เขย่าสังคมด้วยปัญหายา

จากการรายงานของ BBC อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงที่สุด บางปีเคยสูงถึงร้อยละ 47 ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 17-18 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อกำไรมาก วงเงินมาก อิทธิพลก็มากตามไปด้วย ถึงขั้นสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายโลก กติการะหว่างประเทศ มิพักต้องพูดถึง ‘การที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศ’

การที่ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในขณะนี้ พยายามนำเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลักการ อย่างเช่น ในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ การอนุญาตให้มีการจ่ายยาโดยบุคลากรสุขภาพในหน่วยบริการรัฐที่ไม่แสวงกำไรในที่ห่างไกล เช่น ใน รพ.สต. ที่ไม่มีเภสัชกรนั้นให้ทำได้ เพราะมีความจำเป็น แต่มีเงื่อนไขคือ ทำในภาครัฐ ทำในขอบเขต ไม่แสวงกำไร เมื่อมีความพยายามที่จะเอาข้อนี้มาเป็นหลักการในกฎหมาย จะด้วย ‘ความปรารถนาดี’ หรือมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง อาทิ ข่าวการสยายปีกทำธุรกิจขายยาของอภิมหาทุนของเจ้าสัวไทย ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่ากะพริบตา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงปัญหาความขัดแย้งของวิชาชีพ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การควบคุม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ไม่ง่ายนัก ด้วยอิทธิพล ด้วยความยากและซับซ้อนของเรื่องราว แม้จะใกล้ตัวทุกคนอย่างที่สุดก็ตาม แต่จะละเลยไม่กัดติดเพื่อเขย่าสังคมให้ตื่นก็เป็นไปไม่ได้

ประวัติศาสตร์สี่ทศวรรษของกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) ที่เขย่าสังคมสำเร็จอย่างกัดติดต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษา โดยเฉพาะ การศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงความรู้อย่างจริงจัง

ทำเพื่อประโยชน์สังคมอย่างที่ไม่มีข้อกังขา ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานของ กศย. ยังไม่ใช่การทำงานวิชาการบนหอคอยงาช้าง แต่ติดดินและอยู่กับดิน บอกกล่าวเล่าเรื่องยากให้ง่ายเพื่อให้สังคมสนับสนุน จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ อดีตประธานกลุ่มศึกษาปัญหายาคนที่ 3 กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ เขย่าสังคมด้วยปัญหายา ว่า หนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นหนังสือที่ถูกเขียนโดยบุคลากรด้านสาธารณสุข แต่การทำงานตลอด 40 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้ง ‘กลุ่มศึกษาปัญหายา’ หรือ กศย. ล้วนเป็นการทำงานกับชาวบ้านมาตลอด ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงถูกเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และต้องการสื่อสารกับประชาชนหมู่มากเป็นหลัก

ภญ.จิราพร เล่าต่อว่า ในเบื้องต้นนั้นกลุ่มศึกษาปัญหายาเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดย ภญ.สำลี ใจดี ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อทั้งนักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์และคณาจารย์ที่เคยทำงานร่วมกัน

อุดมการณ์ที่เกาะเกี่ยวความเป็น ‘กศย.’

“ประเด็นก็คือว่า ในช่วงนั้นคณะเภสัชฯ จุฬาฯ เป็นคณะที่อยู่ใจกลางเมือง เพราะฉะนั้นในการเรียนการสอน เราเองไม่เข้าใจปัญหาที่อยู่ห่างไกล จนกระทั่ง อาจารย์สำลี ใจดี มาชักชวนพวกเราว่า ในเมื่อเราสอนนิสิตนักศึกษาให้รู้เรื่องยา เป้าหมายสุดท้ายของเราคือชาวบ้านสามารถที่จะดูแลสุขภาพตนเอง และใช้ยาอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น”

จากการชักชวนโดย ภญ.สำลี นั้นเอง นำไปสู่การลงพื้นที่ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เห็นปัญหาของยาในยุคสมัยที่มีการขายกันอย่างผิดสูตรของยาประเภทนั้นๆ ทว่าแม้จะมีการทำหนังสือส่งต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการระงับการขายยาที่ผิดสูตร ยาเหล่านั้นก็ยังมีการขายอยู่

