ดูเหมือนว่าความพยายามของรัฐบาลคณะรัฐประหารที่จะสถาปนาความสามัคคีกลมเกลียวให้กับคนในชาติด้วยแนวทาง ‘ปรองดอง’ แม้จะมีทั้งเสียงสนับสนุน ตอบรับ และคัดค้าน แต่สาระโดยรวมยังคงเต็มไปด้วยความสับสนคลุมเครือ โดยเฉพาะแนวคิดที่ดูย้อนแย้งกับแนวทางปฏิบัติในหลายด้านที่มีทั้งการจับกุมปราบปรามผู้คิดต่าง และการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ขณะที่ยังคงป่าวประกาศว่าจะคืนความสุข
ความคลุมเครือในด้านหนึ่งคือ รัฐบาลทหาร-ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ได้ยกสถานะตนเองจากการเป็น ‘คู่ชก’ มาเป็น ‘กรรมการห้ามมวย’ จนกลายเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว แม้รัฐบาลจะพยายามอธิบายว่า เหตุผลของการยึดอำนาจคือการเข้ามาสลายความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น
ทว่าผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การล้มล้างรัฐธรรมนูญ คว่ำกระดานระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุให้ประเทศถูกแช่แข็งภายใต้การดูแลของทหารมานานเกือบสามปีเต็ม
เมื่อเริ่มต้นเดินหน้ากระบวนการปรองดอง นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งรายล้อมไปด้วยโควตาข้าราชการและทหารระดับบิ๊ก โดยมีนายกฯ และรองนายกฯ นั่งบัญชาการหัวโต๊ะ ตามมาด้วยคณะกรรมการย่อยอีกสี่คณะ ทว่าในขั้นตอนการสรรหา กลับปรากฏว่ามีการ ‘ยัดเยียด’ รายชื่อนักวิชาการบางรายเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อย โดยที่เจ้าตัวยังไม่ทันรู้ตัว
นี่คือการปรองดองแบบ ‘มัดมือชก’ ในสไตล์ของรัฐบาล คสช.
ยังไม่นับด้วยว่า สัดส่วนของคณะกรรมการย่อยทั้งสี่คณะ จะเปิดกว้างมากแค่ไหน และจะมีใครยอมเข้าร่วมสังฆกรรมด้วยหรือไม่
ความไม่ลงรอยอีกด้านหนึ่งคือ การให้ความหมายต่อคำว่า ‘ปรองดอง’ ของคู่ขัดแย้งหรือผู้มีส่วนได้เสียแต่ละฝ่าย ซึ่งยังมีการให้นิยามที่ไม่ตรงกันอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘คนละทาง’ อีกทั้งมีข้อข้องใจในความหมายที่คาบเกี่ยวระหว่างการปรองดองกับ ‘นิรโทษกรรม’
ที่หนักกว่านั้นยังมีคำถามตามมาด้วยว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมจริง จะ ‘นิรโทษสุดซอย’ ย้อนกลับไปจนถึงช่วงปี พ.ศ.ใด จึงจะนับว่าเป็นการเซ็ตซีโร่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงปี 2549 และ 2553 ที่มีการชุมนุมของประชาชนสองสีเสื้อ มีทั้งการชุมนุมยืดเยื้อปิดสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงกรณีผู้กระทำความผิดในการออกคำสั่งสลายการชุมนุม ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์อย่างไร และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีด้วยหรือไม่
เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มต่างพูดจากันคนละภาษา มองปัญหาคนละมุม ก็ยิ่งทำให้เห็นแนวโน้มว่า แนวทางปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลทหารชุดนี้จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน
กล่าวอย่างถึงที่สุด มาตรการบังคับขืนใจให้แต่ละฝ่ายหันมาปรองดองกันในครั้งนี้ มองอีกแง่หนึ่งอาจกลายเป็น ‘มวยล้มต้มคนดู’ เพื่อยื้อเวลาระหว่างรอการจัดสรรอำนาจใหม่ก่อนจะมีการเลือกตั้ง
และหากมองไปจนสุดทาง นี่อาจเป็นการเปิดศึกความขัดแย้งรอบใหม่
ปรองดองในมุมมองของ…
คสช.
- สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ศึกษาทบทวนนโยบาย 66/2523 และ 66/2525 ยุคหลังสงครามเย็น
- จัดโครงสร้างคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ประกอบด้วยคณะกรรมการสี่ชุดย่อย ได้แก่
- คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์
- คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ
- คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ
- คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
การปรองดองไม่ใช่นิรโทษกรรม”
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การดำเนินการครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ จะไม่คุยเรื่องขัดแย้ง ทั้งเรื่องการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่จะเน้นการสร้างความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ หาหนทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดี”
– พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การปรองดองสำเร็จไปครึ่งทางแล้ว เพราะหากตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมา แล้วไม่มีใครมาร่วม ถือว่าล้มเหลว แต่ขณะนี้ทุกคนทุกกลุ่มอยากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น”
– พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก
การพูดคุยทำให้เกิดประโยชน์กับคนไทย และเปิดกว้างทุกฝ่าย ไม่มีมุบมิบ ไม่มีอคติ หรือเงื่อนไขใด ทำอย่างจริงใจ ยืนยันว่ามีความโปร่งใสในกระบวนการสร้างความปรองดอง”
– พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
พรรคเพื่อไทย
- หลักการสร้างความปรองดอง 6 ประการ
- ต้องมีหลักความเป็นกลาง
- คณะกรรมการฯ มีความเป็นอิสระ
- ต้องค้นหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย
- ต้องไม่มีการสร้างข้อจำกัดหรือตั้งเงื่อนไขในการพูดคุย
- ไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งใหม่
- ผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดองควรเป็นความเห็นพ้องของทุกฝ่าย มิใช่เกิดจากการออกคำสั่งหรือตรากฎหมายขึ้น
การระดมทุกฝ่ายมาพูดคุยจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกวิกฤติให้ประเทศ หากจะให้ปัญหาคลี่คลายขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ และควรยอมรับความเห็นต่างอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เปิดเวทีปรองดองแต่สังคมกลับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่”
– ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
พรรคประชาธิปัตย์
- เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะต้องไม่กลับมามีความขัดแย้ง ความรุนแรง จนบ้านเมืองเดินไม่ได้ขึ้นมาอีก
- ต้องเคารพในหลักของกฎหมาย ประเทศชาติจึงจะสงบและเดินหน้าต่อไปได้
การปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ปรองดองเฉพาะคนที่ให้ข้อมูลหรือนักการเมือง แต่ควรทำความเข้าใจกับประชาชนว่าต่อไปนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร บนความเห็นที่แตกต่าง โดยยึดกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก ไม่มีการนิรโทษกรรม ยกเว้นกรณีของประชาชนที่ไปชุมนุมและทำผิดกฎหมายพิเศษกับความผิดที่เป็นความผิดเล็กน้อย”
– อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
พรรคการเมืองอื่นๆ
การปรองดองคือ ต้องให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว หากเป็นเผด็จการก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องคืนอำนาจอย่างรู้และเข้าใจ… การนิรโทษกรรมไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา แต่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะคนและเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งความผิดทางอาญาก็ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้”
– ชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่
สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่คำว่าการเลือกตั้ง แต่คือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ หากอีกสิบปีข้างหน้ายังต้องมาคุยเรื่องปรองดองกันอีก ก็ยังไม่ต้องการให้รีบมีการเลือกตั้งโดยเร็ว”
– วราวุธ ศิลปอาชา อดีต สส. พรรคชาติไทยพัฒนา
ต้องสร้างความปรองดองก่อนเลือกตั้ง ภายใต้หลักการของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกัน และควรตกลงร่วมกันให้ทุกพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง”
– ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา
การหารือไม่ควรเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือแกนนำ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนและอยากสะท้อนปัญหามาถึงรัฐบาล… ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อมั่นในการพูดคุยเช่นนี้ เพราะไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาที่เชิญตัวแทนมาให้ข้อมูล แต่ไม่ได้เกิดผลใดๆ”
– ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย
นปช.
- ทำความจริงให้ปรากฏ
- หยุด hate speech การพูดจากล่าวหา ใส่ความเท็จ การใส่ร้ายป้ายสี ยุยงให้เกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้าราชการ สื่อ พรรคการเมือง และกลุ่มองค์กรประชาชน
- นำเสนอหลักฐานที่เป็นผลการพิจารณาของศาลล่าสุด และการสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานมาเผยแพร่ โดยคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน
- การสารภาพความจริงของผู้กระทำต่อผู้เห็นต่าง การสารภาพผิดจะนำไปสู่การปรองดองที่ดีที่สุด
- การใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
- การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่าย ด้วยหลักนิติรัฐ-นิติธรรม (Rule of Law) อย่างเข้มงวด
- รื้อฟื้นและเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม
- ยกเลิกการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจัดการกับกลุ่มบางกลุ่มที่เห็นต่างกับกลุ่มอนุรักษนิยมและรัฐข้าราชการ
การปรองดองเป็นหน้าที่ของคนไทย เรามีหน้าที่ให้ความร่วมมือ พยายามไม่เป็นอุปสรรค แต่เรื่องความสำเร็จเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ”
– จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
กปปส.
- เสนอให้มีการปฏิรูป 5 ด้าน ได้แก่
- ปฏิรูปข้าราชการ
- ปฏิรูปพรรคการเมือง
- ปฏิรูปตำรวจ
- การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
- การรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น
รัฐที่เป็นตัวต้นเหตุที่เข้าข้างพวกตัวเอง ก็ขอให้ย้อนมาดูตัวเองด้วยว่าเป็นเช่นนี้หรือไม่ ซึ่งข้อเสนอนี้ขอให้แต่ละฝ่ายออกมาเอากระจกส่องตัวเอง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ คสช. ก็เป็นฝ่ายผิดด้วย ก็ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวเองผิดตรงไหน และยอมรับความผิดพลาดนั้นด้วย ว่าที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจมิชอบใช่หรือไม่”
– ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.
กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553
- เห็นด้วยหากมีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำผิดโดยมีเจตนาหรือจุดมุ่งหมายทางการเมือง
- เรียกร้องให้มีกระบวนการค้นหาความจริงที่เป็นเหตุอันก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและร่างกาย รวมทั้งสิทธิเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
- เห็นด้วยในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม
- เห็นด้วยในการเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง
- เห็นด้วยให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางและมีความเป็นธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
- ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะองค์กรและกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจไปจากประชาชน องค์กรและกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและร่างกายของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้เป็นผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งและได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ที่สำคัญในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนทั้งชาติ หากปล่อยให้บุคคลเหล่านั้นเข้ามาทำหน้าที่ สังคมย่อมมีข้อกังขาและไม่อาจสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติได้อย่างแท้จริง กลับจะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ลบลืมต้นเหตุของความขัดแย้ง
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
- เงื่อนไขก่อนการปรองดอง ได้แก่
- คืนความยุติธรรมให้ผู้ต้องโทษคดีการเมืองทั้งหมดนับแต่ คสช. ยึดอำนาจ
- กองทัพต้องอยู่ในฐานะที่ตรวจสอบได้เท่าเทียมกับภาคส่วนอื่น และทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตย
- คสช. ต้องคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยด่วน โดยการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
- ขบวนการประชาธิปไตยใหม่พร้อมปรองดอง แต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐบาล คสช.
วิกฤติการเมืองตลอด 10 ปีนี้ กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญ มีประวัติการใช้กำลังกับประชาชนตลอดเวลา จำกัดเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนจำนวนมากต้องคดีทางการเมืองตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 400 ราย เกิดการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เป็นธรรม ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ ไม่มีทางปรองดองได้”
– กรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่