หมอว่างี้ ผีว่าไง? พฤติกรรม ‘ผีในร่างคน’ กับคำอธิบายทางการแพทย์

บ่อยครั้งที่พฤติกรรมแปลกประหลาดของมนุษย์ถูกยกให้เป็นผลจากการกระทำของสิ่งชั่วร้ายที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีกำลังมากพอจะเอาชนะพลังของธรรมชาติ มาจนถึงยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปไกลจนสามารถประดิษฐ์เครื่องตรวจจับพลังงานลี้ลับที่ถูกเชื่อว่ามีอยู่จริง

อาจเป็นไปได้ว่า ‘ผี’ คือตัวแทนของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเหมือนพาหะนำเชื้อโรคร้าย บางครั้งผีก็กลายยังเป็นฆาตรกรโหดได้อีกด้วย (แม้จะไม่เคยเห็นหน้าตาของผีที่ว่านั่นจริงๆ ก็ตาม) แต่พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของผีกลับถูกแสดงออกมาผ่านน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จึงมีความพยายามที่จะหาคำตอบที่แท้จริงของพฤติกรรมผีร้ายในร่างคนที่คอยรบกวนชีวิตของคนในสังคมตั้งแต่ยุคอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

WAY หยิบเอาพฤติกรรมผีๆ ที่คนธรรมดาคงไม่ทำกัน แต่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าคือ ‘อาการป่วยไข้’ มาบอกเล่าเป็นอุทาหรณ์เพื่อเป็นตัวช่วยก่อนการตัดสินเพื่อนร่วมสังคม ว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นผี หรือแค่ไม่สบายเท่านั้น

แวมไพร์ (Vampire): Renfield’s Syndrome และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

  • การดูดเลือด

พฤติกรรมการบริโภคเลือดของมนุษย์ ถูกวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการว่าคือภาวะ Renfield’s Syndrome เป็นอาการทางจิตเภทซึ่งพบได้ยาก ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีพฤติกรรมชื่นชอบการดื่มเลือดเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของตัวเอง โดย ริชาร์ด นอล (Richard Noll) นักจิตวิทยาผู้ศึกษาอาการดังกล่าว เชื่อว่าพฤติกรรมการดื่มเลือดนี้เกิดจากบาดแผลทางใจ (trauma) ในวัยเด็กของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการนองเลือด โดยมีภาวะของการหลงผิด (delusions) ร่วมด้วย

กล่าวคือ เพราะเหตุการณ์นองเลือดในความทรงจำนั้นสร้างได้ความรู้สึก ‘ตื่นเต้นเร้าใจ’ ให้กับผู้ป่วยในวัยเด็ก ทำให้เลือดกลายเป็นวัตถุที่ถูกใช้กระตุ้นเพื่อเรียกความตื่นเต้นนั้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่

Renfield’s Syndrome มีลักษณะที่ชัดเจนของการบริโภคเลือด โดยสันนิษฐานจากตำราประวัติการรักษาโรคจิตเภทในระหว่างปี ค.ศ. 1892-2010 ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่บริโภคเลือดกว่า 50,000 คน จะเริ่มต้นจากการกินเลือดของตัวเอง แล้วจึงพัฒนาไปสู่การกินเลือดของสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งข้อมูลของโรคในข้างต้นนั้นราวกับถอดมาจากคาแรกเตอร์ของ ‘RM Renfield’ ตัวละครในวรรณกรรมอมตะอย่าง Dracula จึงทำให้ชื่อ Renfield ถูกเลือกโดย นอล และ แคทเธอรีน แรมแลนด์ (Katherine Ramsland) ศาสตราจารย์ด้านนิติจิตวิทยา เพื่อนำมาใช้เป็นชื่อของโรคนิยมบริโภคเลือด

Renfield’s Syndrome ยังมีความคล้ายคลึงกันอย่างแยบยลกับภาวะ Clinical Vampirism ซึ่งเป็นภาวะหลงใหลการเสพสมในกามโดยมีเลือดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการถูกกระตุ้นความตื่นเต้นทางเพศด้วยเลือดในช่วงวัยรุ่นนั่นเอง 

หมายเหตุ: Renfield’s Syndrome และ Clinical Vampirism ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นข้อวินิจฉัยที่ถูกต้องในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM)

  • การแพร่เชื้อแวมไพร์ผ่านการกัด

ข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่ามกลางตำนานแวมไพร์ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ‘ผู้ที่ถูกแวมไพร์ดูดเลือดจะกลายเป็นแวมไพร์’ คือการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ในยุโรปตะวันออก ระหว่างปี ค.ศ. 1721-1728

ความเฟื่องฟูของวรรณกรรมผีดิบดูดเลือด อุบัติขึ้นพร้อมกับโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ซึ่งยังไม่สามารถหาทางรักษาให้หายขาดได้ในสมัยนั้น ในภายหลังจึงได้เกิดการศึกษาและเกิดข้อเสนอด้านประสาทวิทยาของ ฆวน โกเมซ-อาลอนโซ (Juan Gomez-Alonso) โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่คล้ายคลึงกันระหว่างพฤติกรรมของแวมไพร์กับผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า 

บทความ Rabies: A possible explanation for the vampire legend (1998) ของโกเมซ-อาลอนโซ ระบุว่า พฤติกรรมผิดปกติของมนุษย์ที่ ‘ดูเหมือน’ จะเป็นแวมไพร์ มักมีอาการกระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ พ่วงมาด้วยอาการประสาทหลอน กลัวแสง กลัวน้ำ แสดงอาการความก้าวร้าว และพยายามที่จะกัดมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลมาจากการถูกเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าทำลายระบบประสาทส่วนกลางซึ่งควบคุมการทำงานของสมองและไขสันหลัง จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมและสัมปชัญญะของตัวเองได้

นอกจากนี้ ทั้งโรคพิษสุนัขบ้าและการดูดเลือดยังเป็นโรคติดต่อที่กระทำผ่านการกัดหรือการสัมผัสเลือดสู่เลือด อีกทั้งการเสียชีวิตของมนุษย์จากโรคพิษสุนัขบ้าก็มักจะเป็นผลมาจากการหายใจไม่ออกหรือหัวใจหยุดเต้น ผู้เสียชีวิตบางรายยังมีอาการตกเลือด (hemorrhage) รวมถึงศพสลายตัวได้ช้า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นคุณสมบัติที่ถูกจารึกว่าเป็นสัญญาณก่อนการกลายเป็นแวมไพร์ทั้งสิ้น

มนุษย์หมาป่า (Lycanthropy): Clinical Lycanthropy และ Hypertrichosis

อาการของมนุษย์หมาป่า เป็นกลุ่มอาการทางจิตเวชที่ถูกวินิจฉัยในทางการแพทย์ว่าเป็นโรค Clinical Lycanthropy ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบหายากของกลุ่มอาการหลงผิดที่ถูกบันทึกไว้ใน DSM มาเป็นเวลานาน โดยผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถกลายร่างเป็นหมาป่า หรือสามารถแสดงพฤติกรรมของหมาป่าได้ ความหลงผิดดังกล่าวนำมาสู่พฤติกรรมการทำร้ายมนุษย์และกินเนื้อหลังสังหาร เหมือนพฤติกรรมการออกล่าของหมาป่า

ขณะเดียวกัน คำอธิบายทางการแพทย์ของความเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพที่ทำให้มนุษย์มีเส้นขนปกคลุมร่างกายจำนวนมากเหมือนหมาป่า คือกลุ่มอาการ Hypertrichosis หรือ Werewolf Syndrome ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโปรตีนชนิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูขุมขน โดย Hypertrichosis เป็นโรคที่เกิดในเพศชาย ในผู้ป่วยบางรายความผิดปกตินี้ยังเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนเพศชายอีกด้วย

นอกเหนือจากอาการหลงผิดว่ามนุษย์จะสามารถกลายเป็นหมาป่าได้ ยังมีกลุ่มอาการที่ใกล้เคียงกันซึ่งเรียกว่า Zoanthropy โดยผู้ป่วยเชื่อว่าร่างกายของตัวเองจะสามารถพัฒนากลายเป็นสัตว์ได้ ซึ่งกลุ่มอาการนี้สามารถพบได้ทุกทวีป

ข้อคาดการณ์ถึงที่มาของกลุ่มอาการเหล่านี้ ถูกเชื่อมโยงไว้ด้วย 2 สาเหตุหลัก คือความบกพร่องของการรวมประสาทสัมผัส ซึ่งเป็นผลจากการทำงานผิดปกติของสมองซีกขวา (right hemisphere anomalies) และการรับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสัตว์ของผู้ป่วยเอง

ผีสิง (Haunted): โรคประสาทฮิสทีเรีย (Hysterical Psychosis) และโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR

ความป่วยไข้และความผิดปกติของพฤติกรรมมนุษย์อย่างไม่มีที่มาที่ไป กลายไปเป็นใครบางคนที่ไม่เหมือนคนเดิม อาการเหล่านั้นมักถูกเชื่อว่าเป็นอาการของผู้ที่ถูกบางอย่างเข้าสิง ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีให้เห็นในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในรายงานจากองค์กรการแพทย์ได้วินิจฉัยถึงลักษณะกลุ่มอาการดังกล่าวไว้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือคำอธิบายในเชิงโรคทางจิตเภท โดย ศ.นพ.สงัน สุวรรณเลิศ ให้ข้อเสนอไว้ในหนังสือ ผีปอบ, ผีเข้าในทรรศนะทางจิตเวชศาสตร์ (2549) ว่าอาการซึ่งถูกเรียกว่า ‘ผีเข้า’ ในไทย คืออาการของโรคประสาทฮิสทีเรีย (Hysterical Psychosis) ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตผีเข้า (Spirit Possession Psychosis) ผู้ป่วยจะมีความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรงจนเกิดความผิดปกติในด้านการเคลื่อนไหวและการรับรู้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง มองไม่เห็น

อาการเหล่านี้จะกำเริบขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรง จึงไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติทางกายได้โดยตรง แต่สามารถรักษาได้ ซึ่งข้อเสนอเรื่องกลุ่มอาการถูกสิงที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยโรคประสาทฮิสทีเรียนี้เป็นข้อวินิจฉัยร่วมกันของจิตแพทย์ในระดับสากล

ข้อเสนออีกรูปแบบ คือการวินิจฉัยพฤติกรรมอันมาจากความผิดปกติของร่างกายโดยตรง นั่นคือโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR​ ซึ่งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยทางกายร่วมกับอาการที่ดูคล้ายมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น นอนไม่หลับ สับสน ก้าวร้าวหรือเซื่องซึม ประสาทหลอน ซึ่งอาจถูกตีความว่าในทางไสยศาสตร์ว่าถูกผีเข้า ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษา ก็จะเริ่มมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เคี้ยวปาก แลบลิ้น มือและเท้าขยับไปมา ร่วมกับมีอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

อ้างอิง


สงัน สุวรรณเลิศ. ผีปอบ, ผีเข้าในทรรศนะทางจิตเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์, 2529:247-67.

What Causes Renfield’s Syndrome?

The real-life diseases that spread the vampire myth

3 Real Diseases That Influenced Vampire Folklore

Rabies: A possible explanation for the vampire legend

Clinical Lycanthropy, Neurobiology, Culture: A Systematic Review

A Rare Report of Clinical Lycanthropy in Obsessive-Compulsive and Related Disorders

Hypertrichosis

กรมการแพทย์ เผยสาเหตุความเข้าใจผิดของอาการผีเข้าคือ โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR​

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า