สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์: เมื่อชีวิตชาวเขากลายเป็นสินค้าของชาวเรา

‘การท่องเที่ยว’ คือแหล่งรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศไทย เพราะเป็นหนึ่งในด้านสวยงามที่ชาวต่างชาติกล่าวขวัญ ด้วยสถานที่ทางธรรมชาติที่หลากหลายและวิถีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาคนไทยเองก็เริ่มนิยมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตท้องถิ่นมากขึ้น ในปี 2562 รายได้ที่สะพัดอยู่กับร้านอาหารชุมชนสูงถึง 1.7 พันล้านบาทเลยทีเดียว แต่ข่าวร้ายก็คือ การท่องเที่ยวชุมชนอาจเติบโตได้มากขึ้นอีก หากไม่สะดุดกับสถานการณ์โควิด-19 เสียก่อน

ในระหว่างที่กำลังอยู่บ้านกักตัว รอวันที่จะได้ออกไปท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่อีกครั้ง ลองนึกย้อนถึงจุดหมายยอดนิยมอย่างดอยหรือชุมชนห่างไกลแต่ใกล้ชิดธรรมชาติ เราอาจเห็นภาพเด็กชาวเขาใส่ชุดชนเผ่า ใบหน้ายิ้มแย้ม เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปคู่กัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายภายใต้ทะเลหมอกและบรรยากาศชวนฝัน แต่สิ่งที่เห็นไม่ใช่ทั้งหมดของสถานการณ์ชีวิตที่ชาวเขาหลายกลุ่มกำลังเผชิญ

ในขณะที่ภาครัฐมีแผนการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน กลับมีชุมชนอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกดดันให้ออกจากวิถีชีวิตของตนเอง ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ผู้เป็นทั้งศิลปินพื้นบ้านและนักวิชาการชาวปกาเกอะญอ ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้วิถีชีวิตชาวเขาถูกทำให้กลายเป็นสินค้าของการท่องเที่ยว โดยที่รัฐไม่ได้สนับสนุนแหล่งผลิตสินค้านั้นเลย

“เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว รัฐต้องการขายแค่สินค้า แต่รัฐไม่ให้การสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิที่จะผลิตสินค้านั้นได้ เช่น การจะทอผ้าได้ต้องไปหาเครื่องมือและอุปกรณ์มา แต่บางทีอุปกรณ์และเครื่องมืออยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอุทยาน เอามาไม่ได้ หรือถ้าจะให้ขายผลิตผลทางการเกษตร แต่พื้นที่ในการสร้างผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้เป็นของเรา มันก็ทำให้คนที่มีที่ดินได้ประโยชน์ไป แต่คนผลิตกลับไม่มีที่ดินของตัวเอง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงไม่ได้ตอบสนองคนชนเผ่าทั้งหมด โดยเฉพาะคนด้อยโอกาส”

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวเขาเกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษ นับตั้งแต่คำว่า ‘การพัฒนา’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการขีดเส้นแบ่งเขตระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ กีดกันชุมชนชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ที่พวกเขาทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรุษในยุคที่เส้นแบ่งประเทศยังไม่เกิด กลายเป็นปัญหาเชิงมายาคติที่คนเมืองชินตา อาทิ ความยากจน ยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ฯลฯ และการแก้ปัญหาของภาครัฐกลับใช้ความรุนแรงเข้าว่า ดังเช่นกรณีหมู่บ้านบางกลอยที่ถูกบังคับย้ายถิ่น เผาบ้าน เผายุ้งฉาง เพราะเป็นเขตอุทยาน ไร้การเยียวยามาโดยตลอด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ความสนใจต่อเสียงของผู้คน กลายเป็นกระแสที่สังคมเริ่มให้ความสนใจถึงประเด็นสิทธิกลุ่มคนชาติพันธุ์มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยิ่ง แต่เป็นการให้ความสำคัญแบบฉาบฉวย ไม่ได้คำนึงถึงเบื้องหลังที่ ‘ผู้ผลิต’ สินค้าท่องเที่ยวต้องแบกรับ

“การที่เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และรักษาวิถีชีวิตของเราได้ จะต้องให้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมมีสิทธิในการใช้วัฒนธรรมที่สมบูรณ์ เช่น กรณีคนชนเผ่านำเสื้อผ้าไปขาย แต่คนขายไม่มีบัตรประชาชน จึงเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่ฉาบฉวยของรัฐ หรือการที่ชุมชนใดชุมชนหนึ่งถูกจัดการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ทั้งชุมชนไม่มีโฉนดเป็นของตัวเองเลย ยังอยู่ในเขตป่า เขตอุทยาน มันก็ย้อนแย้งกับการที่รัฐพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ไม่ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดำรงวิถีของชนเผ่าได้”

ชิเสริมว่า ที่จริงแล้วการจัดการการท่องเที่ยวนั้น ชุมชนชาติพันธุ์มีศักยภาพและองค์ความรู้ที่จะยกระดับให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้ไม่ได้ไปต่อ อีกทั้งชุมชนเป็นเพียงผู้มี ‘เศษร่วม’ ในผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพราะหน่วยงานภายนอกเป็นผู้จัดการเสียส่วนใหญ่

นอกจากนี้ เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าแล้ว คุณค่าบางอย่างก็สูญเสียไปด้วย โดยชิได้ยกตัวอย่างเสื้อผ้าพื้นเมืองที่ผู้คนมักนิยมใส่กัน

“การทอผ้าในปัจจุบันเป็นการทอเพื่อขายอย่างเดียว ไม่เอาเรื่องคุณค่าและความหมายใส่เข้าไป เช่น เสื้อของคนกะเหรี่ยงด้านหน้าด้านหลังจะเหมือนกันหมด ใส่ด้านหน้าก็ได้ ใส่ด้านหลังก็ได้ มีความหมายว่าคนกะเหรี่ยงต่อหน้าและลับหลังก็เหมือนกัน นี่คือคุณค่าของมัน คนที่ใส่เสื้อสีขาวเป็นผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน มีความบริสุทธิ์ คนที่แต่งงานแล้วต้องใส่สองท่อน ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว สองท่อนหมายถึงคนสองคนเป็นรากเดียวกัน จะใส่สลับกันไม่ได้ แต่พอเป็น Commercial Product ใครจะซื้อไปใส่อย่างไรก็ใส่ได้หมด ทำให้สูญเสียคุณค่า สูญเสียความหมายไป”

หากเปรียบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นต้นไม้ ชิเปรียบไว้ว่าเหมือนต้นไม้ที่คนอยากได้ผลมากๆ แต่ไม่เคยดูแลรากและลำต้นที่เป็นส่วนสำคัญเลย

“การที่ต้นไม้จะมีผลออกมาดี ราก ลำต้น กิ่ง ใบทางวัฒนธรรมต้องได้รับการหล่อเลี้ยง ที่สำคัญรากทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับทรัพยากรทางธรรมชาติและวิถีการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติกำหนดวิถีการทำมาหากินของคนชาติพันธุ์ เชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อและประเพณี กลายเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมขึ้นมา หากขัดขวางสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ก็เท่ากับตัดขาดวัฒนธรรม”

เมื่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมกดดันให้ชาวชาติพันธุ์ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้น จากเดิมที่อาศัยพึ่งพิงธรรมชาติก็สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ต้องกลายเป็นสังคมบริโภคนิยมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เพราะกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีวิถีชีวิตแบบเดิม 

“ผมอยากบอกว่าเราทุกคนมีลมหายใจเดียวกัน ลมหายใจของคนดอยก็เป็นลมหายใจของคนเมือง ลมหายใจของคนในเมืองก็เป็นลมหายใจของคนบนดอย ถ้าเราเข้าใจซึ่งกันและกัน ร่วมกันสื่อสารปกป้องสิทธิซึ่งกันและกัน เราก็จะเป็นครอบครัวเดียวกัน” ชิทิ้งท้ายด้วยความหวังว่า คนเมืองจะช่วยสื่อสารกับคนเมืองด้วยกันให้เข้าใจชาวชาติพันธุ์มากขึ้น

 

อ้างอิง

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า