ศิลปะ AI เมื่อเทคโนโลยีเดินนำหน้าแนวคิดทรัพย์สินทางปัญญา

หลัง Midjourney, Stable diffusion และ Dall.E 2 เปิดตัวบนโลกออนไลน์ได้ไม่นาน ผลงานภาพดิจิทัล แอนิเมะ ภาพถ่าย ภาพวาดสีน้ำ ลายเส้น และอื่นๆ ก็เกลื่อนกล่นบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์ม

ความบันเทิงของผู้ใช้งานที่เพียงแค่พิมพ์ป้อนข้อมูลบรรยายลักษณะภาพที่ต้องการเห็นลงไป แล้วกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ภาพเหนือจริงสวยๆ ที่มีคุณสมบัติตามข้อมูลที่ถูกป้อนก็ปรากฏออกมาบนหน้าจอ พร้อมให้นำไปใช้งานได้ต่อไป ทำให้เทคโนโลยี AI เหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว 

ความนิยมในเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างภาพประดิษฐ์เหล่านี้ สร้างความทุกข์ให้กับศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยมือตนเอง แล้วถูกบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นนำผลงานไปเป็นฐานข้อมูลสำคัญให้กับเครื่องมือ AI ในการสร้างภาพใหม่ๆ ขึ้นมา 

อธิบายให้ง่ายและกระชับที่สุดได้ว่า บริษัทผู้ผลิตโปรแกรมเหล่านั้นจะรวบรวมภาพวาด ภาพถ่าย ภาพลายเส้นต่างๆ ที่มีผู้วาดขึ้นจริง ไม่ว่าจะบนวัสดุที่จับต้องได้จริง อย่างกระดาษ แคนวาส และอื่นๆ หรือวาดด้วยเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ จำนวนมหาศาลใส่ลงไปในฐานข้อมูลของโปรแกรม เพื่อให้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตภาพ AI เมื่อผู้ใช้ป้อนข้อมูลลงไป เช่น “ภาพวาดเด็กหญิงตาโตแบบดิสนีย์ คางแหลมแบบแอนิเมะ ปากสีสตรอเบอรี แก้มสีลูกพีช กำลังปั่นจักรยาน” อัลกอริธึมของโปรแกรมก็จะทำงานคัดเลือกภาพในสต็อกฐานข้อมูล ตัดส่วนนี้จากภาพนั้น ส่วนนั้นจากภาพนี้ ปรับโน่น เติมนี่ ตัดนั่น แล้วนำมาประกอบกันใหม่ให้มีรูปลักษณ์และอารมณ์ตามข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนลงไปให้มากที่สุด 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่เจ้าของผลงานศิลปะตั้งต้นเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากผู้ผลิตเทคโนโลยีและจากผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เหล่านั้นขึ้น

ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานตั้งต้นมองว่า Generative AI ทั้งหลายเป็นตัวแทนของการเอารัดเอาเปรียบ การขโมยและปลอมแปลงผลงาน ไปจนถึงการทำให้พวกเขาสูญเสียงานและรายได้ 

มีตัวเลขว่าบนฐานข้อมูล LAION ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยี AI นำมาใช้ประโยชน์ต่อไปนั้น มีภาพที่เป็นผลงานของศิลปินต่างๆ รวมมากถึง 5,600 ล้านภาพ โดย LAION รวบรวมมาจากภาพที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึง DevaintArt, ArtStation, Getty Images และ Pinterest 

กฎหมายลิขสิทธิ์ แนวคิดการคุ้มครองสิทธิ์และผลประโยชน์ในศตวรรษที่ 15 กับความขัดแย้งในยุค AI

