ภาพประกอบ: Shhhh
เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของเจเนอเรชัน มักมีชุดความคิดหนึ่งผุดขึ้นเสมอๆ ในทำนองคนรุ่นก่อนไม่เป็นแบบนี้ คนรุ่นนี้ไม่เข้มแข็ง ไม่สู้ชีวิต ล้มเหลวทางการศึกษา สังคม ตลอดจนเรื่องเพศ เกิดพ่อแม่วัยใสมากมาย ฯลฯ
และคำถามที่พ่วงมากับชุดความคิดนั้นอีกเช่นกัน คือ มันใช่เหรอ? คนรุ่นนี้สู้คนรุ่นก่อนไม่ได้ คนรุ่นนี้ล้มเหลวในทุกๆ ด้าน จริงๆ ล่ะหรือ?
รองศาสตราจารย์อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเปิดเวทีเสวนา ‘ไลฟ์สไตล์ ความท้าทาย การเรียนรู้ คนรุ่นใหม่’ ที่จัดขึ้น ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปทุมธานี ว่า ขณะที่สังคมไทยในยุคปัจจุบันกำลังเคลื่อนเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ กรอบนโยบายต่างๆ ล้วนถูกออกแบบเพื่อรองรับสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เราได้ทำความเข้าใจและหันมาให้ความสนใจต่อคนกลุ่มนี้ที่จะเป็นอนาคตของประเทศแล้วหรือยัง
“ถ้าเราย้อนกลับไปดูตัวเลขทางการศึกษาหรืองานวิจัยจำนวนไม่น้อย จะพบว่าคนรุ่นใหม่เติบโตมาในสังคมที่แตกต่างกับคนรุ่นเราอย่างชัดเจน ด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาพทางสังคมในลักษณะนี้นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ว่าจะส่งผลต่อมุมมองของพวกเขาอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เยาวชนได้เปล่งเสียงของเขาเองอย่างแท้จริง” รศ.อนุชาติ กล่าว
ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ภายใต้สถานการณ์โดยรวมและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อและพื้นที่สาธารณะ ทำอย่างไรที่เราจะไม่ตัดสินคนรุ่นใหม่ด้วยกรอบของคนรุ่นก่อน
พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) กล่าวถึงบทบาทของตนเองในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนว่า เริ่มจากการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ค้นหาสิ่งที่พวกเขาสนใจ ผลักดันให้เยาวชนนำเสนอโครงการเข้ามายังมูลนิธิอโชก้า สนับสนุนด้านเงินทุนและให้คำปรึกษา จนเขาสามารถทำโครงการขึ้นมาได้จริงๆ ในเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
พรจรรย์เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้มาทำงานกับคนรุ่นใหม่ว่า เริ่มต้นในช่วงปี 2539 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ด้วยการตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า คนทุกคนในสังคมจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศได้อย่างไร
“มันเป็นช่วงที่คนรุ่นนั้นเกิดคำถามว่า ประเทศนี้ใครเป็นคนกำหนด ใครเป็นคนให้คำตอบ แล้วคำตอบที่เจเนอเรชันเราได้รับก็คือ มันไม่มีใครมีคำตอบ เพราะถ้ามีคำตอบ วิกฤติตรงนั้นจะไม่เกิด จึงกลายเป็นคำถามมากมายในรุ่นเราว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องพยายามค้นหาความสามารถหรือความรู้อะไรเพิ่มบ้าง เพื่อที่เรียนจบไป เราอาจจะมีส่วนช่วยให้ประเทศชาติดีขึ้นกว่านี้ แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี เพราะทุกคนรู้ว่าค่าเทอมเรา พ่อแม่จ่ายแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากภาษีรัฐ”
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง กล่าวในมุมของผู้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเยาวชนกับสังคม ทั้งเรื่องคุณแม่วัยใส และประเด็นปัญหาทางเพศในเยาวชนไว้ว่า
“ในความเป็นจริง เวลาเราพูดถึงปัญหาเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กท้องก่อนวัยอันควร เรื่องคุณแม่วัยใส เสียงสะท้อนที่ออกมาไม่เคยเป็นเสียงที่มาจากมุมของเด็กเองเลย ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าตัวเลขหรือสถิติต่างๆ จึงเป็นข้อมูลที่ผิด ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงเรื่องท้องก่อนวัยอันควร นัยยะของมันก็คือ ตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเด็กที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิตก็จะน้อย อยู่ในภาวะด้อยคุณภาพไปเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นสำคัญของการทำงานในเรื่องของผู้หญิงคือ เราจะช่วยให้เจ้าของปัญหาได้ส่งเสียงของพวกเขาออกมาได้อย่างไร”
ในขณะที่ ปิยะชาติ ทองอ่วม ผู้กำกับและผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ GDH 559 เล่าว่า แต่แรกที่เริ่มต้นทำซีรี่ส์ ไม่ได้ตั้งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่แต่อย่างใด ตั้งแต่เป็นหนึ่งในทีมเขียนบทซีรี่ส์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ทว่าเนื้อหากลับโดนใจวัยรุ่น ซึ่งจริงๆ แล้ว เป้าหมายจะอยู่ที่วัยทำงานมากกว่า แล้วสิ่งนั้นก็ต่อยอดมายัง ‘น้ำตากามเทพ’ ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์’
“ถ้าเราจะพอตีความมันได้ คือ เรารู้สึกว่าเนื้อหาบางอย่างที่เราทำ จะพูดตรงๆ ในสิ่งที่ทุกคนก็เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างในซีรี่ส์เนื้อคู่ฯ เวลาเราเขียนบทสนทนา หรือเวลาตัวละครเล่นกัน ตัวละครก็จะเล่นต่อชื่อเกม แล้วก็จะมีเกมที่ให้พูดชื่อดารายุค ’90 ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเจอทุกวันๆ จนเขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขา”
ต่อมา นิติ ชัยชิตาทร พิธีกร GMM TV หรือ ‘ป๋อมแป๋ม’ จากรายการ ‘เทยเที่ยวไทย’ กล่าวว่า เหตุผลของตนในการเข้ามาทำงานร่วมกับเยาวชนอาจจะแตกต่างกับคนอื่นๆ เพราะรายการของตนค่อนข้างหยาบคายตั้งแต่ที่เริ่มทำรายการครั้งแรกเมื่อ 15 ปีก่อน เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน
“แต่เราก็เห็นพฤติกรรมบางอย่างของเขา ว่าจริงๆ แล้วคนที่เขาดู คนที่เขาส่งเสียง คนที่เขาสื่อสารกลับมา ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และสิ่งหนึ่งที่เราเห็นค่อนข้างชัดคือ เราเริ่มรู้สึกว่า อุ๊ยตายแล้ว วัยรุ่นสมัยนี้เขาไม่ได้มองหาบุคคลต้นแบบที่ดีพร้อม ไม่ได้มองหาคนที่ดีงามสะอาดหมดจด แต่เด็กวัยรุ่นทุกวันนี้เขามองหาคนที่เป็นแรงบันดาลใจ คนที่สามารถยอมรับข้อเสียของเขาได้ ซึ่งไม่ใช่ยุคที่เราอินกับพี่แหม่ม จินตหรา สุขพัฒน์ อ่ะนะ หรือแอน ทองประสม ที่ช่างงดงามไปซะทุกภาคส่วน แต่เราอยู่ในยุคที่เรารักใหม่ ดาวิกา อะไรอย่างนี้ ซึ่งห่างไกลจากความเป็นไอดอลที่หมดจด เทียบง่ายๆ ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นที่ติดตามปารีส ฮิลตัน ถึงแม้เห็นข้อเสียของเขา เห็นความวินาศสันตะโรของเขา แต่เราก็ยังเห็นการจัดการกับความพินาศของพวกเขาได้ ซึ่งมาย้อนกลับมาที่รายการเทยเที่ยวไทย ทุกคนเป็นกระเทย ซึ่งก็ไม่ถูกต้องแล้วอ่ะ แล้วยังเป็นกระเทยที่มีข้อเสียจำนวนมากด้วย เพียงแต่ว่าเด็กที่ดีลกับเรา เขากำลังมองหาคน เขาไม่ได้มองหาเทพ”
ยุคเรา-ยุคเขา
ป๋อมแป๋มมองประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นเรา ในแง่ของการเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีนั้นมีส่วนในการบ่มเพาะนิสัยบางอย่างได้ เช่น คนยุคก่อนเติบโตมากับการดูโทรทัศน์ ซึ่งพฤติกรรมการดูละคร ผู้ชมจะต้องตระเตรียมตัวเองแม้แต่ในเรื่องเข้าห้องน้ำเพื่อไม่ให้พลาดฉากสำคัญ ซึ่งป๋อมแป๋มมองต่อเนื่องมายังพฤติกรรมของคนยุคปัจจุบันที่ใช้สื่ออย่างโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
“เด็กสมัยนี้เขาคอนโทรลสเปซแอนด์ไทม์ได้ด้วยตัวของเขาเอง เขาเป็นคนกำหนดเวลาในการจัดการของเขาเองได้ เรียกว่าไม่มีไทม์เทเบิลในรหัสดีเอ็นเอของเด็กยุคนี้ เด็กจะเกิดคำถามว่าทำไมต้องเจาะจงเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องจัดการเวลาของเด็กรุ่นนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องมาคิดกันใหม่”
เช่นเดียวกับมุมมองจิตติมา เธอมองว่า สังคมคนรุ่นใหม่ปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น แม้กระทั่งวิธีการเล่น วิธีการเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ผ่านเทคโนโลยี เด็กจะมีการประยุกต์ใช้ในการสานสัมพันธภาพกับผู้คนที่ซับซ้อน ซึ่งจิตติมาแสดงข้อกังวลในแง่ที่ว่า หากเด็กไม่เข้าใจความซับซ้อนนี้ก็อาจจะถูกชักจูงไปสู่สิ่งอื่นๆ ได้ง่าย เช่น เรื่องเพศ และท่ามกลางความซับซ้อนนี้ เด็กต้องเข้าใจตัวเองก่อน รู้จักตัวเองก่อน แม้แต่ในเรื่องการจัดการเวลา หากฝึกเขาให้เรียนรู้ เขาก็จะสามารถจัดการเวลานั้นได้
ส่วนปิยะชาติมองว่า เด็กรุ่นนี้มีความแข็งแกร่งในการตั้งรับการถาโถมเข้ามาของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อลามก ซึ่งคนยุคปิยะชาติถือเป็นเรื่องยากที่จะเข้าหาหรือไปตามหาหนังสือโป๊สักเล่ม แต่ในปัจจุบัน สื่อเหล่านี้เข้าถึงเขาได้ง่ายมาก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเขาต้องคัดกรองและตั้งรับเรื่องเหล่านี้ กล่าวให้ชัด เทคโนโลยีปัจจุบันออกแบบให้เด็กเป็นได้ทั้งดีและไม่ดี
“ข้อดีของเทคโนโลยียุคนี้คือ มีพื้นที่ที่หลากหลายมากพอที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนความสามารถ บริหารความสามารถที่เขามี เราจะเห็นว่าเน็ตไอดอลมีเยอะแยะมากมาย มีแฟชั่นที่เกิดตามทุ่งนา ข้อดีมันก็มี คือมันทำให้เขามีช่องทางที่จะแสดงออก ถ้ามันถูกทาง แต่ถ้ามันผิดทาง อย่างคลิปตบกัน ไปไถเงินเพื่อน เพราะฉะนั้นมันก็ทั้งข้อดีและข้อเสียของคนยุคนี้”
ทางด้านพรจรรย์มองในประเด็นเรื่องการสื่อสารระหว่างคนสองเจเนอเรชัน ซึ่งไม่เพียงคนรุ่น Gen Y จะต้องเข้าใจคนรุ่น Gen Z แต่ยังต้องสร้างความรู้ให้เขาเข้าใจคนรุ่นก่อนด้วย
ระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก Gen Z
การกำหนดวาระให้กับระบบการศึกษาในอนาคต ทักษะแบบไหนที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ ป๋อมแป๋มให้คำตอบต่อประเด็นนี้ว่า เด็กรุ่นใหม่มีความกระหายอยากที่จะออกไปแตะพรมแดนความรู้ที่ไม่มีข้อจำกัด แต่ปัญหาในประเด็นนี้อยู่ตรงที่แม้มีความกระเหี้ยนกระหือรือในการแสดงออก แต่เด็กอาจยังพื้นฐานขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ
“เราเปิดพื้นที่ให้เด็กออกไปแตะทุกสิ่งอย่าง จนเราลืมย้อนกลับมาหาตัวเอง”
จิตติมามองว่า นอกจากการตั้งคำถามกลับไปยังตัวเด็ก ประเด็นที่ควรตั้งคำถามมากกว่าคือ ผู้ใหญ่ออกแบบนิเวศวิทยาการเรียนรู้ให้กับเด็กดีพอแล้วหรือยัง
“ชีวิตเด็กทุกวันนี้ เราให้เขาเพียงอย่างเดียว บนลู่ของการศึกษาว่าต้องเรียนให้ดี ถ้าในโรงเรียนมี 10 ห้อง มีห้องที่เรียนดีอยู่ 3 ห้อง ถ้าลูกคุณอยู่ในสามห้องนั้น คุณรอดตัว เพราะว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งอย่างน้อยก็แน่ใจว่าจะไม่หลุดโค้ง”
ทว่าวิธีการเช่นนี้จะทำให้หลงลืมเด็กอีกส่วนหนึ่งที่หลุดโค้ง ยังไม่นับวิธีการที่พ่อแม่อัดป้อนวิตามินผ่านสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนติว เพื่อต้อนให้เด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปจนถึงปลายทางที่มีการงานดี
“พวกเขาเป็นผลิตผลของคนรุ่นเรา ที่เชื่อว่าหมดยุคของการเป็นชาวไร่ชาวนา เป็นพ่อค้า แต่เป็นยุคของการเป็นข้าราชการ”
สิ่งที่ขาดไปของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จิตติมามองว่า สิ่งนั้นคือ พลังของเจตจำนงในการคิดซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้นิเวศวิทยาการเรียนรู้ดังที่เป็นมา
“ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเสริมทักษะ คือ เราจะสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของเขา สร้างกระบวนการ ให้เขาได้มีโอกาสถามตัวเองเยอะๆ ว่าเขาต้องการอะไร ได้มีโอกาสคุยกับตัวเอง และสร้างกระบวนการเรียนรู้บางอย่างเพื่อค้นหาตัวเอง”
ขณะที่ปิยะชาติกล่าวเสริมขึ้นว่า “ทักษะหนึ่งที่สำคัญคือ การอดทนและรอคอย”
จากประสบการณ์ที่ปิยะชาติเคยรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เขาพบว่า ในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วนี้ เด็กรุ่นปัจจุบันยังขาดทักษะเรื่องความอดทน หากมองกรณีไอดอลอย่างป๋อมแป๋ม เด็กรุ่นใหม่อยากจะเป็นอย่างป๋อมแป๋ม แต่ไม่ยอมเรียนรู้ว่ากว่าป๋อมแป๋มจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้ทั้งเวลาและความมุ่งมั่นเพียงใด
“คือเหมือนสภาพแวดล้อมเขาทุกอย่าง มันทำให้เขาไม่รู้สึกว่าต้องรออีกต่อไปแล้ว”
แตกต่างจากพรจรรย์ที่มองว่า ประเด็นความสนใจของเด็กรุ่นนี้มีความชัดเจนมากกว่าคนรุ่นก่อน กล่าวคือ เด็กรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ไม่ต้องชี้แนะว่าปัญหาของสังคมมีอะไรบ้าง เพราะเด็กมีความรู้สึกร่วมไปกับประเด็นปัญหาต่างๆ และมีความสนใจด้วยตัวของเด็กเอง
“คนรุ่น Gen Y อาจจะถามว่าประเทศเรามีปัญหาด้วยเหรอคะพี่ ขณะที่เด็ก Gen Z เขาบอกเลยว่าอยากจะทำเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราพบว่า ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องที่เด็กสนใจเยอะมากเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องที่สาม เด็กอินกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไล่ตั้งแต่แรงงานพม่า คนแก่ถูกทิ้ง ยันเรื่องหมาแมว”
ด้วยเหตุที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากเด็กจะต้องมีทักษะในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญกว่านั้นอาจต้องตั้งโจทย์ให้ได้ว่า จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร