อ้างปัญหาสิทธิแรงงาน สหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย เสียหาย 4 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ มีจดหมายถึง ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) รองประธานาธิบดีและประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และ แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งให้ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าแบบปลอดภาษีกับสินค้าจากไทยบางประเภท โดยระบุว่าประเทศไทย “ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล” เช่น สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสิทธิในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม

573 รายการ 40,000 ล้านบาท

สำนักข่าวมติชนระบุว่า การระงับสิทธิครั้งนี้ครอบคลุมสินค้า 573 รายการ ตั้งแต่อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป ตะกร้า ดอกไม้ประดิษฐ์ จานชาม เครื่องประดับ เหล็กแผ่น สเตนเลส ฯลฯ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมดที่ส่งออกจากประเทศภายใต้ระบบ GSP ประเทศไทย

คำสั่งระงับจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative: USTR) ระบุว่า การตัดสิทธิพิเศษครั้งนี้มีมูลค่ามากถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบ 40,000 ล้านบาท ภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรแก่สินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะการระงับสิทธิพิเศษปลอดภาษีกับสินค้าประเภทอาหารทะเล ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ปัญหาเรื้อรัง แรงงานในธุรกิจประมง

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่าการระงับสิทธิพิเศษปลอดภาษีสินค้าชนิดนี้เป็นผลมาจากปัญหาเรื้อรังเรื่องสิทธิแรงงานในธุรกิจอาหารทะเลและธุรกิจขนส่ง แม้ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะพยายามออกมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับมาแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงาน จนมีเสียงสะท้อนว่ากฎหมายเหล่านี้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาจากผลกระทบเงินบาทแข็งค่าอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งฟื้นสิทธิพิเศษทางการค้าปลอดภาษีให้กับสินค้าบางชนิดจากประเทศยูเครนที่เคยระงับไปด้วยปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา เนื่องจากเห็นความคืบหน้าของยูเครนในการแก้ปัญหา

GSP คืออะไร

มติชนอ้างคำอธิบายโดย ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งบอกว่า GSP คือสิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน

โดย GSP นี้เป็นการให้สิทธิพิเศษฝ่ายเดียว ผู้ให้สิทธิไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ จากประเทศผู้รับสิทธิโดยตรง แต่เป็นการให้ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้รับจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ เช่น กรณีผู้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐอเมริกา จะต้องเป็นประเทศที่มีรายได้ของประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งไทยเข้าเกณฑ์นี้เพราะมีรายได้ของประชากรต่อหัวประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ต่างๆ อีก คือ ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพยายามขจัดการใช้แรงงานเด็ก อีกทั้งมีเงื่อนไขทางการค้าและปฏิบัติต่อสหรัฐอเมริกาเท่าเทียมกับประเทศอื่น

สำหรับประเทศไทยนั้นเป็น 1 ใน 125 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐอมริกา โดยหลังจากมีมาตรการตัดสิทธิดังกล่าว กีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่าจะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่กรมการค้าต่างประเทศ

 

อ้างอิงข้อมูล:

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า