Harakiri (1962): ผู้ป่วยไม่ควรต้องซื้อยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

ฮาราคีรี (Harakiri) เป็นหนังญี่ปุ่นขาวดำปี 1962 กำกับโดย มาซากิ โคบายาชิ ผู้กำกับ Samurai Rebellion (1967) ซึ่งขึ้นทำเนียบคลาสสิกตลอดกาลทั้งสองเรื่อง

ฮาราคีรี เล่าเรื่องโรนินหนุ่มยากนที่ติดกับขุนนางตระกูลหนึ่งให้คว้านท้องตัวเองต่อหน้าซามูไรทั้งตระกูลด้วยดาบไม้ไผ่ เด็กหนุ่มปักดาบไม้ไผ่หลายครั้งกว่าจะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปได้ และใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะขยับดาบไม้ไผ่ไปตามแนวขวางของหน้าท้องได้ ก่อนที่ถูกซามูไรผู้ช่วยบั่นคอให้จบเรื่องจบราว

ข้อเขียนนี้เขียนเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นวันครู เพื่อระลึกถึงครูคนหนึ่งของตัวผมเองคือนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551

16 ปีล่วงมาแล้ว

ในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นปี พ.ศ. 2540 กว่าๆ ผมอยู่ในที่ประชุมด้วย ครั้งหนึ่งมีวาระเรื่องการบรรจุยารักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ผลิตจากต่างประเทศเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ผมนั่งฟังด้วยความอัศจรรย์ใจว่า ฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและฝ่ายตัวแทนวิชาชีพเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ควรบรรจุ ในขณะที่ฝ่ายองค์กรผู้บริโภคซึ่งมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนแพทย์ทางเลือกกลุ่มต่างๆ ได้แต่นั่งใบ้กิน น่าจะด้วยไม่มีข้อมูลจะเห็นด้วยหรือคัดค้านอะไรได้

เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอ้างคือ ลำพังยาที่มีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติพอเพียงที่จะรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกชนิดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความจริง ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าเป็นความจริงเสมอมา เมื่อคุณหมอสงวนถามผมนอกห้องประชุมในเวลาต่อมา ผมก็ตอบว่าพอใช้ ไม่จำเป็นต้องบรรจุยาต่างประเทศราคาแพงเข้าไปอีก

หารู้ไม่ว่าในเวลาต่อมาอีกไม่นาน จึงมีปรากฏการณ์เรียกเก็บเงินค่ายาต่างประเทศที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การเรียกเก็บเงินนี้มิได้ทำแค่กับยารักษาโรคจิตเวชแต่ทำได้กับยากลุ่มอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาหัวใจ ยากระดูกและข้อ หรือยาระบบทางเดินอาหาร แม้แต่ยารักษาโรคสมาธิสั้นหรือโรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ

เรื่องนี้เกิดมาช้านานถึงวันนี้ ไม่นับเรื่องการชำระพิเศษเพื่อให้ได้บริการผ่าตัดที่เร็วกว่าปกติซึ่งบางแห่งยาวเกิน 6 เดือน การชำระพิเศษเพื่อให้ได้อุปกรณ์เสริมพิเศษนอกเหนือการผ่าตัดตามมาตรฐานปกติ หรือแม้กระทั่งการยินดีตรวจนอกเวลาราชการ เพื่อให้ได้คิวตรวจเร็วขึ้นแลกกับการชำระพิเศษบางส่วน เหล่านี้เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย 

ชุมชนรอบโรงพยาบาลไม่สามารถดูแล ให้ข้อเสนอแนะ หรือควบคุมโรงพยาบาลในท้องถิ่นของตนเองได้ เหตุเพราะโรงพยาบาลเป็นของการปกครองส่วนภูมิภาคซึ่งจะทำอะไรก็ได้

ก่อนคุณหมอสงวนเสียชีวิต มีเรื่องหนึ่งที่ผมเคยคุยกับท่านค้างไว้ คือเรื่องที่ท่านเล่าเสมอ คุณแม่ยังสาวอุ้มลูกเล็กไปถึงหน้าโรงพยาบาลแล้วเดินกลับ เพราะตัดสินใจไม่รักษาเนื่องจากไม่มีเงินค่ายา เราเคยคุยกันว่าปัญหาต่อไปจะมิใช่เรื่องค่ายาแต่เป็นเรื่องค่ารถ หากบริการใกล้บ้านใกล้ใจที่มีคุณภาพเกิดขึ้นไม่ทันเวลาเรื่องค่ารถจะกลายเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างมาก ซึ่งวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นจริง

หลายวันนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังท่านหนึ่งซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นนักข่าว ตัดประเด็นเรื่องเพราะอะไรท่านถึงป่วยออกไป ดูเฉพาะข้อมูลที่อ่านจากหลายสื่อพบว่าท่านป่วยจริง เป็นโรคซึมเศร้าเต็มรูปแบบอย่างที่เรียกว่า major depression แน่

