เรื่อง: อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ / อารยา คงแป้น
เมื่อแรงกระเพื่อมทางสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น หลังจากการเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3 และ 4/2559 โดยเครือข่ายภาคประชาชนนับ 100 องค์กรในนาม ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’
หนึ่งในแนวร่วมเครือข่ายประชาชนฯ ผู้ริเริ่ม ‘ธรรมนูญอ่าวอุดม’ อาจารย์เขียว-สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการชุมชนอิสระ อดีตวิศวกร และเจ้าของปริญญาเอกด้านการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ออกมารณรงค์อย่างสันติตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการมัดมือทั้งสองข้าง เพื่อให้เห็นว่าขณะนี้ชุมชนกำลังถูก ‘มัดมือชก’ ให้ยอมรับความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ที่กำลังปะทุขึ้น ในภาวะที่ประเทศไทยอยู่ในความดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ด้วยจุดมุ่งหมายของเครือข่ายประชาชนฯที่ต้องการสร้างสันติและความสมดุลแห่งการพัฒนา คำสั่งทั้งสองฉบับที่ออกมานั้น เรียกได้ว่า ขัดต่อความสงบสุขเรียบร้อยของแต่ละชุมชนโดยสิ้นเชิง
ยังไม่นับคำสั่งที่ 9/2559 ที่ตามออกมาเมื่อ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนไม่สามารถอยู่ติดบ้านเพื่อนั่งชมการทำงานรัฐบาลผ่านโทรทัศน์ได้อีกต่อไป
หากเทียบคำสั่งที่ 3 และ 4/2559 ว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง คำสั่งที่ 9/2559 อาจเทียบได้กับประกาศที่พาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปก่อนยุคจูราสสิก
อะไรพาเรามาถึงจุดนี้!
บทสนทนาเริ่มต้นจากแก้วกาแฟเย็นสวยใสใช้แล้วทิ้ง โรงไฟฟ้าขยะที่ถูกใจชุมชน เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อใคร ไปจนถึงความเข้มแข็งภาคพลเมือง ที่ที่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย
1: มาตรา 44 ใช้เฉพาะที่จำเป็น
คำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความเร่งให้ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีความรวดเร็วทันการณ์
สรุปสั้นๆ ได้ความว่า ยังไม่ต้องผ่านการอนุมัติรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ก็สามารถลัดขั้นตอนไปสู่การจัดประมูลและจัดจ้างผู้รับเหมาได้ เบรกจุดเดียวในคำสั่งก็คือ “แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”
ตามความเห็นของสมนึก เขามองว่า “นี่คือกระบวนการทำลายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของประเทศ”
“มันคือกระบวนการที่ EIA ยังไม่เสร็จ แต่ไปจัดจ้าง จัดประมูล หรือจัดทำสัญญาไว้ก่อนรอเซ็น พอกฎหมายบังคับแล้ว มันเป็นกฎหมายระเบียบพัสดุ มีเรื่องของระเบียบบังคับ เพราะฉะนั้นถ้าเกินกำหนดเอกชนสามารถฟ้องกลับได้
“พอเอกชนจะฟ้อง ก็ต้องไปบีบทาง คชก. สผ. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ให้ต้องรีบอนุมัติ EIA”
