หญิงแกร่งแห่งวงการยา: ผศ.ภญ.สำลี ใจดี

 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ หลังประติมาสาธารณสุข ในปี 2552 WAY นำมาเผยแพร่อีกครั้งในปี 2562 เพื่อเป็นการรำลึกถึงและสานต่อเจตนารมณ์ในการทำงานของอาจารย์สำลี ใจดี เภสัชกรหญิงคนสำคัญนอกจากจะเป็นผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการต่อสู้เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยา คัดค้านความตกลงการค้าและนโยบายที่นำไปสู่การผูกขาดเรื่องยา ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย อาจารย์สำลี ใจดี คือผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ปลดล็อคการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และการผลักดันให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เริ่มจากการส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน ศึกษาวิจัยการใช้ยาของชุมชน การใช้ยาซองยาชุด รณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุดยาซอง แก้ปวดควบคู่กับการยกเลิกสูตรตำรับยาที่ไม่ เหมาะสม ส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม รณรงค์ การใช้ยาสมุนไพร (ตั้งแต่สมัยที่ไม่มีใครเหลียวแล) ส่งเสริมสุขภาพอนามัยชุมชนรณรงค์การใช้การ นวดไทยแทนยาแก้ปวด สนับสนุนการจัดทำ นโยบายยาแห่งชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติคัดค้าน การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร คัดค้านการจดสิทธิบัตร ยาที่ไม่มีความใหม่ เปิดโปงทุจริตยา 1,400 ล้าน บาท ติดตามตรวจสอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หนุนหลังให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศซีแอล (การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) นำเข้า ในยาต้านไวรัสเอดส์, ยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ในชื่อสามัญให้คนไทยเข้าถึงยาจริงๆ ฯลฯ

นี่เป็นเพียงผลงานบางส่วนของ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี หญิงแกร่งที่เป็นทั้งอาจารย์ นักวิชาการผู้มั่นคง และเอ็นจีโอผู้มุ่งมั่นที่อยู่เบื้องหลังของเกือบทุกเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุขร่วมสมัย

อยากทราบว่าทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนเภสัชฯ

จริงๆ แล้ว ทีแรกไม่ได้อยากเลือกเภสัชฯ นะ อยากเรียนวารสารศาสตร์มากกว่า แต่พ่อบอกว่า ควรจะสืบทอดมรดก คือที่บ้านปู่ทวดเป็นหมอพื้นบ้าน เวลาเข้าบ้านที จะหอมฟุ้งทั้งบ้านเลย เราก็เลยมีหน้าที่สืบทอดการช่วยชีวิตคนต่อไป ตอนนั้นคิด ว่าเป็นหมอช่วยชีวิตคนได้เยอะที่สุดแล้ว สมัยก่อนใช้วิธีสอบตรง ก็สอบได้หลายที่

แต่ปีก่อนหน้านั้น สอบได้บัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนอยู่ครึ่งเทอม ก็ทนเรียนไม่ได้ สอบวิชาบัญชี เราได้ B+ เกือบ A หมด อยู่ในเกณฑ์ท็อป 20 เปอร์เซ็นต์แรกของชั้นปี แต่สอบตกอยู่ 1 วิชา คือวิชาเลขานุการ วิชานี้คนที่สอบตกมีแต่พวกไม่เรียน (คือมันง่ายมาก) แต่เราตก เพราะข้อสอบเขาสั่งให้แสดงความเห็นว่า เป็นเลขานุการคุณควรจะประพฤติตัวอย่างไร ต้องเก็บความลับ รวมทั้งมุสาด้วย ต้องออเซาะเจ้านาย เรารับไม่ได้มันผิดศีลธรรม ก็เลยเขียนด่าลงไปในข้อสอบ แล้วก็เลยเลิกเรียนตั้งแต่ตอนนั้น พักเรียนไปครึ่งปีเพื่อติวตัวเอง สอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ คราวนี้เลือกแพทย์ และเภสัชฯ เป็นอันดับ 2 ก็ได้ เภสัชฯ

สอบได้เภสัชฯ ตรงกับที่อยากเรียนไหม

เฉยๆ เพราะมันไม่ใช่ที่ชอบที่สุด เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราก็ไปเสพสุขด้านนั้นมากกว่า การเรียนไม่มีปัญหา แต่ก็มีเรื่องขำขัน ตอนนั้นมาเรียนที่เภสัชฯ จุฬาฯ เขามีบันไดขึ้น 2 ทาง เขาจะขึ้นทางลงทางหรือสวน พอไปถึงวันแรกรุ่นพี่ก็บอกว่ารุ่นน้องต้องให้พี่ขึ้นก่อน เราก็หันขวับสวนไปเลย “พ่อแม่ไม่เคยสอน” รับมันไม่ได้เลย เพราะที่บ้านมีแต่สอนให้พี่ยอมให้น้อง เหมือนอยู่คนละโลก พอรับน้องก็ถูกยิงหัวเลย เขาว่า เราปากจัดมาก คือสมัยรับน้องจะมีการทาแป้งแกล้งรุ่นน้อง เราก็เลยหัวขาวมากที่สุด ปกติเรายอมให้เฉพาะครูเท่านั้น

สมัยนั้น ระเบียบจัดมาก ผู้ชายต้องผูกเนคไท ผู้หญิงต้องผูกโบว์ เราก็บ่นมาก ตอนผูกโบว์ว่าไม่เห็นจะทำให้ฉลาดขึ้นตรงไหนเลย

สมัยที่อาจารย์เรียน มันมีอะไรที่ทำให้เกิดความคิดเชิงสังคมบ้างไหม

เราเป็นพวกสัตว์ประหลาดที่เรามีความคิด แต่หาอะไรไม่ค่อยได้ แต่เนื่องจากเป็นคนที่อ่านเยอะ อ่านหนังสือพิมพ์ตอนนั้นก็มีอยู่ 2-3 ฉบับ เช่น สยามรัฐ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ สมัยนั้นคึกฤทธิ์ ยังแม่นประเด็น ปี 2505-06 หนังสือในห้องสมุดเรา อ่านหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ

เรื่องอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่บ้านอาจารย์เน้นมาก บ้านที่บ้านนอก สมัยก่อนพอพ่อมากรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์ห่อของ 1 แผ่น เราก็อ่าน เพราะหนังสือมันหายากมาก มีแค่ไม่กี่เล่ม คุณต้องอ่านรามเกียรติ์ คุณต้องอ่านสามก๊ก คุณต้องอ่านพระอภัยมณี อันนี้เป็นเรื่องที่พ่ออ่าน ย่าอ่าน เราก็ ต้องอ่าน เรียนรู้มาแบบนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจตัวระบบผู้ชายเป็นใหญ่เป็นยังไง แต่ที่บ้านอาจารย์เขาสอนแบบไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เนื่องจากพ่ออาจารย์มีลูกสาว 4 คน ส่วนลูกชายเป็นคนเล็กตามมาทีหลัง ซึ่งที่พ่อสอนก็คือไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะผู้หญิงมีความอดทนมากกว่า อย่างพี่สาวอาจารย์ก็เป็นช่างไม้

เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์อ่านหนังสือหมด ก็เลยทำให้คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ต้องคุยกับครู แต่บางคนนะที่รู้เรื่อง อย่างอาจารย์พัทศรี อนุมานราชธน สอนที่โรงเรียนศึกษานารี แล้วก็อาจารย์ประดิษฐ์ หุตะกูล ก็คุยการเมือง ตอนนั้นก็คุยได้อยู่ไม่กี่คน ตอนที่ไปสอบทุนปริญญาโท อาจารย์จาก Rockefeller มาเพื่อสัมภาษณ์เด็กชิงทุน พอดีเพื่อนร่วมชั้นของอาจารย์ เขาเป็นนักเรียนเหรียญทอง เข้าสัมภาษณ์ อาจารย์เขาบ่นว่า ทำไมนักเรียนเหรียญทองตอบไม่ได้ พออาจารย์เข้าไป คะแนนเราก็ค่อนข้างแย่นะ เมื่อเทียบกับนักเรียนเหรียญทอง สิ่งที่เขาถาม เป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง คุยการเมือง คุยเรื่องงบประมาณ คุยเรื่องแนวโน้มของสังคม อาจารย์คุยได้หมดทุกประเด็น เขาชอบมาก ถามว่า Why do you know everything? Why do you have a dozen Ds? เกรด D เต็มไปหมด ก็เลยได้ทุน

สำลี ใจดี

ที่คณะเภสัชฯ จุฬาฯ อาจารย์สอนอะไร

เริ่มแรกสอนสรีรวิทยา (Physiology) เพราะเป็นเรื่องกลไกการทำหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต… ร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์เยอะแยะ เป็นสังคมใหญ่ อาจารย์สนใจว่าเซลล์เยอะแยะมากมายอยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร ธรรมชาติมีการแบ่งระบบอย่างดี มีกลไกควบคุมตัวเอง (Negative Feedback Mechanism)ให้อยู่ในภาวะสมดุลบนฐานของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเห็นความสมดุล (balance) ของเซลล์ทั้งหลายที่ธรรมชาติไม่เห็นแก่ตัว กินใช้เฉพาะส่วนที่จำเป็นที่เหลือให้ส่วนรวม (เลือกปิด เลือกเปิด เลือกรับ ปรับใช้) เป็นความน่ารักที่ชอบมาก…

สังคมเล็กๆ ของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลล์เดียวหลายเซลล์รวมกันจนในที่สุดเป็นร่างกายเป็นสังคมมนุษย์ คล้ายๆ สังคมในอุดมคติ มีวิธีการทำงานที่เหมือนทำสมาธิแล้วคอนโทรลตัวเองได้ รู้อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร และที่พอเหมาะอยู่ตรงไหน ถ้ามากเกินไปก็เป็นมะเร็ง ถ้าน้อยเกินไปก็ตีบตัน อันนี้ชัดเจนมากในเชิงระบบ ถ้าเปรียบก็เหมือนหลักทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เรียนแบบนี้ก็เข้าใจไม่ต้องท่องจำมากนัก เพราะ “ตัวเอง ต้องควบคุมตัวเอง ให้คนอื่นคุมไม่ได้” ต่อมา ก็สอนสุขภาพอนามัย สาธารณสุข เภสัชสาธารณสุข ระบบยา นโยบายยา จริยธรรม เภสัชกร ฯลฯ