ผลของความพยายามที่สูญเปล่านี้ ทำให้ ภญ.จิราพร มองเห็นว่า ภายใต้เป้าหมายการให้ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสมนั้นมีอุปสรรคใหญ่ขวางกั้น เป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากคำว่าผลประโยชน์ โดยขาดการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ต่างจากยุคสมัยโบราณที่การผลิตตำรับยาขึ้นมานั้นมีจุดประสงค์เพื่อรักษาเพียงประการเดียว

“เพราะฉะนั้นเมื่อการผลิตยาถูกพัฒนามาเป็นธุรกิจแล้ว จึงมีองค์ประกอบมากมายเข้ามา เป็นสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ แล้วได้เกิดกระบวนการรวมกลุ่มของการสร้างความเข้มแข็งของตัวชาวบ้านเอง เพราะเราเชื่อว่าพลังความเข้มแข็งนั้นจะช่วยขับเคลื่อนปัญหายากๆ ได้”

ภายใต้เป้าหมายของการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้ในการดูแลสุขภาพและการใช้ยาที่เหมาะสม ทำให้กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขและเภสัชกรเข้ามารวมตัวกันจากยุคเริ่มแรก กระทั่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นกลุ่มศึกษาปัญหายาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

เฟมินิสต์จากมรดก 14 ตุลา

ในฐานะผู้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ตนขอนำเสนอบทวิเคราะห์เพื่ออธิบายความเป็นไปเป็นมาของ กศย. ให้เกิดความเข้าใจในภาพรวม 43 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่า กลุ่มเฟมินิสต์เป็นกลุ่มซึ่งต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เพื่อผลประโยชน์ของสตรี แต่เฟมินิสต์ในกลุ่ม กศย. เป็นเฟมินิสต์ที่แตกต่างออกไป เพราะออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ในขณะที่การเลือกวันก่อตั้งก็ยังเป็นวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล

“เขาไม่เคยเขียน ไม่เคยประกาศตัว แต่ผมมองดูอยู่ในฐานะพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันมาว่า เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ที่ยืนหยัดต่อสู้มาตลอด นอกจากนี้ กลุ่ม กศย. ยังก่อตั้งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน กลุ่มอาจารย์สำลีก็เป็นกลุ่มหนึ่งในยุคสมัยนั้นที่นำเอาวิชาชีพมารับใช้ประชาชน แล้วตอนที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาก็เป็นกลุ่มจำนวนน้อยที่ตั้งชื่ออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คือ ตั้งว่า ‘กลุ่มศึกษาปัญหายา’ ดูแล้วเหมือนกับว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยรู้อะไร เลยต้องศึกษา แต่ความจริงผมเชื่อว่ามีอิทธิพลจากฝ่ายซ้าย”

วรรณกรรม/วาทกรรมความเป็น ‘แม่’

นพ.วิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า นวนิยายที่คนในยุคสมัยนี้ กระทั่งร่วมสมัยด้วยกันกับตน อาจจะลืมเลือนไปแล้ว คือนวนิยายเรื่อง แม่ ของ แมกซิม กอร์กี ที่แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งบอกเล่าถึงกลุ่มนักศึกษาที่ออกไปต่อสู้เพื่อมวลชนในรัสเซีย โดยมีแม่คอยให้การสนับสนุน แม่ที่ไร้การศึกษา แต่ไปร่วมการเคลื่อนไหวกับลูกๆ จนกระทั่งเกิดการตื่นรู้ขึ้นมา โดย นพ.วิชัย มองว่าการก่อตั้งกลุ่ม กศย. ในห้วงปี 2518 จึงน่าจะมีเงาของแม่ทาบทับอยู่ไม่มากก็น้อย

“คือวรรณกรรมเป็นงานที่มีอิทธิพลสูงที่สุด ขณะที่สารคดีหรือบทความทางวิชาการทั้งหลายอาจได้เฉพาะสมองส่วนคิด แต่วรรณกรรมจะได้ทั้งสมองส่วนคิดและอารมณ์ความรู้สึกด้วย ซึ่งจะดึงอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมีพลังและมากกว่าบทความทางวิชาการ”

นอกจากนั้น นพ.วิชัย ยังกล่าวว่า ในการตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายาเป็นการก่อตั้งที่ถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ นพ.ประเวศ วะสี โดยหลักยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาข้อที่หนึ่ง คือยุทธศาสตร์ในเรื่องความรู้ และความรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษา โดยถ้าย้อนกลับไปในหลักพุทธศาสนาก็คือหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา

เริ่มต้นจากฐานความรู้นำไปสู่การเคลื่อนไหวด้านประชาชน และนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย

“กลุ่มศึกษาปัญหายาทำแบบนี้มาโดยตลอด สิ่งนี้ทำให้มีชีวิตรอดหลัง 6 ตุลา ปี 2519 และดำรงอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แล้วก็สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสร้างผลกระทบชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวงกว้าง เพราะว่าระบบสังคมของเราถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจใหญ่ และเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนระบบใหญ่นั้นได้ แต่เราสามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในระบบใหญ่นี้ได้”

สิ่งดีๆ ในมุมมองของ นพ.วิชัย เช่น การรณรงค์ยกเลิกยาสูบที่มีส่วนผสมของยาเสพติดต่างๆ จนกระทั่งยกเลิกไปได้ ซึ่งในชีวิตของ ภญ.สำลี สามารถยกเลิกการใช้ยาที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนไปได้หลายตัวแล้ว ทำให้สามารถรักษาชีวิตของประชาชนจำนวนมากนับแสนนับล้านคนได้

นพ.วิชัย ยกตัวอย่างจากเรื่องเล่าสมัยยังทำงานเป็นแพทย์ชนบทแล้วพบว่า มีชาวบ้านจำนวนมากที่มาโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะทะลุจากผลของยา ซึ่งด้วยการรณรงค์ในเรื่องนี้ของ กศย. ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงไปเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงแต่การโจมตียาที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น นพ.วิชัย มองว่า กลุ่ม กศย. ยังมีสถานะของความเป็นสุนัขที่ไม่เพียงกัดไม่ปล่อย แต่ยังเป็นสุนัขที่กัดชนิดเอาให้ถึงตาย คือหากไม่ได้ตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ทางกลุ่มจะไม่ยอมเลิกภารกิจโดยเด็ดขาด

ฟื้นฟูวิชาการนวด

หากแต่การรณรงค์ให้ยกเลิกยาที่เป็นอันตรายในยุคสมัยเริ่มแรกที่วิทยาการยายังไม่ก้าวหน้าเหมือนเช่นในปัจจุบัน วิธีการหนึ่งที่ทางกลุ่ม กศย. นำมาใช้เพื่อทดแทนยาที่ถูกยกเลิกไป คือการนำวิชาแพทย์แผนโบราณกลับมา เช่น การนวด โดยส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ

“เริ่มต้นจากไม่รู้เรื่องนวด แล้วสร้างจนเป็นตำราเรื่องการนวดที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตำราการนวดไทยในสมัยแรกๆ เป็นตำราที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วถูกนำไปจารึกที่วัดโพธิ์ แต่ก็เป็นความรู้ที่กระท่อนกระแท่น และอ่านลำบากเนื่องจากเป็นภาษาไทยโบราณ กลุ่มของอาจารย์สำลีจึงนำเอาความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมาผสมกับความรู้สมัยโบราณจนเขียนเป็นตำราแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบัน อันนี้คือมรดกสำคัญของกลุ่ม กศย. ซึ่งเป็นตำราที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการดึงเอาความรู้ในตัวหมอนวดประเทศไทยมาเขียน เป็นคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูวิชาการนวดแผนไทย แต่ยังขยายไปสู่การขึ้นบัญชียาแผนโบราณต่างๆ ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นยาสำคัญที่อยู่ในยาสำคัญของชาติไปแล้ว”

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ปัจจุบันที่ไม่มองอดีต จึงไม่เห็นอนาคต

ในส่วนต่อมา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กล่าวในเชิงวิจารณ์ว่า ผู้คนในยุคสมัยใหม่ต่างสนใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือโทรศัพท์มือถือ มากกว่าจะสนใจเรื่องราวในอดีต เป็นสภาวะของกลุ่มคนสมัยใหม่ที่ไม่รู้เท่าทันสิ่งที่ทุนนิยมสร้างขึ้นมา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มที่เหมาะสำหรับหนังสือ เขย่าสังคมด้วยปัญหายา เพราะจะทำให้มองเห็นว่าปัจจุบันมีเส้นทางจากอดีตเป็นมาอย่างไร แล้วอนาคตก็จะต้องนำอดีตมาสังเคราะห์เพื่อจะนำไปสู่ข้างหน้าได้

“หนังสือเล่มนี้ถ้าอ่านไปก็เหมือนเป็นมหากาพย์ เป็นเหมือนการอ่านพงศาวดารว่าเกิดอะไรขึ้น ถามว่าทำไมเก่าขนาดนั้น เพราะว่าคนปัจจุบันสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเปลี่ยนหัวข้อไปเร็วมาก

“40 ปีจริงๆ แล้วในเชิงความเป็นจริงคือ ‘บันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัย’ แต่สำหรับผู้คนในโลกยุคดิจิตอลก็จะบอกว่านี่คือ ‘พงศาวดาร’ เพราะเขานึกไม่ออกเลยว่าปี 2518 มันเป็นอย่างไร นึกไม่ออกเลยว่าทำไมเขาต่อสู้เพื่อประชาชนขนาดนั้น แม้แต่การพูดถึงเอกสารโรเนียวในหนังสือเล่มนี้ยังต้องมีคำอธิบายว่าโรเนียวคืออะไร คำว่าโรเนียวกลายเป็นคำที่ไม่มีใครรู้จักกันไปหมดแล้ว

“ดังนั้น ถ้าพูดอย่าง กศย. แล้ว หนังสือเล่มนี้คือบันทึกของคนตัวเล็กตัวน้อย กศย. ไม่ได้เชิญนายกฯ มา กศย. ไม่ได้เชิญนายพลมา กศย. ไม่ได้เอาอธิการบดีมา แต่ทำงานโดยพลังของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งพลังนั้นเกิดขึ้นจากจิตอาสา”

มองคำว่าจิตอาสาจากมุมปัจจุบัน นพ.ประวิทย์ กล่าวว่าคนในปัจจุบันอาจมองคำคำนี้เป็นคำที่น่าหลงใหล แต่ในยุคสมัยนั้น คำว่า ‘จิตอาสา’ คือการทุ่มเทเพื่อประชาชน เป็นการทำงานโดยมีอุดมการณ์เป็นหลัก หาได้เป็นไปตามกระแสเช่นในปัจจุบัน

“และที่สำคัญ กศย. ถ้าพูดกันในวงการสาธารณสุข คือกลุ่มคนที่คิดออกนอกกรอบที่ใครเขาวางไว้ ผมยกตัวอย่างตำราที่พูดถึงยาในลักษณะของสารเคมี หรือเคมีภัณฑ์ ในลักษณะของการรักษาโรค คือเป็นเรื่องของการแพทย์ แต่เวลาเราพูดถึง กศย. เราพูดถึงยากับสังคม เราพูดถึงสาธารณสุข ฉะนั้นจึงเป็นการเอาตัววิชาการ เอาตัวความรู้ไปตอบชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ตอบโจทย์ข้อสอบว่าต้องกินยาตัวนี้กี่เวลา มีอาการป่วยข้างเคียงอย่างไร เพราะหมอทุกคนก็รู้ว่าให้ยาไป เขาก็ไม่ค่อยทำตามที่เราบอกหรอก ฉะนั้น จะให้ยาไปอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ดังนั้น สิ่งที่ กศย. ทำ จึงเป็นการทำที่อยู่นอกกรอบที่เขาสร้างเอาไว้ เป็นกรอบที่ไม่มีใครมองเห็น แล้วทุกคนก็ตกอยู่ในกรอบนั้น หลงคิดไปว่าตัวเองมีเสรีภาพ เป็นเสรีชนโน่นนี่ แต่ไม่ใช่ เราคิดในกรอบที่ทุนนิยมได้สร้างขึ้น ที่ระบบการศึกษาได้สร้างขึ้น ที่สังคมได้สร้างขึ้น ในกรอบที่ยังมีความเอารัดเอาเปรียบ ในกรอบที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ”

วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์

สิ่งที่ควรมีในภาคต่อของหนังสือ

ในฐานะของสื่อมวลชน วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ มองสิ่งที่ควรมีในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเหมือนจะยังไม่จบดีจากเรื่องราวความเป็นมาตลอดทั้ง 43 ปี คือ ในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทางสังคม จำเป็นต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ผ่านการรอคอยอย่างอดทน เพื่อจะนำเสนอในเชิงนโยบายได้อย่างมีพลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่วิเชษฐ์มองในแง่ของกลยุทธ์หรือกลวิธีในการทำงานของภาคประชาสังคม หรือแม้แต่เอ็นจีโอ ได้ประโยชน์มากทีเดียว

นอกจากนี้ วิเชษฐ์ยังมองอีกว่า การก่อตัวของกลุ่มศึกษาปัญหายาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น ประกอบขึ้นมาจากกัลยาณมิตรและเครือข่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนงานด้านสังคมปัจจุบันที่นับวันยิ่งยากมากขึ้น