แทนที่จะมีเวลาปรับแก้ในรายละเอียดเพื่อความเหมาะสม สมนึกยกตัวอย่างกรณีโครงการราคาพันล้าน แล้วระหว่างนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเพิ่มระบบบำบัดบางอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มงบอีก 200 ล้าน รวมเป็น 1,200 ล้าน แต่ระเบียบพัสดุออกมาเพียง 1,000 ล้าน แบบนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
หากเทียบคำสั่งที่ 3 และ 4/2559 ว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง คำสั่งที่ 9/2559 อาจเทียบได้กับประกาศที่พาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปก่อนยุคจูราสสิก
“มันทำให้พัฒนาการทางด้านสิ่งแวดล้อมถอยหลังไปถึงยุค พ.ศ. 2500 ที่อยากจะตั้งอะไรก็ตั้งได้ สมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ แค่นี้พอ แต่นี่มันไม่ใช่ น้ำก็ไม่ไหล ไฟก็ไม่สว่าง แถมมีเยอะเกินโควตา ทางก็จะไม่ดี เพราะทำเสร็จรถก็วิ่งพัง”
ความกังวลที่เกิดขึ้นคือ โครงการเหล่านั้นอาจไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ต้องอาศัยเงินภาษีประชาชนในการก่อสร้าง
“ออกคำสั่งที่ 9 มาผมก็ว่าหนักแล้ว ถ้าออกซูเปอร์คลัสเตอร์มาอีก ผมว่าทุกจังหวัดลุกแน่นอน”
นโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ หรือเขตเศรษฐกิจรูปแบบคลัสเตอร์ ในกลุ่มแรกเก้าจังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ เน้นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ให้เชื่อมโยงกับสถานศึกษาหรือสถาบันวิจัย รวมถึงแหล่งวัตถุดิบ และการจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่เจริญแล้วทั้งสิ้น
“แล้วคุณจะให้ BOI ลดมาตรการเก็บภาษี ถ้ามีการสร้างโรงงาน เครื่องจักรไม่ต้องเสียภาษี คล้ายๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษเลย คือเชื่อได้ว่าต้องการสนับสนุนนักลงทุนที่ลงทุนจริงๆ
“คำถามคือทำไมต้องสนับสนุนด้วยการยกเว้นภาษี แล้วอย่างนี้โรงงานที่เปิดอยู่เดิมจะทำอย่างไร นิคมที่มีแล้วจะว่าอย่างไร ไม่ขัดแย้งกันหรือ”
เมื่อปี 2558 ภาคตะวันออกประสบปัญหาขาดน้ำ ขณะที่เดือนมีนาคม (2559) เริ่มมีสัญญาณเตือนว่าน้ำอาจไม่พอใช้
“แล้วการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมไม่ได้เสกน้ำขึ้นมาได้เอง ก็ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำปราจีน แม่น้ำบางปะกง”
ลำพังการอนุญาตให้ตั้งโรงงานก็มีสิทธิ์ปนเปื้อนแล้ว ขนาดตั้งอยู่ไกลทะเลยังปนเปื้อนมาถึงทะเล ถ้าตั้งอยู่ที่ทะเลเลย สมนึกว่าคงไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ทำประมงคงเลิกฝันไปได้เลย
2: โรงไฟฟ้าชีวมวลผสมถ่านหิน
เมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจขึ้นในพื้นที่ใด พลังงานสำรองเป็นเรื่องขาดไม่ได้
