หว่องๆ เหงาๆ ความเศร้าของเศรษฐกิจแถวหน้ารามฯ

ท่ามกลางเสียงก่อสร้างโครมคราม น่าแปลกที่เขาบอกว่า “หน้ารามฯ เงียบมาก”

เงียบจนอาจได้ยินเสียงถอนหายใจของพ่อค้าแม่ขาย

ในช่วงที่ทุกคนต่างเอาตัวรอดจากพิษเศรษฐกิจ ดูเผินๆ ที่นี่ยังคงคึกคักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่เมื่อพิจารณาดีๆ กลับพบว่ามีน้อยนักที่ล้วงเงินออกจากกระเป๋า

พ่อค้าแม่ค้าและผู้ให้บริการที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาสร้างเนื้อสร้างตัวในเมืองต่างมีรายได้ลดลงไปตามๆ กัน สวนทางกับค่าครองชีพที่ยังคงสูงและการถูกไล่ที่ทำกินสำหรับร้านหาบเร่แผงลอย ในบรรยากาศที่ทุกคนถูกบีบให้ ‘เสียสละ’ รับสภาพการจราจรอันวิกฤติจนต้องร้องขอชีวิต จนกว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จ

วริษา วัฒนานุพันธ์ (อ้อม) พนักงานร้านขายตุ๊กตา

สาวใต้จากจังหวัดนครศรีธรรมราช พนักงานร้านขายตุ๊กตาบริเวณปากซอยรามคำแหง 53 เดินทางขึ้นมาทำงานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากคนแถวบ้านชักชวนมาบอกว่าเศรษฐกิจที่กรุงเทพฯ ดี 

อ้อมเล่าด้วยสำเนียงทองแดงตามประสาสาวเมืองคอนว่า ก่อนหน้านี้เจ้าของร้านชาวเกาหลีตั้งใจเปิดเป็นร้านตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ ซึ่งนำเข้าตุ๊กตาบางส่วนจากเกาหลีด้วย เมื่อมีคนชักชวนให้เปลี่ยนงานใหม่ เธอจึงขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นพนักงานร้านนี้ พอดีกับช่วงที่มีข่าวว่าตู้คีบตุ๊กตาหยอดเหรียญนั้นผิดกฎหมาย เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478  ทำให้เจ้าของร้านต้องปรับจากร้านตู้คีบตุ๊กตา เป็นร้านขายตุ๊กตาธรรมดาแทน ระหว่างที่ร้านอยู่ในช่วงปรับปรุงทำให้เธอว่างงานราว 2 เดือน แต่หลังจากเปิดร้านแล้วก็ไม่ได้ดีเหมือนที่คาด

“บางวันขายได้ตัวนึง ร้อยนึงค่ะ วันนี้ยังไม่ได้สักตัวเลย”

เธอพูดอย่างท้อใจ ในแต่ละวันมีคนแวะเวียนเข้ามาในร้านอยู่บ้าง แต่ก็เพียงแค่มองแล้วเดินจากไป

เนื่องจากเพิ่งเปิดร้าน อ้อมจึงยังไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากยอดขาย มีเพียงเงินเดือนที่พอหล่อเลี้ยงให้อยู่รอด

“กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายแพงกว่านครฯ ของที่นี่แพงทุกอย่าง อย่างค่าเช่าหอ รวมค่าน้ำ-ไฟ ประมาณสามพันห้า เราขึ้นมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจดีแล้วก็งานเยอะ แต่พอขึ้นมามันก็ไม่เหมือนที่คิดไว้” 

หลังจากรอโดยไม่ได้เงินเดือนราว 2 เดือน ในตอนนี้ถึงแม้ว่าเธอจะมีรายได้แน่นอนแล้ว แต่ถ้าคนยังเข้าร้านน้อยและขายของได้เพียงชิ้นสองชิ้นแบบนี้ทุกวัน ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าความแน่นอนนี้จะอยู่กับเธอไปอีกนานแค่ไหน 

อยากบอกอะไรกับคนแถวบ้านที่เคยแนะนำให้มาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะบอกว่าเศรษฐกิจดี

“คุณเปลี่ยนความคิดใหม่เถอะ” 

ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจะทำยังไง 

“ก็กลับบ้านค่ะ เพราะบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ประหยัดไปหลายๆ เรื่อง อย่างยาสีฟันเราก็ไม่ต้องซื้อ พ่อกับแม่ซื้อ เราได้เงินเดือนหมื่นนึง เราก็เหลือทั้งหมื่นนึงค่ะ แต่ถ้าเป็นกรุงเทพฯ ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน โอ๊ย เยอะแยะ ต้องจ่ายหมด”

