ส่องปฏิกิริยาของเศรษฐี เมื่อโลกร้อนจี้ให้คนตัวใหญ่ขยับตัว

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) นักปีนเขาชาวแคลิฟอเนียร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าเอาท์ดอร์ ‘Patagonia’ ประกาศยกสิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ประกาศของชูนาร์ดในเว็บไซต์ของ Patagonia ระบุว่า หุ้นที่มีสิทธิออกเสียง (voting stock) จะถูกมอบให้ ‘Patagonia Purpose Trust’ ซึ่งมีหน้าที่รักษาธุรกิจของบริษัทไว้ ขณะที่หุ้นที่ไม่มีสิทธิออกเสียง (nonvoting stock) จะมอบให้องค์กรไม่แสงหาผลกำไร ‘Holdfast Collective’ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องธรรมชาติ เงินทุนส่วนนี้จะมาจาก Patagonia หลังจากเงินถูกใช้ลงทุนในภาคธุรกิจ และเงินปันผลส่วนหนึ่งจะถูกจัดสรรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

แทนที่ชูนาร์ดจะขายบริษัทหรือทำให้เป็นมหาชน เขาและครอบครัวกลับโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรข้างต้น เพื่อรักษาสถานะความเป็นอิสระและรับประกันว่าผลกำไร (ซึ่งไม่น่าต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี) จะถูกใช้เพื่อโลกจริงๆ

ไม่เพียงแต่เศรษฐีแบรนด์เสื้อผ้ารายนี้จะมีท่าทีต่อวิกฤตการสิ่งแวดล้อม เราพบว่าในช่วงเวลาปัจจุบัน อากัปกิริยาของเศรษฐีทั่วโลกก็มีทิศทางเดียวกัน

อินเดีย – มุเกศ อัมพานี (Mukesh Ambani) บุคคลที่ร่ำรวยอันดับ 4 ของโลกในปี 2010 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbs ให้คำมั่นว่ากิจการของเขาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2035 พร้อมหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนและเปลี่ยนให้คาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้

ออสเตรเลีย – แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ (Andrew Forrest) ผู้ก่อตั้ง Fortescue Furure Industries ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Fortescue Metals สนับสนุนเงินลงทุนหลักพันล้านดอลลาร์ในโครงการ Green Hydrogen ของรัฐควีนส์แลนด์และรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายให้ธุรกิจเหมืองมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral หรือก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน) ภายในปี 2040

เดนมาร์ก – บีจอร์น ลอมบอร์ค (Bjørn Lomborg) ทำการวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมพลังงาน เขาเปรียบเทียบวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปัจจุบันกับปัญหาการล่าวาฬเพื่อเอาน้ำมัน จนวาฬใกล้สูญพันธุ์ในทศวรรษ 1860 เขากล่าวว่า ทางออกในตอนนั้นไม่ใช่การขึ้นภาษีน้ำมันวาฬ แต่เป็นการประดิษฐ์น้ำมันก๊าซมาทดแทน

ย้อนไปในปี 1919 นักธุรกิจนาม เรย์มอนด์ ออร์เต็ก (Raymond Orteig) เสนอเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรางวัลสำหรับบุคคลที่บินจากนิวยอร์กกลับปารีสโดยไม่ต้องพัก ผู้ชนะคือชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindberg) ทหารกองหนุนของกองทัพสหรัฐฯ สิ่งนี้กระตุ้นความก้าวหน้าของวงการการบินเป็นอย่างมาก

เรย์มอนด์ ออร์เต็ก (Raymond Orteig) คนขวา และ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindberg)

อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาของมวลมนุษยชาติ ล้วนต้องอาศัยเงินและผู้มีฐานะอยู่เบื้องหลังเสมอ และเมื่อถึงยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การทุ่มเงินเพื่อแก้ปัญหา Climate Change ดูจะช่วยเสริมภาพลักษณ์และภาพจำสีเขียวทั้งต่อตนเองและบริษัทได้เป็นอย่างดี

