พบหลุมโอโซนใหญ่กว่าทวีปแอนตาร์กติกา นักวิทยาศาสตร์ชี้เป็นความผิดปกติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

นักวิจัยจากหน่วยบริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัส (The Copernicus Atmosphere Monitoring Service) เปิดเผยว่า ปี 2021 หลุมบนชั้นบรรยากาศโอโซนขยายขนาดอย่างรวดเร็ว และมีขนาดใหญ่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของหลุมโอโซนที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในช่วงเวลาเดียวกันนับตั้งแต่ปี 1979

โอโซน คือโมเลกุลที่ลอยตัวอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) สูงขึ้นไปประมาณ 11-40 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก เปรียบเสมือนม่านกันแดดซึ่งกำบังโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลต ตามปกติแล้วหลุมบนชั้นโอโซนจะเกิดขึ้นทุกปีบริเวณซีกโลกใต้ในช่วงปลายฤดูหนาว โดยดวงอาทิตย์เป็นสาเหตุที่ทำให้โอโซนลดลง (Ozone-depleting) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรูปแบบปฏิกิริยาทางเคมีของคลอรีนและโบรมีนจากสารประกอบที่มนุษย์สร้างขึ้น นักวิจัยของโคเปอร์นิคัสแถลงด้วยว่า ปีนี้หลุมดังกล่าว “มีวิวัฒนาการจนดูเหมือนจะใหญ่กว่าปกติ”

วินเซนต์ เฮนรี พุช (Vincent-Henri Peuch) ผู้อำนวยการประจำหน่วยฯ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “เราไม่สามารถบอกได้จริงๆ ว่าหลังจากนี้หลุมโอโซนจะวิวัฒนาการต่อไปแบบใด อย่างไรก็ตาม หลุมที่เกิดขึ้นในปีนี้คล้ายกันอย่างน่าประหลาดกับหลุมหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2020 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ลึกที่สุดและคงอยู่ยาวนานที่สุดจากข้อมูลของเราตั้งแต่ปี 1979

“โอโซนในปี 2021 อยู่ในกลุ่มของหลุมที่ใหญ่ที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 1979 แต่กระบวนการเกิดหลุมยังคงดำเนินต่อไป เราจะสังเกตพัฒนาการต่อในสัปดาห์หน้า การที่หลุมโอโซนใหญ่หรือเล็กในแต่ละปีไม่ได้มีนัยสำคัญที่บ่งบอกว่าหลุมจะไม่มีกระบวนการฟื้นตัว แต่ก็เป็นสัญญาณที่จำเป็นต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และการวิจัยสามารถนำไปสู่การหาสาเหตุเบื้องหลังของการเกิดหลุมโอโซนโดยเฉพาะได้”

การลดลงของชั้นโอโซนเป็นที่ยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ว่า เกิดจากก๊าซ CFCs ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกช่วงปี 1930 เพื่อใช้ในระบบทำความเย็นและใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระป๋องสเปรย์ สารดังกล่าวมีสภาพคงที่ ทำให้เดินทางจากพื้นผิวโลกไปยังชั้นบรรยากาศได้ ทว่าหลังจากนั้น ณ ระดับความสูงชั้นสตราโตสเฟียร์ที่มีโอโซนอยู่ สาร CFCs จะถูกทำลายด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตพลังงานสูง ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำลายโอโซนตามมา 

ด้วยเหตุนี้ CFCs จึงถูกห้ามใช้ใน 197 ประเทศทั่วโลก นับแต่นั้นมาชั้นโอโซนก็เริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัว แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต้องใช้เวลาถึงช่วงปี 2060-2070 เพื่อให้สารเคมีค่อยๆ ลดลงจนหมดไปอย่างสมบูรณ์ โดยที่ผ่านมาหลุมโอโซนขยายขนาดได้สูงสุดถึง 20 ล้านตารางกิโลเมตร ภายใต้สภาพอากาศปกติ

ทั้งนี้ หลุมโอโซนที่เกิดขึ้นในปี 2020 มีขนาดใหญ่และลึกเช่นกัน ซึ่งมีสถิติสูงสุดประมาณ 3 เท่าของทวีปอเมริกา โดยปกติแล้วหลุมโอโซนที่แอนตาร์กติกาจะขยายถึงจุดสูงสุดระหว่างกลางเดือนกันยายนและกลางเดือนตุลาคม และเมื่ออุณหภูมิในชั้นสตราโตสเฟียร์เริ่มสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้ การลดลงของโอโซนจะช้าลง อีกทั้งกระแสน้ำวนขั้วโลกก็จะอ่อนลงและสลายตัวในที่สุด และภายในเดือนธันวาคมระดับโอโซนก็มักจะกลับสู่สภาวะปกติ 

ที่มา

‘Larger than usual’: this year’s ozone layer hole bigger than Antarctica

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า