จากที่ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 และมีโอกาสชมพรีเซนเทชั่นที่จัดทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน พร้อมกับชาวบ้านทั้งห้าอำเภอ ด้วยสโลแกน ‘เจ้าเงาะถอดรูป’ สมนึกตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นการสร้างความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะสุดท้ายผู้ที่ได้ประโยชน์คือนายทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านโรงไฟฟ้าชีวมวล
ในต่างประเทศ โรงไฟฟ้าชีวมวลถือเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ในประเทศไทยอนุญาตให้โรงไฟฟ้าชีวมวลผสมถ่านหินได้ 25 เปอร์เซ็นต์
ถ้าสามารถเติมถ่านหินได้ 1 ใน 4 แบบนี้คงพูดว่าเป็นพลังงานหมุนเวียนได้ไม่เต็มปาก
เนื่องจากเชื้อเพลิงต่างๆ อาทิ ไม้สัก มีความชื้นค่อนข้างสูง ไม้ที่นิยมใช้อย่างไม้ยางพารา มีค่าความชื้นอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ กำลังการผลิตหนึ่งเมกะวัตต์ต้องใช้ไม้สักราว 240 ตัน ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ ก็ต้องใช้ไม้ 2,400 ตัน ขณะเดียวกัน ถือเป็นกิจการที่ใช้น้ำเยอะ 1 เมกะวัตต์ใช้น้ำ 120 ลูกบาศก์เมตร ถ้าโรงไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ก็ต้องใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตร
“วันที่ไปดูแม่น้ำโก-ลกน้ำน้อยมาก แล้วไม้สัก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกไว้ว่า ถ้าเชื้อเพลิงหลักไม่พอ หรือมีค่าความชื้นเยอะ สามารถเติมเชื้อเพลิงสำรองได้ 25 เปอร์เซ็นต์”
โดยเชื้อเพลิงสำรองที่อนุญาต มีตั้งแต่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันต่างๆ ไปจนถึงถ่านหิน
“เป็นที่ทราบกันดีทางภาคตะวันออก แถบฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี หรือแม้กระทั่งชลบุรี ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลยังผสมถ่านหิน แต่ไม่มีใครรู้ว่าถึง 25 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น
“คนนราธิวาสยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องเอาไปเผา แล้วในวิดีโอพรีเซนเทชั่น มีภาพชายหาดยาว แต่มาพร้อมกับคำเชิญชวนให้มาลงทุนที่นี่ ซึ่งฟังแล้วคนนราธิวาสไม่สบายใจ”
3: บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายทำได้ทันที
เหมือนบาปติดตัวผู้บริโภค ที่รู้สึกผิดทุกครั้งเมื่อลืมพกแก้วส่วนตัวเวลาเข้าร้านกาแฟ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับแก้วพลาสติกกลับมา
“มันเป็นความผิดที่เราไม่รู้ตัว เพราะอุตสาหกรรมอาหารสร้างให้เรา จริงๆ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำจากไบโอพลาสติกและไบโอโฟมได้ ทรัพยากรก็มี ทำไมจึงไม่เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วไปทำ ตอซังข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อย ยอดอ้อย ใบข้าวโพด คุณไปปล่อยให้เขาเผาหมดเลย แล้วบอกว่าถ้าใครเผาเราไม่ซื้อ”