ในปี 2021 หลังจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)[1] ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ พบว่า เงินบริจาคและกองทุนสาธารณะของบรรดาเศรษฐีในงาน มีมูลค่าราว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผลการสำรวจของ Climate Works Foundation เผยว่า มีเพียง 2% ของเงินบริจาคเพื่อการกุศลที่ใช้ไปในการต่อสู้กับ Climate Change ขณะที่เงินส่วนใหญ่ใช้ไปในประเด็นการศึกษาและสุขภาพ

แชมป์ผู้ใจบุญมากที่สุดตกเป็นของ เจฟ เบซอส (Jeff Bezos) จากกองทุน Bezos Earth Fund จำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วย Gates Foundation จำนวน 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ The Ford Foundation จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

จากตัวเลข 3 อันดับแรก จะเห็นได้ว่า กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษ และยิ่งหากมองไปที่ตัวบุคคลแล้ว จะพบว่า 3 ใน 5 ของคนที่รวยที่สุดในโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แห่ง Tesla Motor เจฟ เบซอส แห่ง Amazon และ บิล เกตส์ (Bill Gates) อดีต CEO ของ Microsoft ล้วนพูดถึงการใช้เทคโนโลยีและศักยภาพของมันในการต่อกรกับปัญหา Climate Change

มัสก์มุ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจำกัดคาร์บอน เกตส์สนใจพลังงานนิวเคลียร์เป็นพิเศษ ขณะที่เบซอสก็มี Bezos Earth Fund นั่นแหละ แต่เมื่อแจกแจงวิธีการอย่างคร่าวๆ ของแต่ละบุคคล จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า…

มัสก์ก่อตั้ง the X Prize Foundation และ Musk Foundation พร้อมมอบเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีดักจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับกิกะตัน (gigaton) และยังมีเป้าหมายกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 กิกะตัน ภายในปี 2050 และไม่ใช่เพียงการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว ในปี 2019 มัสก์ควักเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นต้นไม้ 1 ล้านต้น) ให้กับ ‘MrBeast’ หรือ จิมมี โดนัลด์สัน (Jimmy Donaldson) ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่ทำแคมเปญปลูกต้นไม้ช่วยโลกฉลองยอดติดตามทะลุ 20 ล้านคน

ตัดมาที่เบซอส นอกจาก Bezos Earth Fund แล้ว เบซอสยังมี Climate Pledge ที่ร่วมก่อตั้งกับ Global Optimism Group มีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040 และเชื่อกันว่า Amazon คือผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก ย้อนไปในปี 2016 พวกเขายังร่วมลงทุนกับนักลงทุนชั้นนำในการเปิดตัว Breakthrough Energy Ventures เพื่อลงทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในบริษัททางเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่มีเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ 

ส่วน บิล เกตส์ ก่อตั้งบริษัท TerraPower ตั้งแต่ปี 2008 พร้อมเป้าหมายในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ Microsoft ยังมีเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ต่อหน่วยภายในปี 2030 เศรษฐีผู้นี้นับเป็นผู้มีอิทธิพลคนแรกๆ ที่พูดถึง Climate Change เขาถึงกับเขียนหนังสือ How To Avoid A Climate Disaster (2021) ซึ่งระบุว่า โลกเรามีการปล่อยรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ราว 7,493 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของพวกมหาเศรษฐี และจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอินเดียนา เผยว่า รอยเท้าคาร์บอนที่เกิดจากบรรดามหาเศรษฐี คิดเป็น 3,000 เท่าของค่าเฉลี่ยของคนฟิจิ และมากถึง 11,350 เท่าของค่าเฉลี่ยของคนลาว