อาจารย์เอาหลักพุทธศาสนามาใช้กับการเรียนการ สอนด้วยหรือ

ก็เป็นเด็กโรงเรียนวัดวรจันทร์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปกติเราเข้าใจอยู่แล้วว่า ผลย่อมเกิดจากเหตุ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่าเชื่อง่าย (กาลามสูตร) ต้องรู้จักใช้ อริยสัจ 4 ในการวิเคราะห์ และหาทางออก สนุกมาก

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มาจากไหน ตั้งกลุ่มก่อน หรือเห็นปัญหาก่อน

เห็นปัญหาก่อน ต่อมามีเพื่อนครูกับลูกศิษย์ มาร่วมก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) เมื่อ เสาร์ 10 มีนาคม 2518

คือเห็นปัญหามานานแล้ว แต่ไม่ได้จังหวะ ต้องรู้ปัญหา ต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะชาวบ้านเจ็บไข้ ต้องพึ่งตัวเองไปซื้อยามากิน กินแล้วเป็นโรคกระเพาะ คนไข้ไปโรงพยาบาลเกิดอาการกระเพาะทะลุเยอะมาก เลือดจาง เพราะยาที่ชาวบ้านซื้อมาเป็นยาไม่เหมาะสมทั้งสูตรตำรับ รูปแบบ คุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งวิธีใช้ไม่ถูกต้อง ฯลฯ

อาจารย์ก็ชักชวนลูกศิษย์มาตั้งกลุ่ม

ที่จริงมีทั้งเพื่อนครูและลูกศิษย์ ที่เห็นปัญหาเองในช่วงไปออกค่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ต่อมา ปี พ.ศ. 2516-2517 มีกลุ่มที่รู้สึกเบื่อมากๆ ว่า หลักสูตรเภสัชฯ ที่เรียนมาตั้ง 5 ปี นั้นไม่สอดคล้อง กับปัญหาสุขภาพของคนไทย พวกนิสิตเภสัชฯ ก็ก่อการดีขอให้มีการพัฒนาหลักสูตร แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ คือผู้บริหารไม่เข้าใจ นิสิตทำการประท้วง หยุดเรียน หยุดสอบ ไล่คณบดี กลุ่มอาจารย์ที่สนใจพัฒนาชนบทก็เดินสายพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา ชี้ให้เห็นปัญหา ช่วยกันสร้างกลไกให้ไปทำงานในชนบทได้มากขึ้น

สำหรับอาจารย์ คิดว่าอะไรเป็นตัวแทนที่จะบอกได้ว่า นิสิตประสบความสำเร็จ

หนึ่ง ต้องไม่ถือเตารีดและคันไถไปรีดไถประชาชน อันนี้เป็นคาถาที่พูดเลยนะ เอาเปรียบ หลอก โกหกหรือทำอะไรที่ไม่ดี ถือว่าใช้ไม่ได้หมด สอง ต้องทำหน้าที่บัณทิตเต็มมาตรฐาน ตอนนั้น กฎหมายยา 2510 กำหนดให้เภสัชฯ ต้องทำงาน อยู่ประจำทั้งในโรงานผลิตยา และร้านยา แต่เภสัชฯ บางคนไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ

สำลี ใจดี

ขณะนั้น นิสิตนักศึกษาเริ่มมีกิจกรรมศึกษาอะไรบ้าง

ช่วงปี พ.ศ. 2513-2515 ทำค่ายในแนวบำเพ็ญประโยชน์กันเยอะมาก แรกๆ ก็ช่วยสร้างที่อ่านหนังสือ ต่อเติมโรงเรียน ซ่อมศาลาวัด สร้างสะพาน ช่วยสอนหนังสือนักเรียนในชนบท ฯลฯ

ต่อมาหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มปฏิวัติความคิด เช่น สายสาธารณสุขไปทำค่ายสาธารณสุข (โดยรวมกันทุกคณะในจุฬาฯ ก็มี แพทย์ เภสัชฯ ทันตะ ทำเป็น ‘ค่ายสาธารณสุขร่วมสมัย’) เป็นค่ายที่เข้าไปศึกษาสภาพปัญหา (ไม่ก่อสร้างถาวรวัตถุ) ไปสำรวจว่าชาวบ้านเจ็บไข้อะไร รักษาตัวอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องยาต้องไป สำรวจว่าชาวบ้านเคยกินยาใช้ยาอะไรบ้าง พบชาวบ้านกินยาชุด ยาซอง แก้ปวดเมื่อยกันมาก เช่น ทัมใจ บวดหาย (เป็นยาซองแก้ปวดสูตรผสม ประกอบด้วย แอสไพริน+ฟีนาซีติน+คาฟีอีน: Aspirin + Phenacetin + Cafeine /APC) แล้ว ทิ้งซองไว้เกลื่อนคันนา โดย ‘กินดิบ คือ กินทัมใจ แบบฉีกซองแล้วกรอกผงใส่ปากกลืนเลยโดยไม่กิน น้ำ’ ทั้งที่จริงยาพวกนี้ต้องกินน้ำเยอะ ไม่เช่นนั้นจะกัดกระเพาะ เป็นโรคกระเพาะ กระเพาะทะลุ เลือดจาง ยังพบคนไม่มีเงินซื้อก็เก็บเอาซองมาเลีย อยากยาติดยา (เหมือนคนเก็บก้นบุหรี่ที่ทิ้งตามถนนมาสูบ) ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงติดยานี้กันมากนัก

