ติดโซลาร์เซลล์บนดอยสว่างถึงระบบการศึกษา โรงเรียนแบบไหนที่เด็กดอยต้องการ?

ภาพ: โพควา โปรดักชั่น

ปัง ปัง ปัง!

เสียงปืนดังออกมาจากป่าหญ้าบริเวณบ้านสวนอ้อย ตำบลท่าสองยาง จังหวัดตาก สะเทือนมาถึงโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่มีเด็กชายและเด็กหญิงวัยอนุบาลนั่งเรียนอยู่ พวกเขาต่างวิ่งวุ่นหาที่หลบภัยราวกับว่านี่คือเรื่องปกติ คุณครูในโรงเรียนที่มีจำนวนเพียงน้อยนิดรีบลำเลียงเด็กนักเรียนให้ค่อยๆ ก้มตัวต่ำเพื่อเดินไปซ่อนตัวในท่อซีเมนต์วงใหญ่ที่ถูกแปลงให้กลายเป็นหลุมหลบภัยชั่วคราว

นี่คือพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า โอ-ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี คือเด็กชายคนนั้น

ความเหลื่อมล้ำในวิชาฟิสิกส์

เขาเป็นชาวปกาเกอะญอวัย 28 ปี นักสื่อสารอิสระเจ้าของเพจ ‘โพควา โปรดักชั่น’ สื่อนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เขาบอกว่าบรรยากาศแบบนี้อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับโรงเรียนอีกหลายแห่งที่อยู่ติดชายแดน

“ช่วงวัยเด็ก เราเติบโตมากับเสียงกระสุนปืน เป็นความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในการปกครอง จำได้ว่าตอนอนุบาล สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำนอกเหนือจากการเรียนคือการซ้อมหลบภัย”

เขาเกิดในสวนลิ้นจี่ หมอตำแยเป็นคนทำคลอด ในทุกเย็นหลังเลิกเรียนโอรับจ้างแบกหน่อไม้จากท่าน้ำริมเมยเป็นประจำ ถ้าวันไหนหยุดไม่ต้องไปโรงเรียน โอจะใช้เวลาเกือบทั้งวันไปกับการแบกหน่อไม้ ปอกหน่อไม้ เพื่อแลกกับเงินเพียง 7 บาท เป็นค่าขนมเวลาไปโรงเรียน

“เราเติบโตมาเจอกับความทุรกันดาร ครอบครัวก็ปากกัดตีนถีบ เราเรียนหนังสือไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ คิดแค่ว่าเราจะทำอะไรที่จะเลี้ยงดูชีวิตตัวเองได้ เรามีความฝันวันต่อวัน ฝันว่า…พรุ่งนี้เราจะแบกหน่อไม้ได้เท่าไหร่นะ ด้วยชุดข้อมูล วัย สติปัญญาและต้นทุนที่เรามี เราคิดแค่นี้จริงๆ เราแค่อยากทำในสิ่งที่สนุกไปวันๆ ความฝันของเด็กชาติพันธุ์มันเล็กมาก ทำให้ชีวิตครื้นเครงไปวันๆ”

แต่เมื่อตัวแปรในชีวิตเปลี่ยนไป ชีวิตของโอได้เดินทางมากขึ้น จากโรงเรียนประจำในหมู่บ้านชายแดน เขาอ่านออกเขียนได้จนย้ายตัวเองเข้าไปเรียนชั้นมัธยมโรงเรียนในอำเภอที่อยู่ห่างจากบ้านเกิด 60 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นเหมือนหน้าต่างบานใหญ่ทำให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำ และเริ่มตั้งคำถามกับมัน

“ช่วง ม.ต้น เราได้รับคำแนะนำและความปรารถนาดีจากผู้ใหญ่ เขาอยากให้เราเป็นข้าราชการ อยากให้เป็นทหาร เราเลยไปเรียนเตรียมทหารพักหนึ่ง แต่ไปไม่ถึงขั้นตอนการสอบนายร้อย เพราะรายชื่อตามเอกสารของพ่อตกหล่นจึงทำให้พ่อไม่มีนามสกุล และข้อมูลการแจ้งเดือนเกิดของผมผิดพลาดต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีในการแก้ไข จึงไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการสอบ เราจึงไม่ได้เป็นทหาร”

โอเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงนิ่งเฉย ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายถึงแม้จะดูเหมือนโดนจับคลุมถุงชนทางความฝัน เขาตระหนักดีว่า นี่คือบันไดที่จะพาเด็กชนบทคนหนึ่งได้เดินทางไปที่ที่ดีกว่า

“ในยุคหนึ่ง การรับราชการคือค่านิยมของคนชนบท มันจะทำให้คุณหลุดพ้นจากความยากจน ช่วงก่อนจะเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร พ่อแม่เรายอมขายทองทั้งหมดเพื่อเอาเงินให้เราไปเรียน”

หลังจากไม่ได้เรียนนายร้อย โอก็กลับมาเรียนตามระบบเหมือนเดิม บทเรียนจากการเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารทิ้งความจริงอันเจ็บปวดบางอย่างไว้

“ตอนไปติวสอบนายร้อย ผมตกใจกับเนื้อหามากๆ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เวลาเราไปติวที่โรงเรียนเตรียมทหาร เราเจอคำว่าฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ในขณะที่โรงเรียนชายแดนเนื้อหาที่เราได้เรียนมันไม่เข้มข้นแบบนั้น เขาเรียนฟิสิกส์ แต่เรามีแค่บวก ลบ คูณ หาร มองเห็นเหลื่อมล้ำมากๆ”

เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดแม้กระทั่งในวิชาฟิสิกส์

การศึกษาคือการเพิ่มอำนาจ

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โอใช้ชีวิตแบบเด็ก ม.ปลาย ทั่วไป จนสุดท้ายได้รับโอกาสเป็นทุนการศึกษา และได้เข้าเรียนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่สอด ก่อนจะได้เจอความฝันและสิ่งที่ชื่นชอบจริงๆ

“ผมคิดว่าตัวเองเติบโตด้วยการช่วยเหลือจากคนอื่นมาตลอด ผมพยายามหาทุนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้เรียน เพราะลำพังก็คงไม่มีต้นทุนที่เดินทางไกลขนาดนั้น ตอนเรียนก็มีโอกาสได้เป็นนักศึกษาช่วยงานของสำนักสื่อ และก็ทำให้รู้ว่าเราอยากทำงานด้านการสื่อสาร”

หากหมุนเวลาย้อนไปพูดคุยกับเด็กชายโอ เขาเคยเชื่อว่าชะตาชีวิตเกิดจากเวรกรรม จึงโทษฟ้าโทษดินทุกครั้งเมื่อเปรียบเทียบชีวิตตนไม่เหมือนคนอื่น แต่เมื่อมีโอกาสได้เดินทาง ได้เข้าถึงความรู้ ได้เจอความหลากหลาย เขาพบว่าสิ่งนี้ผลักดันทำให้เขาใช้ชีวิตเหมือนนักวิ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดที่จะเรียนหนังสือ เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยคืนอำนาจให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยได้

“สำหรับผมการศึกษาและความรู้คืออำนาจ เพราะสังคมให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ การเรียนสูงคือค่านิยมที่สังคมเซ็ตเอาไว้ และจะทำให้เรามีฐานะทางสังคมมากขึ้น ดังนั้นถ้ากะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยากเรียนในระดับสูงๆ บางทีเขาอาจจะอยากให้เสียงที่เคยเงียบหายไปของพวกเขาถูกรับฟังอีกครั้ง”

ทว่าผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เมื่อสิงหาคม 2563 สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในเขตป่าสงวนจำนวนประมาณ 700 โรงเรียน ยังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้โดยตรงและทางอ้อม เช่น การเข้าไม่ถึงสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 14 โรงเรียน ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต 291 โรงเรียน กำลังประสบปัญหาไร้สัญญาณโทรศัพท์ โดยในจำนวนนี้มี 160 โรงเรียน ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและอีก 415 โรงเรียน ไม่มีไฟฟ้าใช้

บริจาคโซลาร์เซลล์ สะเทือนถึงดวงดาว

ปัญหาเรื่องการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ตอกย้ำด้วยกระแสจากกรณีคลิปวิดีโอของยูทูบเบอร์ ‘พิมรี่พาย’ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์

เนื้อหาถูกนำเสนอถึงเรื่องราวการเดินทางไปที่บ้านแม่เกิบ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเงินส่วนตัวไปจัดทำแผงโซลาร์เซลล์และติดตั้งโทรทัศน์ในหมู่บ้าน ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความฮือฮาให้ผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนมาก จึงทำให้ประชาชนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยความแปลกประหลาดใจว่าเหตุใดประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

ในมุมนักสื่อสาร โอมองว่านี่คือเครื่องมือที่สร้าง impact ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน

กระแสดังกล่าวเสมือนกระจกสะท้อนให้ประชาชนทุกคนรับรู้ถึงปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม ทั้งปัญหาด้านการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภค และที่สำคัญทำให้เราได้มองเห็นคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ห่างไกล แต่คำถามต่อมาคือประชาชนทุกคนจะต่อยอดและจัดการสะสางปัญหาที่ถูกซ่อนไว้อย่างยาวนานได้อย่างไร

“ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาด้วยการบริจาค ก็ไม่ได้นำไปสู่การมองเห็นเรื่องของรัฐสวัสดิการที่ควรจะได้รับ มันทำให้เรื่องที่ควรจะถูกแก้ ไม่ถูกแก้ รัฐลอยตัว เป็นเรื่องที่ดีที่เราช่วยเหลือกัน ไฟไหม้ น้ำท่วม แต่ทำไมประชาชนก็ต้องออกมาช่วยกันตลอด เพราะความล้มเหลวของรัฐหรือเปล่า

“ผมมองว่าคลิปของคุณพิมรี่พายเป็น source ชิ้นหนึ่งที่เปิดโอกาสทำให้เราได้อธิบายและตั้งคำถามว่า ทำไมชุมชนแบบนี้ถึงยังยากจน ทำไมเขายังขาดแคลน มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมชีวิตของเด็กๆ ถึงเป็นแบบนั้น การแก้ปัญหาของรัฐที่ผ่านมาแก้อย่างไร มันเกิดความผิดพลาดของกระบวนการทำงานของรัฐตรงไหน”

ตลอดเวลาที่โอทำงานการสื่อสารและคลุกคลีในประเด็นชนกลุ่มน้อย การศึกษาคือปัญหาส่วนหนึ่งในเชิงโครงสร้างเมื่อรัฐไม่อนุญาตให้ประชาชนหรือชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ใดๆ นั่นหมายถึงการสร้างโรงเรียนและไฟฟ้า

“ลองคิดดูนะครับ เส้นทางเข้าหมู่บ้านมันเต็มไปด้วยพื้นที่ป่า พื้นที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ที่ชุมชนไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างใดๆ ได้ มันไม่มีทางหรอกที่เสาไฟฟ้าจะไปถึงได้ ยกเว้นแต่ว่าเป็นหน่วยงานของราชการทำให้ตัวเอง เช่น อบต. ได้มีอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว แต่ชุมชนยังไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า”

การศึกษาที่ได้ออกแบบเองคือการศึกษาในฝัน

ปัจจุบันโอเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่เขาได้ทำงานสื่อสารในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่เขาตั้งใจไว้

ในฐานะรุ่นพี่ผู้ที่ได้ทำตามความฝันแล้ว เมื่อถามถึงความฝันของชนกลุ่มน้อย โอบอกว่าเขาไม่อาจทราบได้ว่าความฝันสูงสุดของแต่ละคนคืออะไร แต่ความฝันขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ คือการได้ใช้ชีวิตสอดคล้องกับวิถี ความเชื่อ บนฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เติบโตในวิถีที่ตนปรารถนาเป็นชีวิตที่ไม่โดนกดทับ ปลอดภัย และตัดสินใจได้เอง

“ถ้าให้ลองจินตนาการหน้าตาโรงเรียนในฝัน คงเป็นโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการดำเนินตามภูมินิเวศ ตามภูมิวัฒนธรรมและภูมิสังคม ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้รับการประเมินผลด้วยมาตรวัดที่ตรงจุด เพราะเด็กชาติพันธุ์บางคนก็ไม่ได้อยากออกจากหมู่บ้าน จะดีกว่าไหมถ้าคนในหมู่บ้านมาช่วยกันออกแบบหลักสูตรให้ลูกหลานของตัวเอง”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า