สิ่งที่ผ่านมาแล้วคงแก้ไขได้ยาก แม้แต่แก้วกาแฟที่เพิ่งสั่งมาดื่มวันนี้ ก็น่าจะเดินทางไปสู่ถังขยะเรียบร้อยแล้ว แต่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเริ่มได้เลย
ผลิตภัณฑ์ไบโอโฟม ผมว่าผู้ประกอบการทำได้เลย เพียงแค่นำเทคโนโลยีเข้ามา เขามีเงิน มีทรัพยากร แล้วอีกอย่างหนึ่งเขาก็เป็นผู้ทำลายด้วย
แม้ฝั่งอุตสาหกรรมอาหารอาจเป็นผู้ทำลายโดยไม่รู้ตัว แต่พวกเราก็มีส่วนช่วยทำลายด้วย แม้จะอาศัยคาถาที่ว่าสามารถ ‘รีไซเคิล’ ได้ก็ตาม
“กระบวนการในการนำพลาสติกไปรีไซเคิล ไม่ใช้คำว่า recycle แต่ใช้ว่า down cycle เพราะมันจะไม่มีวันกลับมาเป็นอย่างเดิมได้อีก”
อย่างขวดน้ำพลาสติก หรือขวด PET เมื่อนำไปรีไซเคิล จะไม่มีทางกลับมาเป็นขวด PET ใสๆ เหมือนเดิมได้อีก เพราะเมื่อผ่านกระบวนการ คุณภาพพลาสติกที่ได้จะต่ำลง
4: บ่อขยะจัดการดีไม่มีวันเต็ม
เป็นข้อมูลที่ทุกคนทราบกันดีว่า เมื่อถุงพลาสติกกลายเป็นขยะ ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 500-2,000 ปี
“เวลาทิ้งขยะ เราทิ้งใส่ถุงดำ ขยะก็จะเน่าอยู่ในถุง พอนำไปทิ้งในบ่อก็จะย่อยสลายได้ยาก เพราะติดถุงพลาสติก ฉะนั้นมันก็จะกลายเป็นกอง และกองก็ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ”
ความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือ เราควรทำให้บ่อขยะยุบอยู่ตลอดเวลา
“ทุกวันมันต้องค่อยๆ แบน เมื่อเป็นแบบนี้ บ่อขยะจะไม่มีวันเต็ม พอถึงวันที่จะเต็ม ข้างล่างก็ย่อยสลายได้ทัน”
สมนึกยกตัวอย่างบ่อขยะของบริษัทสุวรรณาคาม ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีการจัดการบ่อขยะน่าเลียนแบบ ทั้งที่เป็นจังหวัดที่มีโรงงานกว่า 5,000 แห่ง
“ที่นี่ดูแลดีมาก ทางเข้าออกชัดเจน ไม่ปะปนกับทางหลัก เขากลัวน้ำชะขยะมันไหล แล้วกระบวนการจัดการดูแลดีหมดเลย มีบ่อบำบัดน้ำ มีบ่อชะขยะ มีบ่อมอนิเตอร์ แล้วก็ปูผ้ายางได้มาตรฐาน”
กรณีโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่บอกว่า มีการทิ้ง 1 ใน 3 ยังรองรับได้ถึง 2 ใน 3 แต่กลับเจอปัญหาลักลอบทิ้งเต็มไปหมด คำถามจากสมนึกคือ เรามีบ่อกำจัดเพียงพอก็จริง แต่ทั้งหมดได้มาตรฐานหรือไม่ หรือจริงๆ แล้ว เราประสบปัญหาทั้งมีบ่อไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน
5: ‘ขยะ’ เผาแล้วไปไหน
เพราะสสารไม่มีวันสลายไปจากโลก สมนึกยืนยันว่าเขาไม่สนับสนุนการเผาขยะ เพราะเมื่อเผาแล้วอย่างไรก็ต้องมีบ่อรองรับ เพราะอย่างน้อยจะมีขี้เถ้าเกิดขึ้น ทั้งเถ้าเบาและเถ้าหนัก ซึ่งต้องนำไปฝังกลบ
“ระบบแย่สุดมีขี้เถ้า 40 เปอร์เซ็นต์ ต้องฝังกลบ ระบบดีสุดก็มีขี้เถ้าเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ง่ายๆ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจว่า เมื่อเผาแล้วขยะหายวับ”
เมื่อเถ้าเหล่านั้นมาจากการเผากากอุตสาหกรรมอันตราย ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังขั้นสูง มีการปูผ้ายางรองก้นบ่อและต้องดูแลอย่างดี
สมนึกเสนอว่า จะง่ายกว่าไหม ถ้าเรื่องนี้สามารถย้อนกลับไปแก้ที่ต้นทางได้
