ทลายมายาคติ ‘ปีศาจกัญชา’

“เริ่มต้นมาจาก facebook page เล็กๆ ชื่อ ‘กัญชาชน’ จากนั้นเพจได้พัฒนาเป็นกลุ่มสนับสนุนให้กัญชาถูกกฎหมายในประเทศไทย เราคือเสียงที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เรามุ่งมั่นที่จะให้ความรู้และยกระดับความรู้ ซึ่งเราเชื่อว่าในที่สุดจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายในประเทศไทย”

ข้อความข้างต้นอธิบายถึงตัวตนและเจตนารมณ์ของกลุ่ม ‘กัญชาชน’ ที่ประกอบไปด้วยคนหนุ่มสาวเพียง 4-5 คน แต่ริอ่านคิดการใหญ่ที่ท้าทายต่อมศีลธรรมและมายาคติที่ฝังแน่นในสังคมไทยให้ก้าวพ้นจากการมองโลกเพียงด้านเดียว

หัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือหนุ่มวัย 32 ผู้หลงใหลและลงลึกในศาสตร์แห่งกัญชา ‘ไกด์’ รัฐพล แสนรักษ์ ผู้ก่อตั้งเพจกัญชาชน และนิตยสาร Highland

5 ปีที่แล้ว เพจกัญชาชนก่อตั้งขึ้นท่ามกลางสายตาที่คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่ากัญชาคือ ‘ปีศาจ’ แต่วันนี้มีแฟนเพจคอยติดตามผลงานพวกเขากว่า 360,000 คน และล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ พวกเขายังได้จัดมหกรรมครั้งใหญ่เนื่องในวันกัญชาโลก กับงานที่ชื่อ ‘The 5th Thailand 420: OG 5 ปี กัญชาชน’ พร้อมกระแสตอบรับล้นหลาม

5 ปีผ่านไป เราได้เห็นหมุดหมายสำคัญจากการปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ แต่นั่นยังไม่ใช่ปลายทางของการต่อสู้เรียกร้อง ตราบใดที่กัญชายังถูกนับเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย

ก้าวย่างถัดไปหลังจากนี้คือ การปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 และการลดโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ พวกเขาเชื่อมั่นว่าการเสพกัญชามิใช่อาชญากรรม หากเป็นเสรีภาพที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

เส้นทางการต่อสู้ยังอีกยาวไกล การเคลื่อนไหวของกัญชาชนยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้

เส้นทางสายเขียว

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ รัฐพลเคยสัมผัสกับกัญชามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เคยผ่านประสบการณ์บนเส้นทางสายเขียวสายนี้มาก่อน

ช่วงหนึ่งของชีวิต รัฐพลไปศึกษาต่อที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขาต้องเผชิญกับโรคไมเกรนที่คอยรุมเร้า แต่เมื่อไปปรึกษาหมอ คำแนะนำที่ได้รับจากหมอกลับเปิดโลกอีกใบให้แก่เขา

“ตอนนั้นหมอให้คำแนะนำว่า คุณมีทางเลือกในการรักษา 2 ทางนะ หนึ่ง คุณสามารถใช้ยาแผนปัจจุบันได้ สอง คุณสามารถใช้กัญชาได้และเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในรัฐนั้น เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจมาก ไม่เคยรู้มาก่อนว่าใช้กัญชารักษาโรคได้ด้วย เลยตัดสินใจลองใช้กัญชารักษาไมเกรน ผลปรากฏว่าเวิร์ค” เขาเล่า

การรักษาไมเกรนได้ผล แต่รัฐพลยังไม่สิ้นสุดความสงสัย สุดท้ายเขาย้อนกลับไปถามหมออีกครั้งว่า เหตุใดกัญชาถึงใช้เป็นยารักษาโรคได้ ขณะที่ในเมืองไทยคือสิ่งต้องห้าม และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาศึกษาค้นคว้าต่อด้วยตัวเอง

“หมอบอกว่าจริงๆ แล้วถ้าใช้กัญชาในปริมาณที่หมอแนะนำ เทียบกับยาแผนปัจจุบันในแง่ผลข้างเคียงและผลกระทบต่อร่างกาย กัญชาถือว่าอยู่ในโซนที่มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่ายาไมเกรนมาก เพราะการกินยาไมเกรนจะมีผลต่อตับ ไต กระเพาะอาหาร หลอดเลือด และเสี่ยงต่อโรคมือเท้าเน่าถ้ากินยาเกินขนาด”

รัฐพลเริ่มลงมือศึกษากัญชาอย่างลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพบข้อมูลว่ามีการใช้กัญชากับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคร้ายที่เคยพรากชีวิตคนในครอบครัวของเขามาแล้วหลายชีวิต

“ครอบครัวของผม ทั้งปู่ ทั้งพ่อ และญาติ ล้วนเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ผมจึงเห็นความทุกข์ของผู้ป่วยมะเร็งมามากพอสมควร พอทราบว่ากัญชาใช้กับโรคมะเร็งได้ จึงสนใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เริ่มไปศึกษาหาข้อมูล หาหนังสือมาอ่าน ไปพูดคุยกับคนที่เขาใช้กัญชารักษาโรค ไปจนถึงคุยกับคนปลูกหรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้”

แล้ววันหนึ่งรัฐพลก็ได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง ปลายสายของโทรศัพท์คือแม่ของเขาเอง ข่าวร้ายที่ว่าคือ แม่กำลังป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกขั้นสุดท้ายหรือระยะแพร่กระจาย รัฐพลตัดสินใจบินกลับมาเมืองไทย และหมายมั่นว่ากัญชาน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยรักษาแม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่เขาเคยสอบถามพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาตัวด้วยกัญชาแล้วยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ทุกข์ทรมาน

แต่เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่เขาได้ศึกษามาก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจแม่ได้

“สิ่งที่แม่ตอบกลับมาคือ ปฏิเสธ เพราะแม่มองว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย ทำให้แม่ไม่เชื่อว่ากัญชาจะมีด้านดีได้ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมไทยปลูกฝังกันอย่างนี้มาตลอด จนสุดท้ายแม่ก็เสียชีวิตด้วยอาการที่ค่อนข้างเจ็บปวดและทรมาน”

จากจุดนั้นมาทำให้รัฐพลหันมาทบทวนตัวเองว่า ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้ตัวเขาเองจะไม่สามารถช่วยชีวิตบุคคลอันเป็นที่รักได้ แต่อนาคตอาจมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆ ให้พ้นจากความทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย

สิ่งแรกที่พอจะทำได้คือ สร้างเพจกัญชาชน เอาข้อมูลความรู้ที่ค้นคว้าและรวบรวมมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ นั่นคือจุดเริ่มเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ในม่านหมอกสีเทา

เพจกัญชาชนที่ตั้งขึ้นขณะนั้นดูเหมือนจะเป็นแค่เสียงของกลุ่มคนเล็กๆ ที่แทบไม่มีพลังอำนาจต่อรองใดๆ ทางสังคม หรืออาจถูกมองด้วยซ้ำว่าเป็นเพียงกลุ่มวัยรุ่น ‘ฮิปปี้หลงยุค’ ท่ามกลางกระแสสังคมเวลานั้นที่ยังไม่ยอมรับกัญชาเท่าไรนัก รัฐพลใช้คำว่า ‘มืดสนิท’ แทบไม่มีความหวังว่าจะปรับเปลี่ยนความคิดของผู้คนได้ ทั้งข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง ต่างพูดถึงกัญชาในแง่ลบ และให้ภาพสะท้อนเหมือนปีศาจร้าย

น้อยคนนักที่กล้าพูดถึงกัญชาในแง่ดี น้อยคนนักที่จะออกมาพูดถึงสรรพคุณกัญชาในทางการแพทย์หรือการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย

ทว่าในโลกสมัยใหม่ ผู้คนเข้าถึงข้อมูลกันมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ทั้งจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยทางการแพทย์ ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า กัญชาไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายอย่างที่ถูกกล่าวหาเสมอไป เพียงแต่เหรียญอีกด้านของมันยังไม่เคยถูกพลิกขึ้นมาพิจารณาด้วยใจที่ปราศจากอคติต่างหาก

“ผมคิดว่า เรายืนอยู่บนหลักวิชาการมาตลอด ช่วงแรกๆ ก็มีคนมาด่าบ้าง มาค้านบ้าง มาแขวนป้ายว่าเป็นไอ้ขี้ยา อยากดูดยาเสรี แต่เราก็ยึดหลักในทางวิทยาศาสตร์ มีข้อพิสูจน์จริง มีงานวิจัย มีงานศึกษา เราย้ำจุดยืนมาตลอดว่าเราต้องการให้สังคมดีขึ้น ต้องการเห็นวิธีการจัดการปัญหาแบบใหม่ จนมาถึงวันนี้เรียกได้ว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มาหลายครั้ง”

สิ่งที่กัญชาชนเคลื่อนไหวคือ การต่อสู้ด้วยข้อมูล การสร้างมิตรมากกว่าสร้างศัตรู อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก จนกระทั่งผู้คนเริ่มเกิดความตระหนักและหันมาเปิดใจรับฟังเรื่องราวของกัญชาในอีกแง่มุมหนึ่ง

การเคลื่อนไหวอีกขาหนึ่งคือ การเชื่อมต่อไปยังกลไกภาครัฐ ผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ เมื่อครั้งที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขณะนั้นมีการจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ กลุ่มกัญชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการในการให้ความเห็นต่อการปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้ ทั้งการเสนอให้ลดทอนโทษทางอาญาและยกระดับกัญชาทางการแพทย์

“ที่ผ่านมาเราพยายามเข้าไปประชุมร่วมกับ ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) และหน่วยงานรัฐต่างๆ เรียกได้ว่าถ้าภาครัฐคิดจะทำอะไร เราก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความเห็นโดยตลอด ในฐานะตัวแทนของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในประเทศเรา”

เปลี่ยนสงครามเป็นความรัก

ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก หรือ UNGASS ปี 2559 หลายประเทศทั่วโลกเริ่มยอมรับแล้วว่า การทำสงครามยาเสพติดที่ผ่านมามีแต่ความล้มเหลว การใช้กำลังปราบปราม การใช้บทลงโทษทางกฎหมายในการจัดการผู้ค้าหรือผู้เสพ ยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเข่นฆ่า จำคุก มากมายเท่าไร แต่ยาเสพติดก็ไม่เคยหายไปจากสังคม นี่คือข้อสรุปของหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ประชุมร่วมกัน

รัฐพลมองเรื่องนี้ว่า ทิศทางที่หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการคือ การลดหย่อนโทษทางอาญา เปลี่ยนวิธีจัดการคนแบบอาชญากรมาเป็นการดูแลแบบผู้ป่วย มองว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ยังมีสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ เพียงแต่เขาอาจมีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ

“ในประเทศเราก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อก่อนคนจะมองว่ากัญชาคือภัยคุกคามสังคม แต่มุมมองของคนตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เริ่มมองเห็นว่าคนที่ใช้กัญชาก็คือคนปกติ ไม่ใช่ขี้ยา ไม่ได้เป็นคนเลวร้าย

“ที่ผ่านมาเราแก้ไขด้วยการใช้ความรุนแรงกันมาไม่รู้กี่สิบปี มีคนถูกจับจนล้นคุก คุกแทบไม่พอจะขังคน แต่ปัญหาก็วนอยู่ที่เดิม นั่นแสดงว่าวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมใช้ไม่ได้”

เขาบอกอีกว่า ณ วันนี้กฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้แล้ว แต่รายละเอียดของกฎหมายลูกต่างๆ ยังไม่ครบถ้วน แม้จะปลดล็อคให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาได้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากรอบของคำว่าผู้ป่วยคืออะไร ใช้กับกลุ่มโรคอะไรบ้าง ใครบ้างที่จะจ่ายยาให้ได้ แพทย์จะต้องออกใบรับรองอย่างไร และใครบ้างที่จะผลิตยาได้ ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะได้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น

“ถ้าเราไปไล่อ่าน พ.ร.บ.ยาเสพติด เราจะพบข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าเป็นกฎหมายที่ยังมีความกลัวแฝงอยู่ มีหลายเงื่อนไขที่ทำให้คนตัวเล็กๆ หรือประชาชนทั่วไปยากที่จะเข้าถึงกระบวนการปลูกหรือการผลิตกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้ ขณะเดียวกัน กฎหมายอาจจะเอื้อให้คนที่มีกำลัง มีทุนทรัพย์ สามารถผูกขาดได้มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อ

