยงานฌาปนกิจ แล้วองคาพยพต่างๆ ก็ต้องเกิดขึ้นมาเสริม เช่น กลุ่มที่รับหน้าที่เป็นวิทยากรหรือบริกรในงานศพก็ต้องเกิดขึ้น แล้วเขาก็จะใส่สูทกัน ร้านตัดสูทขายดีเทน้ำเทท่า”

ธุรกิจที่โอบล้อมพิธีกรรมความตายของชาวจีนนั้น อาจารย์สื่อยกตัวอย่างคร่าวๆ ผ่านภาพในความทรงจำ เช่น ธุรกิจภัตตาคาร กระดาษเงินกระดาษทอง บริกรในงานศพ ข้าวต้มงานศพ ธุรกิจตัดสูทที่ผูกพันกับสมาคม ธุรกิจรถบริการทัศนาจร คนแบกโลงศพ คณะกงเต๊ก ร้านโลงจีน 

ก่อนโควิด บางธุรกิจเรียกได้ว่าหืดขึ้นคอ บางธุรกิจต้องล้มหายตายจาก บางธุรกิจต้องปรับตัวแข่งกับยุคสมัย …แต่เมื่อโควิดมาถึง หลายธุรกิจที่กำลังกัดฟันสู้ ต้องทยอยปิดกิจการไปไม่น้อย อีกทั้งรูปแบบงานศพก็ถูกลดทอนรายละเอียดลงไปมาก จะเหลือก็เพียงธุรกิจ ‘ดอกไม้งานศพ’ ที่อาจารย์สื่อมองว่า อยู่รอดและกำลังเติบโต

“บางธุรกิจก็ปรับตัวในลักษณะของ one stop service กลายเป็น organization เจ้าเดียวเลย ถ้าใครตายปุ๊บ บอกเขา เขาจัดการให้หมดเลย ยกตัวอย่าง ร้านโลงศพสุริยาที่มีชื่อเสียง เขาก็ปรับตัวเป็น one stop service ถ้ามีใครตายปุ๊บ เขาเหมาดูแลให้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายน้ำเลย 

“ทุกวันนี้นะ พูดกันตามตรง คนที่ตายเพราะโควิดนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง มันอยู่ในระยะช็อก แต่ถ้าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น หมายถึงว่าทุกคนเข้าถึงวัคซีน มีภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว ผมเชื่อว่าการเยียวยาผู้สูญเสีย และการรวมตัวกันของสมาชิกครอบครัวเพื่อแสดงความอาลัย ก็จะถูกรื้อฟื้นกลับคืนมา” อาจารย์สื่อทิ้งท้าย

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า