ในหมอกพร่างของกระท่อม/กัญชา ยารักษาหรือยาเสพติด

ภาพประกอบ: Antizeptic

บอกกล่าวเสียแต่ต้น ไม่ได้ต้องการชักชวนให้หามีด หาเขียงมาช่วยกันหั่นซอยกัญชา ให้เหมาะกว่าหากจะบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าจะมีสักสิ่งที่ควรถูกหั่นออกไปก่อน คือ ‘อคติ’ ที่มีต่อพืชชนิดนี้ เพื่อจะหาคำตอบที่ปราศจากมายาคติว่า กัญชา-กระท่อม แท้แล้วเป็นคุณหรือโทษ และพืชที่ว่านี้เป็นภัยต่อสังคมจริงล่ะหรือ

ถ้ายังไม่ชัด บางทีคำตอบจากสามนักวิชาการด้านสาธารณสุขจากวงอภิปรายหัวข้อ ‘กระท่อม กัญชา ยารักษาหรือยาเสพติด’ ในวาระการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ปี 2560 อาจให้คำตอบได้ดีกว่าอคติลอยๆ ที่วางอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ใบกระท่อมและกัญชาถือเป็นยาเสพติดให้โทษที่ต้องกำจัดปราบปราม


นิยามของกระท่อม

“คำถามที่ถามกันมาตลอด ว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดหรือเป็นยาที่มีสรรพคุณด้านสมุนไพร ในความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมเชื่อว่าเราจะต้องมีคำตอบที่เที่ยงตรงและเกิดประโยชน์ เป็นจุดยืนที่จะเอาไปขยายผลต่อๆ ไป ไม่ว่าจะยับยั้ง ควบคุม หรือจะใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็ควรมีจุดตั้งต้นจากข้อมูลที่แท้จริง”

จากจุดยืนของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ รศ.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลือกใช้สัตว์ในการทดลองเพื่อตอบคำถามเบื้องต้น โดยให้เหตุผลว่าต้องการจะตัดอคติที่มีต่อกระท่อมออกไป การทดลองในสัตว์จะให้ผลที่เที่ยงตรงต่อคำถามมากกว่า พ้นไปจากนี้นอกจากคำถามที่ว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดหรือเป็นยาสมุนไพรแล้ว รศ.เอกสิทธิ์ ยังต้องการจะตอบคำถามด้วยว่า ท้ายที่สุดแล้ว กระท่อมเป็นสิ่งชั่วร้ายเพียงถ่ายเดียวจริงหรือ

เพื่อย่นย่อให้ง่ายต่อการเข้าใจอย่างรวดเร็ว รศ.เอกสิทธิ์ บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน จากการที่นักวิทยาศาสตร์ชาวมาเลเซียได้ศึกษาและค้นพบวิธีการเยียวยาผู้ป่วยติดเฮโรอีนด้วยการให้ยาที่สกัดจากกระท่อมซึ่งปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แม้จะเพียงแค่เล็กน้อย แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้วถือเป็นข้อค้นพบใหม่ที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

และจากผลการศึกษานี้ที่สอดคล้องกับผลการวิจัยของ รศ.เอกสิทธิ์ และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทางการมาเลเซียจึงไม่ลังเลที่จะพัฒนายาจากกระท่อม แม้ในขั้นแรกของการพัฒนาจะให้ผลออกมาไม่ดีนัก และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐไทยยังไม่ตัดสินใจที่จะทำการวิจัยในด้านนี้อย่างจริงจัง

 

ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

ก่อนหน้านี้ ทีมงานของ Hamilton’s Pharmacopeia ซึ่งเป็นรายการทีวีที่พยายามค้นหาประเทศที่ทำการคิดค้นยาที่มีผลต่อระบบประสาทของสมอง ได้สัมภาษณ์ รศ.เอกสิทธิ์ ในเรื่องกระท่อมมีผลต่อสมองอย่างไร รศ.เอกสิทธิ์ จึงให้ดูผลจากการทดลองในหนู ด้วยการให้สารสกัดจากมอร์ฟีนที่ใช้ในยาต้านโรคซึมเศร้า รวมถึงกระท่อม เพื่อจะเปรียบเทียบผลระหว่างกัน