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ผู้ป่วยควรจะมีโอกาสและสิทธิในการดูแลตัวเองได้ เช่น ได้รับอนุญาตให้ปลูกและสกัดยาเพื่อใช้กับโรคของตัวเองได้ อาจจะมีข้อจำกัดให้ปลูกได้คนละไม่เกินกี่ต้น เพื่อจะไม่ต้องไปพึ่งพายาจากบริษัทยาต่างๆ” รัฐพลกล่าว

เติมรอยยิ้มให้แก่กัน

หมุดหมายอีกขั้นของการเคลื่อนไหวในนามกลุ่มกัญชาชน คือการยกระดับให้กัญชาพ้นมลทินจากบัญชียาเสพติด และผลักดันให้สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ แต่แนวทางนี้จะเป็นที่ยอมรับแค่ไหนนั้น ระยะเวลาอาจเป็นเครื่องพิสูจน์

“เป้าหมายระยะยาวของพวกเราคือ การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้ทุกอย่างเสรี ใครจะทำอะไรก็ได้ แต่ควรมีข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ เหมือนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ที่สำคัญต้องลดโทษทางอาญาที่รุนแรงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล เพราะโทษทางอาญาคือโทษของคนที่ก่ออาชญากรรม แต่คนที่ใช้กัญชาไม่ใช่อาชญากร”

รัฐพลเล่าว่า ทุกวันนี้การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการถือเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้วในหลายประเทศ อามิ แคนาดา และในบางมลรัฐของสหรัฐ ส่วนที่ยุโรปแม้จะยังไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่มีโทษทางอาญา เพราะไม่ถือเป็นความผิดขั้นรุนแรง คงเหลือเพียงโทษปรับหรือตักเตือน แต่ไม่ใช่บทลงโทษแบบอาชญากรรมเหมือนที่บ้านเราเป็นอยู่

เขาให้ความเห็นว่า ปัญหาของยาเสพติดอาจติดอยู่ที่การใช้ถ้อยคำ หากสามารถนิยามคำว่ายาเสพติดให้เข้าใจตรงกันมากกว่านี้ บางทีการแก้ปัญหายาเสพติดอาจไม่จำเป็นต้องปราบปรามด้วยวิธีรุนแรงเพียงอย่างเดียว

“เอาแค่หลักพื้นฐานง่ายๆ เช่น น้ำตาล คาเฟอีน ถ้าเราใช้คำจำกัดความยาเสพติดแบบที่เราใช้กันในปัจจุบัน มันก็คือยาเสพติด เพราะมันมีฤทธิ์ของการเสพติดเหมือนกัน ทำให้ผู้ใช้ต้องการเพิ่มปริมาณมากขึ้น และยังทำให้ร่างกายเจ็บป่วย ซึ่งน้ำตาล คาเฟอีน อาจจะอยู่ในโซนที่อันตรายกว่ากัญชาด้วยซ้ำ ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงยาเสพติด ต้องถามกลับว่า เรานิยามคำว่ายาเสพติดอย่างไร”

หากถามตรงๆ ว่า เอาเข้าจริงแล้วกัญชามีโทษหรือไม่ รัฐพลยอมรับว่า ทุกอย่างย่อมมีทั้งคุณและโทษ แต่หากพูดถึงโทษหรือพิษภัยของสิ่งนั้น เราอาจจำเป็นต้องมีข้อเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นด้วยเช่นกัน

“ถ้าเทียบระหว่างกัญชา บุหรี่ แอลกอฮอล์ หลักในการวิจัยเรื่องพวกนี้ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ อันตรายต่อผู้ใช้ อันตรายต่อสังคม และอัตราการเสพติด ซึ่งถ้าวัดจากหลักเกณฑ์นี้ กัญชาถือว่าอยู่ในโซนที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่และแอลกอฮอล์ แต่ทำไมบุหรี่ แอลกอฮอล์ จึงสามารถจัดให้มีการจำหน่ายและบริหารอย่างถูกกฎหมายได้ แต่กัญชากลับต้องไปอยู่ใต้ดินและการใช้กัญชากลายเป็นอาชญากรรม ซึ่งมันไม่เมคเซ็นส์”

มองในแง่นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามายาคติเกี่ยวกับกัญชาจึงเป็นสิ่งที่ถูกเพาะบ่มขึ้นจากความเชื่อ หาได้มาจากข้อเท็จจริงใดๆ ‘ปีศาจกัญชา’ จึงเป็นเหมือนภาพหลอนที่ถูกสร้างขึ้นจากความกลัวของรัฐไทย และปลูกฝังต่อๆ กันมาจนยากจะรื้อถอนชุดความคิดเช่นนี้

‘420’ ปลุกสำนึกกัญชาไทย

“เราเชื่อว่าประเทศไทยไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก เราเชื่อว่าทุกคนสามารถได้ประโยชน์จากกัญชาโดยไม่ต้องไปผูกขาดให้กับใคร เราเชื่อว่าเสรีภาพของพวกเราไม่ควรถูกจำกัดจากกรอบที่สร้างขึ้นเมื่อ 80 ปี ที่แล้ว เราเชื่อว่าพลังของคนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ มันใหญ่พอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“ไม่ว่าคุณอยากจะปลูกกัญชา อยากทำกัญชาเป็นอาชีพ เป็นผู้ป่วย เป็นหมอ เป็นคนธรรมดา อยากเรียนรู้ อยากมาร่วมเฉลิมฉลอง มาร่วมเติมเต็มรอยยิ้มให้กันและกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร งานนี้คือพื้นที่ที่ทุกคนมาร่วมสร้างสิ่งที่เราฝันให้เป็นจริง” – ข้อความในเพจกัญชาชนระบุเช่นนั้น

งานมหกรรมวันกัญชาโลก หรือที่เรียกว่า ‘420’ ตรงกับวันที่ 20 เมษายนของทุกปี โดยปีนี้กลุ่มกัญชาชนได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า edutainment มีทั้งสาระทางวิชาการและความสนุกสนานบันเทิง

ความฝันที่รัฐพลอยากเห็นคือ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านกัญชาในประเทศไทยให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกัญชาในระดับภูมิภาค

น่าเสียดายว่า ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งชั่วอายุคนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่เข้มงวด ทำให้องค์ความรู้ที่เคยสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษแทบจะสูญพันธุ์

“ประเทศไทยเรามีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาน้อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเลย เพราะมันผิดตั้งแต่คิดแล้ว ก่อนหน้านี้ถ้าใครคิดจะทำวิจัยเรื่องนี้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะขัดต่อกฎหมายยาเสพติด ใครจะศึกษา ทดลอง หรือนำไปใช้ ถือเป็นความผิดอาญา เมืองไทยก็เลยไม่เกิดการวิจัยอย่างจริงจัง บางกลุ่มจึงต้องแอบทำวิจัยใต้ดิน แต่สุดท้ายผลวิจัยก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะขัดต่อกฎหมาย”

ในวันที่หมอกควันสีเทาเริ่มจางลง การพูดถึงกัญชาในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องปิดลับอีกต่อไป จนถึงขั้นที่พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียงต่อสาธารณะ ซึ่งรัฐพลมองว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงพัฒนาการทางความคิดของสังคมไทยที่เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จากที่เคยถูกกดทับให้อยู่แต่ในมุมมืดมานาน

“เรียกได้ว่าค่อนข้างก้าวกระโดด เราเองก็ไม่เคยคาดหวังว่าจะมาได้เร็วขนาดนี้” เขาบอก

เมื่อโลกหมุนเร็วและแรงเช่นนี้ สักวันหนึ่งกัญชาต้องถูกบรรจุไว้เป็นแนวนโยบายอย่างหนึ่งของรัฐ เพราะเป็นปัญหาหมักหมมที่รัฐต้องหาวิธีแก้ไขให้ตรงจุด ลบภาพปีศาจร้ายที่ฝังหัวประชาชน แล้วหันมามองภาพความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติ

ถึงเวลานั้น กัญชาจึงจะพ้นมลทิน

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า