เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล
หนังสือ 10 กว่าล้านเล่ม แบ่งวิญญาณจากเนื้อกระดาษ – ขาวเนียน เหลืองนวล น้ำตาลยุ่ย – แปลงตัวกลายเป็นไฟล์ดิจิตอลที่แสดงผลผ่านรหัสการทำงานภายในคอมพิวเตอร์
ชั้นวางหนังสือสูงเทียมเพดานที่เคยจัดเก็บหนังสือเป็นตั้งๆ ถูกบีบอัดรวมกันเป็นแค่ส่วนกระจิริดของฐานข้อมูลกูเกิล จากพื้นที่จัดเก็บเล็กๆ มากมาย ก็ประกอบรวมกันเป็นฐานข้อมูลมหึมา ใหญ่เกินกว่าที่เราจะแค่นึกถึงภาพสันหนังสือเรียงแนบชิดกันเต็มสองลูกตา
กูเกิล บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในตลาดหุ้นและในปริมณฑลของความรู้ ชื่อแรกๆ ที่จะนึกถึง เมื่อสมองเรียกหาข้อมูลบางอย่างมาเติมเต็ม ตั้งแต่ชื่อดาราที่ติดอยู่ที่ริมฝีปาก ไปจนถึงคำอธิบายทฤษฎีฟิสิกส์สุดซับซ้อน ตอนนี้พวกเขากำลังก้าวไปอีกขั้น ก้าวใหญ่และทะเยอทะยานมากเสียด้วย
ภาพยนตร์ Google and the World Brain นำปฏิบัติการต้นทุนสูงของกูเกิลนี้มาตีแผ่ แม้จะมีอุปสรรคในการติดตามกระบวนการสิ่งที่กูเกิลกำลังทำอยู่ เพราะบริษัทต้องการเก็บไว้เป็นความลับ แต่หนังพยายามให้เราได้ขบคิดผ่านบทสัมภาษณ์บุคคลหลายฝ่าย ทั้งฟากนักเขียน บุคลากรห้องสมุด ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออินเทอร์เน็ต เจ้าหน้าที่กูเกิล – เพื่อให้เราได้ชั่งใจดู ว่าสิทธิแบบใดกัน ที่เราจะให้น้ำหนักมากกว่า
ผิดคาด หนังไม่ได้เปิดฉากเศร้าเล่าเรื่องอวสานของหนังสือเล่มให้เป็นนิยายดราม่า แต่กลายเป็นหนังไซไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจ เริ่มต้นก็ยกข้อเขียนของเอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) นักเขียนอังกฤษชื่อดังแห่งต้นศตวรรษที่ 20 เกี่ยวกับเรื่ององค์ความรู้รวมศูนย์ของโลก หรือที่เรียกว่า World Brain เป็นตัวดำเนินเรื่อง ผ่านวาทะเติมไฟ กระตุ้นต่อมคิด จากทั้งสองฝ่าย
นานมาแล้วที่นิยายวิทยาศาสตร์เป็นต้นตอของนวัตกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลายที่นักประดิษฐ์นำมาต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงบนโลก…แน่นอน เป็นทั้งประโยชน์และโทษ อย่างที่เราเองก็ตระหนัก
ผู้ที่จับตามองโครงการนี้ของกูเกิล ก็มองไปทั้งในทางที่ร้ายและดี กูเกิล ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินที่ยิ่งใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต พยายามทลายกำแพงแหล่งข้อมูลออฟไลน์ที่นอนแน่นิ่งอยู่ในหน้ากระดาษ ให้สามารถเข้าถึงได้เพียงคลิกนิ้ว ง่ายแบบที่เราเองก็ทำอยู่ทุกวัน
ฝ่ายผู้สนับสนุนมองว่า นี่คือการทำให้แนวคิดอุดมคติอย่าง สิทธิของปัจเจกในการเข้าถึงข้อมูล (เกือบ) ทุกอย่างบนโลก กลายเป็นจริงขึ้นมา เป็นสุดยอดการสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็ควรจะตามหาสิ่งที่คุณต้องการจนเจอ ในเมื่อมันมีขึ้นมาแล้ว – คำว่า ‘ปัญญาของโลก’ ทำให้เราตาลุกวาว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหนังได้ยกตัวอย่างการสร้างหอสมุดอเล็กซานเดรียว่าเป็นความทะเยอทะยานแบบเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ก่อนคริสตกาล
เมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพ ใครได้ฟังก็น่าจะรู้สึกตัวเบาหวิว สัมผัสได้ถึงสายลมอิสระที่พัดอยู่รอบตัว แต่พอฝ่ายคัดค้านพูดแทรกขึ้นมาว่า สิทธิ์นี้ต้องแลกด้วยสิทธิ์อื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ สิทธิส่วนบุคคลในการอ่าน และลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง
แม้แต่อีเมลยังถูกแอบอ่านได้ ต่อไปกูเกิลจะรู้แม้กระทั่งว่า เราอ่านหนังสืออะไรบ้าง อ่านเมื่อไหร่ นานเท่าใด ฯลฯ เพราะเป็นที่แน่นอนว่าข้อมูลการใช้งานจะถูกบันทึกไว้ เพื่อนำไป ‘ปรับปรุงการให้บริการ’ ต่อไป
มีคนเปรียบเทียบว่า นี่ก็ไม่ต่างจากนวัตกรรมกูเกิลกลาส ที่ด้านหนึ่งก็สร้างความสะดวกสบายแบบที่คนทั่วไปอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับการให้คนธรรมดาติด ‘กล้องวงจรปิด’ บนหัวตัวเองไปทุกที่ สอดส่องชีวิตของกันและกันเอง นี่มันยิ่งกว่า 1984 ของออร์เวลส์เสียอีก
คงไม่เป็นไรถ้าเรามองมันเป็นเรื่องสนุกสนาน หรือเรื่องทางการค้าทั่วไป แต่ถ้าเกิดหน่วยงานใดนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เพื่อควบคุม หรือละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล มันก็คงไม่ใช่เรื่องตลกอีกต่อไป
ฟากนักเขียนเองมองว่า กูเกิลทำลายสิทธิ์ที่ผู้สร้างสรรค์พึงมี แม้จะบอกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของความรู้โดยสัมบูรณ์มาตั้งแต่แรก เพราะทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ต่อๆ กันมา – แต่ วิธีการ ในการจดจำและเรียบเรียงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปเล่มก็ไม่ควรถูกเหยียบย่ำมิใช่หรือ
ประเด็นที่เล่านี้ เป็นเพียงภาพคร่าวๆ ที่หนังนำเสนอเท่านั้น หนังยังพาเราเข้าไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ ทั้งในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ที่จะบรรจุองค์ความรู้ของอารยธรรมมนุษย์ไว้ภายใน มากกว่าสมัยที่ IBM สร้างคอมพิวเตอร์อัจฉริยะที่สามารถตอบคำถามในรายการเกมโชว์ชนะมนุษย์แบบขาดลอย ต่อไปนี้ ความรู้จะมาจากหนังสือนับล้านเล่มเหล่านั้น คลังปัญญาที่มนุษย์คนหนึ่งยังใช้ทั้งชีวิตในการตามอ่านมันไม่ได้
หนังสร้างสมดุลของโทนเรื่อง โดยการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Google ซึ่งเล่าความใฝ่ฝันวัยเด็กที่คอมพิวเตอร์จะมีความรอบรู้ และเราสามารถสื่อสารกับมันได้โดยตรงเพื่อขอข้อมูลต่างๆ โดยที่ไม่ต้องคีย์คำสั่งผ่านแป้นใดๆ
นั่นคือ ไม่เพียงแต่คอมพิวเตอร์จะรู้มากเท่านั้น แต่มันต้องสร้างความฉลาดจากสิ่งที่เรียนรู้มามากพอที่จะตอบสนองต่อบทสนทนากับมนุษย์จริงๆ ได้ในทุกบริบท
Singularity ศัพท์ที่โผล่มาในหนัง แล้วเพิ่มระดับความเป็นไซไฟบนโลกจริงให้เราได้คิดตามอย่างตื่นเต้น เขาจินตนาการว่า มีความเป็นไปได้ เมื่อสมองมนุษย์ถูกเชื่อมโยงโดยตรงกับฐานข้อมูลกลางอันรอบรู้นี้ ต่อไปเราอาจไม่ต้องเอ่ยปากถาม อยากรู้อะไร สมองก็จะเชื่อมโยงกับคลังกลางโดยอัตโนมัติ…หากคิดตาม จะรู้สึกว่าแนวคิดนี้เจ๋งมาก แต่ก็น่าขนลุกไม่เบา
กลับมาสู่โลกปัจจุบัน ในเมื่อกูเกิลไม่ใช่บริษัทโลกสวยที่มุ่งเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ตามอุดมคติของนักฝัน แต่เป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้น และดำเนินธุรกิจสร้างกำไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อน แน่นอนว่า ประโยชน์ทางการค้าที่กูเกิลจะได้รับเมื่อถือครองข้อมูลมหาศาลจากหนังสือเหล่านั้น ย่อมต้องเป็นสิ่งแรกๆ ที่พวกเขานึกถึง ลงทุนไปมหาศาล ย่อมต้องคาดหวังผลกำไรไม่น้อยไปกว่ากัน
ซาวด์ประกอบบางช่วงตอน คำบอกเล่าจากผู้ที่ทำสัญญากับกูเกิล ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลเจือปนอยู่ กูเกิลไม่เปิดเผยกระทั่งสถานที่ในการสแกนหนังสือ 3 แห่ง และยังห้ามคู่สัญญาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเอง
ถ้าปฏิบัติการนี้ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ของมนุษยชาติจริง เหตุใดต้องทำให้รู้สึกว่ามันไม่โปร่งใสขนาดนั้น
เมื่อห้องสมุดและสำนักพิมพ์หลายแห่ง รวมทั้งนักเขียนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ค่าตอบแทนจากสิ่งที่พวกเขาครอบครองหรือสร้างสรรค์ พวกเขาจึงรวมตัวกันฟ้องคดี และครั้งนั้นถือเป็นการตัดสินครั้งสำคัญ ว่าสิ่งที่กูเกิลกำลังทำอยู่ สมควรได้รับการสนับสนุนต่อไปหรือไม่
ผู้พิพากษาใช้เวลาไตร่ตรองอยู่นาน และให้เหตุผลว่า การสแกนหนังสือมีประโยชน์จริง แต่ควบคุมได้ยาก หลายคนมองว่านี่คือชัยชนะของคนตัวเล็กๆ ที่รวมตัวกันต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองได้สำเร็จ
แต่ผู้เชี่ยวชาญที่สนับสนุนโครงการดังกล่าว ก็ยังยืนยันในตอนท้ายว่า เรื่องนี้ไม่มีทางจบแค่นี้ เพราะอย่างไรเสียทิศทางของโลกก็จะเอื้อให้เกิดการรวมศูนย์ข้อมูลอยู่ดี และถึงกับบอกว่า ถ้ากลัวการถูกคุกคามขนาดนั้น ก็หนีเข้าป่าไปเลยจะดีกว่า
หรือจะเป็นอีกครั้งที่ความเขลาของมนุษย์มาในรูปของความอัจฉริยะล้ำโลก…นี่เป็นอีกประเด็นที่หนังทิ้งไว้ให้ถกเถียงกันต่อไป