ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ที่เราค้นพบพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านสายแร่ทองคำ (gold belt) กระจายตัวในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นลพบุรี สระบุรี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ รวมทั้งจังหวัดเลย หากคิดตามความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ สินแร่ที่มีค่ายิ่งอย่างทองคำ ย่อมต้องดำเนินการขุดค้นเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ความยั่งยืนด้านสภาพแวดล้อมหรือวิถีชีวิตของชุมชน จะได้รับความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป
เมื่อเวลาผ่านไป เหมืองแร่เปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากบริษัทได้รับผลกำไร และสามารถส่งเป็นค่าภาคหลวง รวมถึงโบนัสพิเศษให้แก่ประเทศชาติ ประชาชนในพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน 1,047 ครัวเรือน ในเขต อบต. เขาหลวง คือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเงินค่าภาคหลวงที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นได้รับปีละ 10-11 ล้านบาท แต่ต้องเฉลี่ยกันทั้ง 13 หมู่บ้าน ถือว่าไม่เพียงพอที่จะเยียวยาได้อย่างทั่วถึง
ในงานสัมมนาวิชาการ ‘ข้อเท็จและความจริง: เหมืองทองคำ จังหวัดเลย’ ร่วมจัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น พยายามนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่าง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตัวแทนจากบริษัททุ่งคำ นักวิชาการ รวมถึงชาวบ้าน อบต. เขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มาแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำไปสู่การปรับความเข้าใจให้ตรงกัน
ภาพรวมของปัญหาเหมืองแร่
อย่างที่ทุกคนรู้ดีว่าการป้องกันก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ทำได้ง่ายกว่าการแก้ไขเยียวยา แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แต่อาจไม่รอบด้าน หรือไม่ได้เตรียมการไว้อย่างเพียงพอ กระบวนการเยียวยา ฟื้นฟู จึงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการโดยเร็วที่สุด
แต่ในสภาพความเป็นจริงล้วนมีปัญหาและอุปสรรคเฉพาะหน้าให้เผชิญกันไม่สิ้นสุด
ภาพจำที่คนทั่วไปมีกับ 3 ตัวละครในเรื่องนี้ ได้แก่ รัฐ เอกชน และประชาชน ไม่มีอะไรผิดแผกไปจากความนึกคิด เมื่อรัฐก็คำนึงถึงผลได้ของประเทศชาติโดยรวมเป็นหลัก เอกชนก็ดำเนินการโดยมุ่งหวังผลกำไร ขณะที่ประชาชน หรือชาวบ้าน เมื่อได้รับโอกาสค่อนข้างจำกัดในการมีส่วนร่วม ทั้งที่พวกเขาคือเจ้าของประเทศตัวจริง
หากเปรียบเทียบง่ายๆ ประชาชนคือเจ้าของมรดก รัฐอยู่ในฐานะผู้จัดการมรดก ส่วนเอกชนคือผู้ที่ทำธุรกิจกับเจ้าของมรดกโดยผ่านผู้จัดการมรดก แต่พอตัวเจ้าของมรดกได้รับความเดือดร้อน ผู้จัดการมรดกและนักธุรกิจกลับบอกว่าหยุดโครงการดังกล่าวไม่ได้
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กลายเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ประชาชนในพื้นที่ไม่อยากได้ยินชื่อ พวกเขาเชื่อว่าแม้ กพร. จะทำตามหน้าที่ แต่บางครั้งดูเหมือนว่าจะเอื้อให้กับเอกชนและมองข้ามความเสียหายและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนไม่ต่ำกว่า 1,000 ครัวเรือน
ในขณะที่การฟื้นฟู เยียวยา ในสายตาชาวบ้านและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะไม่ได้มีการเตรียมการอย่างรอบคอบรัดกุมเพียงพอ การฟื้นฟู ในที่นี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะพื้นที่ในเขตเหมืองแร่เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมในส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณนั้น
ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม คือการสื่อสารทำความเข้าใจ และการให้ข้อมูลที่เพียงพอกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เราอาจต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกครั้งหลังเกิดผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อพื้นที่ป่า ต้นน้ำลำธาร และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
ความเป็นมาโดยสังเขป
ปี 2536 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขออนุญาตป่าไม้เข้าใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเริ่มทำการสำรวจแร่
ปี 2538 บริษัททุ่งคำยื่นคำขอประทานบัตร หลังได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่เหนือพื้นที่แปลงที่ 4 จังหวัดเลยจากกรมทรัพยากรธรณี
ปี 2541 รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