“เราก็ต้องแยกขยะด้วย ขยะที่ย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นดิน เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะโฟมและพลาสติก ถ้าเปลี่ยนเป็นไบโอโฟม และไบโอพลาสติกหกสัปดาห์ก็ย่อยแล้ว ทำไมไม่แก้ที่ต้นทางแบบนี้”
คำถามสำคัญคือใครเป็นผู้เสียประโยชน์ เมื่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช่บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการผลิตปิโตรพลาสติก ปิโตรโฟมหรือไม่
เน้นความสะดวกสบายและถูกราคาเข้าว่า ซื้อง่าย กินง่าย กินแล้วทิ้ง เจ้าของกิจการและผู้บริโภคไม่ใช่คนรับผิดชอบว่าขยะเหล่านี้ต้องจัดการอย่างไร
“ผมเคยไปดูตลาดที่จันทบุรี เขาจะให้ใช้ไบโอโฟมหรือไบโอพลาสติก ล่าสุดได้ยินว่ามีคำสั่งผู้ว่าฯให้งดใช้พวกที่เป็นปิโตรพลาสติก ปิโตรโฟม ถ้าใช้ต้องเป็นไบโอเท่านั้น”
6: เผาแบบนี้ชุมชนยิ้ม
ทางที่โรงไฟฟ้าจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างราบรื่น สมนึกบอกเลยว่ามีแน่ๆ เพราะเคยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเสนอมาแล้ว
ผมไม่ได้บอกว่า เผาไม่ดี เผาระบบปิด (Gasification) ทำได้ แต่ไม่ต้องใหญ่ สัก 1 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ผมว่าชุมชนได้ประโยชน์ ความร้อนที่เหลือเอาไปอบ นึ่ง ย่าง ที่บ้านผมก็ทำเรื่องอบปู ทำหอยจ๊อ หรืออบแห้งปลาหมึก ผมว่ามีประโยชน์มาก
สมนึกยอมรับว่าเขาไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมจ๋า เพราะมีพื้นฐานมาจากวิศวกรรรมการผลิต เขายืนยันว่าทำได้ แต่ต้องหาเทคโนโลยีมาลง ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้แปลว่าแพง เขาให้ข้อมูลว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าระบบนี้ 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท
เทียบกับโรงไฟฟ้าขยะ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณใกล้เคียงกัน คำถามจึงเกิดขึ้นว่า
เหตุใดจึงไม่เลือกระบบ Gasification ซึ่งปลอดภัยกว่า ชุมชนก็จะได้ใช้ไฟฟ้าด้วย เหลือความร้อนก็สามารถนำไปทำอย่างอื่นได้อีก นอกจากนี้ ยังมีน้ำส้มควันไม้และถ่านเป็นของแถม
นอกจากนั้น วัสดุเหลือทิ้งอย่างใบอ้อยยอดอ้อย เมื่อผสมกับวัสดุอินทรีย์บางประเภท ก็สามารถอัดเป็นแท่งชีวมวล ทำให้นำไปเผาในหม้อต้มไอน้ำต่างๆ ได้โดยตรง ลดการใช้ถ่านหิน หรือการเผาระบบเปิดไปได้มาก
เรียกได้ว่า คนคิดและคนทำมีแล้ว ขาดเพียงการส่งเสริม และการจัดการทางกฎหมายเท่านั้น
7: สภาพลเมืองคือคำตอบ
แนวคิดว่าด้วยจังหวัดจัดการตนเอง คือสิ่งที่หลายจังหวัดเริ่มขยับตัว โดยคนแรกๆ ที่เสนอโมเดลนี้คือ สวิง ตันอุด อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งเสียชีวิตไป
คำว่าจังหวัดจัดการตนเอง ไม่ได้หมายความว่าจะแยกตัวออกไปตั้งเป็นรัฐอิสระ แต่จัดการตนเองในที่นี้คือสามารถดูแลท้องถิ่น ดูแลฐานทรัพยากรของตัวเองได้ มีกฎของตนเอง มีเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด รวมทั้งมีสภาพลเมืองเป็นของตัวเอง
“ทุกครั้งจะขยับอะไร ก็ต้องรอส่วนกลาง รัฐบาลจะช่วยตัดสินใจแทนเรา จังหวัดชลบุรีต้องทำเรื่องอะไร ต้องทำเรื่องเศรษฐกิจสามขาห้าขา จนขาเยอะไขว้กันไปหมด” ในมุมของสมนึกเห็นว่า นโยบายที่ส่งมา ยังไม่สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ได้ครบถ้วน
“กลับมาถามตัวเองว่าคนชลบุรีต้องการอะไรกันแน่ แล้วคนชลบุรีทั้งหมดก็รวมตัวกันเป็นสภาพลเมือง ร่วมกำหนดกันว่าเราอยากเป็นอะไร ถ้ายังไม่ลงตัวก็เอาข้อที่ไม่ลงตัวมาตั้งเป็นศูนย์กลาง จากนั้นก็ทำคล้ายๆ การลงประชามติของคนทั้งจังหวัด”
สภาพลเมืองจึงเป็นพื้นที่กลางในการดูแลสิทธิ์ของพลเมืองในพื้นที่นั้นๆ ตั้งแต่สภาพลเมืองระดับจังหวัด เช่น ในชลบุรี ก็คือคนชลบุรีมารวมกัน ไปจนถึงสภาพลเมืองระดับภาคตะวันออก คือแปดจังหวัดรวมตัวกัน เป็นการรวมตัวของคนในทุกสาขาอาชีพ และมีข้อแม้ว่า ทุกคนต้องถอดหมวกออก
“ข้าราชการก็ถอดหมวกราชการ ผู้ว่าฯก็มาอยู่ในสภาพลเมืองได้ ถอดหมวกก็เป็นประชาชน นักการเมืองท้องถิ่นถอดหมวกก็เป็นประชาชน นักวิชาการถอดหมวกก็เป็นประชาชน ทุกคนมีหนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิ์ แล้วมาคุยกันในฐานะเพื่อนมนุษย์”
เป็นสภาที่ทุกคนมาตกลงกัน เพราะมองเห็นอนาคตของจังหวัดร่วมกัน โดยอนาคตที่ว่านี้ สมนึกบอกว่าไม่ใช่แค่ 20 ปี ถ้าทำจริงๆ ต้องมองกันยาวๆ ชนิด 50-100 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่อนาคตของคนรุ่นเขา
“คุณสวิงเคยพูดว่า ถ้าเรามีของเรา ก็จะเหมือนคัมภีร์หรือแผนพัฒนาจังหวัดของเรา ว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต ถ้าใครมาพัฒนาไม่ตรงกับเรา เราก็ไม่ยอม นี่คือจังหวัดจัดการตนเอง”
8: ประชาธิปไตยทางไลน์
เพราะเชื่อในการรวมกลุ่มกันตามธรรมชาติมากกว่าการประกอบสร้าง สมนึกจึงเชื่อในการขับเคลื่อนสภาพลเมืองแบบสบายๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวเร่งใดๆ
“สำหรับผม สภาพลเมืองคือขึ้นรูปจากไม่มีอะไรเลย ให้มันเคลื่อนไปด้วยธรรมชาติ เหมือนสร้างผู้นำธรรมชาติไปเรื่อยๆ”
สภาพลเมืองไม่ได้มีอำนาจในตัวเอง แต่เมื่อทุกคนรวมกันจะมีอำนาจ และสภาพลเมืองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เพื่อตรวจสอบใคร แต่ถ้ารวมตัวกันเมื่อใด จะสามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง
“ถ้าเราไม่มี road map หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่มีเข็มทิศ ไม่มีแผนที่ เราจะพัฒนาจังหวัดไปในทางไหน เราถูกยึดเข็มทิศกับแผนที่ไปที่ส่วนกลางแล้ว มันก็จะพัฒนาแบบนี้ แบบที่เราโดนเหยียบทุกวันนี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่”
อีกหนึ่งแนวร่วมของเครือข่ายประชาชนฯ สมนึกกล่าวถึง กัญจน์ ทัตติยกุล จากเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ที่ร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พูดคุยกับเขาเรื่อง รัฐสภาที่เป็นของทุกคน
“เป็นไปได้ไหม รัฐสภาของทุกคน ไม่ใช่รัฐสภาของผู้แทน แต่เป็นรัฐสภาของพลเมืองทุกคน ทุกๆ คนเสนอไอเดียได้ แล้วใช้หลักการเรื่องสภาพลเมือง ตัดสินกันด้วยประชามติ”
โลกออนไลน์คือตัวช่วยสำคัญ โซเชียลมีเดียช่วยให้การติดต่อกันทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้วแตะสมาร์ทโฟน สมนึกบอกว่า พวกเขาสามารถตั้งสภากลางอากาศ แต่เกิดการขับเคลื่อนได้ผลอย่างมาก
“ตอนต้านเรื่องบูรพาวิถี (โครงการทางด่วนบูรพาวิถี-พัทยา ปี 2557) เราสู้ด้วยไลน์ ก็ตั้งกลุ่มไลน์ชื่อ ‘สภาพลเมืองชลบุรี’ ก็เริ่มมีคนมารวมตัวกัน มาพูดคุย หาวิธีการ ก็นัดหมายกันผ่านไลน์ เขามีอาหรับสปริง เราก็มีชลบุรีสปริง มันก็เกิดกระบวนการทำให้ผู้คนหลายพันคนลุกขึ้นมาคัดค้านจนสำเร็จ
“ไม่เคยเจอการรวมตัวเยอะขนาดนี้ แล้วบริษัทที่ปรึกษาพับเก็บ แล้วแถลงการณ์ขึ้นสไลด์เลยว่า โครงการไม่คุ้มทุน แต่จริงๆ แล้ว เขาสู้เราไม่ได้”
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นหลังจากธรรมนูญอ่าวอุดมเผยแพร่ออกไป จากนั้นเริ่มมีคนเข้ามาปรึกษาสมนึก บอกว่าอยากทำข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและสุขภาพอย่างอ่าวอุดมบ้าง เขาก็เข้าไปแนะนำให้
“มีคนจากมหาวิทยาลัยบูรพามาช่วย มีคนทำอยู่ Greenpeace บ้านอยู่บางพระมาช่วย มีคนทำงานแถวอ่าวอุดมมาช่วย มีคนทำเรื่องก่อสร้าง ไม่รู้เรื่องอะไรเลยมาช่วย มีวิศวกรที่ผมไม่รู้จักเลยมาช่วย มีสถาปนิก มีหมอผิวหนัง สัตวแพทย์ เข้ามาทำงานร่วมกัน ผมคิดว่า ที่เขาบอกว่า ทำงานผ่านไลน์ มันทำได้จริง”
สมนึกเชื่อว่าสภาพลเมืองเกิดขึ้นได้ ถ้าทุกคนมองว่า สภาพลเมืองคือบ้านของทุกคน
“คุณเป็นฝรั่งอยู่ชลบุรี คุณก็เข้ามาได้ คุณเป็นคนต่างด้าว ทำงานที่นี่ คุณก็เข้ามาได้ คุณเป็นนายกเทศมนตรี และก็เป็นนายกสมาคมผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่ชลบุรีด้วย คุณก็เข้ามาได้ คือเอาความเป็นนายกสมาคมฯได้ แต่อย่าเอาความเป็นนายกเทศมนตรีเข้ามา”
ลักษณะเป็นสภาเปิด ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ opensource พูดง่ายๆ คือ เปิดรับทุกซอฟท์แวร์ รันได้ทุกระบบปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับปัญหาเชิงประเด็นของพื้นที่ จะเล็กจะใหญ่แค่ไหนไม่จำกัด
ถ้าเป็นระดับเล็ก ตำบลก็จัดการได้ ระดับใหญ่ขึ้นมาหน่อยอาจจะเป็นอำเภอหรือจังหวัด สภาพลเมืองแต่ละจังหวัดจะมีกี่ระดับ ขึ้นอยู่กับบริบทในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่อย่างน้อยระดับจังหวัดสมนึกแนะนำว่าควรมี เพราะจะต้องออกยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาจังหวัดร่วมกัน
“การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้ ต้องเกิดจากทุกๆ คน ไม่ใช่เกิดจาก สมนึก จงมีวศิน ผมอาจจะเป็นพะเนียงไฟเล็กๆ แต่จุดเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยพวกเราทุกคนช่วยกันจุดมันขึ้นมา”
สภาพลเมืองพิสูจน์ให้เห็นแล้ว กรณีบูรพาวิถี สมนึกบอกว่าเขาแทบจะเป็นพี่เลี้ยงและคนคอยให้กำลังสนับสนุนอยู่ไกลๆ เท่านั้น
“ผมเป็นผู้ตรวจสอบคนสุดท้าย แต่ทุกคนเดินหน้ากันหมดเลย จำได้ว่า ผมไปสองวัน คือวันแรกที่เริ่มคุย ว่าโปรเจ็คต์มีปัญหาอย่างไร กับวันสุดท้ายที่เปิดเวที ที่เหลือใช้วิธีออนไลน์
“การออนไลน์คือปล่อยให้เขาคุยกัน แต่ถ้าผมเห็นว่าน่าจะเพิ่มเรื่องนี้ ผมก็ใส่ลงไป ถ้าเขาเห็นด้วยก็โอเค แต่ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ก็เถียงผมมาเลย ผมก็ว่า เออ ผมชอบ เพราะผมเองก็ไม่ใช่หัวหน้าสภาพลเมือง เพราะสภาพลเมืองไม่มีประธาน”
9: เพราะคอร์รัปชันไม่เลือกข้าง
เมื่อถามว่าเขามีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร หรือเป็นคนเสื้อสีอะไร คำตอบก็คือ
“ผมไม่ได้รังเกียจรัฐบาลใดๆ เลย แล้วผมก็ไม่มีสีเสื้อ” สมนึกบอกว่า ถ้าจะมีสีเสื้อจริงๆ มันคงเป็นสีเขียว
“ผมเสื้อสีเขียว คือทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ได้รังเกียจอุตสาหกรรม ถ้าอุตสาหกรรมนั้นทำดี อุตสาหกรรมที่ดีที่สุด ไม่ใช่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมที่ดีที่สุด อยู่ที่จิตสำนึกของเจ้าของ
“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ทำให้แย่ ก็สร้างปัญหามลภาวะมากมายได้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ดี ก็ไม่สร้างปัญหาได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการเป็นหลักเลย”
เพราะเป็นคนกลางที่สามารถเชื่อมต่อทั้งฝั่งชาวบ้านและอุตสาหกรรมให้เข้ามาเจรจากัน เห็นหน้าเห็นตากัน และสุดท้าย เมื่อทุกคนต้องอยู่ร่วมกันที่นี่ ก็นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจกัน
“ผมไม่ใช่คนค้านไปทั่ว ผมเป็นคนที่ต้องการให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ ถ้าพื้นที่ไหนยังไม่มี (อุตสาหกรรม) ก็เก็บไว้ให้ลูกหลานเถอะ เพราะที่อ่าวอุดมเราไม่เหลือ เราขาดทรัพยากร เอาแค่พักผ่อนหย่อนใจ กว่าจะฟื้นกลับมาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ใช้เวลาตั้งกี่ปี”
ปัญหาสำคัญของประเทศไทย คงหนีไม่พ้นการคอร์รัปชัน และการจะแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้ สมนึกเห็นว่าไม่ใช่การมองไปที่ตัวบุคคลแน่ๆ
คอร์รัปชันไม่เลือกข้าง เราเองต่างหากที่เลือกข้าง จนมองว่าคนนี้ไม่คอร์รัปชัน แต่คนนั้นคอร์รัปชัน ซึ่งจริงๆ เขาอาจจะคอร์รัปชันกันหมดเลยก็ได้
นี่คือสิ่งที่สมนึกมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะทุกคนไม่ยอมเอาคอร์รัปชันมาวางไว้ตรงกลาง แต่กลับไปยึดที่ตัวบุคคล พอเป็นคนนี้อย่างไรก็คอร์รัปชัน แบบนี้ก็จบ ไม่ต้องพูดอะไรกันต่อ
“คุณเลิกเลือกข้างได้ไหม แล้วเอาความขัดแย้งมาเป็นศูนย์กลาง ช่วยกันมองความขัดแย้งโดยไม่มีข้าง มันจะแก้ปัญหาของประเทศได้หมดทุกเรื่องทุกประเด็น ผมมั่นใจ ตั้งแต่ปัญหาระดับหมู่บ้าน จนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ”