การตัดสินใจจ่ายเงินตรวจสุขภาพสักครั้ง คุณเลือกจากอะไรบ้าง? …วัย, โรคที่เสี่ยงจะเป็น, โรงพยาบาล, ความคุ้มค่า /ราคา หรือ ตรวจเป็นไฟท์บังคับประจำปีอยู่แล้ว
เงินหลักหลายพันหรือเรือนหมื่นที่เสียไป แม้ผลออกมาจะไม่ได้โรคร้ายหรือความเสี่ยงอะไรกลับมา หลายคนคิดว่าทำไปเพื่อความสบายใจก็คุ้มแล้ว จึงไม่ได้ตรวจตราอย่างละเอียดว่าแพคเกจตรวจสุขภาพที่ควักกระเป๋าจ่ายไป มีรายการใดบ้างที่จำเป็นและรายการใดบ้างที่เปล่าประโยชน์
“ปัจจุบัน คนไทยจ่ายค่าตรวจสุขภาพเป็นจำนวนเงินถึง 2,200 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่สูง ถ้าสูงแล้วได้ประโยชน์จริง มันก็ดี แต่ถ้าสูงแล้วไม่ได้ประโยชน์มันก็แย่ สิ่งที่เราอยากแนะนำคือตรวจในโรคที่จำเป็นและสำคัญจริงๆ โดยดูจาก 1.อายุ 2. เพศ และ 3. เรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง”
เป็นข้อมูลเบื้องต้นจาก ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยประจำโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) หนึ่งในทีมดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย” เพื่อเสนอมาตรการที่มีประสิทธิผล คุ้มค่า และเหมาะสมกับประเทศไทย เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ
จนออกมาเป็น 12 โรค/ปัญหาสุขภาพที่เหมาะสมกับการตรวจคัดกรอง คัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข/นักวิชาการสาขาที่เกี่ยวกับสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และผู้แทนองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร/ประชาชนทั่วไป รวม 41 คนดังนี้
1.โรคหัวใจขาดเลือด/หลอดเลือดสมอง 2.เบาหวาน 3.การติดแอลกอฮอล์ 4.ตับแข็ง/มะเร็งตับ 5.โลหิตจาง/ภาวะทุพโภชนาการ 6.มะเร็งปากมดลูก 7.เอชไอวี/เอดส์ 8.หืด 9.วัณโรค 10.ไตอักเสบ/นิ่วในไต 11.มะเร็งเต้านม 12.อุบัติเหตุจราจร
ตรวจเหวี่ยงแห แย่กว่าที่คิด
โดยทั่วไป เราอาจจะคุ้นกับคำว่า “ตรวจสุขภาพ” มากกว่าคำว่า “ตรวจคัดกรองสุขภาพ” ซึ่ง 2 คำนี้มีความแตกต่างกันทั้งคำจำกัดความและวิธีการตรวจ
“คำว่าการตรวจสุขภาพ บางคนใช้คำว่า Health checkup จะเป็นการตรวจโดยทั่วไปเหมือนเป็นการตรวจเหวี่ยงแห แต่การตรวจคัดกรองคือคำว่า Screening เหมือนเป็นตระแกรงช้อนคนทั่วไปดูว่าเป็นหรือไม่ในเบื้องต้น”
ภญ.ปฤษฐพรให้ข้อมูลต่อว่า การตรวจคัดกรองเป็นการซักถามหรือตรวจเบื้องต้นเพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือโรคในคนสุขภาพดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อน แต่สภาพจริงที่เกิดขึ้นคือแพคเกจตรวจสุขภาพแบบเหวี่ยงแห ซึ่งสมัยก่อน ภญ.ปฤษฐพร ก็เคยใช้บริการเหมือนกัน
“สมัยเรียนก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่า มันจำเป็นเหรอ ทำไมเราต้องมานั่งตรวจเอ็กซเรย์ทุกปี มันมีความจำเป็นไหม เคยตั้งคำถามแต่ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่อยากให้ตรวจก็ตรวจไป ไม่ได้อะไรมาก แต่พอได้มาทำงานวิจัยชิ้นนี้ เลยรู้ว่าการตรวจแบบเหวี่ยงหรือตรวจแบบไม่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะ เป็นการตรวจที่มีโทษมากกว่า”
ปกติแล้วการตรวจคัดกรองทุกประเภทไม่สามารถให้ผลที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้ออกมาจะมี 2 แบบคือ บวกและลบ
บวกคือ ผลการตรวจแสดงว่าผิดปกติหรือเป็นโรค และลบคือผลการตรวจแสดงว่าไม่ผิดปกติหรือไม่เป็นโรค แต่ในผลบวกและลบนี้ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปถึง 6 แบบ คือ
บวกลวง – ได้รับผลบวก แต่ผู้ที่ได้รับการตรวจไม่มีความผิดปกติหรือไม่มีโรค
ลบลวง – ได้รับผลลบ แต่ผู้ที่ได้รับการตรวจมีความผิดปกติหรือไม่มีโรค
บวกจริง – ได้รับผลบวก ผู้ที่ได้รับการตรวจมีความผิดปกติและจะเป็นโรคในอนาคต
ลบจริง – ได้รับผลลบ และผู้ที่ได้รับการตรวจไม่มีความผิดปกติและจะไม่เป็นโรค
บวกจริงแต่… – ได้รับผลบวก และผู้ที่ได้รับการตรวจมีความผิดปกติจริงแต่จะไม่เป็นโรคในอนาคต
ลบจริงแต่… – ได้รับผลลบ แต่ผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองมีความผิดปกติ ทว่าจะไม่เป็นโรคในอนาคต
“ถ้าคนที่ไม่มีโรคแต่การคัดกรองกลับให้ผลบวก จริงๆ อาจเป็นผลบวกลวง เขาอาจถูกส่งต่อไปวินิจฉัยเพิ่มเติมซึ่งเป็นการตรวจที่เสี่ยงอันตรายกว่าเดิม เช่น การตรวจหาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการตรวจ PSA และตัวสาร PSA ไม่ได้มีความแม่นยำต่อการตรวจโรค บางทีค่า PSA บอกว่าน่าจะเป็นโรค แล้วคนนั้นต้องมาวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการผ่าตัดชิ้นเนื้อ ส่องกล้องเข้าไปตรวจอวัยวะภายใน หรือผ่าตัดเข้าไปดู จะทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้…
หรือกรณีที่ร่างกายปกติแล้วไปเอ็กซเรย์ปอดเพื่อตรวจหาวัณโรค มันไม่ได้มีประโยชน์ในเชิงวิชาการ แถมยังเป็นโทษเพราะร่างกายได้รับรังสีมากเกินไป”
สิทธิตรวจสุขภาพยังเหลื่อมล้ำ
ในบรรดาผู้ประกันตนในระบบสุขภาพ คือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองหรือ 30 บาท) และประกันสังคม….สิทธิในการตรวจสุขภาพของทั้ง 3 แบบนี้เหลื่อมล้ำกันอยู่มาก
“สิทธิแรกที่ครอบคลุมคน 70% ทั่วประเทศคือ บัตรทองหรือ 30 บาท จะมีการให้ตรวจคัดกรองที่เฉพาะเจาะจงต่อโรค แต่ละโปรแกรมจะไม่ใช่เป็นการเหวี่ยงแห เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อันนี้อยู่ในโปรแกรมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. จ่ายให้ ซึ่งคนอื่นที่แม้ไม่ได้อยู่ในสิทธิ สปสช.ก็สามารถรับบริการได้ฟรีเหมือนกัน รวมถึงการตรวจคัดกรองอื่นๆ ด้วย เช่นการตรวจดาวน์ซินโดรม การตรวจเบาหวาน ความดัน ซึ่ง สปสช. จ่ายให้อยู่แล้ว แม้เราจะไม่มีสิทธิตรงนั้นก็ตาม” ภญ.ปฤษฐพร ให้รายละเอียด
ด้านสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จะให้สิทธิในการตรวจสุขภาพคัดกรองโดยแบ่งเป็นช่วงอายุ แต่บางอย่างเป็นการตรวจที่ค่อนข้างเหวี่ยงแห
“เช่น ตรวจค่าไต จากการวิจัยของโครงการชุดสิทธิประโยชน์ฯ พบว่า การตรวจค่าไตเพื่อคัดกรองการเป็นไตอักเสบ ไม่ได้มีประโยชน์”
สุดท้ายที่สิทธิประกันสังคม พบว่าไม่มีสวัสดิการในการตรวจคัดกรองแต่อย่างใด ยกเว้นถ้าทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงาน กฎหมายกำหนดนายจ้างต้องให้ลูกจ้างตรวจเช็คร่างกายก่อนเข้าและระหว่างการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ
“จึงไม่แปลกที่หลายคนยอมจ่ายค่าตรวจสุขภาพราคาแพงโดยยึดเอาความสบายใจเป็นหลัก ทางโรงพยาบาลเองที่เสนอแพคเกจตรวจสุขภาพราคาสูง เหมือนกับการขายของ เค้าก็ต้องบวกต้นทุน กำไร แน่นอนอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลที่แพงกว่าอาจเพราะเค้ามีต้นทุนสูงกว่า แต่สูงกว่าแบบน่าเกลียดหรือเปล่า มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันก็เหมือนการขายสินค้าบริการที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก แต่โครงการของเราพยายามสื่อสารให้เข้าใจว่าการตรวจแบบไหนที่จำเป็นและเหมาะสมบ้างตามวัยและเพศ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องตรวจอะไรที่เกินจำเป็น”
จากการคำนวณค่าใช้จ่ายของการตรวจคัดกรองสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการปัจจุบันพบว่าอยู่ที่คนละ 530-1,200 บาทต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายของการตรวจคัดกรองสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ใน 12 โรค/อาการ ตามที่เสนอในโครงการอยู่ที่คนละประมาณ 380-400 บาทต่อปีเท่านั้น
“เพราะหลายรายการไม่ได้แนะนำให้ตรวจทุกปี เช่น วัดระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือด และอีกหลายรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีประโยชน์ เช่น การเอ็กซเรย์ปอด การตรวจการทำงานของไต และตับ หรือการตรวจหาโรคหืด เหล่านี้ยังไม่มีวิธีการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม”
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางโรคที่สมควรตรวจคัดกรองแต่ไม่ได้นำมาผนวกไว้ใน 12 โรค/อาการของชุดสิทธิประโยชน์ นั่นคือ มะเร็งเต้านม โดยการตรวจเอ็กซเรย์เต้านม (Screening Mammogram) เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม้ประสิทธิภาพการตรวจจะสูงเช่นกันก็ตาม
“เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ขยับไปสู่ระดับนโยบายให้ได้ จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างต่ำ มะเร็งเต้านมอาจทำให้งบประมาณต่อคนโดดเกินไป”
ขณะนี้ โครงการชุดสิทธิประโยชน์ฯ อยู่ในกระบวนการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยทำงานร่วมกับสมัชชาสุขภาพในการขับเคลื่อนเรื่องการให้ความรู้ ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติต่อไป
“เหนือสิ่งอื่นใดองค์การอนามัยโลกบอกไว้ว่า สำหรับประเทศไหนที่ต้องการให้การตรวจสุขภาพอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของประเทศ หนึ่งในข้อกำหนดที่จะต้องดูคือ ตรวจออกมาแล้วมีแนวทางการรักษาสำหรับโรคนั้นๆ แล้ว ถ้ายังไม่มีตรวจไปก็เท่านั้น” ภญ.ปฤษฐพร ทิ้งท้าย
********************************
หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากจุลสาร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
และสามารถอ่านรายละเอียดโครงการชุดสิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มเติมได้ที่ งานวิจัย การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย