‘สังคมศึกษา-ประวัติศาสตร์’ แบบเรียนฟินแลนด์ สร้างคนคุณภาพ สู่การศึกษาในอุดมคติ

ท่ามกลางวิกฤตและความเสื่อมถอยของ ‘การศึกษาไทย’ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามจำนวนมากว่าระบบการศึกษาของไทยนั้น ทั้งการเรียนการสอน ผู้สอน และผู้เรียน รวมไปถึงนโยบายรัฐ เดินมาถูกทางหรือไม่ เพราะจากโปรแกรมการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA: Programme for International Student Assessment) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD: Organisation for Economic Co-operation and Development) พบว่าผลคะแนนของนักเรียนร่วงลงต่อเนื่องทุกปี และในการประเมิน PISA ล่าสุดในปี 2022 ซึ่งเปิดเผยในช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ยังพบอีกว่าคะแนนของนักเรียนไทยตกตํ่าถึงขีดสุดในรอบ 20 ปี พ่ายแพ้ให้กับประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซียและเวียดนาม 

ความเสื่อมถอยของการศึกษา นำมาสู่บทสรุปส่วนหนึ่งในสังคมไทยว่า ต้องมีการ ‘ปฏิรูป’ ขนานใหญ่ ทั้งโครงสร้าง การเรียนการสอน ผู้สอน และนโยบายการศึกษาทั้งกระบิ พร้อมทั้งมองหา ‘โมเดลการศึกษา’ ในอุดมคติที่สามารถตอบโจทย์การศึกษาในโลกสมัยใหม่ได้ ซึ่งได้พาคนไทยไปรู้จัก ‘ฟินแลนด์’ ประเทศในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย 

การศึกษาฟินแลนด์ เป็นระบบการศึกษาที่เน้น ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ (child centred) และเป็นการศึกษาจาก ‘ล่างสู่บน’ คือ นักเรียน-ครู-กระทรวง ไม่มีการบ้าน เน้นการสร้างคุณภาพการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่มีความสมดุล ไม่มีการสอบวัดผล มีความเสมอภาคและเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน และเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งผู้สอนยังมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน บนกรอบหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างหลวมๆ ในสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ผู้เรียนมีอิสระในการเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ อันแตกต่างไปจากประเทศในแถบเอเชียที่มีการแข่งขันด้านการศึกษาสูง นักเรียนมีความเคร่งเครียดตลอดเวลา เช่นนี้ กลับทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จทางการศึกษาในระดับชั้นนำของโลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก ทั้งยังประสบความสำเร็จในการสอบประเมินผล PISA ในทุกปี มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าประเทศสมาชิก OECD ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

อย่างไรก็ตาม การที่ฟินแลนด์มีคะแนนประเมินเฉลี่ยสูงใน 3 วิชานี้ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นำมาสู่คำถามว่า แล้วในสายวิชา ‘สังคมศาสตร์’ อย่างเช่น วิชาสังคมศึกษา และประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในการวัดประเมินผลของ PISA แม้จะเป็นวิชาที่สามารถนำมาวัดระดับคุณภาพชีวิต ทัศนคติ และสังคมโดยรวมของฟินแลนด์ได้ ว่าดำเนินรุดหน้าอย่างไรในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง นำไปสู่การสร้างสังคมที่เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย และเห็น ‘คนเป็นคน’ อย่างเท่าเทียม

photo: https://www.oph.fi

บทความชิ้นนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักประวัติความเป็นมาของการศึกษาวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ หลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ และคุณค่า ทำไมฟินแลนด์จึงให้ความสำคัญกับสังคมศึกษา มีความเป็นมาอย่างไร รวมไปถึงกางหลักสูตรดูว่านักเรียนชาวฟินแลนด์เรียนอย่างไร 

‘สังคมศึกษา-ประวัติศาสตร์’ ของฟินแลนด์ สร้างพลเมืองคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย

1. การเรียนรู้สังคมที่ไม่ละเลยประวัติศาสตร์ 

ฟินแลนด์ประกาศให้มีการศึกษาวิชาสังคมศึกษา (ภาษาฟินนิช: yhteiskuntaoppi, ภาษาอังกฤษ: Study of Society) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในฐานะส่วนหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ จนกระทั่งในปี 1963 สังคมศึกษา ถูกยกเป็นหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ร่วมกับวิชาประวัติศาสตร์ โดยเรียกชื่อวิชาว่า ประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา (ภาษาฟินนิช: historia ja yhteiskuntaoppi, ภาษาอังกฤษ: History and Social Studies) ผู้สอนจะต้องจบการศึกษาในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และจำเป็นจะต้องสอนวิชาสังคมศึกษาในลำดับที่สองด้วย จนถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ทั้งสองวิชาถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยคุณวุฒิของผู้สอนนั้นสามารถจบการศึกษาทั้งสาขาวิชาประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสามารถสอนวิชาไหนก็ได้ทั้งสิ้น จำนวนการสอนสังคมศึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การศึกษาในวิชาสังคมศึกษานั้น ในช่วงทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา ยังมีปริมาณที่น้อยกว่ามาตรฐานของกลุ่มประเทศ OECD ด้วยกันเอง 

