Sexual Consent: เงียบไม่ได้แปลว่าอยาก เรื่องเซ็กส์ยิ่งต้องถามในสังคมชอบคาดเดา

แม้ความยินยอมหรือ consent จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่หลายๆ ครั้งมันก็ดูซับซ้อนพอๆ กับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ประโยคเชื้อเชิญอย่าง “รามยอน มอกโก คัลเร?” (라면 먹고 갈래?) ที่แปลว่า “ไปกินรามยอน (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กันไหม?” ของคนเกาหลี หรือ “ไปดู Netflix กันไหม?” ของคนในหลายๆ ประเทศ กลายเป็นประโยคคำถามที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร

แน่นอน เมื่อได้ยินเช่นนี้ หลายคนคงพอเข้าใจว่ามันมีความหมายโดยนัยว่าอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธได้ยากเช่นกันว่า ความหมายหรือเจตนาที่รับรู้กันนั้น ทุกอย่างอาจเกิดจากการ ‘คาดเดา’  

ความรู้สึก เอ๊ะ…ถามแบบนี้เขาชวนเราไปเย่อรึเปล่า หรือ เอ๊ะ…ถ้าใช่ แต่พอเราไปแล้ว ไม่สานต่อจะได้ไหม หรือเอ๊ะ…เขาหรือเราจะเข้าใจตรงกันไหมนะ และอีกหลายๆ เอ๊ะที่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจ เพราะยังหาความหมายหรือขอบเขตของ consent ที่ชัดเจนไม่ได้  

เมื่อ consent เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางขึ้น ทว่าในขณะเดียวกัน กลับยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย สังคมซึ่งมีรากฐานอยู่บนวัฒนธรรมของการเดา (guess culture) ไม่ใช่วัฒนธรรมของการถาม (ask culture) เมื่อ ‘การถาม’ เป็นสิ่งพื้นฐานของ consent ที่ปรากฏขึ้นในสังคมที่เน้นเรื่องการเดาเช่นนี้ มันจะเปลี่ยนแปลงความรับรู้ของสังคมไปมากแค่ไหน และจะมีหน้าตาออกมาในลักษณะใด

WAY สนทนากับ นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง จากเฟซบุ๊คเพจ Thaiconsent และ ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ นายใน เพื่อให้เข้าใจว่า consent ส่งผลอย่างไรในแง่ของความสัมพันธ์ ที่เรื่อง ‘บนเตียง’ ก็เกี่ยวโยงกับเรื่องอำนาจ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

คิดว่าแนวคิด consent (ความยินยอม) เริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน

นานา: จริงๆ ก่อนคำว่า consent sex สังคมเราจะคุ้นเคยกับ consent ทางกฎหมาย ด้านการแพทย์ เช่น หมอจะผ่าตัดก็ต้องกรอกแบบฟอร์มก่อน ถามว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็คือมีมานานแล้ว แต่การรณรงค์ในมิติเพศน่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา (อ้างอิงจากประวัติขององค์กร 11th Principle Consent [1])

ปกป้อง: ต่อจากนานาพูด ถ้าพูดถึงเรื่อง consent form ในความคิดเรา ความคิดนี้น่าจะเกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ายนาซีมีการทดลองวิจัยในมนุษย์ที่เป็นชาวยิว หรือคนชาติพันธ์ุอื่นๆ เยอะมาก โดยจับพวกเขามาทดลองอย่างไม่ได้ยินยอม และทดลองแบบไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ เช่น ทดลองว่าจะสามารถต้านทานแรงกดดันทางอากาศได้แค่ไหน โดยการปล่อยจากที่สูงระดับต่างๆ ศึกษาโรคมาลาเรีย ก็ให้คนติดโรคมาลาเรียจริง หรือจับแช่เยือกแข็ง เพื่อศึกษาเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากความเย็นจัด รวมทั้งงานวิจัยทดลองยาปฏิชีวนะของโครงการ The Tuskegee Syphilis Study (การวิจัยโรคซิฟิลิสทัสกีจี) ปี 1932-1972 ในสหรัฐอเมริกา ที่ทดลองกับคนดำฐานะยากจนเป็นเวลา 40 ปี โดยที่ผู้ถูกทดลองถูกปิดบังข้อมูลในการทดลอง จนมีหลายคนล้มเจ็บและตาย 

เหตุการณ์เหล่านี้ นำไปสู่การกำหนดจริยธรรมในการวิจัยในคนว่าจะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตราย ถ้าจะทำวิจัยในมนุษย์ จะต้องมีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร consent form ให้ผู้ร่วมวิจัยยอมเซ็นเพื่อปกป้องตัวเอง เช่น ผู้ที่จะถูกทำวิจัยมีสิทธิที่จะยุติกลางคันได้ ไม่ถูกบังคับหรือหลอกลวง หรือต้องได้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนจะทำวิจัยนั้นๆ เลยทำให้เรื่อง consent เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จนมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ และย้ายเข้ามาสู่โลกของมนุษยศาตร์ และสังคมศาสตร์ เพราะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มนุษย์ให้ความสำคัญกับมนุษยชาติมากขึ้น คนตระหนักรู้มากขึ้น ว่าถ้าคุณจะศึกษาหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับมนุษย์ ต้องคำนึงถึงความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของเขาด้วย

ความคิดการเคารพเนื้อตัวร่างกายขยายเข้าสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น ตัวอย่างในทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ในฝั่งอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องสิทธิ โดยเริ่มตั้งคำถามต่อความไม่เท่าเทียมของสังคม การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในเรื่องผิวสี ชนชั้น เพศ ความเท่าเทียมของการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ภายในรัฐ มันมีรายละเอียดมากขึ้นในความสำคัญของการเป็นคน 

ซึ่งเราคิดว่านี่คือหน่ออ่อน ที่ทำให้การยอมรับความเท่าเทียมทางเพศเกิดตอนนั้น และสังคมเริ่มยอมรับความเท่าเทียม เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้นในระยะหลัง

คอนเซ็ปต์ consent ถูกยกขึ้นมาพร้อมความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วยใช่ไหม?