ปี 2545-2546 บริษัททุ่งคำได้รับใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำจากกระทรวงอุตสาหกรรมระยะเวลา 25 ปี จำนวน 6 แปลง บนภูทับฟ้า และภูซำป่าบอน ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ปี 2547-2549 สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 9 อุดรธานี ตรวจพบปริมาณแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน และพบสารไซยาไนด์ในลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักของชุมชน ขณะที่ในปี 2549 บริษัททุ่งคำเปิดดำเนินการโรงแต่งแร่
ปี 2550 ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเหมือง เรียกร้องให้บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้น จึงมีการตั้ง ‘คณะทำงานเก็บตัวอย่างน้ำ’
ปี 2551 กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน และตะกอนดิน ตรวจพบ สารหนู สารตะกั่ว และสารแมงกานีสในห้วยเหล็ก สารแมงกานีสในห้วยผุกและห้วยฮวย และพบแคดเมียมปนเปื้อนในน้ำประปาบาดาลบ้านนาหนองบง (คุ้มน้อย)
ปี 2553 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ออกประกาศเตือนประชาชนไม่ให้ดื่มน้ำจากห้วยผุก ห้วยเหล็ก และน้ำประปาบาดาลบ้านนาหนองบง (คุ้มน้อย) และไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร อีกทั้งประกาศไม่ให้ประชาชนบริโภคหอยขมที่เก็บได้จากลำห้วยเหล็ก
จากการเก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน 6 หมู่บ้าน จำนวน 725 คน วิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจหาสารไซยาไนด์ สารปรอท และสารตะกั่ว พบว่าประชาชนร้อยละ 6.6 มีปริมาณสารปรอทเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด 35 ไมโครกรัมต่อลิตร (องค์การอนามัยโลกประกาศว่าไม่มีระดับของสารปรอทใดๆ ในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัย) ประชาชนร้อยละ 17 มีปริมาณสารไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานที่ 0.2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนสารตะกั่วยังไม่พบเกินค่ามาตรฐาน
อสมการที่ไม่มีวันจบ
ในการนำเสนอข้อมูล ‘ประเทศชาติได้ – เสียอะไรจากเหมืองทองคำ จังหวัดเลย’ ดาวัลย์ จันทรหัสดี นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ไล่เลียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยอีกครั้ง พร้อมสรุปข้อมูลว่า 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้แก่ ประเทศชาติ บริษัททุ่งคำ และประชาชน ได้หรือเสียอะไรในการดำเนินกิจการที่ผ่านมา
ประเทศไทย
- มีทรัพยากรทองคำ เพิ่มรายได้ให้ประเทศชาติ ค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น
- มีโอกาสรับซื้อทองคำเป็นรายแรก
- ได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปของ
- เงินโบนัส
- การแบ่งผลผลิต
- หุ้น โดยกระทรวงการคลังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น
- ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากการออกประทานบัตร 14.8 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2555)
- ค่าภาคหลวงแร่ จากแร่ทอง เงิน ทองแดง 116 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2555)
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
- ได้สิทธิ์ในการสำรวจ เปิดพื้นที่ 340,625 ไร่ ใน 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง ภูเรือ ท่าลี่ และวังสะพุง โดยได้รับสิทธิเหนือทรัพยากร โดยไม่จำกัดอายุสิทธิ์
- ได้รับ 4 สิทธิ์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แก่
- การยกเว้นภาษีและอากรขาเข้า
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเป็นเวลา 8 ปี
- ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในกำไรสุทธิเป็นระยะเวลา 5 ปี (หลังจาก 8 ปี)
- ได้รับอนุญาตหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ประปา ได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 10 ปี
- แม้จะมีตัวเลขรายได้เฉลี่ย 900 กว่าล้านบาทต่อปีจากการขายทองคำและทองแดง (ข้อมูลระหว่างปี 2553-2555) ตัวแทนจากบริษัททุ่งคำให้ข้อมูลว่าธุรกิจเหมืองทองคำมีแนวโน้มขาดทุน
ประชาชนในพื้นที่
- อบต. เขาหลวง ได้รับค่าภาคหลวงเฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาท
- ตรวจพบสารปนเปื้อนปรอทและไซยาไนด์ในตัวอย่างเลือดของประชาชน
- พบสารปนเปื้อนในดินและแปลงเกษตรกรรม อาทิ สารหนู และแมงกานีส เกินค่ามาตรฐาน
- พบอาการป่วยที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการได้รับสารโลหะหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ได้แก่ อาการเหน็บชา/กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการผื่นคัน/ผิวหนังอักเสบ ตาพร่ามัว ไปจนถึงอาการไตวาย
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะต้องหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม ด้วยการซื้อน้ำดื่มและวัตถุดิบประกอบอาหารจากนอกชุมชน ราวเดือนละ 6,600 บาท (ข้อมูลจาก ‘การวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการทำเหมืองแร่ทองคำ กรณีศึกษาอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย’ โดย กาญจนา ยาอุด นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)