คาบี สิงห์ พันทารี (Kabir Singh Bhandari) จาก Entrepreneur.com มีความเห็นว่า Climate Change ในอนาคต อาจนำมาสู่การเสียชีวิตจากไข้มาลาเรียประมาณ 250,000 รายต่อปี ทั้งยังเกิดภาวะความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น ภาวะทุพโภชนาการ รวมไปถึงภาวะท้องร่วง และยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น หากเกิดสิ่งเหล่านี้ในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานไม่แข็งแรง และหากรัฐบาลของแต่ละประเทศยังไม่ใส่ใจแล้ว บทบาทกู้โลกย่อมตกเป็นของบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ๆ ต่อไป

คริสเตียน โครล (Christian Kroll) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Ecosia – เสิร์ชเอ็นจินรักษ์โลก ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน เขาบอกกับ CNBC ว่า “โดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาคิดแบบที่ ‘ไอรอนแมนคิด’ (Iron Man Way) ซึ่งมันคือความคิดที่ว่า เทคโนโลยีสามารถสร้างสรรค์สิ่ง (เดิม) ขึ้นมาใหม่ได้” โครลยังชี้ว่า พวกเขาควรให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้มากกว่า

ไม่เพียงแต่โครลที่พยายามบอกว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญ เดฟ วอลแธม (Dave Waltham) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Earth Sciences ที่ Royal Holloway, University of London ได้เปรียบไว้ว่า การปลูกต้นไม้เสมือนการปฐมพยาบาลให้กับโลก เพราะจะช่วยซื้อเวลาให้มนุษย์หาทางแก้ไขในระยะยาวได้

“การซื้อเวลาด้วยวิธีนี้ มีค่ามหาศาล เพราะเรายังไม่สามารถผลิตอาหาร เหล็ก พลังงาน และคอนกรีต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยสมบูรณ์” วอลแธมกล่าวกับ CNBC

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ How To Avoid A Climate Disaster บิล เกตส์ แย้งว่า กลยุทธ์การปลูกป่าที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การหยุดตัดต้นไม้ที่เรามีอยู่แล้ว

เจ้าพ่อ Microsoft ให้ความเห็นประเด็นนี้ในพอดแคสต์กับ คารา สวิชเชอร์ (Kara Swisher) จาก New York Times ความว่า “หากคุณให้ทุนสนับสนุนการปลูกป่า คุณต้องใช้เวลาปลูกอย่างต่อเนื่องถึง 10,000 ปี มันจึงจะเป็นการชดเชยที่เหมาะสม แต่ถ้าคุณปลูกแค่ครั้งเดียว รุ่นเดียว มันก็ไม่ช่วยอะไรมากหรอก ผมไม่ได้บอกว่ามันผิดหรืออะไรนะ แต่มันจะไม่ช่วยเรื่องนี้อย่างมีนัยยะนักหรอก”

เกตส์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่มากที่สุดในสหรัฐฯ กล่าวเสริมต่อไปว่า “ความคิดที่ว่า โลกเราจะมีพื้นที่ปลูกต้นไม้เป็นล้านล้านต้น นั่นมันเป็นความคิดที่ผิด”

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนมหาเศรษฐีจะตบเท้าเข้าวงการสีเขียวไปตามๆ กัน และความเห็นของพวกเขายังชี้ชัดว่า เป็นเสียงที่ขึงขังกว่าคนทั่วไปหากพูดถึงประเด็น Climate Change

แต่แทนที่จะรอปาฏิหาริย์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือแคมเปญเก๋ๆ จากองค์กรใหญ่ๆ เอมิลี กอช (Emily Ghosh) จาก Stockholm Environmental Institution (SEI) เสนอว่า “วิธีแก้ไขปัญหาควรมาจากโครงสร้างส่วนล่าง พร้อมๆ กับโครงสร้างส่วนบน เพราะวิธีแก้ไขจากด้านเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ 

“เราจำเป็นต้องพิจารณาวิธีแก้ไขเฉพาะบริบทและรับฟังผู้คนที่อยู่อาศัยตรงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change” เธอกล่าวกับ Aljazeera

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ไขปัญหา Climate Change ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษย์ดั่งความเห็นของกอช หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า สัดส่วนของการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ย่อมแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และรอยเท้าคาร์บอนมีความแตกต่างอย่างสัมพันธ์กับช่วงชั้นฐานะ การทุ่มเงินของมหาเศรษฐีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แม้เป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็เกิดคำถามมากมายว่ามันช่วยโลกได้กี่มากน้อย

แม้ยังไม่มีตัวเลขสถิติแน่ชัด แต่การวิพากษ์กลวิธี ‘สนับสนุนเงิน’ ของมหาเศรษฐีก็มีข้อวิพากษ์ที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในช่วงพฤษภาคม 2022 ไมค์ แคนนอน-บรู๊คส์ (Mike Cannon-Brookes) บุคคลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ในออสเตรเลีย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Atlassian เข้าซื้อหุ้น 11% ของ AGL Energy องค์กรที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการนั้น แคนนอน-บรู๊คส์ จึงทุ่มเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการลงทุนกับ AGL Energy สำหรับพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บแบตเตอรี่ เขาอธิบายแผนของเขาว่าเป็นโครงการกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ไมค์ แคนนอน-บรู๊คส์ (Mike Cannon-Brookes)

กระนั้น จากการให้สัมภาษณ์กับ Aljazeera ดาริโอ เคนเนอร์ (Dario Kenner) ผู้เขียนหนังสือ Carbon Inequality: The Role of the Richest in Climate Change (2019) ชี้ว่าวิธีการของ แคนนอน-บรู๊คส์ มีข้อบกพร่อง

“วิกฤตที่เร่งด่วนอย่าง Climate Crisis หมายถึงการไม่มีเวลาสำหรับการสร้างบริษัทสีเขียวอย่าง AGL ทีละบริษัท การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานก่อนหน้านี้ถูกควบคุมโดยรัฐบาล และมันต้องเกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อลดการใช้น้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงวิธีการและการถกเถียงกับมหาเศรษฐีในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีและพลังงาน ซึ่งให้ภาพของการแก้ปัญหาแบบบนลงล่าง ขณะที่ข้อวิพากษ์ก็มักมีวิธีมองแบบล่างขึ้นบน การมองภาพใหญ่จึงทำให้เรารู้สึกอ่อนล้าเล็กน้อย

ในบทสัมภาษณ์พิเศษกับ The New York Times ชูนาร์ด ในวัย 83 ปี ยังคงใส่เสื้อผ้ามอมแมม ใช้รถยนต์ Subaru ไม่มีคอมพิวเตอร์ และไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ อดีตเจ้าของแบรนด์ Patagonia และอดีตนักปีนเขารุ่นบุกเบิก ให้ความเห็นว่า

“หวังว่าสิ่งนี้ (การเปลี่ยนแปลงของ Patagonia) จะส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ของทุนนิยม ที่ไม่ได้จบลงโดยมีคนรวยเพียงหยิบมือและมีคนจนเป็นกลุ่มๆ เราจะให้เงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับผู้ที่ทำงานช่วยโลกใบนี้”

ยังไม่แน่ชัดว่าวิธีการของชูนาร์ดจะช่วยโลกตามเจตนารมณ์ ‘โลกคือผู้ถือหุ้นรายเดียวของเรา’[2] ได้หรือไม่ แต่ก็นับว่าเป็นประโยคที่สะท้อนแนวโน้มของทุนนิยมในภาพลักษณ์ที่ประนีประนอมกับผลกำไรและไม่หยาบกระด้างกับสิ่งแวดล้อมมากนัก 

เชิงอรรถ

[1] COP27 จะจัดขึ้นในวันที่ 6-18 พ.ย. 2565 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์

[2] มาจาก ‘Earth is now our only shareholder.’ คำประกาศสละสิทธิ์ของชูนาร์ดบนเว็บไซต์ Patagonia

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า