อุทยานธรณีสตูล สู่อุทยานธรณีโลก

หลังจากที่อุทยานธรณีสตูล ได้รับการประกาศจากยูเนสโก ขึ้นเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 17 เมษายน 2561 ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจกับสถานที่แห่งนี้มากขึ้น และเริ่มอยากรู้ว่า ‘อุทยานธรณีสตูล’ คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? ความพิเศษของที่นี่มีอะไรดีจนได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณี (Geopark) เราจะร่วมค้นหาคำตอบเหล่านี้ไปด้วยกัน

อ่าวปากบารา

Global Geoparks คืออะไร

UNESCO มีแนวคิดในเรื่องของการอนุรักษ์พื้นที่สามรูปแบบ

หนึ่งคือ มรดกโลก เมื่อได้รับการรับรองแล้ว จะอยู่ภายใต้อนุสนธิสัญญา เช่น อยุธยา เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง สุโขทัย โดยชุมชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ หรือขายของรอบๆ พื้นที่ได้

สองคือ พื้นที่สงวนชีวมณฑล เช่น สะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยเรียนรู้พื้นที่ป่า

สามคือ ‘Geopark’ หรือ อุทยานธรณีโลก เป็นพื้นที่ที่ ประกอบด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่าง โดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา และยังรวมถึง คุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม

ปัจจุบันมีอุทยานธรณีระดับโลกมีจำนวน 140 แห่งใน 38 ประเทศทั่วโลก สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก รวม 8 แห่ง ได้แก่ มาเลเซีย 1 แห่ง, อินโดนีเซีย 4 แห่ง, เวียดนาม 2 แห่ง และไทย 1 แห่ง

ในส่วนของอุทยานธรณีสตูล มีพื้นที่ครอบคลุมสี่อำเภอของจังหวัดสตูล คืออำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมืองสตูล โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่และชายหาดที่สวยงาม

ณรงฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า และผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล

ณรงฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า และผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล กล่าวว่า

“แนวคิดของอุทยานธรณีโลกไม่ใช่ฟอสซิลหรือธรณีอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ชุมชนท้องถิ่น นำมาบริหารจัดการ สร้างเรื่องราว โดยผ่านกระบวนการอนุรักษ์ การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงธรณี เพื่อยกระดับชุมชน ทำให้เกิดวิสาหกิจ เกิดนวัตกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน”
และวันที่ 1 พฤษภาคม ‘อุทยานธรณีสตูล’ ก็ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) จากยูเนสโก ถ้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของอุทยานธรณีสตูล ได้เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2551 ที่มีการค้นพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ ที่อำเภอบ้านหว้า หลังจากนั้นสองปี กรมทรัพยากรธรณีของกระทรวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมีแนวคิดนโยบายในเรื่องการผลักดันอุทยานธรณีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีกรอบแนวคิดการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกห้าด้าน

ปราสาทหินพันยอด

1. ความโดดเด่นทางธรณีวิทยาและภูมิทัศน์

จากงานวิจัยทางธรณีวิทยา สตูลเป็นแผ่นดินทะเลดึกดำบรรพ์ พบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) หรือราว 500 กว่าล้านปีถึง 250 ล้านปีก่อน สามารถแบ่งย่อยออกเป็นหกยุคได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซลูเรียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน สตูลพบฟอสซิลทั้งหกยุค และฟอสซิลที่พบเป็นสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ เช่น ฟอสซิลไทรโลไบต์ หรือ แมงดาทะเล ด้วยประการนี้สตูลจึงได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็น Global Geoparks

2. โครงสร้างการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของชุมชน

Geopark ไม่ใช่เรื่องธรณีอย่างเดียว แต่รวมทั้งประเพณี วัฒนธรรม ชุมชน การให้องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่าผ่านการท่องเที่ยว

3. การให้การศึกษาและข้อมูลข่าวสาร

สตูลทำหลักสูตรท้องถิ่นที่ Geopark ให้นักเรียนนักศึกษาทุกระดับชั้น และผลักดันให้ทำโรงเรียน Geopark ในเขตพื้นที่อุทยานธรณีสตูล

นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูลพาทัวร์อุทยานธรณีสตูล

4. การท่องเที่ยวเชิงธรณี หรือที่เรียกว่า Geo-tourism

เป็นการท่องเที่ยวที่เที่ยวไปด้วย ได้ความรู้ไปด้วย ต้องมีการอบรมไกด์ Geopark ไกด์ท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว

5. การพัฒนาเศรษกิจและภูมิภาคอย่างยั่งยืน

การเอาเรื่องราวมาต่อยอดในผลิตภัณฑ์ OTOP อาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และช่วยใช้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
หลังจากประกาศเป็น Global Geoparks หลายคนต่างกังวลว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่อทรัพยากรท้องถิ่นหรือไม่ นายกฯ ณรงฤทธิ์ชี้แจงว่า “สตูลทำการท่องเที่ยวโดยใช้ธรรมชาติ ใช้ภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์รองรับนักท่องเที่ยว เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน เข้าตอนระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในแต่ละวัน วันละไม่เกินหนึ่งรอบ รอบละไม่เกิน 80-100 คน ถ้าน้ำลงเราจะไม่ให้เข้า ไม่ให้เดิน เพราะว่าจะมีการลากเรืออาจเกิดผลเสียหายแก่ถ้ำ เราจะทำการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์”

6. อยู่ร่วมกับ Geopark อย่างไรให้ยั่งยืน

นอกจากเรื่องท่องเที่ยวแล้ว การรักษาสถานถาพ Global Geoparks ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทาง UNESCO จะมีการประเมินทุกๆ สี่ปี และเพิ่มเกณฑ์การประเมินมากขึ้นด้วย เช่น

สร้างฐานความรู้: UNESCO ต้องการให้มีความรู้เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางธรณีวิทยา ทางชีวภาพ ความหลากหลายในมิติวัฒนธรรม มนุษยชาติ และเชื้อชาติต่างๆ ที่เป็นฐานเดิมของสตูล

บริหารจัดการทุกมิติแบบมีส่วนร่วม: ต้องมีมาตรการหรือกลไกบางอย่างเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของชาวบ้าน ผ่านการบริหารจัดการศึกษา กฎหมาย ความปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีการออกแบบ โดยใช้ฐานความรู้และคนในพื้นที่เป็นตัวตั้งเพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน ไปสู่การจัดการที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วม

ยู่หนา หลงสมัน ประธานเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.สตูล

ด้านสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กรหนึ่งที่เข้าไปทำวิจัยในพื้นที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อความยั่งยืน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการ สกว. อธิบายว่า

การจะพัฒนาสตูลให้ยั่งยืน ต้องใช้ในกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Sustainable Development Goals (SDGs) โดยวางเป้าหมายไว้ 15 ปี ภายใต้แนวคิด 5P ได้แก่

People: คนทุกช่วงทุกวัย ทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาในเชิงพื้นที่ สิ่งที่ สกว. ให้ความสำคัญมาก คือเรื่องการศึกษา ทั้งในและนอกโรงเรียน เนื่องจากความโดดเด่นของโรงเรียนในจังหวัดสตูล ที่ใช้ Research-based Learning (RBL) มาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร RBL เป็นโครงงานการวิจัย ที่ทำให้นักเรียนได้ลงไปปฏิบัติจริง นำสิ่งที่เรียนมามาต่อยอดในการทำโครงงาน การคิด หาคำตอบ มีการต่อยอดไปในทุกระดับไปจนถึงอาชีวศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

UNESCO ต้องการนักธรณีวิทยาที่มีความรู้ ฉะนั้น สกว. จะช่วยหนุนเสริม ช่วยผลิตนักธรณีวิทยาให้กับจังหวัดสตูลและประเทศไทยผ่านการให้ทุนปริญญาโทและปริญญาเอก

Peace และ Partnership: ความสงบสุข และการร่วมมือของชุมชน เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การทำงานอย่างมีส่วนร่วม เรื่อง active citizen เรื่องของความเข้าใจชุมชนในมิติของวัฒนธรรมพื้นเมือง เรื่องของชุมชน กลุ่มชาวบ้านพื้นเมือง

Planet: ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายด้านธรณีวิทยา ยังคงเป็นที่ต้องการ ต้องมีการทำงานวิจัยพื้นฐานที่เข้ามาช่วยสนับสนุน เช่นเรื่อง green economy และ blue economy

Prosperity: มิติทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดีของชุมชน จะต้องออกแบบการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ที่อยู่บนฐานการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ และรักษาทรัพยากรไปในตัว

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการ สกว.

รศ.ปัทมาวดีกล่าวสรุปไว้ว่า “การทำงานอยู่บนฐาน 5P เพื่อหนุนเสริมการมีส่วนร่วม และการพัฒนาเชิงพื้นที่ในกรอบของความยั่งยืน ท้ายที่สุดในเรื่องของความเข้าใจ ทัศนคติ พฤติกรรมของคน เรื่องของระบบ คงใช้งานวิจัยเพื่อออกแบบระบบการบริหารจัดการต่างๆ ในการจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน”

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า