ดาวัลย์ตั้งข้อสังเกตในการขออนุญาตใช้ที่ดินในการทำเหมืองว่า มีที่ดิน 3 ประเภทด้วยกันที่อยู่ในขอบเขตประทานบัตรเหมืองแร่ คือ ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน สปก. และที่ดินตามมาตรา 4(1) ใน พ.ร.บ.ที่ดิน พ.ศ. 2484 รวมทั้งช่องว่างของการออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลำดับที่ 60
จากแผนการฟื้นฟูการทำเหมืองแร่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฉบับปรับปรุงประจำปี 2556 เมื่อสรุปค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่ทำกิจกรรมภายในเหมืองหลังจากการดำเนินการเหมืองสิ้นสุดลง พบว่าต้องใช้งบทั้งสิ้น 57,886,322 บาท
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่า การทำกิจการในทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดมูลค่าความเสียหายที่ไม่เคยได้รับการนับรวมในการคำนวณความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการเหมืองแร่ นั่นคือ พื้นที่ป่าและพื้นที่ต้นน้ำที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจใช้เม็ดเงินในการบูรณะฟื้นฟูให้คืนสภาพกลับมาดังเดิมได้เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการตรวจพบความเจ็บป่วยของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบเหมือง รวมถึงการพิสูจน์ว่าอาการป่วยเหล่านั้น มีที่มาจากการสัมผัสหรือได้รับสารพิษในสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และใครควรเข้ามามีบทบาทในการรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในกรณีศึกษาต่างประเทศ ได้กำหนดการรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ก่อมลพิษเอาไว้ในหลายกิจการ ซึ่งก็ต้องมีการปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับกิจการเหมืองแร่ในเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ขณะที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เป็นผู้นำเสนอข้อมูลน่าตกใจว่า ทั้งที่สภาพความเป็นจริงพื้นที่ในเขตประทานบัตรเหมืองทองคำกินพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม แต่น่าแปลกใจที่ช่วงการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรกลับไม่พบว่าพื้นที่เหมืองทองคำเป็นป่าต้นน้ำแต่อย่างใด ฉะนั้น การฟ้องเพื่อเพิกถอนประทานบัตร อันเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนอันเป็นเท็จ จึงเป็นอีกทางแก้ไขที่ภาคประชาชนจะร่วมมือกันได้
ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจมาจากการที่แต่ละฝ่ายอยู่กันคนละข้างของสมการ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอว่า หากนำทุกฝ่ายมารวมอยู่ด้านเดียวกันในสมการ อาจช่วยให้เห็นภาพและสามารถประเมินผลประโยชน์สุทธิได้อย่างชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันก่อนว่า นโยบายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติก็ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งปรับปรุงไม่แพ้กัน หากแก้ไขได้ ทำให้ผลประโยชน์กระจายตัวออกไปมากขึ้น เยียวยาผลกระทบอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับสภาวะที่เกิดขึ้น
แม้ผืนป่า พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรกรรม และสภาพแวดล้อมที่สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนความเดือดร้อนเสียหายทางด้านแหล่งอาหารและสุขภาพประชาชนไม่อาจคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ง่ายนัก แต่หากเรานำตัวเลขที่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้มาคำนวณเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลและรอบด้านอย่างแท้จริง การให้เหตุผลของเจ้าหน้าที่รัฐว่าการคำนวณทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถนำมาร่วมคำนวณได้ นับเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง แต่จะดีเพียงใด หากหน่วยงานภาครัฐจะลองปรับตัว เปิดโอกาส รับฟังความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเห็นแก่ประชาชนเป็นหลักในการดำเนินนโยบายในอนาคตต่อไป
ข้อกังวลของภาคประชาชนที่รณรงค์ด้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัดขณะนี้ คือกรณีการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตคณะกรรมการและกรรมการตรวจสอบใน บมจ. อัครา รีซอร์สเซส และอดีตประธานกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบี ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งทางธุรกิจก่อนเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการเหมืองแร่ทองคำรวมทั้งการอนุมัติเงินกู้ในกิจการดังกล่าว