เมื่อโลกหมุนไป ความเชื่อ ความคิด ความเข้าใจของมนุษย์ ย่อมหมุนตาม
เวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วยเจือจางความเข้มข้นของมุมมองสุดโต่งที่มีต่อเรื่องเพศให้น้อยลง มนุษย์เริ่มเรียนรู้คำว่า ‘ความหลากหลาย’ ประตูเฉดสีทางเพศเริ่มเปิดกว้างขึ้น จนในที่สุดเราก็ไม่ได้รู้จักแค่เพียงเพศชายและเพศหญิงอีกต่อไปแล้ว แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ‘เรื่องเพศ-ความเป็นชายและหญิง’ ยังคงเป็น topic ที่อ่อนไหว และเมื่อเราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันครั้งใด ก็มักเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างคู่สนทนาอยู่เสมอ
นี่จึงเป็นที่มาของเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง ‘Gender & Creative Industries in Thailand: Exploring the Issues’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงาน ‘Gender in Southeast Asian Art Histories and Visual Cultures: Art, Design & Canon-making?’ ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2562 โดย CommMa, หลักสูตรปริญญาโทด้าน Communication Design (International Programme) คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีจุดประสงค์เพื่อชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาศิลปะและงานออกแบบ ‘เรื่องเพศสภาวะ’ ผ่านทั้งนิทรรศการ (exhibition) สัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshops) ภาพยนตร์ (film screening) และ การบรรยาย (lecture)
วิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้เป็นศิษย์เก่าของคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสังคมไทยประเทศ ได้แก่ รชพร ชูช่วย สถาปนิกหญิง ผู้ก่อตั้งและหัวเรือใหญ่ของสตูดิโอออกแบบ all(zone) และยังควบตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และแรงงานสำคัญในการผลักดันภาพยนตร์สารคดี และ ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบดีไซน์ ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ Conceptual Design เจ้าของสตูดิโอ 56th Studio
เมื่อเรื่องเพศเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่คงไม่ผิดที่จะเรียนรู้ความอ่อนไหวนี้
ชวนสวมแว่นตาแห่งเพศและสำรวจความจริงดูว่า ในเรื่องอ่อนไหวนี้ มีเพศใดพิเศษกว่าเพศใดหรือไม่
จากประสบการณ์ตรงของ 3 นักสร้างสรรค์ ผ่าน 3 คำถาม 3 คำตอบ 3 แง่มุม ของสถาปนิกหญิง, หญิงแกร่งผู้ก่อตั้ง Documentary Club และนักออกแบบที่นิยามตนว่าเป็นเกย์
หากพิจารณาลงไปในอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ ‘เพศสภาวะ’ มีผลอย่างไร
รชพร ชูช่วย: อาชีพที่กำลังทำอยู่ มีทั้งการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สถาปนิก และพนักงานออฟฟิศ โดยกิจกรรมในแต่ละวัน ถ้าไม่สอนหนังสือก็จะต้องเข้าออฟฟิศ ตรวจงานออกแบบ ออกไปประชุมกับลูกค้าทั่วๆ ไป แต่มีหนึ่งกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์กับเพศสภาพ คือ การลงพื้นที่ไซต์ก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะพบสายตาที่แปลกใจของคนรอบข้าง เนื่องจากเพศหญิง เป็นเพศที่มักไม่โดนคาดหวังให้ทำกิจกรรมนี้
ในความรู้สึกเราไม่มีปัญหาเรื่องเพศอะไรในการทำงาน แต่มีอย่างเดียว นั่นคือ การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม มีบางครั้งที่ใส่รองเท้าส้นสูงและกระโปรงไปลงพื้นที่
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์: งานหลักของเรา คือการคัดเลือกหนังสารคดีเข้ามาฉายในโรงหรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ถามว่าการเป็นเพศหญิงมีผลกระทบอย่างไรกับอาชีพที่ทำ อาจไม่ได้มีผลกระทบในแง่ความเป็นอุปสรรคหรือความยากลำบากแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบจนรู้สึกได้ คือด้านวิถี หรือการดำเนินชีวิตมากกว่า เพราะเราเป็นแม่ มีลูกต้องดูแล
