“การแจกจ่ายน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วยอยู่เหนือกฎระเบียบล้าหลังใดๆ”

“การแจกจ่ายน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วย เป็นเรื่องศีลธรรมที่ต้องทำ เรื่องนี้อยู่เหนือกฎระเบียบล้าหลังใดๆ เพราะสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับยาและการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐาน และศีลธรรมพื้นฐานของเรา”

 

เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวประโยคข้างต้นหลังเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (10 เมษายน 2562) และได้แถลงกรณีการจับกุมการมีกัญชาทางการแพทย์ในครอบครอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ปปส. ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

เดชา กล่าวยืนยันว่า การแจกจ่ายน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้เจ็บป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน โรคข้อ ลมชัก และอื่นๆ เป็นเรื่องศีลธรรมที่ต้องทำ เรื่องนี้อยู่เหนือกฎระเบียบล้าหลังใดๆ เพราะสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับยาและการรักษาเป็นสิทธิพื้นฐาน และศีลธรรมพื้นฐานของมนุษย์

หลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปรับปรุงแก้ไข มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา และเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านสามารถยื่นขอนิรโทษกรรมการมีกัญชาเพื่อครอบครองทางการแพทย์ได้นั้น ก่อนการเดินทางไปประเทศลาว เดชากล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ยื่นเรื่องขอนิรโทษกรรม แต่กลับมาถูกจับกุมเสียก่อนทั้งๆ ที่ยังอยู่ในระยะเวลา 90 วัน

“ผมเพิ่งทราบด้วยว่า หลังจากที่ตัวแทนของผมได้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอนิรโทษกรรมเมื่อวานนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่าการยื่นขอนิรโทษกรรมต้องมีหลักฐานว่าได้ครอบครองกัญชา ซึ่งตำรวจได้ริบไปหมดแล้ว อีกทั้งอ้างว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผมเป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งๆที่มีหนังสือรับรองจากมูลนิธิสุขภาพไทยที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายหมอพื้นบ้านทั่วประเทศ ได้แสดงหลักฐานยืนยันก็ตาม”

นอกเหนือจากการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี เดชากล่าวว่า ตนยังเป็นครูสอนการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และทำหน้าที่เป็นหมอพื้นบ้านในการแนะนำการใช้สมุนไพร การปลูกพืชที่มีคุณค่าทางอาหารและยา มานานกว่า 20 ปี ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในหนังสือ เทคโนโลยีชาวบ้าน หมอชาวบ้าน เป็นต้น เป็นประจักษ์พยาน

“กล่าวเฉพาะในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ผมได้สนใจค้นคว้าทดลองยาจากกัญชามาโดยต่อเนื่อง ทั้งจากตำราต่างประเทศ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการทดลองใช้ด้วยตนเองและคนใกล้ชิด เมื่อเห็นว่าสามารถโรครักษาผู้คนได้จึงเริ่มแจกจ่ายยาจากกัญชาเพื่อหวังให้ผู้ป่วยเหล่านั้นพ้นทุกข์จากความป่วยไข้

“ผมยืนยันว่าหมอพื้นบ้านทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้มีการปรุงยาจากกัญชาเพื่อการรักษาผู้คน โดยในส่วนของผมเองนั้น ได้หารือในเบื้องต้นกับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งจะหาโอกาสแถลงข่าวร่วมกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากนี้”

ในวันพรุ่งนี้ (11 เมษายน) เดชาและทีมทนายความจะเดินทางไปแสดงตัวต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ถนนดินแดง ในเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หลังจากนั้นจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อกำหนดนัดหมายวันเข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เป็นกฎหมายรองจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ที่เพิ่งแก้ไขเพื่อปลดล็อกการใช้กัญชาทางการแพทย์

ใจความสำคัญของทั้ง 3 ฉบับ คือ ให้แจ้งการครอบครอง กำหนดหน่วยงานที่สามารถครอบครองได้ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขการครอบครอง ให้ส่งคืนกัญชากับหน่วยงานรัฐเพื่อตรวจสอบและทำลาย ถ้าทำภายในกำหนดจะไม่มีความผิด โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ต้องแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ภายใน 90 วัน หลังพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีผลบังคับใช้ หรือเริ่มแจ้งได้ตั้งแต่วันนี้ โดย 7 กลุ่มที่จะได้รับการนิรโทษ ได้แก่

  1. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย ให้บริการ หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือสภากาดไทย
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน
  3. สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางแพทย์
  4. เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร แต่จะครอบครองได้ ต้องมีหน่วยงานรัฐตามข้อ 1 หรือสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 3 ร่วมมือและกำกับดูแล
  5. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
  6. ผู้ป่วยเดินทางต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องนำกัญชาติดตัว เข้าหรือออกราชอาณาจักร
  7. ผู้ขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีเห็นชอบ

ทั้งนี้ ต้องแจ้งการครอบครองที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ส่วนฉบับที่ 2 สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องครอบครองกัญชา ต้องแสดงเอกสารต่อแพทย์ แสดงอาการเจ็บป่วย ปริมาณการครอบครองต้องเหมาะสมกับลักษณะโรค หรือที่จำเป็นต้องใช้ และหลังจากนั้นต้องได้รับการสั่งจ่ายกัญชาจากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต

ขณะที่ ฉบับที่ 3 สำหรับผู้ไม่ได้รับอนุญาตครอบครองกัญชาและต้องส่งคืนให้กระทรวงสาธารณสุข ผ่านคณะทำงานตรวจรับ และคณะทำงานทำลายกัญชา

ทั้งนี้ ประกาศทั้ง 3 ฉบับ ตราขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ที่ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใรักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ

เมื่อยื่นคำขออนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายใน 90 วัน นับแต่กฎหมายใช้บังคับ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า