ไข่ เนื้อสัตว์ และเนย ต่างเคยถูกมองว่าเป็นสาเหตุของโรคภัยสำคัญไม่ว่าจะเป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือด มะเร็ง ไปจนถึงต้นเหตุของภาวะน้ำหนักเกิน งานศึกษาในปัจจุบันอาจช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเหล่านี้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
ไข่ เนื้อสัตว์ และเนย ต่างเคยถูกมองว่าเป็นสาเหตุของโรคภัยสำคัญไม่ว่าจะเป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือด มะเร็ง ไปจนถึงต้นเหตุของภาวะน้ำหนักเกิน จากความเชื่อและงานศึกษาที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับงานศึกษาในปัจจุบันอาจช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเหล่านี้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
จากที่เคยถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด ผลการศึกษาเมื่อปี 2010 เกี่ยวกับผลของคอเลสเตอรอลที่ได้จากไข่ ‘Dietary cholesterol provided by eggs and plasma lipoproteins in healthy populations.’ โดยทีมคณะโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็คติคัท กลับได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม นั่นคือ ยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่าคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารเป็นตัวการอุดตันเส้นเลือดแดงใหญ่
อาจมีข้อยกเว้นคือหากคุณเป็นเบาหวาน ผลการศึกษาชิ้นนี้พบความเชื่อมโยงของคอเลสเตอรอลกับอาการเบาหวาน แต่ยังไม่ชัดเจนพอจะสรุปว่ามีผลกับผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง
หลายทศวรรษที่ผ่านมา คุณและโทษของการรับประทานไขมันอิ่มตัวที่ได้จากเนื้อสัตว์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเบอร์เกอร์ สเต็ก ฮ็อตด็อก ฯลฯ ยังคงกลับไปกลับมาจนผู้บริโภคเวียนหัว ช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 เราต่างได้รับคำแนะนำให้รับประทานเนื้อเยอะขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี วิตามินบี และสารอาหารอีกหลากหลาย ขณะที่ในทศวรรษที่ 1960 งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เริ่มพบความเชื่อมโยงของไขมันอิ่มตัวในเนื้อสัตว์กับโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็ง
งานศึกษาหาความเชื่อมโยงระหว่างไขมันอิ่มตัวและภาวะหลอดเลือดหัวใจ ‘Meta-analysis of prospective cohort studies evaluating the association of saturated fat with cardiovascular disease.’ โดยทีมวิจัยจากโรงพยาบาลเด็ก สถาบันวิจัยโอ๊คแลนด์ สหรัฐ มีอาสาสมัครเข้าร่วม 1 ล้านราย ไม่พบความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปกับโรคหัวใจหรือเบาหวาน
อีกงานวิจัยซึ่งทำการศึกษาหาข้อสรุปในเรื่องนี้ สนับสนุนโดยมูลนิธิหัวใจอังกฤษ มีผู้เข้าร่วม 450,000 ราย ‘Association of Dietary, Circulating, and Supplement Fatty Acids With Coronary Risk: A Systematic Review and Meta-analysis.’ ก็ได้รับข้อสรุปไม่ต่างกัน
ย้อนกลับไปในปี 1855 ยุคที่ทุกคนนิยมใช้น้ำมันแทนเนย มาจนถึงยุคที่เนยถูกมองว่าไม่ดีต่อสุขภาพเท่ามาการีน ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่ได้จากพืช และในที่สุด ก็ถึงยุคที่เนยกลับมาทวงคืนความนิยม เนื่องจากผลทดสอบหลายชิ้นยืนยันว่า แม้มาการีนจะมาจากไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ทว่ามีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นการแปลงรูปไขมันให้กลายเป็นของแข็ง และนั่นทำให้ผู้ที่รับประทานมาการีนเป็นประจำเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ขณะที่การรับประทานเนย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ อี หรือเค ทั้งยังเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-density lipoprotein: HDL) ในเลือด ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่พึงประสงค์ (Low-density lipoprotein: LDL) ได้ด้วย
ที่น่าสนใจกว่านั้น หลายคนคงสบายใจที่จะกินเนยมากขึ้นเมื่อทราบว่า ผลการศึกษาตีพิมพ์ใน European Journal of Nutrition ปี 2012 ‘The relationship between high-fat dairy consumption and obesity, cardiovascular, and metabolic disease’ สรุปไว้ว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมกับภาวะน้ำหนักเกิน
ที่มา: alternet.org
ncbi.nlm.nih.gov
link.springer.com