จากปัญหาที่เห็นแล้ว ตอนนั้นเริ่มทำอย่างไร

จับปัญหาเป็นตัวตั้ง ตอนแรกก็ส่งลูกศิษย์ที่สนใจชนบทไปขอเรียนรู้และฝึกงานที่โรงพยาบาลอำเภอ พอลงชุมชนก็จะเห็นสภาพอย่างนี้ ดูปัญหา ดูทีละขั้นทีละตอน ก็รู้ว่าต้องจัดระบบ ทำความเข้าใจในการค้นหาต้นเหตุแห่งปัญหา พบว่าชาวบ้านใช้ยาไม่ถูกต้อง ก็ไปช่วยแนะนำชาวบ้านถึงวิธีใช้ยา-กินยาที่ถูกต้อง กินก่อนอาหาร หลังอาหารทำอย่างไร นิสิตช่วยกันทำนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ ร่วมกันทำโครงการ ‘ตู้ยาสู่ชนบท’ ยาอะไรผลิตเองได้ ก็ช่วยกันผลิตยาหม่อง ยาธาตุ แล้วส่งต่อไปให้ชาวบ้าน ตู้ยาก็ไปขอลังไม้มาจากกรมศุลกากร ไปจ้างผู้ต้องขังในเรือนจำทำ แล้วก็แบกตู้ยาไปหมู่บ้านชนบท กลับมาอีก 2 เดือนไม่แบกแล้ว เพราะชาวบ้านเขาทำตู้ยาเข้าท่ากว่า สวยกว่า ต่อมาก็ประสานงานขอยาที่จำเป็นจากรุ่นพี่ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้

กศย. ช่วยทำสื่อเผยแพร่ความรู้ เช่น ปฏิทิน ส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน โปสเตอร์ สไลด์ประกอบเสียง ทำหนังสือเรื่องยาเป็นพิษ พิษของยา ไข้เด็ก การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อบรมถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านดูแลรักษาตนเอง ให้ใช้สมุนไพร เลิกใช้ยาชุดยาซอง

ต่อมาชาวบ้านก็ย้อนกลับมาว่า ซองยาเป็นของหลวง คือ ซองยาทัมใจมีตราครุฑ ขลังมาก เขานึกว่าของในหลวง หลวงอนุญาตให้ทำ ถ้าไม่ดี ทำไมหลวงไม่บอก การสอนเพียงกินยาใช้ยาให้ถูกต้องนั้นไม่ทันกับการโฆษณาของบริษัทขายยา เราก็มาตรวจสอบทั้งระบบ วิเคราะห์ว่า ทำไมถึงติดยากันงอมแงม ทำไม อย. ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแปลกๆ ยาสูตรผสม ยาที่ถูกเพิกถอนในต่างประเทศแล้ว เช่น ฟีนาซีติน เพราะทำลายไต แต่ส่งออกมาขายเมืองไทย พบว่า ยาซองแก้ปวด ทั้งหลายเป็นยาสูตรผสม มีแอสไพริน + ฟีนาซีติน + คาฟีอีน ทำให้ติด แม้ไม่ปวดเมื่อยก็อยากกิน ทางออก ต้องเสนอให้ยกเลิกเพิกถอนยาสูตรผสม ที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด โดยให้ผลิตเป็นยาเดี่ยว เฉพาะยาที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

เราก็เริ่มอย่างสุภาพโดยส่งจดหมายเปิดผนึกไปบอก อย. เขาตอบกลับมาว่า อาจารย์ก็สอนลูกศิษย์ไป เรื่องในสังคมอย่างนี้นี่เป็นเรื่อง ของ อย. ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์

แล้วอาจารย์ทำอย่างไรต่อไป

ก็รู้ชัดว่า ต้องแก้ไขเชิงระบบทุกระดับด้วย เริ่มต้นเน้นให้ความรู้ แค่นี้ไม่พอ ต้องมีทางเลือกด้วย เรื่องยาสมุนไพรก็เข้ามา เรื่องใช้นวดไทยแก้ปวดแทนยาก็เข้ามา ฉะนั้นงาน 10 ปีแรกของกลุ่มศึกษาปัญหายา เน้นในเรื่องใช้ยาให้ถูกต้อง มีอะไรที่ทำกินเองใช้ได้เอง ไม่ต้องซื้อ เน้นพึ่งตัวเอง สู้ในเชิงจากปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสู้ในเชิงระบบและหาเพื่อนให้มากขึ้น การทำวิจัยทำให้คนที่เข้ามาช่วยทำงานมีประสบการณ์ โดยเฉพาะพวกนิสิตเภสัชฯ จุฬาฯ จะกระตือรือร้นมาก ช่วยกันทำให้เป็น student center ถือเป็นขบวนการเรียนรู้ภาคสังคม วิชาชีพต้องทำอะไรเพื่อช่วยกันพัฒนาคนและช่วยกันแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเมื่อทำแล้วก็จะเจอปัญหาต่อเนื่องอีก

คนบางส่วนจะรู้สึกว่า พวก กศย. ช่างอารมณ์อ่อนไหวเสียจริง โน่นก็เป็นปัญหา นี่ก็เป็นปัญหา เห็นอะไรก็เป็นปัญหาไปหมด แต่ทั้งหมดมาจากการทำวิจัย ทำให้เรามีความรู้จริงมิใช่ความรู้สึก เราเห็นปัญหาทุกอย่างเป็นระบบมีหลักฐานอ้างอิง

