ภาวะโลกเดือด กระแสน้ำอุ่นเหือดหาย และการละลายของหิมะบนขั้วโลกที่สาม

ปลายปี 2020 จนถึงต้นปี 2023 หลายประเทศทางซีกโลกตะวันออกได้เผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีติดต่อกัน (triple-dip La Niña) ฝนจึงตกมากกว่าปกติเป็นเวลานาน หลังจากนั้นสภาพอากาศก็เคลื่อนสู่สภาวะเป็นกลาง (neutral) อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อย่างเต็มรูปแบบ อากาศจึงร้อนระอุและอาจเกิดภัยแล้งที่ยาวนาน

ปัจจุบัน พวกเรากำลังเผชิญกับลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก พายุรุนแรง ไฟป่าโหมกระหน่ำ คลื่นความร้อน (heat wave) คลื่นความเย็น (cold wave) และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปรปรวนจนยากจะคาดเดา บทความนี้ ผมจึงอยากชวนผู้อ่านไปสำรวจความวิปริตของลมฟ้าอากาศที่อาจทำลายกลไกการทำงานของโลกบางส่วนลงอย่างราบคาบภายในปลายศตวรรษนี้

เดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

“ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคภาวะโลกเดือด”

คำกล่าวอันน่าตระหนกนี้เป็นของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations: UN) ที่อ้างอิงจากผลการศึกษาขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) และศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ซึ่งพบว่าเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเทียบเคียงกับอุณหภูมิของยุคอีเมียน (Eemian) หรือช่วงระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (last interglacial) เมื่อประมาณ 120,000 ปีก่อน

อุณหภูมิเฉลี่ย 23 วันแรกของเดือนกรกฏาคม ตั้งแต่ปี 1940-2023 | photo: United Nations (UN)

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์สามารถอธิบายอย่างคร่าวๆ ได้ว่า บรรยากาศโลกจะ ‘รับ’ ความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ครู่หนึ่ง แล้ว ‘ปล่อย’ ความร้อนนั้นกลับคืนสู่อวกาศ เรียกว่า สมดุลพลังงานของโลก (earth’s energy budget) ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ 4 อย่างที่ควรรู้จัก ได้แก่

  1. ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) คือ การที่ก๊าซเรือนกระจก เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ดูดกลืนความร้อนส่วนหนึ่งจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลกมีค่าเกือบคงที่ หากไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว พื้นผิวโลกจะเย็นลงจนถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
  2. รูโหว่โอโซน (ozone hole) คือ การที่สารทำลายโอโซน เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ไฮโดรโบรโมฟลูออโรคาร์บอน ฮาลอน ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศแล้วทำลายชั้นโอโซน (ozone layer) จนกลายเป็นช่องเปิด แสงอาทิตย์จึงทะลุผ่านลงมาที่พื้นผิวโลกมากขึ้น แต่รูโหว่โอโซนไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น
  3. ภาวะโลกร้อน (global warming) คือ การที่ก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก๊าซเรือนกระจกมีมากมายหลายชนิด แต่สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก เพราะก๊าซดังกล่าวถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน และสามารถตกค้างอยู่ในบรรยากาศได้นานหลายสิบปีจนถึงหลายร้อยปี
  4. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คือ การที่ภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถเกิดจากธรรมชาติ เช่น การปะทุของภูเขาไฟ การตกปะทะของอุกกาบาต การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลก การเปลี่ยนแปลงปริมาณแสงอาทิตย์ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า ความวิปลาสของลมฟ้าอากาศในปัจจุบันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก
สมดุลพลังงานของโลก | photo: NASA

ส่วนคำว่า ภาวะโลกเดือด (global boiling) เป็นความพยายามที่จะสื่อสารว่า ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นจนลมฟ้าอากาศแปรปรวนยิ่งกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา

ตรงจุดนี้ ผมขออนุญาตนอกเรื่องสักหน่อย เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการเรียก climate change ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ตามกระแสนิยม ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. climate แปลว่า ‘ภูมิอากาศ’ ไม่ใช่ ‘โลก’ และ change แปลว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ ไม่ใช่ ‘รวน’
  2. ภูมิอากาศของโลกไม่ใช่ระบบที่เสถียร แต่สามารถเกิดความแปรปรวน (variability) ได้เป็นครั้งคราว ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ ‘การรวน’ แต่ภาวะดังกล่าวมีขนาดเล็กกว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ เราจึงไม่ควรนำภาวะที่เล็กกว่าไปแทนที่ภาวะที่ใหญ่กว่า
  3. คำว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกกำลังรวน ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่มีนิยามชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ

การล่มสลายของกระแสน้ำอุ่น

กระแสภาวะโลกเดือดยังไม่ทันหาย ข่าวเรื่องการล่มสลายของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (gulf stream) ก็ตามมาติดๆ

จากความรู้วิชาสมุทรศาสตร์ (oceanography) กระแสน้ำในมหาสมุทรแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. กระแสน้ำพื้นผิว (surface current) คือ กระแสน้ำระดับตื้นที่เกิดจากลมพัดผ่านผิวน้ำทะเล
  2. กระแสน้ำลึก (deep current) คือ กระแสน้ำระดับลึกที่ไหลไปมา เพราะความหนาแน่นของน้ำที่แตกต่างกัน เนื่องจากน้ำมีอุณหภูมิ ความเค็ม และปริมาณสสารไม่เท่ากัน

กระแสน้ำที่ไหลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการไหลของน้ำจะช่วย ‘เกลี่ย’ สสารและพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของมหาสมุทร ภูมิอากาศ แผ่นดิน และระบบนิเวศ

กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมมีจุดกำเนิดบริเวณอ่าวเม็กซิโก ไหลเลียบชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ แล้วพาดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกข้ามไปยังขั้วโลกเหนือและทวีปยุโรป พร้อมนำธาตุอาหารและอุณหภูมิที่อบอุ่นไปด้วย กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า วงจรการหมุนเวียนรอบมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Meridional Overturning Circulation) ซึ่งทำหน้าที่กระจายธาตุอาหารและอุณหภูมิไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก และวงจรดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของกระแสน้ำขนาดใหญ่กว่า เรียกว่า วงจรการหมุนเวียนเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohaline Circulation) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนธาตุอาหารและอุณหภูมิไปยังมหาสมุทรเกือบทั่วโลก

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งจึงละลายลงสู่ทะเลมากขึ้น ความหนาแน่นของน้ำที่ลดลงทำให้กระแสน้ำที่คอยรักษาสมดุลของมหาสมุทรแอตแลนติกไหลช้าลงเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์บางส่วนจึงเกรงว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายอาจดำเนินมาถึงปากเหว เรียกว่า จุดพลิกผันที่ย้อนกลับไม่ได้ (irreversible tipping point) หากกระแสน้ำดังกล่าวหยุดไหล ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นระหว่างปี 2025-2095 ผลกระทบที่ตามมาคืออุณหภูมิของทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปจะลดต่ำลง เกิดภาวะแห้งแล้ง ลมฟ้าอากาศปั่นป่วน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ธาตุอาหารในทะเลน้อยลง และระบบนิเวศเสื่อมถอยเป็นวงกว้าง

แม้วงจรการหมุนเวียนรอบมหาสมุทรแอตแลนติกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความหนาแน่นของน้ำจะอ่อนกำลังลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า แม้กระแสน้ำดังกล่าวจะไหลช้าลงหรือหยุดชะงักไป กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงลมน่าจะยังสามารถทำงานต่อไปได้ เพราะมหาสมุทรเป็นระบบขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความโกลาหลจนยากจะคาดเดา

มหันตภัยบนหลังคาโลก

เมื่อพูดคำว่า ‘ขั้วโลก’ หลายคนคงนึกถึงดินแดนอันหนาวเหน็บนามว่า อาร์กติก (Arctic) ที่ขั้วโลกเหนือ และแอนตาร์กติกา (Antarctica) ที่ขั้วโลกใต้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ที่ราบสูงทิเบต (Tibetan plateau) แห่งทวีปเอเชีย คือที่ตั้งของขั้วโลกที่สาม (third pole) ซึ่งมีปริมาณหิมะและน้ำแข็งเป็นรองเพียงขั้วโลกทั้งสองแห่งเท่านั้น

ขั้วโลกที่สาม เกิดจากเทือกเขาขนาดใหญ่ 3 แห่ง ทอดยาวเรียงต่อกัน เรียกว่า ระบบฮินดูกูช-การาโกรัม-หิมาลายัน (Hindu Kush-Karakoram-Himalayan system) ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นกำแพงธรรมชาติคอยชะลออากาศเย็นบางส่วนจากเอเชียกลางไม่ให้ไหลลงมาสู่พื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตร และยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายในทวีปเอเชีย ได้แก่ ฮวงโห แยงซี คงคา พรหมบุตร สินธุ อิรวดี อามูดาร์ยา ทาริม สาละวิน และโขง ซึ่งน้ำจืดปริมาณมหาศาลจะไหลลงสู่ที่ราบและทะเล เพื่อควบคุมสมดุลของระบบนิเวศและหล่อเลี้ยงผู้คนอีกกว่า 2,000 ล้านชีวิต

การเรียงตัวของเทือกเขาบนขั้วโลกที่สาม | photo: Mohd Farooq Azam

ข่าวร้ายมีอยู่ว่า ขั้วโลกที่สามก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของภาวะโลกร้อนเช่นกัน!

เมื่ออากาศที่ร้อนระอุเร่งให้หิมะและน้ำแข็งละลาย แสงอาทิตย์จะสะท้อนกลับสู่ท้องฟ้าน้อยลง แผ่นดินจึงร้อนขึ้น กรณีเลวร้ายที่สุด หิมะและน้ำแข็งที่ละลายจะกลายเป็นทะเลสาบบนภูเขา เมื่อขอบของทะเลสาบปริแตก มวลน้ำจะทะลักทลายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เรียกว่า น้ำท่วมแบบระเบิดจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacial lake outburst flood) ซึ่งอาจกวาดล้างชุมชนบริเวณนั้นไปจนหมด และหากโลกยังร้อนขึ้นเรื่อยๆ อนาคตข้างหน้าพื้นที่รอบขั้วโลกที่สามและยอดเขาเอเวอร์เรส (Everest) อาจสูญเสียหิมะสีขาว แล้วถูกแทนที่ด้วยพืชพรรณสีเขียว จนกลายเป็นทิวทัศน์แปลกตาที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

ธารน้ำแข็งละลายกลายเป็นทะเลสาบบนภูเขาที่ประเทศเนปาล | photo: Sharad Joshi Edited by J.Bendle

ผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่า เสถียรภาพของแผ่นดิน ผืนน้ำ และระบบนิเวศ ล้วนถูกกำหนดด้วยอำนาจของท้องฟ้า แต่ถ้าถามว่ามนุษยชาติจะหาหนทางลดความเดือดพล่านของโลกลงได้อย่างไรนั้น คำตอบยังคงอยู่ในความมืดมิด

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า