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ‘การค้นหาวิธีการทำงานให้สมดุลกับเพศสภาวะให้ได้’ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เปลี่ยนมาทำงานในระบบโฮมออฟฟิศ จึงใช้ชีวิตทำงานและชีวิตมนุษย์แม่ได้ง่ายขึ้น ได้ทำสองหน้าที่ (ที่ต้องทำ) ไปพร้อมๆ กัน
ศรัณย์ เย็นปัญญา: ทุกวันนี้ทำงานออกแบบหลายด้าน ทั้งงานเฟอร์นิเจอร์ งานภาพ โมชั่นกราฟิก จึงสรุปเรียกงานที่ทำว่า storytelling ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์ของการสื่อสาร หรือ communicate design
ถ้าถามว่าแล้วการเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เกี่ยวข้องอะไรกับงานที่ทำ เราคิดว่าการกระโดดไปมาของเพศเรา อาจเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำ
วัฒนธรรมในแต่ละแวดวงของอาชีพ มีภาพจำอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาวะ
รชพร ชูช่วย: ถ้าพูดถึงวงการสถาปนิก ตั้งแต่อดีตมาจนถึงไม่กี่ปีก่อน ตัวละครที่มักจะถูกยอมรับมักเป็นเพศชายเสมอ จนกระทั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีสถาปนิกหญิงหรือหญิงเดี่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และได้รับการยอมรับจนถึงขั้นได้รางวัลในระดับโลก
สอดคล้องกับสถานการณ์สถาปนิกในเมืองไทย พบว่าเป็นผู้หญิงค่อนข้างเยอะ อาจเป็นเพราะทุกอาชีพของคนไทยมีผู้หญิงทำเยอะอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เพียงสถาปนิกเท่านั้น ยกตัวอย่าง ในสังคมญี่ปุ่นที่ไปเคยไปเรียน ไม่มีอาจารย์ผู้หญิงเลย ถ้าเทียบสัดส่วนอาจารย์แค่ในจุฬาฯ มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเปอร์เซ็นต์
แต่ประเด็นหนึ่งที่รู้สึกอยู่เสมอคือ เราไม่เคยรู้สึกว่าเราเป็นสถาปนิกหญิง เรารู้สึกว่าเราเป็นสถาปนิกมากกว่า เราไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงทำให้เราทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์: สิ่งหนึ่งที่เพิ่งสังเกตในระยะหลังของการทำงาน ในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนคัดเลือกหนังสารคดี เราเห็นความสนใจของเราที่ส่วนหนึ่งมาจากเหตุแห่งเพศ เช่น การให้อำนาจกับชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ เราคิดว่าโหมดความคิดเรื่องความเท่าเทียม เรื่องผู้หญิงยังมีอยู่ ยังทำงานโดยที่ไม่รู้ตัว
และอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์แยกไม่ขาดกับประเด็นเพศสภาวะ คือ ปรากฏการณ์ #MeToo หรือในช่วงก่อนหน้านั้นประมาณ 3-4 ปี ที่วงการภาพยนตร์ในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เกิดขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้องถึงความเท่าเทียมให้ผู้หญิงในวงการคนทำหนัง ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบท ผู้กำกับ รวมไปถึงนักแสดง
นอกจากนี้ประเด็นที่หลายๆ คนสงสัยว่าทำไมผู้หญิงในวงการภาพยนตร์ถึงมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชาย โดยชายจะมากกว่าหญิง จะเกิดขึ้นเฉพาะภาพยนตร์กระแสหลักเท่านั้น
เนื่องจากการสำรวจทั่วโลกพบว่าแวดวงภาพยนตร์กระแสรองมักเจอตัวละครที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่ต่างกันในวงการภาพยนตร์เองด้วยหรือไม่ ที่เอื้อให้เพศบางเพศเหมาะสมกับบางพื้นที่ เพศบางเพศถูกจับไปไว้ในบางพื้นที่มากกว่า หรือเป็นเพราะวงการภาพยนตร์ถูกหั่นเป็นสองท่อน คือพาร์ทของการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการใช้แรงงาน ซึ่งผู้ชายมักจะถูกมองว่าต้องอยู่ในท่อนของแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็ต้องคุยกันอีกว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?
ศรัณย์ เย็นปัญญา: ถึงแม้ผมจะสาวสะพรั่งแค่ไหน แต่เมื่อทำงานผมก็ไม่เคยจั่วหัวว่า I’am a Gay. ไม่ได้รู้สึกว่าฉันคือนักออกแบบที่เป็นเกย์ เพราะเรารู้สึกว่าเพศมันไม่ได้มีผลหรือเพิ่ม/ลดความได้เปรียบเสียเปรียบ
ตัวผลงานสะท้อนตัวตนและเพศสภาวะของเราอย่างไร
ศรัณย์ เย็นปัญญา: ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ แม้สีสันของงานดีไซน์ของเราจะแจ่มจรัสสักแค่ไหน ซึ่งอาจจะไปสอดคล้องกับการมองกลุ่มคนที่เป็นเกย์อย่างเหมารวม ‘เกย์จะต้องชอบสีสัน’ แต่ผมไม่เคยยึดมันว่าจะใส่ความเป็นสีสันลงไปในทุกๆ งานที่เราทำ
แม้การเป็นเกย์จะถูกคาดหวังว่าจะทำงานให้มีสีสันสดใส ทำงานสนุกๆ แต่ในฐานะ design service เราทำแบบนั้นไม่ได้แน่นอน
รชพร ชูช่วย: เราไม่แน่ใจว่าเพราะความเป็นผู้หญิงหรือไม่ ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีความแตกต่างที่เห็นได้ในตัวงาน เช่น เราจะชอบเน้นการใช้ชีวิต อย่างการวางแผนผังในบ้าน เราจะรู้เลยว่าแบบนี้ถูบ้านไม่ได้ วางซิงค์แบบนี้ไม่ได้ เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจนสังเกตได้ รวมไปถึงการให้คำนึงถึงคนกลุ่มน้อย ในที่นี้อาจหมายถึงแม่บ้าน ถ้าเราสร้างตึกที่สวย ใหญ่ หรูหรา อลังการ แต่ไม่มีที่ให้พวกเขานั่งกินข้าว เก็บของ ที่ใช้งานได้จริง งานออกแบบนั้นคืองานที่ใช้ไม่ได้
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์: เพศอาจไม่ได้เป็นเงื่อนไขหรือเกณฑ์โดยตรงในแง่ของการเป็นผู้คัดเลือกหนังสารคดี แต่มันจะมีโดยตรงกับวัฒนธรรมของการทำหนังมากกว่า
จะมีคำพูดที่น่าจะเคยได้ยินกันมาบ่อยๆ ว่า ‘ถ้าอยากทำหนังที่ได้เงิน อย่าเลือกทำหนังที่ตลาดคนดูเป็นผู้หญิง’ ซึ่งเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ปัญหาจริงๆ คืออะไร เพราะผู้หญิงเป็นคนดูกลุ่มน้อย หรือเพราะเป็นผู้หญิง ขอบเขตเรื่องเล่าเลยแคบลง
แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ชุดความคิดเหล่านี้ในต่างประเทศกำลังค่อยๆ ทลายลง เพราะมีการพยายามนำเสนอให้ขยายไปถึงคนดูที่เป็นหญิงมากขึ้น ยกตัวอย่าง เรื่อง Super Women ที่ผู้กำกับเป็นผู้หญิง นักแสดงนำเป็นผู้หญิง ทำขึ้นมาเพื่อจงใจให้เห็นว่าต้องการขยายหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ผู้หญิงดูเพิ่มขึ้น ซึ่งมันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นทางวัฒนธรรมที่ถูกวิพากษ์หลายอย่าง เช่น ที่หนังประสบความสำเร็จเพราะเอาตัวละครผู้หญิงไปใส่บทบาทเรื่องราวที่มีความเป็นผู้ชาย
อีกประเด็นหนึ่งที่เพศส่งผลกระทบ จนตั้งเป็นคำถามได้ว่า ‘ทำไมผู้กำกับผู้หญิงในเมืองไทยจึงมีน้อย’ คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้มักเอียงไปในโทนเดียวกันว่า เพราะงานออกกองเป็นงานใช้แรงงาน ต่อให้คุณเป็นผู้กำกับก็หนีงานออกไปไม่ได้ ต้องแบกหาม ยกไฟ ยกของสารพัด ซึ่งในแง่หนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้อเท็จจริง
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ความเชื่อนี้มันยังไม่ได้ถูกอธิบายให้ชัดเจนว่า การทำงานหนังจำเป็นต้องใช้แรงงานหนัก หรือเพราะว่าวงการหนังเกิดขึ้นเพราะผู้ชาย จึงมีวัฒนธรรมการทำงานแบบผู้ชาย