นานา: ถ้าเรามองว่าการเมือง คือการบาลานซ์อำนาจ เรื่องบนเตียงคือการต่อรองระดับเล็กและใกล้ตัวที่สุด consent คือการตระหนักว่า เราสามารถสื่อสารกับคนข้างๆ เราได้อย่างตรงไปตรงมาขนาดไหน เรารู้สึกตัวลีบเล็กกว่าเขา หรือเรารู้สึกตัวเท่ากับเขา  นี่คือการเมืองในพื้นที่ส่วนตัวของเรา

ส่วนในระดับที่ทำงานหรือโรงเรียน ก็อย่างเช่น การรับน้อง คุณบอกนักศึกษาใหม่ก่อนไหมว่าไปแล้วจะเจออะไร ถ้ามีประสบการณ์ที่ไม่น่าสบายใจ เขามีสิทธิไม่เข้าร่วมโดยไม่ถูกบังคับ กดดันไหม หรือถ้าที่ทำงานจะมีนโยบายออกมาใหม่ ได้มีการบอก ถาม หรือทำประชาพิจารณ์กับคนในที่ทำงานหรือเปล่า

หรือระดับชาติจะแก้กฎหมายหนึ่งๆ มีการถาม มีขั้นตอนในการบอก และการรับผลตอบรับ (feedback) จากคนที่เกี่ยวข้องด้วยไหม ทั้งหมดเป็นเรื่อง consent หมดเลย คือมีขั้นตอนในการตัดสินใจร่วมกัน

ดังนั้นสำหรับเรา มันลิงค์กันหมดเรื่องอำนาจ เป็นเรื่องของวัฒนธรรมเลยว่า เราเคารพคนอื่นขนาดไหน หรือสังคมเราชอบเดา ชอบเอาใจ หรือชอบบังคับ

แสดงว่าการจะมีเซ็กส์แต่ละครั้ง ต้องขอก่อนตลอด?

นานา:  ไม่เชิงคำว่าขอ เป็นการถามไถ่หรือเช็คให้ชัวร์ว่าอีกฝ่าย ‘อยาก’ มีอะไรกับเราจริงๆ ไหม เพราะถ้ามีคนที่ต้องฝืน มันก็จะไม่แฮปปี้ ซึ่งการเอ่ยปากถาม ก็จะชัวร์ที่สุด แต่มันก็มีรายละเอียดด้วยว่าต้องไม่เกิดจากการบังคับ การกดดัน การตื๊อจนอีกฝ่ายปฏิเสธไม่สำเร็จ  

นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

ปกป้อง: สำหรับเรา เราว่ามันยากมากนะ เพราะการเป็นคนรัก หรือคู่รัก มันมีสภาวะของการมองข้ามรายละเอียดปลีกย่อยของคนรักเราไป ยิ่งคู่ที่อยู่ด้วยกันนานๆ ก็จะมีความคิดว่า ฉันจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งจิตสำนึกแบบนี้มันก็นำไปสู่ความรุนแรง การทุบตี ทะเลาะกัน และนำมาสู่เรื่องเซ็กส์ที่ไม่ยินยอม 

สำหรับบางคู่จะมีเซ็กส์ทีเขาก็แค่สะกิด ฟุดฟิดๆ ปูไต่เราแค่นั้น แต่กลับกันมันก็มีคู่ หรือคนที่มีสำนึกว่า ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก เล้าโลมหน่อยเดี๋ยวเขาก็โอเคเอง ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าเรายินยอม แต่ก็ต้องยอม เพราะกลัวความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น จนความสัมพันธ์กลายเป็น ‘ตัวประกัน’ ที่ถ้าฉันไม่ทำ อีกฝ่ายจะไม่ยอม จะไปนอกใจ หรือมีกิ๊ก มันก็ไม่ต่างกับการใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิดในการข่มขู่ให้เรามีเซ็กส์ด้วย 

รวมไปถึงการที่คนหนึ่งรู้สึกเจ็บ หรือบอกให้เบา มันก็มีคำพูดว่า ทนอีกนิด อย่างเกร็งเดี๋ยวเจ็บ การที่เราบอกแบบนี้กับการเกร็งที่เป็นปฏิกิริยาร่างกายมนุษย์ มันก็เหมือนเป็นการโยนความรับผิดชอบบางประการให้ผู้ถูกกระทำ มากกว่าผู้ที่มาสอดใส่ ดังนั้นต้องคำนึงถึงจิตใจผู้ที่ถูกสอดใส่ด้วย เราคิดว่ามันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก ที่เจ้าของเนื้อตัวร่างกายกับคู่ ต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด และใส่ใจกันมากขึ้น

อย่างนี้ consent เป็นเรื่องสัญญาหรือข้อผูกมัดได้เลยหรือเปล่า?

นานา: ไม่ได้และไม่ควรเป็นด้วย เพราะ consent ทำไปกลางทางแล้วเราสามารถเปลี่ยนใจได้ ถ้าเราไปตีความว่า มันเป็นสัญญา เป็นข้อผูกมัด ทำแล้วบังคับใช้ไปจนทำเสร็จ อันนี้คือหลักเรื่องเปลี่ยนใจกลางทางได้มันจะหายไป 

ซึ่งความสัมพันธ์มีการสร้างความตั้งใจร่วมกันได้ (commitment) แต่ชีวิตคน ความสัมพันธ์ของคน ต้องปรับเปลี่ยนไปได้ตามจังหวะชีวิต ไม่ใช่การซื้อขาดมีกรรมสิทธิ์ในชีวิต ร่างกาย ความคิด ของอีกฝ่าย ต่อให้แต่งงานกัน คุณจะซื้อขาดชีวิตคู่คุณไม่ได้ สังคมเราเลยมีเรื่องการหย่า การเลิก การแยกทาง มันเป็นทางเลือกทางหนึ่งของความสัมพันธ์ 

แล้วการมี consent ช่วยเรื่องความสัมพันธ์อย่างไร?

นานา: มันทำให้คนทุกฝ่าย เป็นฝ่ายทำทั้งคู่ ไม่ใช่คนนึงทำ คนนึงรับ มันคือการปรับฐานอำนาจให้เท่ากัน ว่าเราสมัครใจที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งพอเป็นการทำร่วมแล้วเนี่ย ก็จะไม่เกิดภาวะ ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ให้และผู้รับ มันควรจะเป็นการเอ็นจอยร่วมกัน

ถ้าเซ็กส์ถูกแบ่งเป็นฝ่ายกระทำ และฝ่ายถูกกระทำตลอด ในระยะยาวจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เฮลท์ตี้ (healthy)

การไม่ขอ consent ส่งผลต่อความสัมพันธ์อย่างไร แล้วสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

ปกป้อง: มีกรณีนักศึกษาชายกับแฟน ที่แฟนเขาไม่อยากมีอะไรด้วย แล้วเขาก็ให้แฟนใช้ยา ใช้สารเสพติดให้เคลิ้มแล้วมีอะไรกัน แต่พอเลิกกัน นักศึกษาชายคนนั้นก็มาปรึกษาเราว่าทำอย่างไรดี เขารู้สึกผิดมาก เพราะตอนนั้นเขาไม่รู้ว่านี่คือการล่วงละเมิดทางเพศ เขาไปขอความช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษากับใครก็ไม่มีใครช่วย เพราะทุกคนคิดว่าเขาผิด และคิดว่าเขาควรตระหนักได้ตั้งแต่แรก 

พอเป็นแบบนี้มันจะหาอะไรมาเยียวยาจิตใจผู้ที่กระทำความผิด เขาอยากได้ความรู้หรือเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้กระทำซ้ำอีก แต่ไม่มีที่ไหนเปิดรับเขา ซึ่งมันเป็นปัญหามาก เพราะไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐานร่วมกันในสังคม ก็เลยทำให้เขาต้องไปมะงุมมะงาหรา หาทางของเขาเอง ทั้งคนทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งตอนนี้เขาก็มีสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่มาก เพราะตระหนักได้ว่าตัวเองทำผิด

นานา: การไม่ถาม consent มันนำไปสู่การคาดเดา ซึ่งมีโอกาสที่จะเดาผิด คิดเข้าข้างตัวเอง กลายเป็นว่าเราก็จะมีโอกาสเป็นผู้ละเมิดไปด้วย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

หลายคนเป็นผู้กระทำเพราะถูกสอนมาผิดๆ จากค่านิยมในสังคม เช่น เชื่อว่า “ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก” หรือเชื่อว่า “ถ้าอีกฝ่ายนิ่ง ไม่ขัดขืน คือยอมแล้ว และอาจจะมีอารมณ์ร่วมในภายหลัง” ทั้งที่การนิ่ง มันอาจเป็นไปได้ว่ามาจากความกลัว เป็นความอ่อนล้าที่จะปฏิเสธ เป็นความสิ้นหวังที่เอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นๆ ไม่ได้

แล้วถ้าเรามาคิดดีๆ เวลาอีกฝ่ายนิ่ง ไม่ร่วมมีอะไรไปกับเรา มันก็คือการสำเร็จความใคร่โดยใช้ร่างกายอีกฝ่าย เราไม่รู้จะเรียกสิ่งนี้ว่าเพศสัมพันธ์ได้หรือเปล่าด้วยซ้ำ ถ้ามีคนกระทำฝ่ายเดียว 

พอถูกสอนมาผิดๆ เชื่อว่าการ ‘ไม่ยอม’ คือต้องมีการต่อสู้ ต้องกรี๊ด หรือร้องให้คนช่วย

สังคมที่ไม่เข้าใจ consent ก็จะโทษคนที่ปฏิเสธไม่สำเร็จ ว่าเธอปกป้องตัวเองได้ไม่ดีพอ หรือซ้ำร้ายก็อาจซ้ำเติมว่า แล้วจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นทำไมแต่แรก ซึ่งตามหลักแล้ว เพศสัมพันธ์เนี่ย ถ้ามันไม่เอ็นจอยก็ควรหยุดได้ตลอด ไม่ควรมีใครต้องถูกบังคับในเรื่องนี้ 

พอสังคมเราตีความว่า ‘ไม่สู้ = ยอม’ มาตั้งแต่แรก ก็จะตีความผิดไปหมดเลย โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกระทำไม่ได้เป็น ‘เหยื่อในอุดมคติ’ (perfect victim) คือไม่ได้น่าสงสารพอ ไม่ได้เป็นกุลสตรีพอ ไม่ได้เรียบร้อยพอสำหรับสายตาคนอื่น

หรือที่แย่กว่านั้นคือการเอาคนไปเทียบกับสินทรัพย์ เวลามีคนออกมาพูด ออกมาเล่าเรื่อง ก็จะเจอวาทกรรมแบบ “บ้านไม่ได้ล็อค โจรมาปล้น เจ้าของบ้านผิดไหม / วางโน้ตบุ๊คแล้วลุกไปเข้าห้องน้ำ แล้วคนขโมยไป มันก็เป็นเพราะความประมาทร่วมไหม”

แนวคิดพวกนี้มันเกิดจากการเทียบมนุษย์เป็นทรัพย์สิน (asset) แล้วโลกเราที่ผ่านมาก็ไปป้องกันเรื่องพวกนี้ โดยการไปหาอะไรมาล็อคจิ๋มให้ปลอดภัย เช่น ต้องแต่งตัวมิดชิด ติด GPS ติดกล้องวงจรปิด โดยลืมไปว่า ‘คน’ ไม่ใช่สิ่งของ 

ซึ่งถ้าโลกเราใส่ใจการแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ มันต้องไปคิดว่าอะไรทำให้คนละเมิด อะไรอนุญาตให้ใครสักคนเกิดความคิดว่า “เราทำอย่างนี้กับอีกคนหนึ่งได้ ทำแล้วไม่เป็นไรหรอก” 

เอาจริงการละเมิดไม่ได้เกิดจากคนหนึ่งอยู่ๆ ก็เกิดมาเป็นคนเลว แต่มันเกิดจากการเรียนรู้จากสังคม จากสื่อ จากเพื่อนฝูง จากวัฒนธรรม ว่าที่ผ่านมามีคนทำมาก่อนเราแล้วพวกเขาก็สบายดี ความคิดพวกนี้มันถูกอนุญาตให้เกิดขึ้นโดยสังคม แต่คนไม่ค่อยมองในแง่นี้ ไปมองเป็นเรื่องส่วนตัวกัน

อะไรที่จะช่วยให้เราหรือสังคมเข้าใจ consent มากขึ้น

นานา: มันมีวิธีการสร้างความเข้าใจหลายระดับ ระดับการศึกษาของภาครัฐ หรือว่าจะระดับกฎหมาย แต่ระดับสังคมใกล้ตัวที่สุด เพราะที่ผ่านมา คนเราเรียนเรื่องเซ็กส์จากเพื่อน จากสื่อ มากกว่าจากการศึกษาที่เป็นทางการ เพราะการศึกษาที่เป็นทางการก็หัวโบราณและปิดกั้นมาก

แต่ข้อเสียของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง คือ สังคมเราก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนมี media literacy (การวิเคราะห์และเข้าใจสื่อ) เราเคยเห็นคนบอกว่า “เรียนรู้เรื่องเซ็กส์จากหนังโป๊” แล้วยึดสิ่งที่เห็นจากหนังโป๊มาเป็นบรรทัดฐานในชีวิตจริง อันนี้ก็เกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีก เพราะเซ็กส์ในชีวิตจริงต่างจากในหนังมาก

อีกอย่างสื่อกระแสหลักก็ยังอยู่ในกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ หรือยึดติดกับระบอบเพศสองขั้ว (Gender Binary ที่กำหนดว่าผู้ชายต้องเป็นอย่างนั้น ผู้หญิงต้องเป็นอย่างนี้) รวมไปถึงค่านิยมเรื่องความรักของสังคมเรา ที่เชิดชูการเดาใจกันและกัน มากกว่าจะสื่อสารกัน 

พอไม่ค่อยมีเรื่อง media literacy เอาความแฟนตาซีในสื่อมาใช้ในชีวิตจริง หรือคาดหวังว่าชีวิตจริงจะแฟนตาซีเหมือนในสื่อ ก็เกิดปัญหาตามมา เพราะเราเริ่มบังคับให้อีกฝ่ายเป็นไปตามที่เราต้องการ

เหมือนในหนังหลายๆ เรื่อง หรือแม้แต่หนังฮอลลีวูดที่ปรากฏการขอ consent น้อยมาก อย่างนี้ไหม?

นานา: ที่จริง สื่อ หนัง ซีรีส์ มันก็มีหลายจุดประสงค์ในการสร้าง บางสื่อสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนได้พักจากความเครียดในชีวิตจริง มันก็แฟนตาซีได้ แต่อุตสาหกรรมสื่อเองก็ไม่ควรจะมีแต่สื่อประเภทนี้ ควรมีสื่อที่เนื้อหาหลากหลายมาให้เลือกเสพด้วย

ซีรีส์ที่ฉายผ่าน Netflix ที่จริงแม้ไม่มีการขอ consent แต่เราจะเจอฉากที่ ผู้หญิงเมา ผู้ชายพาไปนอน แล้วให้นอนหลับพักผ่อนจริงๆ มากกว่าเมื่อก่อน

สื่อก็สร้างขึ้นมาเพื่อความแฟนตาซีแหละ แต่ในขณะเดียวกัน สังคมก็ต้องพัฒนา  media literacy ไปด้วย ไม่ใช่เห็นอะไรเชื่อหมด ซึ่งอันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ละคร แต่หมายถึงทั้งกับ propaganda ของรัฐ ของทุนนิยม หรือของกรอบเพศ

เป็นหน้าที่ของสังคมในการสร้างความขี้สงสัย แยกแยะได้ว่าอะไรแฟนตาซี อะไรที่เป็นชีวิตจริง อะไรที่ในหนังทำได้ แต่กับคนจริงทำไม่ได้ แล้วก็ตั้งคำถามกับค่านิยมไปด้วย 

การที่บอกให้พูดว่า “ไม่” หรือ “ได้” เพื่อแสดงความต้องการของตัวเองกับคู่ อาจฟังดูง่าย แต่พอทำจริงๆ สำหรับบางคนมันยาก คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่กดทับความรู้สึกนี้อยู่

นานา:  มันเริ่มมาตั้งแต่ในโรงเรียน หลายคนมีวัยเด็กที่ไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิดได้ ไม่ว่าจะกับครูหรือครอบครัว การโตมาพร้อมความรู้สึกว่าถูกจับผิดตลอดเวลาทำให้เราไม่มีโอกาสได้ตั้งคำถามถึง identity (ตัวตน) ของตนเอง 

ในชีวิตเราจะมีโอกาสน้อยมากที่ได้มาทบทวนว่า “เราเป็นใคร ต้องการหรือไม่ต้องการอะไร” ส่วนมากเราถูกหล่อหลอมให้ถามว่า “เราเป็นใคร เพื่อเอาใจใคร” 

ดังนั้นเราเลยเกรงใจกันเก่งมาก เมื่อรวมไปกับค่านิยมที่เชื่อว่า “ต้องมีคนมาเติมเต็มชีวิต” มันเลยเหมือนเราผลักภาระให้การดำรงอยู่ของเราไปขึ้นอยู่กับคนอีกคนหนึ่ง เราจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอีกฝ่ายมารองรับการมีตัวตนของเรา คือสังคมมันไม่เกื้อหนุนให้คนเป็น individual (ปัจเจก) เราต้องเป็นอะไรสักอย่างของใครสักคน เราถึงจะรู้สึกมีคุณค่า

ปกป้อง: ใช่ มันมีคนที่ไม่อยากอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดใจ เลยเลือกยอม เพื่อทำให้สถานการณ์ไม่แย่ ไม่อึดอัด เพราะถ้าปฏิเสธก็อาจมองหน้าไม่ติด ยิ่งเป็นเรื่องเซ็กส์ มันไม่เหมือนการปฏิเสธเรื่องอื่น มันคือการรักษาหน้าเราหน้าเขา มันมีความกังวลใจเรื่องนี้ด้วย เลยทำให้หลายคนเลือกยอม ซึ่งเราคิดว่าการแสดงออก เป็นเรื่องการปลดปล่อยมากกว่า ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่สังคมขี้เกรงใจแบบนี้เลยทำให้มันน่าอาย

การถาม consent เป็นเรื่องวัฒนธรรม ที่คนในสังคมต้องทำเลยไหม

นานา:

เราว่าวัฒนธรรมตอนนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ คือการตีความเข้าข้างตัวเองไว้ก่อน จนกว่าอีกฝ่ายจะเถียงออกมาแรงๆ คือมีความคิดว่า ความเงียบแปลว่าอยากแต่อายที่จะแสดงออก แต่วัฒนธรรมที่ควรจะเป็นคือ การทำให้เราชัวร์ว่าเขาโอเคจริงๆ มันคือเปลี่ยนจากการเข้าข้างตัวเอง เป็นการรับรู้ความต้องการอีกฝ่ายมากกว่า จะด้วยการถาม หรืออะไรก็ได้ โดยที่ไม่คิดเองเออเอง หรือมโน

ปกป้อง: เราว่ามันเหมือนสำนึกร่วมกันทางสังคม ที่เราจะเอามาใช้กับการมีเซ็กส์ หรือจะปฏิบัติกับมนุษย์คนหนึ่ง เป็นการตระหนักว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน กับคนอื่นที่ในฐานะมนุษย์ที่มีเนื้อตัว ร่างกาย จิตใจเหมือนกัน 

แน่นอนว่าในสังคมพอเป็นเรื่องเซ็กส์แล้ว ย่อมมีคนที่ไม่อยากให้พูดหรือถาม consent เพราะจะ ‘หมดอารมณ์’ อย่างนี้เราจะทำอย่างไร

นานา: พอเราอยู่ในวัฒนธรรมการเดา สังคมเราเลยไม่มี reference (อ้างอิง) การขอ consent ที่มีศิลปะ มีสุนทรียะ แล้วพอเรื่องนี้มันเพิ่งเข้ามา เป็นประเด็นใหม่ สังคมก็ยังมองว่า consent เป็นหลักการ เป็นวิชาการ เป็นเครื่องมือที่เอามาควบคุมพฤติกรรมคน มีฟีลลิ่งแบบคุณครูระเบียบ ทั้งที่จริงๆ มันควรจะให้อารมณ์ถึงคนที่มีความมั่นใจ กล้าพูด กล้าแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ใส่ใจอีกฝ่ายด้วย 

ถ้าเรามองใหม่ว่า “เช็คให้แน่ใจ จะได้มีอะไรกันอย่างสบายใจทุกฝ่าย” เราก็จะคิดถึงวิธีเช็คให้ชัวร์ที่มัน เผ็ด เซ็กซี่ มีอารมณ์ขันได้

มีตัวอย่างประเทศไหนไหมที่ไม่มีพื้นฐาน consent มาก่อน แต่ปัจจุบันสามารถไปถึงจุดที่เรื่องนี้ลงหลักปักฐานแบบเห็นได้ชัด

นานา: เราว่าทั้งโลกก็ยังไม่มีที่ไหนที่สมบูรณ์แบบ อย่างประเทศอังกฤษ รณรงค์หนักมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาก้าวหน้าขึ้นเยอะ อย่างเรื่อง การข่มขืนในมหาวิทยาลัย (campus rape) ที่เมื่อก่อนมีเยอะ และไม่มีการจัดการ หลังๆ มหา’ลัยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มีนโยบาย มีหลักปฏิบัติออกมาว่า ถ้ามีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างนักเรียนด้วยกัน มหา’ลัยจะแก้ไขอย่างไร แม้จะไม่สมบูรณ์ แก้ได้ไม่หมด แต่ก็ยังเห็นว่ามีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างสังคม

คือเรื่องละเมิดทางเพศเนี่ย ที่ที่เขาพยายาม เขาจะทำให้ผู้ถูกกระทำลำบากน้อยที่สุด พยายามให้สถาบันใกล้ตัวอย่างสถานศึกษา ที่ทำงาน พอจะช่วยรับมือได้ ไม่ต้องฮึบไปให้ถึงสถานีตำรวจทีเดียว 

สิ่งที่ควรเกิดควบคู่ไปกับการรณรงค์ คือความก้าวหน้าทางโครงสร้าง ที่ถูกบรรจุให้มีกลไกไปตอบสนอง ไม่ว่าจะสำเร็จมากหรือน้อย แต่มันมีความพยายาม 

ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์

การยกเรื่อง consent ยกระดับเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์อย่างไร

นานา: มันคือการตระหนักว่าอำนาจของมนุษย์ตอนนี้เท่ากันหรือไม่ คนที่มีอำนาจมากกว่าเอาเปรียบคนที่มีอำนาจน้อยกว่ารึเปล่า ถ้าดีลกับเรื่องใกล้ตัวได้ดี เรื่องอื่นๆ ไกลตัวก็จะดีลได้ดีเหมือนกัน

ปกป้อง: ใช่ อย่างเราตอนมีแฟน บางทีเราไม่มีอารมณ์แต่เขาอยาก เราก็ยอมเพราะเห็นแก่ความสัมพันธ์ มันก็ไม่ได้แฮปปี้ทุกครั้งที่มีเซ็กส์ แต่ก็จะมีชุดความคิดบางประการมาทำให้เราสบายใจ เช่น คบคนหนึ่งเทียบเป็นนาฬิกาเรือนนึง มี 24 ชั่วโมง ก็อดทนหน่อย สัก 5 นาที คงไม่เป็นไร เลยทำให้เรารู้สึกว่าบางครั้งมันเป็นเซ็กที่ไม่เฮลท์ตี้ เพราะทำไปเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ระยะยาว ทำไปเพื่อให้ความสัมพันธ์มั่นคง ดีกว่าต้องมาทะเลาะกัน 

เรื่องเซ็กส์สำหรับเรามันลดทอนความเป็นปัจเจกบุคคลด้วย เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่เราทำกับคนอื่น มันจึงจำเป็นต้องลดทอนความเป็นตัวเองบางอย่าง และเคารพในเนื้อตัวร่างกายของอีกฝ่าย รวมถึงเคารพความต้องการของตัวเองด้วย ดังนั้น consent จึงเป็นสิ่งสำคัญในการตอบโจทย์ของการที่จะทำอย่างไร ให้การปฏิบัติซึ่งกันและกันในการแสดงออกถึงปัจเจกบุคคลมันทำได้ 

Sexual Consent กับปิตาธิปไตย (Patriarchy) เชื่อมโยงกันอย่างไร

นานา: อันนี้อยากเล่าเรื่องที่มีผู้ชายมาเล่าในเพจ Thaiconsent ในอีกมุมคือ บางครั้งเวลาที่ผู้หญิงมีความต้องการทางเพศ แต่ผู้ชายไม่อยากทำ อาจเพราะ เหนื่อย เครียด ไม่แข็ง ไม่ขึ้น แต่ด้วยความที่บางคนเชื่อว่าอารมณ์ทางเพศที่สูงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาย เขาก็จะฝืน และด้วยความที่เชื่อในกรอบนี้ เขาก็จะไม่ปรึกษาคนอื่นแม้แต่กับเพื่อนสนิทของตัวเอง 

การไม่แข็ง ไม่มีความสุขทางเพศ รู้สึกว่าถูกบังคับ สิ่งเหล่านี้ไม่มีที่ให้ได้คลี่คลายในสังคม Patriarchy ในสังคมของผู้ชายเอง ทั้งในชายที่เป็นชายรักชาย หรือ straight (เพศตรง) ก็อาจจะต้องการชุมชน คอมมูนิตี้ ที่เราเป็นจริงกับตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องไปฝืนให้ลงกรอบ กล่องเพศ ตลอดเวลา

ปกป้อง: การล่วงละเมิดทางเพศ หรือสำนึกการข่มขืนมันมีบางอย่างที่ phallocentric (มุ่งเน้นไปที่ลึงค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสัญลักษณ์ของการครอบงำชาย โดดเด่นด้วยทัศนคติของผู้ชายมุ่งเน้นไปที่ผู้ชาย) ที่คนที่มี ‘จู๋’ คือผู้กระทำ แล้วคนที่ตกเป็นเหยื่อ คือผู้ถูกกระทำ 

แต่สำนึกในเรื่องนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ที่การข่มขืนใจไม่ได้มีแค่ผู้ชายทำกับหญิง แต่หญิงก็ทำกับชาย แล้วไม่ว่าเพศใดก็สามารถข่มขืน หรือตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน แต่บังเอิญสังคมชายเป็นใหญ่มันให้คุณค่าหรือผูกขาดกับคนที่มีจู๋เท่านั้น นี่คือปัญหาสังคมชายเป็นใหญ่สำหรับเรา

ในโลกชายเป็นใหญ่ ทำให้กลุ่มเกย์ หรือผู้หญิงคิดว่าเราทำไม่ผิดหรอก เพราะผู้ชายไม่บุบสลายเหมือนผู้หญิง ผู้ชายไม่เสียหาย อย่างที่ผู้หญิงพูดว่า นี่พ่อของลูก เx็ดฉันเลยจนฉันต้องร้องขอชีวิต หรืออะไรแบบนี้ 

กลายเป็นเรากำลังล่วงละเมิดทางเพศเขา และเนื้อหาของมัน คือการที่ให้เขามากระทำกับร่างกายเรา อันนี้คือสำนึกชายเป็นใหญ่ ที่ผู้กระทำคือผู้สอดใส่ ผู้ถูกกระทำคือผู้ถูกสอดใส่ เลยทำให้ผู้หญิง หรือเกย์ หรือคนถูกสอดใส่รู้สึกว่าสามารถพูดลวนลาม หรือพูดอะไรแบบนี้ได้อย่างสะดวกปาก 

จนชุดความคิดนี้กลายเป็นการสร้างความชอบธรรม ที่ทำให้คิดว่า ฉันพอทำได้ หรือเผลอๆ คิดว่าการทำของฉันมันเป็นการ liberate (ปลดปล่อย) ตัวเอง หรือ express (การแสดงออก) แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องกลับไปตั้งคำถามกับสังคมชายเป็นใหญ่ที่เอื้อให้เกิดประโยชน์แบบนี้

ตัวอย่าง ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีโลกเก่าที่ชนกับโลกใหม่ เป็นการปลดปล่อย และคลายเส้นที่เป็นเส้นต้องห้าม หมายถึงวันปกติเราไม่ได้อยากให้คนแปลกหน้ามาประแป้ง หอมแก้ม แต่พอเป็นวันสงกรานต์กลายเป็นคนคิดว่ามันสามารถถึงเนื้อถึงตัวกันได้ ขณะเดียวกันในอดีตมากๆ อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ไทย ผู้หญิงอุ้มพระ อุ้มเณรไปเล่นน้ำ สาดน้ำกัน หรือแสดงเรื่องลามกทะลึ่งตึงตังได้ 

แต่เมื่อวัฒนธรรมดำรงถึงยุคปัจจุบัน คนเริ่มตระหนักเรื่องความเท่าเทียม หรือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายมากขึ้น มันจึงมีความอิหลักอิเหลื่อทับซ้อนกัน มีความชนกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ ในโอกาสพิเศษที่เรียกว่าสงกรานต์

อย่างนี้การไม่ขอ consent กับข่มขืนต่างกันไหม

นานา: การที่เราไม่ขอก็เหมือนเราแทงหวย ที่ต้องลุ้นว่าทำแล้วอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร นี่คือผลกระทบของการไม่ถาม มันคือความเสี่ยงว่าอีกฝ่ายจะโอเคไหม แต่ถ้าถามก็จะชัวร์มากขึ้น 

เซ็กส์ที่ปราศจากการยินยอม เซ็กส์ที่ถูกกดดันให้ทำ เซ็กส์ที่ไม่มีการรับรู้ล่วงหน้าว่าจะทำ เซ็กส์ที่ปฏิเสธไม่ได้ เหล่านี้คือการข่มขืน หรือในเมืองนอกก็มีการรณรงค์ ว่าการแอบถอดถุงยางโดยไม่บอก ก็คือการข่มขืน ดังนั้นการถาม consent มันเลยช่วยให้เราไม่ตกเป็นผู้กระทำโดยไม่ตั้งใจได้เหมือนกัน

เซ็กส์คือเรื่องธรรมชาติ แต่พอมีการถาม consent เข้ามา แบบนี้ถือว่าผิดธรรมชาติไหม?

ปกป้อง: เราไม่มั่นใจว่าเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติเสียทีเดียว มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย เพราะสเป็ค ความใคร่ เป็นผลผลิตหนึ่งจากโครงสร้างทางสังคม เช่นเดียวกับที่เราเกิดความใคร่ ความชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันคือการประกอบสร้างทางสังคม ที่ไม่ต่างอะไรกับวัฒนธรรม มันจึงเป็นเรื่องธรรมชาติด้วย วัฒนธรรมด้วย 

เมื่อเซ็กส์เป็นทั้งสองเรื่อง มันก็จำเป็นต้องมี consent ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นการถาม consent เลยไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติอะไร

ทำอย่างไรให้ Sexual Consent ก้าวหน้าขึ้นในสังคมไทย

นานา: เราว่ามันมีคำตอบอยู่แล้วเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ในหลายๆ เรื่อง เหมือนคำว่าประชาธิปไตย คำว่าสิทธิมนุษยชน คำว่าไม่เอาโซตัส คำว่าไม่เอาเผด็จการ ชุดคำพวกนี้เคยเป็นสิ่งแปลกหน้าในสังคมไทยใน 10 ปีที่แล้ว แต่พอรณรงค์ไปนานๆ ก็ถูก normalise (ทำให้เป็นปกติ) ในสังคมตาม generation (รุ่น) ตามสื่อ ตาม dynamic (พลัง) ของสังคม 

ทั้งนี้ จะไปโยนภาระให้สังคมช่วยกันคิดช่วยกันทำอย่างเดียวไม่ได้ ฝั่งที่เป็นโครงสร้างอย่างรัฐ อย่างโรงเรียน ก็ต้องแบ่งเบาภาระสื่อ ปัจเจก หรือคนในสังคมด้วย 

วิชาสุขศึกษา นอกจากสอนเด็กว่าอย่ามีอะไรก่อนวัยอันควร สอนไหมคะเรื่อง consent หรือมหา’ลัย และที่ทำงานจะปรับปรุงโครงสร้างสถานศึกษา หรือสถานที่ทำงานอย่างไรให้ consent เป็นวัฒนธรรมของการถามไถ่ สมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ

มันคือวัฒนธรรมของการถาม ของการทำให้มั่นใจ เพื่อเคารพของความเป็นคนของอีกฝ่าย

ปกป้อง: คิดว่าทุกวันนี้คนเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว 

การต้องการเซ็กส์ที่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ คือมนุษย์ต่อให้เป็นเรื่องกินข้าว ก็ถูกสอนมาให้ใช้ช้อนส้อม เป็นการปฏิบัติราวกับเป็นธรรมชาติไปแล้ว เราคิดว่าเซ็กส์ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องปลูกฝังเซ็กส์ที่ปลอดภัยทั้งกามโรค และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 

consent ก็เป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยเหมือนกันที่เราจะไม่สร้างความรุนแรงให้ใคร มันเป็นเรื่องของจิตมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงและลื่นไหลได้อยู่แล้ว 

ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์

การพูดถึง consent มักมีภาพเป็นกรอบ เป็นวินัย แต่อันที่จริงก็ขึ้นกับผู้ที่เอาไปใช้ว่าเขาจะพร่าเลือน หรือลดอำนาจของมันแค่ไหน ขณะเดียวกัน ก็คือการพูดถึงการแสดงออก ความปรารถนาของตัวเอง หรือความต้องการตอบสนองความปรารถนาเบื้องลึกของตัวเองที่ไปสนองกับคู่ของเรา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกว่าที่จะมองเป็นเรื่องวินัยหรือระเบียบ แต่มันจะกลายเป็น conscious mind (จิตสำนึก) และถูกฝังลงไปเป็น subconscious mind (จิตใต้สำนึก) อีกทีรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่คิดว่าได้และควรจะเป็น

ในฐานะที่เราเคยละเมิด consent เคยเป็นทั้งผู้กระทำเองและถูกกระทำ มันก็สร้างความรู้สึกผิดต่อตนเอง และเป็นตราบาปให้เราด้วย ที่ไปล่วงเกินเนื้อตัวร่างกายคนอื่น 

ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสมัยปัจจุบัน โดยไม่อิงกับหลักศาสนา แต่เป็นการเคารพสิทธิเพื่อนมนุษย์ เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายซึ่งกันและกัน เป็นหลักจริยธรรมสมัยใหม่ ซึ่งถ้าเป็นหลักจริยธรรม ศีลธรรมที่อิงศาสนา มันจะมีบทลงโทษชัดเจน และให้รางวัลชัดเจน เช่น ขึ้นสวรรค์ ตกนรก เป็นคำขู่จากผู้ที่มีอำนาจ เหมือนศาสนาพุทธ คำว่าหิริโอตตัปปะ หรือความเกรงกลัวในบาป 

แต่ consent ทำให้เราตระหนักได้ว่าคนนี้ คือคนเหมือนเรา ความเคารพซึ่งกันและกัน มีสิทธิเนื้อตัวร่างกายที่เราต้องปฏิบัติกับเขา เหมือนที่เราไม่อยากโดนปฏิบัติอะไรบางอย่างที่เราไม่ชอบ 

ถ้าถามว่าเรื่อง consent จะก้าวหน้าอย่างไรในสังคมไทย เราคิดว่าเรื่องเซ็กส์ก็มีเรื่องอวัจนะภาษาด้วย เรื่องการใช้อากัปกิริยา การสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูดเป็นคำศัพท์ ซึ่งมันก็พูดคุยกันได้ว่าอะไรคือจุดที่โอเค ไม่โอเค อย่างการแสดงถึงสีหน้า การร้อง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจเหมือนกัน

แต่ถ้าปิดไฟนี่จบเลยนะแสดงออกทางสีหน้า

ปกป้อง: (หัวเราะ) มันก็ต้องมีคราง หรือตัวกระตุกขึ้นมาอะไรอย่างนี้สิ

เมื่อถามหาความหมายของ consent นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง จากเพจ Thai Consent กล่าวว่า ความหมายของ consent คือ clear coherent willing ongoing 

หนึ่ง clear คือชัดเจนว่า เออ อยากทำกิจกรรมนี้ต่อนะ มีการ take action ซึ่งเราว่าหาได้ยากในสังคมไทย อาจเพราะเราชินกับคำว่า ‘แล้วแต่’ ในทุกๆ เรื่อง ดังนั้นการเข้าใจความต้องการของเรา เราแสดงออกมาได้ ก็จะช่วยให้ consent เคลียร์ขึ้น 

สอง coherent คือมีสติรู้ตัว ไม่ได้อยู่ในความมึนเมา ใต้อำนาจสารกดประสาท ภาพตัด ไม่ได้ถูกหลอกให้ทำ 

สาม willing ต้องเกิดโดยไม่อยู่ใต้ความกดดัน ไม่ถูกข่มขู่ ไม่อยู่ในความกลัว 

สุดท้าย ongoing คือมีไปแล้วหยุดได้ทุกเมื่อ มีไปแล้วมีทางเลือกในการทำต่อ ไม่ใช่บังคับต้องทำให้เสร็จ มันก็กลับมาที่เรื่องสิทธิในเนื้่อตัวร่างกายอีกฝ่าย เพราะบางคนคิดว่าความสัมพันธ์เป็นหน้าที่ เพราะแต่งงานแล้ว เป็นแฟนกันก็ทำตามหน้าที่ ซึ่งเกิดได้ทั้งชายและหญิง 

“สรุปคือ เรื่องของการสื่อสารกันได้โดยไม่มีความกลัว และไม่ได้คิดไปเองว่าอีกฝ่ายควรจะคิดหรือควรจะรู้สึกอะไร” นานาเสริม

เชิงอรรถ

[1] 11thprincipleconsent.org

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า