เข้าใจท่าทีของ เกรตา ธุนเบิร์ก เบื้องหลังคือแอสเพอร์เกอร์

“ฉันควรจะอยู่ในห้องเรียนที่อีกฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณกลับโยนความหวังมาให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ กล้าดียังไง!”

“เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดถึงมีแต่เรื่องเงินและนิทานเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุด กล้าดียังไง!” – “How dare you!”

คือส่วนหนึ่งในถ้อยคำที่ เกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) แอคติวิสต์ด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปี กล่าวปราศรัยในงานประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ไม่ต้องสงสัยว่าเกรตาคือผู้นำเยาวชนและคนรุ่นใหม่แห่งยุคสมัย ที่ออกโรงมาส่งเสียงอันดังถึง ‘วีรกรรม’ ของคนรุ่นก่อนที่มอบโลกและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายเป็นมรดกตกทอดให้กับเขาและเธอ

ขณะเดียวกัน มีคำถามถึงท่าที น้ำเสียง ขณะพูดประโยคข้างต้น หรือจะเป็นแววตาเคียดแค้นที่มองไปยัง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ปฏิเสธปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเบอร์หนึ่งของโลก ว่าเป็นพฤติกรรม ‘ก้าวร้าว’ เกินความจำเป็นหรือเปล่า

สี่ปีที่แล้ว เกรตายังถูกวินิจฉัยว่ามีอาการของแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งอยู่ในการวินิจฉัยเดียวกับออทิสติก แต่ความแตกต่างคือ เด็กแอสเพอร์เกอร์อาจจะมีระดับสติปัญญาสูงกว่าปกติ แต่มีพฤติกรรมซ้ำๆ หมกมุ่นกับเรื่องซับซ้อน ไม่ยืดหยุ่น ไม่เข้าใจลูกเล่น การเปรียบเปรย หรืออารมณ์ขันในการสื่อสาร มีปัญหาในการเข้าสังคม และอาจแสดงความก้าวร้าวออกมาในบางครั้ง

“ฉันมักมองทุกอย่างเป็นสีขาวและสีดำ เวลามองไปยังคนที่มีอำนาจ ฉันมักสงสัยว่าทำไมเขาถึงชอบทำให้เรื่องมันซับซ้อน อย่างถ้าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหยุดยั้งได้ เราก็ควรทำ มันคือสีขาวและสีดำ มันไม่มีสีเทาในการเอาชีวิตรอด”

เกรตาไม่ได้มองอาการแอสเพอร์เกอร์เป็นความบกพร่องหรือผิดปกติ แต่มันเป็นเหมือนของขวัญที่ทำให้เธอตาสว่างและเห็นปัญหาวิกฤตการณ์ของสภาวะภูมิอากาศโลก โดยเกรตาเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า

“มันไม่มีอะไรที่ฉันต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเลย” เกรตากล่าว “มันก็แค่คนที่ฉันเป็น ถ้าฉันเป็นเหมือนคนอื่นๆ และเข้ากับสังคมได้ ฉันคงต้องพยายามเริ่มต้นทำองค์กร แต่ฉันทำอย่างนั้นไม่ได้ ฉันเข้ากับคนอื่นได้ไม่ดีนัก ดังนั้นฉันจึงทำบางอย่างด้วยตัวเองแทน”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
independent.co.uk
theguardian.com/world/2019/mar/11
theguardian.com/science/2018/sep/01
happyhomeclinic.com
livewire.thewire.in
newyorker.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า