“เราพยายามจะหาคำตอบว่า กระท่อมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ติดยาเสพติดได้ไหม โดยการป้อนเอทานอลหรือเหล้าในหนูทดลอง จนเมื่อเสพติดแล้วก็มีอาการกระสับกระส่ายเหมือนคนที่ติดเหล้า จากนั้นเราก็เอาสารสกัดจากพืชกระท่อมมาป้อน ผลก็คือสามารถบรรเทาอาการลงแดงได้อย่างชัดเจน ฉะนั้น จึงตอบคำตอบแรกได้ว่า กระท่อมมีฤทธิ์ในการบำบัดผู้ติดยา”

ในขณะที่ผลข้างเคียงจากการทดลองในข้อต่อมา รศ.เอกสิทธิ์ พบว่า สารสกัดจากใบกระท่อมนอกจากจะใช้ได้กับผู้ติดสุราแล้ว ยังให้ผลคล้ายยาต้านโรคซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและไม่ทำลายรูปแบบการนอน ซึ่งแตกต่างจากยา fluoxetine ที่ใช้กันอยู่ในวงการแพทย์ที่ให้ผลข้างเคียง อาทิ มีอาการผื่นคัน สับสน มีอาการชัก ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน และหายใจลำบาก เป็นต้น

“ไม่ว่าจะขยายผลไปด้านไหน ก็อยากให้เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนแก่เราได้ว่า กระท่อมดีหรือไม่ดีอย่างไร” รศ.เอกสิทธิ์ กล่าว

กัญชาในฐานะของยา

ถัดมาว่าด้วยเรื่อง ‘กัญชา’ นพ.สมยศ กิตติมั่นคง นายแพทย์ชำนาญการจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า ขณะนี้มีบริษัทที่ชื่อ GW pharmaceuticals จากสหราชอาณาจักร ได้จดสิทธิบัตรยาที่สกัดจากกัญชาเพื่อใช้รักษาอาการโรคลมชักจาก FDA ในฐานะของยากำพร้า[1] รวมไปถึงใช้ในการรักษาอาการ Lennox-Gastaut syndrome ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคลมชัก นอกจากนี้ FDA ยังให้สถานะยากำพร้าในฐานะที่เป็นยารักษามะเร็งในสมองอีกด้วย

“ตอนนี้ในประเทศไทยมีความพยายามที่จะทำวิจัยกัญชาในการรักษามะเร็ง ผมขอบอกเลยว่า เราไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งนับสองนะครับ เราควรไปสามกันได้แล้ว ไม่ใช่เวลามาเริ่มต้นจากศูนย์ ประเทศอื่นเขาไปไกลจนจะจบงานอยู่แล้ว เรายังมานั่งเถียงกันอยู่เลยว่าไม่มีงานวิจัยรองรับ จน อย.ของสหรัฐอเมริกาเขาให้สถานะยากำพร้าแล้ว เราก็ยังมาถามกันอยู่ว่าไม่มีงานวิจัยรองรับ จะต้องมีงานวิจัยอะไรอีกล่ะครับ ในเมื่อเขาให้การรองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาดูข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานมาจนจบแล้ว”