ดังนั้น รัฐบาลฟินแลนด์จึงตัดสินใจระดมทรัพยากรจำนวนมากเข้าไปในวิชาสังคมศึกษา เนื่องจากเกรงว่าคนรุ่นใหม่ของฟินแลนด์จะไม่สนใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม รวมถึงเกรงว่าจะขาดทักษะที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในระดับปัจเจกหรือครัวเรือน หลักสูตรสังคมศึกษาของฟินแลนด์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จึงเน้นการเรียนการสอนเพื่อการสร้างคนให้มี ‘ส่วนร่วม’ (participation) และ ‘การเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย’ (democratic citizenship) อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ก็ประสบปัญหาด้านสังคมศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ที่ขาดทักษะและการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมืองน้อยเกินไป

2. จุดหมายปลายทางของสังคมศึกษา-ประวัติศาสตร์ของฟินแลนด์

การศึกษาวิชาสังคมศึกษา-ประวัติศาสตร์ (รวมทั้งวิชาสายสังคมอื่นๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ปรัชญา เป็นต้น) เป็นวิชาที่นำไปสู่การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง สามารถทำความเข้าใจโลกที่ห้อมล้อมผู้เรียน ตระหนักรู้ ความสามารถในการคิดวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม วิเคราะห์และเข้าใจในสิ่งต่างๆ สามารถประเมินและรู้เท่าทันที่จะนำมาสู่การสร้างสังคมที่ดี

สำหรับฟินแลนด์แล้ว สังคมศึกษา-ประวัติศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนนั้นสามารถทำความเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในสังคมฟินแลนด์ แม้ในช่วงต้นนั้นฟินแลนด์จะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อ ‘ความคิดเชิงวิพากษ์’ (critical thinking) ต่อประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจมากนัก แต่ความเปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มหันมาเน้นเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิดวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ ผ่านการให้ความสำคัญในการออกแบบหลักสูตร

Under the Yoke (Burning the Brushwood), 1893 (oil on canvas) by Jarnefelt, Eero Nikolai (1863-1937); 131×164 cm; Ateneum Art Museum, Finnish National Gallery, Helsinki, Finland; (add.info.: Also known as ‘Wage Slaves / Burn-Beating’

ตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจของฟินแลนด์ เช่น หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติสำหรับชั้นมัธยมตอนปลายทั่วไป ปี 2015  

‘วัตถุประสงค์ของวิชาเศรษฐศาสตร์’ ต้องการให้ผู้เรียนสามารถ…

  • ตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ บริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล ตั้งคำถามทางเศรษฐศาสตร์จากมุมมองทางจริยธรรม ด้วยความเข้าใจว่า ฟินแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร 
  • เข้าใจความสำคัญของงานและการเป็นผู้ประกอบการในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
  • มีความคุ้นเคยต่อพื้นฐานและใจความสำคัญของแนวคิด ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ของชาติ มีความเข้าใจในโครงสร้าง หลักการเชิงปฏิบัติในทางเศรษฐศาสตร์
  • สามารถประเมินอย่างวิพากษ์ ต่อข้อโต้แย้งถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ 
  • สามารถสำรวจนโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ว่ามีแนวทางหรือตัวเลือกอื่นที่แตกต่างหรือไม่ พร้อมพื้นหลังทางนโยบายและผลกระทบ

จากหลักสูตรในวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งแขนงในวิชาสังคมศึกษา พอจะทำให้เห็นภาพว่า การศึกษาฟินแลนด์พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ผู้เรียนสามารถ ‘ประเมิน’ (evaluating) และ ‘วิเคราะห์’ (analysing) ในหลักสูตรแห่งชาติปี 2015 เป็นต้นมา ที่นำมาสู่ข้อถกเถียงทางวิชาการและการตั้งคำถามต่อ ‘สำนักวิชาทางเศรษฐศาสตร์’ ที่แตกต่างกันของคนในสังคม ซึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน ประเมิน ด้วยความรู้ที่ได้รํ่าเรียนมา อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ยังมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และล่าสุดคือปี 2019 

โดยสรุปจะพบว่า การออกแบบหลักสูตรของฟินแลนด์ มีจุดประสงค์สำคัญในการกระตุ้นความคิดเชิงวิพากษ์ มีความเข้าใจในประเด็นปัญหา มีวิจารณญาณ มีความอดกลั้นยอมรับความแตกต่างทางความคิด ภายใต้สังคมประชาธิปไตย และที่สำคัญคือ เสรีภาพทางความคิด ซึ่งทั้งหมดคือคีย์เวิร์ดสำคัญของการศึกษาฟินแลนด์

หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วไป ปี 2019 | ที่มา: verkkokauppa.oph.fi

กางหลักสูตร ‘สังคมศึกษา’ เขาเรียนอะไรกันบ้าง?

หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของฟินแลนด์ระบุให้มีการเรียนการสอนสังคมศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการมีส่วนร่วม มีความรู้ความเข้าใจต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการบริหารจัดการตนเองเชิงเศรษฐศาสตร์ ขณะที่การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จะเน้นการพัฒนาทักษะทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเข้าใจเชิงปฏิบัติต่อระบบกฎหมายของฟินแลนด์ รวมไปถึงด้านสังคมที่เน้นการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับระบบรัฐสวัสดิการ สื่อ และความมั่นคงทางการเมือง ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า เด็กฟินแลนด์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา หรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับมัธยมปลายเรียนอะไร จะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ 

1. หลักสูตรสังคมศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

หลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (basic education) ซึ่งหมายถึงระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น รวมระยะเวลา 9 ปี ระหว่างช่วงอายุ 7-15 ปี วิชาสังคมศึกษาออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจพื้นฐานทางสังคม หลักการ และการปฏิบัติอย่างง่าย สามารถเห็นความสำคัญ คุณค่า และมีทัศนคติที่ดี มีการประเมินผล โดยมีวิชาย่อยดังต่อไปนี้

  1. ชีวิตประจำวันและการจัดการตัวเอง
  2. สังคมประชาธิปไตย
  3. พลเมืองตื่นรู้และการมีส่วนร่วม
  4. กิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
แบบเรียนสังคมศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลาย มีภาพการประท้วงบนหน้าปก | ที่มา: antikvaari.fi

2. หลักสูตรสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักสูตรสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (upper secondary school) ตามหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติทั่วไปปี 2019 (ภาษาฟินนิช: Lukion opetussuunnitelman perusteet 2019, ภาษาอังกฤษ: National Core Curriculum for General Upper Secondary Education 2019) เป็นการเรียนรู้สังคมศึกษาเพิ่มมากขึ้น ลงลึกในเชิงประเด็นมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การคิดวิเคราะห์มากกว่าความเข้าใจพื้นฐาน จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีการแบ่งโมดูลภาคบังคับ 3 โมดูล โมดูลละ 2 หน่วยกิตด้วยกันคือ วิชาการเมืองและสังคม วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาสหภาพยุโรป และโมดูลเสริมคือ วิชาพลเมืองและกฎหมาย โดยในแต่ละวิชาจะมีเนื้อหาดังนี้

วิชาการเมืองและสังคม

  1. สังคมฟินแลนด์ – โครงสร้างทางสังคม รัฐสวัสดิการ
  2. แนวคิดเรื่องอำนาจ – แนวคิดเรื่องอำนาจ ระบบการเมือง
  3. ประชาธิปไตยและประชาสังคม 
  4. นิติรัฐ – สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน อำนาจตุลาการ การบังคับใช้กฎหมาย

วิชาเศรษฐศาสตร์

  1. ที่มาของชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฟินแลนด์ – ผลผลิตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการทำให้เป็นอุตสาหกรรม การบริการสังคม
  2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจ – แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์และเสรีนิยมใหม่
  3. นโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจ
  4. ฟินแลนด์และการค้าระหว่างประเทศ – โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์
  5. การบริหารการเงิน การออม การใช้จ่าย และการก่อหนี้

วิชาสหภาพยุโรป

  1. อัตลักษณ์ยุโรป – คุณค่าสากลของยุโรป และการเป็นพลเมืองยุโรป
  2. สหภาพยุโรป – อำนาจของสหภาพยุโรปในฐานะองค์กรเหนือรัฐ ระบบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ฟินแลนด์ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป

วิชาพลเมืองและกฎหมาย

  1. กฎหมายเบื้องต้น – ประวัติศาสตร์กฎหมายฟินแลนด์ ระบบกฎหมาย แนวคิดเบื้องต้นทางนิติศาสตร์ 
  2. กฎหมายพลเมืองเบื้องต้น – กฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อาชญากรรมและกระบวนการทางกฎหมาย – กระบวนการทางกฎหมาย การลงโทษ กฎหมายระหว่างประเทศ และการอุทธรณ์ 
แบบเรียนประวัติศาสตร์และสังคมศึกษาของฟินแลนด์ | ที่มา: sanomapro.fi

หลักสูตรสังคมศึกษาในระดับมัธยมปลายปี 2019 ถูกออกแบบมาให้นักเรียนสามารถสร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงสังคมที่ห้อมล้อมพวกเขาอยู่ มากกว่าการชี้นำทางสังคมแบบใดแบบหนึ่ง เน้นยํ้าถึงคุณค่า ความเท่าเทียม การรับผิดชอบต่อสังคม สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก การเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย บนพื้นฐานของการศึกษาแบบสหวิทยาการ (interdisciplines) ที่เน้นสร้างความเข้าใจทางสังคมให้กับตัวผู้เรียน โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้คือ 

  1. เข้าใจธรรมชาติของสังคมในฐานะ ‘วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์’
  2. เข้าใจพื้นฐานทางระบบทางสังคมและเศรษฐกิจ และสามารถเข้าใจในบริบทระหว่างประเทศได้ 
  3. เข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของรูปแบบทางความคิด (concept) ทางสังคมและเศรษฐกิจ
  4. ตระหนักถึงโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือใช้ช่องทางภาคประชาสังคมในการผลักดันประเด็นหรือวาระทางสังคม
  5. สามารถใช้วิจารณญาณในการประมวลข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์
  6. สามารถสร้างวิธีคิดทางสังคมที่วางอยู่บนความรับผิดชอบ มีความอดกลั้น และเคารพในความเท่าเทียมเสมอภาค ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

มี ‘ประวัติศาสตร์ชาตินิยม’
ในการศึกษาฟินแลนด์หรือไม่?

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นภาพที่มาว่า วิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษาของฟินแลนด์ มีที่มาจากการรวมทั้งสองสาระเข้าด้วยกัน ก่อนแยกตัวเป็นอิสระจากกันในช่วงทศวรรษ 2000 

การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ (historia) ตามหลักสูตรระดับมัธยมปลายปี 2019 ถูกออกแบบมาให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจโลกในปัจจุบัน และกระบวนการความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาในอนาคต 

วิชาประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมปลายของฟินแลนด์ ให้ความสำคัญต่อความรู้ทางวัฒนธรรม เข้าใจปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ระดับสามัญชน ระดับชาติ ทวีปยุโรป และโลก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเติบโตเป็นพลเมืองยุโรปและพลเมืองโลกผู้ตื่นรู้ เข้าใจในความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้ 

ทั้งยังกำหนดเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถตีความและประเมินเชิงวิพากษ์ ต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สถิติ หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ สามารถวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ มองประวัติศาสตร์พลวัตที่ส่งผลต่อปัจจุบัน และความรู้ทางประวัติศาสตร์นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

วิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลายแบ่งออกเป็น 3 โมดูลบังคับ และ 3 โมดูลเสริม โมดูลละ 2 หน่วยกิต คือ 

โมดูลบังคับ

  1. มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ – ความสัมพันธ์มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม พัฒนาการทางสังคม ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ – การเมืองโลก การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศ
  3. ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ – กระบวนการและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของฟินแลนด์ ฟินแลนด์ในเวทีโลก วิกฤตและความเปลี่ยนแปลงของฟินแลนด์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากสังคมรัฐธรรมนูญนิยม สู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม 

โมดูลเสริม

  1. ชาวยุโรป – พัฒนาการทางความคิด สิทธิมนุษยชน ศาสนา ตำนานของชาวยุโรป มรดกทางวัฒนธรรม
  2. จากตะวันออกของสวีเดนสู่ฟินแลนด์ – ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการรัฐในยุคกลาง ฟินแลนด์สมัยภายใต้การปกครองของสวีเดน และสงครามโลกครั้งที่ 2 การยึดครองของสหภาพโซเวียต 
  3. วัฒนธรรมโลก – ความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม 

โมดูลเสริมวิชาจากตะวันออกของสวีเดนสู่ฟินแลนด์ ดูเหมือนจะเป็นวิชาที่อาจสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมฟินแลนด์ แต่แท้จริงแล้วหลักสูตรออกแบบมาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจการก่อตัวเชิงอัตลักษณ์ สังคมของฟินแลนด์ที่มีจุดกำเนิด ความเชื่อมโยงคาบเกี่ยวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในฟินแลนด์ ทั้งชาวซามี ชาวสวีเดน ชาวรัสเซีย และยุโรป อันเป็นผลมาจากเส้นทางพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

แม้ฟินแลนด์จะไม่มีการสอบ แต่จะต้องผ่านการประเมินพัฒนาการ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม ผ่านการประเมินด้วยวิธีการสอบปากเปล่า (oral evaluation) ควบคู่ไปกับการประเมินด้วยการเขียน (written evaluation) แต่การประเมินนี้ก็วางอยู่บนความสามารถในการค้นหาข้อมูล การทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ประเมินผล และประยุกต์ใช้ข้อมูล ทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างของตัวผู้เรียนเอง จากการประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ 

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า