“อีกจุดหนึ่งที่ผมอ่านที่อาจารย์สำลีพูดถึง ซึ่งอันนี้ผมมองว่าสำคัญ ที่มีการพูดถึงว่าเราจะต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง คือผมมองว่าเรื่องยาเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้กับคนมากที่สุด คนไทยเราเกี่ยวข้องกับเรื่องยาในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งถ้าเราไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นสิ่งที่เรียกว่าอันตรายสำหรับประชาชน

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมมองเห็นจากหนังสือเล่มนี้ก็คือการขับเคลื่อนในแนวดิ่งไปสู่นโยบายอย่างเดียวมันไม่พอแล้ว แนวระนาบในการสร้างความเข้มแข็ง ให้คนได้รู้เท่าทัน ซึ่งสรุปแล้วต้องทำควบคู่กันไปทั้งสองอย่างจึงจะสำเร็จ ซึ่งอันนี้เป็นบทเรียนที่ผมมองว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานด้านประชาสังคมจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้เยอะเลยทีเดียว”

สุดท้าย วิเชษฐ์มองว่าสิ่งที่ควรมีต่อในหนังสือเล่มต่อไปของ ‘เขย่าสังคมด้วยปัญหายา’ คือ หนึ่ง-การทำงานด้านประชาสังคมควรมีกรณีศึกษา กรณีตัวอย่างที่มากขึ้นกว่าเดิม สอง-เมื่อสังคมพูดถึงเรื่องเหล้า บุหรี่ โดยส่วนมากจะมองในเรื่องการตลาดของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งหากมองกลับมาเปรียบเทียบในกรณีของบริษัทยาต่างๆ ตั้งแต่ยุคอดีตจนมาถึงยุคปัจจุบันเพื่อฉายให้เห็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดของบริษัทยาแล้ว ประชาชนก็จะได้ประโยชน์อย่างมาก และข้อที่สาม-การทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสื่อยุคใหม่ คือในเรื่องของโซเชียลมีเดียที่ กศย. จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการทำงานให้สอดรับสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

ภญ.สำลี ใจดี

ภารกิจที่ต้องไปต่อ

ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่ กศย. ทำเป็นสิ่งที่ดีงามในสังคมไทย ภญ.สำลี ใจดี จึงมองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในการทำงานในลักษณะคนละมือคนละไม้ เป็นการทำงานที่เกิดจากกัลยาณมิตรอย่างที่ได้พูดกันไปแล้ว นอกจากนี้ ในฐานะเภสัชกรที่มีความรู้ในเรื่องยา ซึ่งตัวเภสัชกรเองรู้อยู่แล้วว่ายาแต่ละชนิดแต่ละประเภทเป็นเช่นไร จึงเปรียบเหมือนเป็นหน้าที่ที่ ภญ.สำลี มองว่า เราต้องชัดเจนในเรื่องประเด็นปัญหา

“งานชิ้นนี้ ถ้าไม่ลงไปคลุก ไม่ปั้นมากับมือ เราคงเคลื่อนไม่ได้ เพราะถ้าจะเคลื่อนอะไร เราต้องชัดเจน ในส่วนที่ผ่านมาที่เราตั้งป้อม และทำอย่างต่อเนื่องคือเรื่องสิทธิบัตร กับเรื่องทุนข้ามชาติ สารพัดที่เขาเข้ามาแทรก แล้วพวกเราใช้ชีวิต เต้นรำ ทำดนตรี ฟังเพลง ไปตามจังหวะที่เขากำหนด พวกเราบอกเราไม่เต้นจังหวะเขา เรามีจังหวะของเราเอง คนไทย สังคมไทย มีรากมีเหง้า มีเงื่อนไขที่เราควรรู้ว่า เราจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร สังคมไทยเป็นประเทศที่เรียกว่าโชคดีและน่ารักที่สุดในโลก แล้วตัวร้ายวายร้ายทั้งหลายก็ทำร้ายได้ทุกวัน อย่างในเรื่องพาราควอตนี่ก็ด้วย”

นอกจากเรื่องสิทธิบัตรและทุนข้ามชาติแล้ว ในส่วนของแพทย์แผนไทย ภญ.สำลี มองว่ายังเป็นสิ่งที่ กศย. จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องหมอนวดคนตาบอด ที่จะต้องทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดในหลักวิชาชีพของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง

“เพื่อให้พวกเขาอยู่ได้ และอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นหมอ” ภญ.สำลี กล่าว

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า