นั่นหมายความว่า ระดับความเศร้าไม่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร บัดนี้ได้พัดพาให้สมดุลเคมีในสมองเสียหายชัดเจน พูดง่ายๆ ว่า “โรคได้ริบสมองบางส่วนของผู้ป่วยไปแล้ว”

ความเจ็บป่วยระดับนี้มิใช่คิดไปเอง มิได้อ่อนแอ มิใช่สำออย และมิใช่ไม่สู้ชีวิต แต่ตัวโรคนั้นร้ายแรงเกินกำลังการรักษาด้วยการพูดคุย จิตบำบัด หรือวิธีรักษาอื่นใด มาตรฐานการรักษาที่ถูกต้องคือยาต้านอารมณ์เศร้าที่ได้มาตรฐานในโดสที่สูงพอและกินระยะเวลานานพอ อย่างน้อยที่สุดก็ 3-6 เดือน ก่อนเริ่มต้นลดยาลง

แพทย์ที่ให้การรักษาตัดสินใจใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จะด้วยพิจารณาแล้วว่าอาการรุนแรงเกินกำลังบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือเคยใช้บัญชียาหลักแห่งชาติแล้วไม่ได้ผลก็ตาม ตามข่าวแจ้งว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น แต่เสียค่าใช้จ่ายเดือนละหลายพันบาท

เหตุเพราะค่ายาต่างประเทศนอกบัญชีนั้น ราคาเม็ดละมากกว่า 10 บาท (บางตำรับหลายสิบบาท บางตำรับมากกว่า 100 บาท และบางตำรับมากกว่า 300 บาท เหล่านี้เป็นราคาต่อ 1 เม็ด) นำไปสู่ข่าวการยื่นข้อเสนอเพื่อพิจารณางดเก็บเงินค่ารักษาด้วยยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรตัดสินเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนเรื่องการเก็บเงินพิเศษเพื่อแลกบริการที่ดีขึ้นหรือเร็วขึ้น ได้แต่รอให้ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเหนือโรงพยาบาลแล้วเข้าปัดกวาดเสียที    

ยารักษาโรคจิตเวชที่มาจากต่างประเทศมักเป็นยาใหม่ บางตัวใหม่มากเสียจนมีข้อสงสัยเรื่องการถ่วงดุลผลการวิจัย ทั้งที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในบ้านเรา ผู้ป่วยอยากใช้ก็พึงทราบข้อนี้และยินดีรับความเสี่ยงด้วยตนเอง เพราะแม้ว่ายาใหม่เหล่านี้ไม่ค่อยจะมีฤทธิ์ข้างเคียงเท่ายารุ่นเก่าซึ่งค่อนข้างง่วงและทำให้ท้องผูก แต่ก็อาจจะมีฤทธิ์ข้างเคียงใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ซ่อนตัวอยู่

สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีเงินจ่ายค่ายานอกบัญชีอย่างแน่นอนขออย่าได้กังวลใจ แม้วันนี้ลำพังยาในบัญชียาหลักแห่งชาติก็เพียงพอสำหรับรักษาโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท หรือโรคทางจิตเวชอื่นใดทุกชนิด หากการใช้ยาหลัก 1-2 ตัวคู่กันไม่เป็นผล ในบัญชียายังมียาเสริมฤทธิ์ยาหลักอีกหลายขนาน สามารถจับคู่และไขว้คู่กันได้อีกนับสิบรูปแบบ หากเราติดตามการรักษากับคุณหมอท่านเดียวนานพอ ท่านย่อมสามารถไขว้คู่ยาหลัก 2 ขนานกับยาเสริม 2 ขนานจนสำเร็จจนได้ ระหว่างนั้นย่อมต้องอาศัยจิตบำบัดประคับประคองไปก่อน แต่ถ้าแพทย์เจ้าของไข้เห็นความจำเป็นต้องใช้ยาต่างประเทศ ผู้ป่วยสมควรได้รับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หนังฮาราคีรีปี 1962 ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีสร้างใหม่อีกครั้งในชื่อ Hara-Kiri: Death of a Samurai ปี 2011 กำกับโดยทาคาชิ มิอิเกะ สร้างครั้งหลังเป็นหนังสีด้วยดนตรีเร้าใจของเรียวอิจิ ซากาโมโต้ หนังสนุกยิ่งกว่าและรันทดมากขึ้นไปอีก ไม่อยากตายการณ์บังคับให้ต้องตาย ครั้นยอมตายก็ตายยากตายเย็นเหตุเพราะขุนนางมิยอมให้ตายง่ายดายนัก

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า