ภายในเวลาประมาณ 1 ปีที่ Generative AI ปรากฏตัวต่อชาวโลก ก็เริ่มมีคดีฟ้องร้องในศาลอเมริกาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องด้วย AI เหล่านี้ เช่น Getty Images ฟ้องเรียกค่าลิขสิทธิ์จาก LAION สำหรับภาพกว่า 12 ล้านภาพ ที่ถูก LAION นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ขออนุญาต และมีการฟ้องคดีในลักษณะ class action หรือการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งผลของคำพิพากษาจะผูกพันไปถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันอีก 2-3 คดี โจทก์คือศิลปิน และจำเลยคือยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม AI รวมถึง Stability AI ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ บริษัท Midjourney และ Deviantart 

กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นหนึ่งในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แนวคิดหลักคือปกป้องสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงเป็นขวัญและกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป 

แนวคิดของกฎหมายลิขสิทธ์มีประวัติความเป็นมายาวนานสามารถย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 15 เมื่อครั้งเริ่มมีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ แต่การประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกเกิดขึ้นในปี 1709 ที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน ส่วนในอเมริกามีการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งแรกปี 1790 หรือประมาณ 233 ปีมาแล้ว ที่การสร้างสรรค์ผลงานยังไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน นักเขียนก็ได้รับความคุ้มครองถ้อยคำต่างๆ ที่พวกเขานำมาร้อยเรียงเป็นเรื่อง ช่างภาพก็ได้รับการคุ้มครองภาพที่พวกเขาถ่าย ศิลปินก็ได้รับการคุ้มครองผลงานศิลปะของตนเป็นรายชิ้น แต่การสร้างสรรค์ผลงานของ AI ไม่ได้เรียบง่ายตรงไปตรงมาเช่นนั้น 

เจสัน อัลเลน (Jason Allen) ผู้ใช้ Midjourney สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเข้าประกวดในรายการ Colorado State Fair ปีที่แล้ว (2022) จนได้รับรางวัลชนะเลิศ บอกว่าเขาต้องนั่งทำงานกับ Midjourney นานกว่า 80 ชั่วโมง มีภาพในฐานข้อมูลที่ถูกนำมาปรับใช้เปลี่ยนไปมา (ที่เรียกว่าการเทรนของ AI) มากถึง 100 ล้านภาพ กว่าจะสามารถสร้างผลงานศิลปะชิ้นนั้นได้

คำถามคือการเทรนของ AI ด้วยการใช้ภาพของศิลปินคนอื่นๆ อย่างที่เจสัน อัลเลน ทำถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานตั้งต้นหรือไม่ หรือมันคือการใช้ประโยชน์ต่อยอดผลงานสร้างสรรค์เดิมให้มีความใหม่ขึ้น ดังที่ศิลปินยุคอนาล็อกมักเรียกมันว่า ‘แรงบันดาลใจ’ หรือการ ‘บูชาครู” ประเด็นนี้ศาลเคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วปี 2013 ศาลสูงรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Court) มีคำพิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่ปาตริก การิยู (Patrick Cariou) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ฟ้องริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) ศิลปินชาวอเมริกันที่นำภาพถ่ายจำนวนมากจากหนังสือรวมภาพถ่ายชื่อ Yes, Rasta ของเขามาวาดใหม่ในชื่อชุด Canal Zone พรินซ์ใช้ภาพถ่ายบุคคลของการิยูเป็นต้นแบบ แล้ววาดใหม่โดยเปลี่ยนแปลงและแต่งเติมรายละเอียดลงไป ศาลตัดสินว่าการกระทำของพรินซ์เป็นการกระทำที่เข้าข่าย Fair Use หรือการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม หมายถึงการที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์อย่างจำกัดและมีเงื่อนไขโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ข้อยกเว้นนี้มุ่งสร้างให้เกิดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้ถือลิขสิทธิ์กับผลประโยชน์สาธารณะในการเผยแพร่และใช้งานสร้างสรรค์ที่กว้างขึ้น

(ซ้าย) ภาพถ่ายของการิยู ปี 2000 (ขวา) ภาพวาดของพรินซ์ ปี 2008
ที่มา: www.artnews.com

“ศาลตัดสินว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้องอ้างถึงผลงานเดิมที่มีผู้สร้างสรรค์มาก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม…นี่เป็นมาตรฐานที่ถูกต้อง เพราะคำนึงถึงวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะ ซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายลิขสิทธ์ที่ไม่ควรถือเอาข้อความแสดงเจตจำนงของแต่ละบุคคล แต่ให้พิจารณาถึงคุณค่าที่พวกเราทุกคนได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงานใหม่” เอมี แอดเลอร์ (Amy Adler) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายศิลปะ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลในวันนั้น

โดยหลักการแล้ว การต่อสู้กันในคดีลิขสิทธิ์คือการที่โจทก์ ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ถือลิขสิทธิ์ต้องโน้มน้าวให้ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินของตนเองอย่างไร ในเมื่อการใช้ประโยชน์จากผลงานผู้อื่นที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ถูกมองว่าไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเจ้าของผลงานเดิม แล้วทำไม AI ซึ่งโดยหลักการพื้นฐานของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้ จะก่อให้เกิดปัญหากับเจ้าของผลงานเดิมได้ เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบจากระบบศาลยุติธรรมของสหรัฐ ที่ตอนนี้มีคดีเกี่ยวกับ AI ในระบบบ้างแล้ว และมีแนวโน้มว่าคำพิพากษาจะออกมาแนวเดียวกับคดีการิยูและพรินซ์

เดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านมา ศาลแขวงสหรัฐ ในเขตทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดรับฟังข้อโต้แย้งด้วยวาจา (oral argument) ต่อคดีที่ซาราห์ แอนเดอร์เสน (Sarah Andersen) และพวก ฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อ Stability AI, Midjourney และ Devaintart 3 บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของเทคโนโลยี Generative AI ที่โลกกำลังนิยม ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นคดีแรกของการฟ้องร้องด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มี AI เข้ามาเกี่ยวข้อง 

“ผมไม่คิดว่าข้อกล่าวหาต่อผลงานภาพที่ออกมานั้นเป็นเหตุเป็นผลในตอนนี้ เพราะมันไม่มีความคล้ายคลึงกันมากนัก [ระหว่างภาพต้นแบบที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่เป็นมนุษย์กับภาพที่สร้างโดย AI]” ผู้พิพากษาวิลเลียม ออร์ริก (William Orrick) กล่าวระหว่างการเปิดรับฟังข้อโต้แย้งของคดี ซึ่งดำเนินการผ่านซูม และเปิดให้สาธารณะร่วมฟังได้ 

เป็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่าในยุคที่ AI ครองเมือง เจ้าของผลงานเดิมจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ปกป้องสิทธิของพวกเขามานานปี 

สร้างความร่วมมือและแบ่งปันผลประโยชน์ ทางเลือกที่น่าสนใจกว่าการใช้กฎหมาย

ขณะที่กระบวนการทางการศาล ถูกใช้เป็นที่พึ่ง (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) ของศิลปินในกลุ่มที่ผลิตผลงานประเภทภาพวาด ภาพถ่าย หรืองานเขียน สำหรับนักร้องที่ถูกนำเสียงไปเทรนให้ AI กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ เพราะกฎหมายคุ้มครองเฉพาะผลงานการร้องเพลง ไม่ได้คุ้มครอง ‘เสียง’ ของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์ การสร้างความร่วมมือและแบ่งปันผลประโยชน์กับ AI จึงอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ไกรมส์ (Grimes) นักร้องสาวชาวแคนาดา เป็นผู้หนึ่งที่ถูกนำเสียงไปให้ AI เทรน เพื่อผลิตผลงานเพลงใหม่ แทนการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ตนเอง ไกรมส์ประกาศสนับสนุนให้แฟนเพลงนำเสียงของเธอไปเทรน AI ผ่านทาง Open Source เป็นเรื่องเป็นราว โดยไม่มีความผิดหรือต้องรับบทลงโทษใดๆ เธอบอกว่าเธอชอบแนวคิด “เปิดเสรีผลงานศิลปะและฆ่ากฎหมายลิขสิทธ์ทั้งหมด” 

ไกรมส์ไม่ได้พูดปากเปล่า แต่เธอทำสัญญากับ CreateSafe บริษัทนักพัฒนา AI ที่เป็นเจ้าของซอฟท์แวร์ Elf.Tech ซึ่งเป็น AI ผลิตผลงานเพลง ให้สามารถใช้เสียงของเธอในการเทรนได้ โดยตกลงกันว่า ผู้ที่ใช้ Elf.Tech สามารถใช้ Voiceprint ของเธอในการสร้างสรรค์งานเพลงใหม่และเผยแพร่ได้ โดยผลงานเพลงนั้นต้องระบุว่ามี GrimesAI เป็นศิลปินหลัก โดย GrimesAI ไม่สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธ์เพลงนั้นๆ (ซึ่งตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ AI เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อยู่แล้ว) และผลงานเพลงที่สร้างขึ้นใหม่ต้องไม่ใช่การ Cover งานเพลงเดิมของเธอ ความก้าวหน้าต่อมาที่เกิดขึ้นคือ Elf.Tech ไปทำความร่วมมือกับ TuneCore บริษัทเผยแพร่เพลงดิจิทัลอีกทอดหนึ่ง เพื่อให้ผลงานเพลงของ GrimesAI สามารถเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์ได้เช่นเดียวกับนักร้องมืออาชีพทั่วไป เพลงของ GrimesAI ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่าน TuneCore จะต้องแบ่งผลประโยชน์ที่พิสูจน์ได้ครึ่งหนึ่งให้ไกรมส์ 

ขณะนี้ศิลปินส่วนหนึ่งโดยเฉพาะนักร้องและนักดนตรี กำลังให้ความสำคัญการสร้างความร่วมมือและแบ่งปันผลประโยชน์ในลักษณะนี้ พวกเขาไม่เชื่อว่ากฎหมายจะวิ่งตามทันเทคโนโลยี

“แทนที่ศิลปินจะมุ่งจ้างทนายความ เราควรสร้างเกราะขึ้นมาป้องกันตัวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจาก AI ที่สร้างและเผยแพร่ผลงานเพลง” BT นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีกล่าว 

BT เป็นเช่นเดียวกับไกรมส์และศิลปินนักร้องคนอื่นที่มองเห็นศักยภาพของ AI ในฐานะทรัพยากรการผลิต ตราบที่ศิลปินยังได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม 

ประเด็นสำคัญของกลุ่มศิลปินที่ไม่ฝากความหวังไว้กับกฎหมาย และพร้อมทำงานร่วมกับ AI ให้ความเป็นห่วงคือ ความงามแห่งศิลปะที่ AI เป็นผู้รังสรรค์ขึ้น ดังที่ แดน นาวาร์โร (Dan Navarro) นักน้อง นักแต่งเพลง และนักพากษ์ ได้กล่าวไว้ “อันตรายประการหนึ่งคือ การที่มาตรฐานทางศิลปะลดต่ำลงจนถึงจุดที่ของปลอมกลายเป็นของจริง และผู้คนให้การยอมรับ แล้วดนตรีเชิงพาณิชย์ก็จะเป็นเหมือนอาหารที่จืดชืด ทำให้ร่างกายอิ่ม แต่ไม่ได้มีรสอร่อยเลย” 

การมาถึงของเทคโนโลยี Generative AI อาจกลายเป็นฮีโร่ที่จะทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาถูกใช้ในการปกป้องผลประโยชน์ของศิลปินและนายทุน มากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะซึ่งเป็นปรัชญาที่แท้จริงของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ต้องปรับตัวเพื่อให้คุ้มครองศิลปินอย่างใจกว้างมากขึ้น สอดรับกับเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่งและส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างมีความรับผิดชอบ แต่การปรับกฎหมายก็อาจต้องใช้เวลานาน ทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาที่ศิลปินต้องปกป้องผลประโยชน์ตนเองอาจอยู่ที่การปรับทัศนคติและปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน อย่างที่ไกรมส์ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า