ซูวารี เจ๊ะอารง (บังซู) ขับวินมอเตอร์ไซค์

บังซูเคยกรีดยางอยู่ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส แต่อพยพมาอยู่กรุงเทพฯ พร้อมภรรยาจากอำเภอตากใบ สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อหวังว่าชีวิตครอบครัวจะดีขึ้น

“มาขับวินฯ ได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็พออยู่ได้ รายได้ไม่มากเท่าไหร่”

ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานที่มาเลเซีย แต่ก็เจอปัญหาค่าเงินตก บังกลับมาทำอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ประเทศไทยได้ 3 ปี ก่อนจะย้ายมาขับวินฯ ที่ปากซอยรามคำแหง 51/2 

บ้านของบังซูมีสวนยาง แต่ช่วงหลังมานี้ราคายางตกลงมาก กรีดยางอย่างเดียวไม่พอใช้ และแถวบ้านก็หางานอย่างอื่นทำได้ยาก เขาจึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ กับครอบครัว ทำอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่นานๆ ครั้งจึงจะมีลูกค้ามาใช้บริการ

“มีลูกค้าขึ้นบ้างแต่ไม่มาก รายได้วันหนึ่งประมาณ 400-600 บาท ได้เงินดีก็จริง แต่ต้องหักค่าน้ำมัน ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์อีก” 

บังซูบอกว่าเขาเช่าบ้านเดือนละ 3,000 ผ่อนรถอีกเกือบๆ 3,000 เช่นกัน ยังไม่รวมค่าเสื้อวินฯ และค่าน้ำมัน ตกแล้วเหลือใช้ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน บังซูบอกผ่านเราว่า

“อยากให้เศรษฐกิจทางใต้ดีขึ้น อยากให้ยางมีราคา ก่อนหน้านี้ผมมีสวนยาง ถ้าอยู่บ้านก็ได้กรีดยางอยู่บ้าน ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน…ผมอยากให้รัฐบาลแก้ไขเร็วๆ”

พิมลมาศ อินทร์บุรี  (อึ่ง) เจ้าของร้านดอกไม้

ลึกเข้าไปในซอยท่าเรือรามคำแหง มีร้านค้าตั้งอยู่เป็นระยะ ทั้งของกินของใช้ ของสดของแห้ง คนเดินผ่านเข้าออกเกือบตลอดทั้งวัน รวมถึงร้านขายดอกไม้นี้ด้วย

ปกติแล้วร้านดอกไม้มักขายดีอยู่ไม่กี่วัน เช่น วันโกน วันพระ แต่สำหรับปีนี้ อึ่งบอกว่าถึงขายได้ดีก็ยังดีไม่เท่าเดิม เหมือนเมื่อปี 2557 ที่เริ่มเปิดร้าน 

“ช่วงนี้แม่ค้าทุกคนพูดเหมือนกันเลยว่าเงียบ ช่วงนี้หน้ารามฯ เงียบค่ะ เงียบจริงๆ” 

รถไฟฟ้าใต้ดินที่กำลังสร้างและการจัดระเบียบทางเท้าที่ยกเลิกการขายริมฟุตบาธ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเดินหน้ารามฯ น้อยลง เพราะการเดินทางไม่สะดวก อีกทั้งร้านค้าแผงลอยก็มีไม่มากเท่าเดิม

28 พฤศจิกายน 2559 คือเส้นตายจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอยและคืนทางเท้าให้กับประชาชน แม้จะมีการเยียวยาด้วยการเสนอพื้นที่ขายให้ใหม่ แต่ย่านนี้ก็เงียบเหงาไปถนัดตา จากเดิมคึกคักถึงเที่ยงคืน ตอนนี้คนซาตั้งแต่ 3-4 ทุ่ม จนอึ่งแซวว่า “เหมือนป่าช้าเล็กน้อย” 

ถึงจะมีคนพลุกพล่านเพราะเป็นซอยหอพักและเป็นจุดเชื่อมต่อเรือและรถ แต่ใช่ว่าคนจะออกมาจับจ่ายซื้อของเหมือนเมื่อก่อน 

“คนประหยัดค่าใช้จ่ายกัน เงินเดือนขึ้นก็จริง แต่ค่าครองชีพก็ขึ้นด้วย บางทีค่าครองชีพขึ้นเยอะกว่าเงินเดือนที่ขึ้นให้อีก”

เธอบอกว่าโชคดีที่ตัวเองไม่มีหนี้สินจึงยังพออยู่ได้ แต่ไม่ถึงกับมีเงินเก็บ และวิจารณ์ว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐที่ออกมานั้น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการออกบัตรผู้มีรายได้น้อย (บัตรคนจน) หรือการแจกเงินให้ประชาชนไปท่องเที่ยว รวมไปถึงการจัดระเบียบทางเท้าเพื่อความสงบแบบ ‘คสช.’ ที่สงบเงียบจนไม่ได้ขายของ

“คุณลองเข้ามาถามรากหญ้าสิว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากอะไร” ซึ่งอึ่งบอกว่าไม่เคยมีใครมาถาม เวลาออกข่าวเศรษฐกิจดีขึ้นก็ไม่เข้าใจว่าเขาเอาอะไรมาวัดว่าดีขึ้น

ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ผลประโยชน์แล้วมาต่อว่า แต่ถ้าอยากบริหาร ก็อยากให้เขาลงพื้นที่ดูว่าปัจจุบันความเป็นอยู่ของแต่ละคน แต่ละอาชีพ แต่ละพื้นที่เป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่เอามาตรฐานตัวเองมาวัด”

ยงยศ มิ่งขวัญ เจ้าของร้านต้มเลือดหมู

อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเปิดร้านต้มเลือดหมูอยู่ตรงข้ามรั้วมหา’ลัย มากว่า 20 ปีแล้ว หากจะบอกว่าเป็นคนในพื้นที่ก็คงไม่ผิดนัก ด้วยระยะเวลาที่อยู่มานาน ย่อมทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริเวณนี้อย่างชัดเจน 

ยงยศเล่าถึงการเป็นพ่อค้าต้มเลือดหมูในอดีตที่เคยได้กำไรหลักหมื่นต่อวัน แต่ตอนนี้กลับมีรายได้ไม่แน่นอน แค่พยุงตัวอยู่ได้ และมีเงินไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดมาขายในวันถัดไป 

“ตอนนั้นมีผับ เธค เลิกตี 1 ตี 2 เราออกมาตั้งร้านตั้งแต่ 5 ทุ่ม ขายยาวรวดเดียวถึงสว่าง ตี 5 ก็เก็บร้าน” 

ปี 2558 คสช. มีคำสั่งคุมเข้ม ห้ามร้านเหล้า สถานบันเทิง เปิดกิจการใกล้สถานศึกษา ซึ่งก็คงเป็นเรื่องดีที่มีความห่วงใยกลัวนักศึกษาเมาหัวราน้ำ   

แต่แม้ยงยศจะไม่ได้ขายเหล้า หากแต่ร้านต้มเลือดหมูก็มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักศึกษาเช่นกัน ผลลัพธ์คือลูกค้าของเขาลดน้อยลง และต้องปรับเวลาตั้งร้านให้เร็วขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยตั้งร้าน 5 ทุ่ม ก็เริ่มตั้งแต่บ่ายสองโมง ช่วง 3-4 ทุ่มก็เริ่มเก็บร้าน เพราะไม่มีคนเดิน

“ยิ่งเดือนนี้เงียบมากเลย ตอนแรกนึกว่า ม.รามฯ เปิดเทอมแล้วจะมีคน แต่ก็ไม่มี ฝนตกนี่ยิ่งเงียบใหญ่เลย แต่ก่อนมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนี้” 

ไม่ใช่เพียงผลกระทบจากการปิดกิจการของสถานบันเทิงเท่านั้น ที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าย่านหน้ารามฯ กำไรหดหาย แต่ยังมีผลกระทบจากสิ่งอื่นๆ ด้วย ทั้งการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม 

“ตอนนี้มีสร้างรถไฟใต้ดิน รถติดขึ้น คนก็เลี่ยงเส้นทาง เศรษฐกิจไม่ดีคนก็ใช้เงินน้อยลง แล้วทางเท้าก็โดนยกเลิกไป จากที่เคยมีของขายตลอดแนว ก็ไม่มีคนมาขาย คนซื้อก็เลยไม่มี เมื่อก่อนมายืนแบบนี้ไม่ได้นะ เกะกะ แต่ตอนนี้ยืนได้สบายๆ เลยค่ะ” 

แม่ค้าร้านยำมะม่วงที่ยืนร่วมวงสนทนาอยู่ด้วยพูดกับเราที่กำลังยืนสัมภาษณ์พวกเขาอยู่บริเวณทางเดินที่คนเดินสวนกันไปมาได้อย่างคล่องตัว 

“แต่ก่อนทางเดินตรงนี้มีของขายข้างหน้า หิวๆ ก็ซื้อของกิน พอไม่มีคนก็ไม่ค่อยมาเดิน

ตอนนี้หน้ารามฯ เงียบมากเหมือนเป็นตำนานไปแล้ว…

เราคิดว่ามันเกี่ยวกับการนโยบายระดับประเทศ เพราะว่าเป็นกันหมด ไม่ได้เป็นแค่ร้านเราร้านเดียว เพื่อนพ่อค้าแม่ค้าที่อื่นก็พูดเหมือนกัน”

Photographer

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า