ต่อมาจึงก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) ปี พ.ศ. 2526, มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.) ปี พ.ศ. 2534 เพื่อรองรับการทำงานที่ขยายเพิ่มขึ้น

งานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบาย คืองานวิจัยเรื่องอะไร

เรื่องการใช้ยาซอง APC การใช้ยาของชุมชน การใช้ยาชุด กรณียาชุดให้นิสิตสวมบทบาท (ปลอมตัว) เป็นผู้ป่วยหรือญาติไปซื้อยาตามอาการป่วยที่กำหนดในพื้นที่ที่กำหนด ซักถามคนขาย ขอคำแนะนำ แล้วก็นำมาวิเคราะห์ว่าเป็นยาอะไร ส่วนการใช้ยาของชุมชน ทั้งครูและศิษย์เข้าหมู่บ้านในชนบทสัมภาษณ์ชาวบ้าน

สำลี ใจดี

ในที่สุดก็ได้งานวิจัยที่เขาบอกว่าสั่นสะเทือนมาก

ประเด็นยาซอง เรื่อง APC แก้สูตรตำรับจากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว ส่วนยาชุดต้องแก้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 แต่กว่าจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งถือว่าเร็ว เพราะในสังคมไทยความเปลี่ยนแปลงใช้เวลา ประมาณ 20 ปี

ทำไมอาจารย์คิดว่าเวลา 10 ปีไม่นานเกินไปที่จะรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ปัญหาซับซ้อนหมักหมมมานาน ต้องตรวจสอบและเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม ธรรมะก็สอนอยู่แล้ว ไม่ใช่กดปุ๊บติดปั๊บ ผลย่อมเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้แหละ ถ้าหวังผลตรงนี้ ก็ต้องทำอะไรอื่นๆ อีกกว่า 4-5 เรื่องจึงบรรลุ ก็แค่นี้

งานในช่วงทศวรรษที่ 2 ของกลุ่มศึกษาปัญหายาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เน้นทำงานเชิงระบบมากขึ้น ลงพื้นที่ไปเจาะปัญหา พร้อมๆ กับที่รัฐบาลสหรัฐมากดดันเรื่องแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพราะฉะนั้นจึงร่วมกันลุยงานทุกระดับ อาจารย์จิราพร ลิ้มปานานนท์ และ อาจารย์จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ศึกษาวิจัยเรื่องนโยบายและกลยุทธ์ในการควบคุมราคายา และการใช้ยาในโรงพยาบาล ส่วนอาจารย์สุนทรี วิทยานารถไพศาล ทำงานพัฒนา และวิจัยในชุมชนโดยลงพื้นที่อำเภอด่านขุนทด เข้าหมู่บ้าน มีคุณสงกรานต์ ภาคโชคดี คุณเพียงพร พนัสอำพล ฯลฯ เป็นกระบี่มือหนึ่ง ลุยปัญหาในพื้นที่แล้วนำเสนอการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทำกันแบบองค์รวม เพราะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ระบบและขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องยาเหล่านี้ ถือเป็นต้นแบบของขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย

ทำไมอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภค

งานคุ้มครองผู้บริโภค คือการถ่วงดุลเพื่อให้เท่าทันลัทธิบริโภคนิยม อันที่จริงเรื่องค่านิยมบริโภคนี้ ไม่ใช่มิติของวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องการนำเข้าที่เกิดจากกระแสไหลบ่าจากทางตะวันตก โดยเฉพาะกระแสทุนนิยมลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งมีกลยุทธ์ มีเครื่องมือต่างๆ เย้ายวนให้ผู้คนหลงใหลการบริโภค จนลืมสำนึกและกำพืดของตนเองที่ว่ามนุษย์ควรคิดผลิตได้เอง แล้วค่อยบริโภค แต่ตอนนี้ถูกกระตุ้นให้ซื้อเพื่อความโก้เก๋ พ่อค้าทำทุกอย่างเพื่อให้สินค้าขายหมด และทุกอย่างเป็นสินค้าตั้งแต่เส้นผมจรดเล็บเท้า เช่น สินค้าบนเรือนร่างผู้หญิงสารพัดอย่าง อยากขายอะไรก็สร้างเป็นแฟชั่น เพื่อให้เกิดความนิยมที่อยากบริโภค ซึ่งเป็นตัวการทำลายความเป็นมนุษย์

ลัทธิบริโภคนิยมเสนอการเสพสุขจากภายนอก เช่นโฆษณาความสุขที่คุณดื่มได้ทำให้คนซื้อภูมิใจว่าได้ซื้อสินค้านั้นๆ แล้วหน้าจะใหญ่ แทนที่จะภูมิใจว่าการผลิตได้เองเป็นเรื่องดี เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เชื่อโฆษณาเชื่อความรู้สึกมากกว่าเชื่อความรู้จริง ฉะนั้นจึงต้องร่วมกันสร้างขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองตัวเอง และคนไทยทั้งหลายให้ได้รับความเป็นธรรมจากระบบโฆษณา การส่งเสริมการขายที่ทำให้ทุกคนบริโภคเหมือนกันหมด วิ่งตามกันเป็นแฟชั่น ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วจะได้มีสติยั้งคิด รู้ว่าควรจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ดังนั้นต้องวิจัยเพื่อสร้างความรู้ให้เท่าทัน ให้รู้จริง จึงต้องมาก่อน ซึ่งปัญหามีทุกระดับ ทั้งปัญหาในเรื่องระบบสังคม เรื่องการค้า เรื่องนโยบายภาครัฐ เรื่องกฎหมาย เหล่านี้ต้องรู้ให้จริงก่อนขับเคลื่อน

ทำงานกันอย่างไร

กศย. เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในแนวหน้า ปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อน เพื่อทำให้รู้ทั่วกัน ใช้วิธีเชิญนักข่าวมาคุยเรื่องเหล่านี้ ทำงานกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมาก นักข่าวต้องการข้อมูลอะไร ก็เอาข้อมูลที่รู้มาดูกันก่อน มาดูของจริงจะได้เข้าใจปัญหาด้วยกัน ทุกคนก็จิตใจดีมากที่อยากทำความจริงให้ประจักษ์ต่อสาธารณชน อะไรก็ตามถ้าเป็นประเด็นสาธารณะ ถ้าทำให้คนรู้ทั่วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ชาว กศย. ก็เลยเป็นนักวิชาการแนวใหม่ที่ทำวิจัยและรณรงค์ควบคู่กัน ว่ามีเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ไข โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนพร้อมกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงคนที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ระดับอธิบดี ระดับปลัด สำเนาส่งสื่อมวลชน พอหลังๆ ทำถึงนายกฯ เลย แล้วสำเนาถึงรัฐมนตรี จดหมายถึงนายกฯ นายกฯ ตอบนะ ส่วน อย. ไม่ค่อยตอบ เราก็พยายามมากในการช่วยชี้ให้เห็นปัญหา ซึ่งมีเต็มไปหมดทุกฝ่าย ต้องทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งการทำอย่างนี้ได้การตอบรับเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนได้มากขึ้น

อาจารย์ก็ไม่ได้ใช้แค่วิธีการสื่อสารกับสื่อหรือนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น มีการรณรงค์กับสาธารณะด้วย

รณรงค์กับประชาชน คือชาวบ้านต้องรู้ จากนั้นช่วยกันแก้ไขต่อในระดับนโยบาย ฐานคิดนี้ก็ยังอยู่เป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด ทั้ง 2 ด้านนี้ ต้องทำไปด้วยกัน

คราวสู้เรื่องสิทธิบัตร เป็นการรณรงค์ที่ใหญ่มาก ทำอย่างไร

อันนี้นักวิชาการเข้าช่วยกันเยอะมากนะ มีฝ่ายก้าวหน้าที่คุยกันรู้เรื่อง เห็นปัญหา เชื่อมถึงกันเน้นช่วยกันศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบและช่วยกันขับเคลื่อน มีกัลยาณมิตรมากมายหลายฝ่ายมาช่วยกัน

ตอนนั้น มีข่าวอาจารย์ทุกวันเลยทำโน่นทำนี่ วิ่งรณรงค์ อาจารย์ออกแบบอย่างไร

ก็มีนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน ช่วยกันคิดออกแบบ คิดว่าจะทำยังไงถึงจะรู้ทั่วกัน ช่วยกันรณรงค์ทุกรูปแบบ มีเพื่อนเยอะจริงๆ บทเรียนก็เยอะ ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นมีกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มต้องคุยทุกเย็นหรือทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

สำลี ใจดี

 

เขาว่าอาจารย์ค้านระบบสิทธิบัตร

แน่นอนต้องค้าน เพราะเอาเปรียบกันมากเกินไป แต่เดิมยังยอมรับในแง่คุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีผลิตควบคู่กับถ่ายทอดเทคโนโลยี และคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กำหนดควบคุมราคาและคุณภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบสิทธิบัตรที่ต้องการคุ้มครองคนที่ประดิษฐ์คิดค้นจริง (invention) ซึ่งเป็นพวกที่น่าคุ้มครองจึงต้องมีระบบคุ้มครองสติปัญญา เพราะพวกนี้เป็นคนไม่แสวงหากำไร สนใจแต่จะคิดค้น แต่พอกลุ่มที่เป็นพวกแสวงหากำไรเข้ามา คนคิดค้นกลายเป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นแบบอิสระแบบดั้งเดิม การถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ไม่ถ่ายทอดคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องควบคุมราคาก็ไม่ทำ กลายเป็นสนองผลประโยชน์นายทุน อันนี้ยอมรับไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เราเห็นความเลวร้าย ความใจร้ายของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่นายทุนนำมาใช้กับทาสทางการค้า เพราะฉะนั้นจุดยืนของเราก็ต้องรู้เท่าทัน เรายอมรับให้สิทธิบัตรกับเทคโนโลยีที่ใหม่จริง ในช่วงเวลาและราคาที่เหมาะสม

ช่วงปี พ.ศ. 2532-2542 เรามีเพื่อนทั่วโลกมากขึ้นจึงร่วมกันสู้เป็นทีมเอเชีย สร้างพลังต่อรอง ตอนนั้นเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรอยู่ตลอดเวลา ต่อสายกับ Health Action International ไปขับเคลื่อนในการเจรจาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่โดฮา ตอนนั้นเป็นครั้งแรกๆ ที่ประเทศ กำลังพัฒนารวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองเรื่องสุขภาพ จากนั้นเราก็ตรวจสอบสิทธิบัตรยา ddI ซึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดถึงการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร โดยรัฐ (CL) ขบวนการสู้ก็สู้กันตลอด มีการ ปรึกษากันตลอดว่า ทำได้ไหม ทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ประเด็นทางสังคมทางวิชาการ การเมือง ดูทั้งหมดทั้งขบวน ฉะนั้นต้องเลือกใช้เครื่องมือ กลวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ชาวไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องมียาที่จำเป็นใช้ ต้องเข้าถึงยา ถ้าใหม่จริงจ่ายแพงเราก็จะจ่าย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่จ่าย ถ้าแพงเกินก็ต้องควบคุมราคาหรือใช้ CL ต้องเตรียมทำการเฝ้าระวังข้อมูลสำคัญมาก

เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ยันมาได้ตั้งแต่ รัฐบาล พล.อ.เปรม จนถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย แต่มาแพ้ตอนช่วงรัฐบาล รสช. ในปี พ.ศ. 2535 อาจารย์รู้สึกอย่างไร

ก็ไม่เชิงแพ้นี่

อาจารย์ไม่เคยพูดว่าแพ้เลย ทำไมอาจารย์ถึงคิดว่าไม่แพ้

ก็ไม่แพ้ เพราะตัวเราไม่แพ้ มันเป็นปัจจัย ภายในกับปัจจัยภายนอก ถ้าเราแพ้ก็คือเลิกทำงาน ซึ่งเราไม่แพ้ เราต้องมีจังหวะก้าว เราก็เข้าใจว่าไม่ได้แพ้ เราก็ต้องสู้ต่อไง ไม่มีเวลาหยุด เพราะบริษัทยาคิดล้ำหน้าตลอด ต้องคิดดักทาง ปัญหาที่เกิดเป็นแรงผลักดัน (drive) ของเรา ชัยชนะมีขั้นตอน ก็รู้อยู่ว่าบริษัทได้มากกว่าที่ประชาชนได้ อันนี้เข้าใจ แต่เราไม่แพ้ เราไม่ถอดใจ

แล้วหลังจากที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ออกมาเป็นแบบที่เราคัดค้าน ตอนนั้นอาจารย์คิดถึงอะไร

ตอนนั้นปี พ.ศ. 2535 เราคิดกันว่า เสียนิ้ว รักษามือ เสียแขนรักษาหัว ก็โอเค เมื่อยอมรับกัน เราก็มีกำลังในการคิดเรื่องสิทธิบัตรต่อ เห็นว่ายังมี คณะกรรมการสิทธิบัตรยาอยู่ในกฎหมายสิทธิบัตร ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2535 เพราะฉะนั้นเรายังติดตามตรวจสอบเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตร เรื่องควบคุมราคายาได้ เราทำใจได้ว่า ถ้ายาใหม่จริงๆ ก็ให้การคุ้มครองในราคาและช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กับการถ่ายทอดเภสัชกรรม เทคโนโลยี โดยไม่ให้บรรษัทยาข้ามชาติเอาไปหมดทุกอย่าง

แต่ปรากฏว่าคนไทยถูกหลอกหรือรัฐบาลไทยสมยอมให้บริษัทยาข้ามชาติต้ม เพราะต่อมา พบว่ามี side letter สมัยรัฐบาล ปี พ.ศ. 2535 บอกว่าอีก 5 ปีจะแก้ไขให้อีก โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป

พอปี พ.ศ. 2542 กระทรวงพาณิชย์แก้ไขกฎหมาย โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป ตอนนั้นอาจารย์คิดจะทำยังไงต่อไป

คิดอยู่ตลอด เคลื่อนไหวตลอด กลับมาดูปัจจัยภายในว่าจะทำอะไรได้บ้าง จากผลการวิจัยเรื่องการใช้ยาในโรงพยาบาล เห็นพฤติกรรมของแพทย์ที่ ‘ถูกติดสินบนน้ำใจ’ หันไปใช้ยาชื่อทางการค้า (trade name / brand name) ยาราคาแพง มากกว่าการใช้ยาชื่อสามัญ (generic) ทางออกต้องจัดระบบส่งเสริมแพทย์ เภสัชกร และประชาชนให้ใช้ยาชื่อสามัญปฏิเสธการใช้ยาชื่อทางการค้าควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม และจัดระบบควบคุมราคายา จึงช่วยกันทำ โครงการโรงพยาบาลปลอด trade name คือ รณรงค์ให้แพทย์ เภสัชกรสั่งใช้ สั่งจ่ายยาด้วยชื่อสามัญ สนับสนุนการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา บัญชียาหลักแห่งชาติ เน้นการร่วมกันสร้างปัจจัยภายในให้เข้มแข็ง ให้เป็นภูมิคุ้มกันการรุกรานจากปัจจัยภายนอก

อาจารย์มีคนที่เป็น Insider ตามจุดต่างๆ คอยให้ ความช่วยเหลือเยอะมาก

ต้องให้เครดิตเพื่อนๆ หลายคนมาก โดยเฉพาะ insider ทั้งหลาย และที่สำคัญยิ่งคือชาวไทย ที่รักและหวังดีต่อแผ่นดินไทย บางทีก็เป็นผู้อาวุโส เป็นสายวิชาการคนละรุ่น ที่ทำเอกสารสำคัญตกหล่นมาให้ประชาชน เพราะฉะนั้นขบวนการต่อสู้ ถ้าไม่ออกข่าวในสื่อมวลชนว่า สิ่งนี้เป็นหายนะของชาติ ก็ไม่มีวันชนะ เพราะนักการเมืองนั้นต้องสร้างกระแสสังคมกดดัน

สำลี ใจดี

 

อาจารย์ทำอย่างไร Insider เหล่านั้นจึงช่วยงานอาจารย์ตลอด

อันนี้ตอบไม่ได้ ต้องถามพวกเขานะ เราเคารพแหล่งข่าวมาก เขาจะต้องปลอดภัยไม่ถูกเปิดเผย เราเองก็ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงมีคนมาทำ ‘ของตก’ ไว้ให้ รู้สึกได้ว่ามีคนดีๆ ที่น่ารัก ไว้วางใจเรา ให้ข้อมูลจริงแก่กลุ่มของเรา

อาจารย์มีส่วนในการสร้างเครือข่ายผู้ป่วยด้วย

ใช่ เป็นประเด็นต่อเนื่อง เป็นวงจรเมื่อรู้เหตุ ที่ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงเป็นครูที่ดีที่ ทำให้เห็นปัญหาตัวจริง และนำไปสู่การแก้ไข จะแก้ตรงปลายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ที่ต้นน้ำ เรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็นเรื่องที่พูดกันมาตลอด คือใครเป็นคนสร้างปัญหาก็ต้องแก้ที่ตรงนั้น ผลย่อมเกิดจากเหตุ อิทัปปัจจยตา กาลามสูตร อริยสัจ 4 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เวลามีปัญหาก็วิเคราะห์กันหูดับตับไหม้ถึงการแก้ไขหรือหนทางดับทุกข์ จะดับอย่างไร

หากย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์อยากจะเปลี่ยนหรือแก้เรื่องอะไรมากที่สุด

ที่ทำมาถูกต้อง ไม่มีอะไรผิด

แล้วต้องการทำอะไรอีก

ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคุณภาพคน คือเรายังไม่อยู่ในสังคมที่เป็นสันติ หรือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยังมีปัญหาโกงกันให้เห็นทุกวัน ปัญหามีเสมอ ความทุกข์ยากยังปรากฏ การเอารัดเอาเปรียบยังปรากฏ ก็ชัดเจนว่ายังต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป ฉะนั้นต้องเตรียมประเด็นให้พร้อมเมื่อมีจังหวะก้าวที่ถูกต้อง ก็จะบรรลุเป้าหมาย

แล้ว 42 ปีของความเป็นครู อาจารย์อยากบอกอะไร

ในแง่ความเป็นครู เราตั้งใจสร้างลูกศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจากถ่ายทอดศิลปวิทยาการความรู้ให้ไปทำมาหากิน จนเป็นบัณฑิตแล้ว ก็อยากสร้างให้เขาเป็นบัณฑิตที่แท้ ที่ออกไปดำเนินชีวิตอย่างดีงามด้วย นี่ถือเป็นหน้าที่ปกติที่ทำอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยให้ความใส่ใจเรื่องจริยธรรม ก็คุยเรื่องนี้กันมาก มีข้อเสนอตอนปรับปรุงหลักสูตรเภสัช ปี 26-27 ให้เพิ่มเรื่องจริยธรรมในหลักสูตร ตอนนั้นถกเถียงกันว่า เรื่องจริยธรรมสอนกันได้หรือไม่ เราว่าทำไมจะสอนไม่ได้ คนเกิดมาทำอะไรไม่เป็นต้องสอนทุกอย่างไม่เห็นต่างตรงไหน จะสอนเรื่องทางกายหรือทางใจก็ต้องสอนเหมือนกัน สุดท้ายก็ตกลงให้มีการสอนจริยธรรม 1 หน่วยกิตในหลักสูตร ให้น้ำหนักน้อยนิด

ในเรื่องการสอนให้บัณฑิตเป็นคนมีจริยธรรม ไม่ขี้โลภซึ่งคนเป็นครูควรจะสอนให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของเพื่อนมนุษย์ที่ยากจนให้มองทุกคนเหมือนญาติ เป็นพ่อแม่ คุณรักษาญาติพี่น้องตัวเองอย่างไร ก็ควรรักษาผู้อื่นอย่างนั้นเหมือนกัน ทำได้อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาจริยธรรม อย่าลืมนะว่าความลับไม่มีในโลก ต้องคิดถ้าปรากฏต่อสาธารณะคนที่คุณรัก เขาจะรู้สึกอย่างไรต่อตัวคุณ

การเป็นครูเรามีหน้าที่ต้องสอนลูกศิษย์ให้ทำให้ถูกต้อง สอนให้ทำนำให้คิดให้เขารู้สึกว่ามีกัลยาณมิตร เพราะมีช่วงหนึ่งคนผิดหวังมากว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำชั่วถึงจะได้ดี ได้ร่ำรวยอะไรต่างๆ เราก็บอกเขาว่า ทำดีก็ได้ความดีซิ ทำไมจะไม่ได้ เขาว่ามันยากมาก เราก็ไม่เถียงเรื่องความยาก แต่ต้องคิดว่าเป็นเรื่องท้าทาย ในฐานะที่เป็นครูเราต้องคอยให้กำลังใจลูกศิษย์

สุดท้ายก็ต้องบอกว่า ต้องพึ่งตัวเองและพึ่งกันเอง และถ้าอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง ต้องลงมือทำ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า