ในขณะที่ตัวเลขจากบริษัท GW ที่ได้มีการทดลองให้น้ำมันสกัดจากกัญชาในผู้ป่วยมะเร็งสมอง 21 คน ปรากฏผลออกมาว่าสามารถยืดอายุของผู้ป่วยได้นานขึ้น 82 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตัวยาเดิมที่ให้ผล 53 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับในประเทศอังกฤษที่มีรายงานเรื่องการใช้น้ำมันกัญชารักษามะเร็งสมองในเด็กอายุ 4 ขวบคนหนึ่งที่ผ่านทั้งการผ่าตัดและให้เคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จนในที่สุดเมื่อทำการรักษาด้วยน้ำมันสกัดจากกัญชา ก้อนมะเร็งในสมองก็กลับยุบลงไปถึง 2 ใน 3 จากเด็กที่ไปเรียนหนังสือไม่ได้ก็กลับไปเรียนได้ตามปกติ

“ก็อยากจะสรุปแบบนี้แล้วกันนะครับว่า ประเทศไทยเราตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องกฎหมายกระท่อมและกัญชาอยู่ ผมคิดว่ารายงานวิจัยเหล่านี้น่าจะเพียงพอกับการพิจารณาของท่านทั้งหลาย และอยากฝากพวกเราที่จะให้ข้อมูลกับคนที่รู้จักหรือคนที่จะไปทำวิจัยก็แล้วแต่ อยากให้ช่วยกันอ่าน ช่วยกันติดตามข้อมูลด้วยว่า ตอนนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว จนตอนนี้เขาจดสิทธิบัตรกันไปกว่าสิบฉบับแล้ว ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ถ้าเราเพิ่งมาทำตอนนี้จะทันหรือเปล่า”

นพ.สมยศ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สส.อังกฤษยังได้ออกมาเรียกร้องประชาชนให้กระทำอารยะขัดขืนต่อรัฐบาลที่ประกาศให้การใช้กัญชาในฐานะของยารักษาโรคได้อย่างถูกกฎหมายแค่เฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลและบริษัทเอกชนเท่านั้น

“แต่พอประชาชนจะปลูกต้นกัญชา กลับติดคุก ดูแล้วน่าจะเหมือนประเทศหนึ่งแถวๆ นี้นะ” นพ.สมยศ กล่าว

กระท่อม/กัญชา 4.0

“เวลานี้เราต้องตอบให้ชัดๆ ว่า ทั้งกระท่อมกับกัญชา ถึงเวลาที่จะต้องถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้แล้ว” นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ฟันธงว่า ทั้งกระท่อมและกัญชานั้นควรถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคได้แล้ว ก่อนจะกล่าวต่อว่า สรรพคุณของกัญชา หรือ Cannabis เป็นที่รู้จักในฐานะยามานับพันปีแล้ว

นพ.อิสระ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมองกัญชาในฐานะของยาเสพติดที่ต้องกวาดจับเพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง ในขณะที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับไล่จับกัญชา เผา ทำลาย ทั้งที่ในต่างประเทศมีการวิจัยกัญชาในฐานะของยาเทียบเท่ากับยาสมัยใหม่อื่นๆ ที่ต้องมีการระดมสมอง มีการประชุมร่วมกัน ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีแต่ภาพของการจับกุมผู้ปลูกกัญชา

 

คนเสพยาไม่ใช่อาชญากร

ในฐานะนักระบาดวิทยาที่ทำงานด้านยาเสพติดมาก่อน นพ.อิสระ สะท้อนภาพของผู้ที่ใช้ยาเสพติดโดยจัดแบ่งกลุ่มที่เรียกว่า spectrum of drug abuse ไว้ดังนี้

1) กลุ่มคนที่มีความปกติ

2) กลุ่มคนที่มีอาการต่อต้านสังคม อารมณ์แปรปรวน

3) กลุ่มคนที่มีอาการทางจิตประสาท และโรคจิตเวช

“ตลอดชีวิตของการดูแลคนไข้ ผมไม่เคยเห็นคนไข้คนไหนที่เสพยาแล้วไปฆ่าคน” นพ.อิสระ กล่าวเสริมอีกว่า ในฐานะของนักระบาดวิทยา แทบไม่เคยเห็นสื่อแขนงใดตามติดชีวิตของผู้ที่ถูกสื่อระบุว่าเป็นบ้าเพราะเสพยาเลย

“เรื่องตลกใหญ่ คือ ระดับนโยบายไม่เคยเข้าใจสเปกตรัมนี้ แล้วปฏิบัติต่อคนทั้งประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกัน คนปกติจึงถูกจับยัดเข้าคุกไปด้วย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่จะบอกว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระก็ได้ จะบอกว่าเป็นเรื่องที่มันไทยๆ ก็ได้ ถ้าระดับนโยบายเข้าใจก็จะรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร”

ที่ยืนของกัญชา

หลังจากเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมมาเนิ่นนาน นพ.อิสระ ระบุว่า กลุ่มคนที่ใช้กัญชามีด้วยกัน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้เพื่อการผ่อนคลาย กับอีกกลุ่มที่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.อิสระ ยืนยันว่า กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ใช้กัญชามากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้เพื่อการผ่อนคลาย

นพ.อิสระ ยังกล่าวอีกว่า กัญชาเป็นพืชที่ให้ประโยชน์ตั้งแต่เปลือกจนถึงใบ จนทำให้เกิดข้อสงสัยในแง่ที่ว่า ทั้งในมาเลเซียที่มีการปลูกกระท่อมก็ดี ทั้งในจีนที่มีการปลูกกัญชาก็ดี ต่างก็มุ่งไปสู่การสกัดผลเพื่อพัฒนาไปเป็นยา นำไปสู่การขอสิทธิบัตร ซึ่งไม่เพียงประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนแล้ว ยังให้ผลในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย ทว่ากรอบความคิดอันคับแคบของรัฐและสังคมไทยยังคงมองกระท่อมและกัญชาในฐานะของยาเสพติดแต่เพียงมิติเดียว

“หากประเทศนี้หรือรัฐบาลนี้ต้องการที่จะก้าวข้ามหลายๆ เรื่อง ต้องนับว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไทยเราเป็นแหล่งที่มีสายพันธุ์กัญชาระดับต้นๆ ของโลก มีนักปลูกที่มีความสามารถในระดับที่เรียกตามภาษาวัยรุ่น คือ ‘ขั้นเทพ’ ในขณะเดียวกันเราก็มีโรงพยาบาลระดับดีมาก และผมเชื่อด้วยความจริงใจว่าความสามารถของคนไทยเราจะสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำได้ และจะทำให้เราหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ได้ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ดี ลองหันมาปลูกสักปี คุณจะเอาเท่าไหร่ เราหาได้หมด”

ถ้าไม่ยึดติดจนเกินไป ถึงจุดนี้อาจจะบอกได้ว่า อย่างน้อยๆ ภาพของกระท่อมและกัญชาที่เคยคุ้นมาแต่เด็กจากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว กระท่อมและกัญชากลายเป็นพืชที่มีสถานะมากกว่าหนึ่ง ทั้งในสถานะของยารักษาโรค สถานะของพืชเศรษฐกิจ

ภายใต้กฎหมายของรัฐไทยที่ยังคงมองทุกอย่างเป็นเพียงสีขาวและดำเช่นนี้ จะดีกว่าไหมหากจะจัดสถานะของกระท่อมและกัญชาเสียใหม่ ส่งเสริมโดยไม่ปิดกั้น หากปรารถนานั้นคือ หมุดหมายที่มุ่งไปสู่การคิดค้นยารักษาโรคต่างๆ ที่หลายประเทศได้นำหน้าไปก่อนแล้วหลายช่วงตัว ในขณะที่รัฐไทยภายใต้ปกครองของท่านผู้นำยังคงท่องแต่วาทกรรมไทยแลนด์ 4.0 โดยที่วิธีปฏิบัติกลับถอยหลังไปสู่ไทยแลนด์ 1.0

ลืมสิ้นซึ่งความหมายแท้จริงของการพัฒนา


[1] ยากำพร้า คือ ยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า