นีนตเวยูออง: ทวงคืนความฝันของ ‘Gen Z เมียนมา’ ที่กำลังลุกโชน

เข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว สำหรับการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของประชาชนเมียนมา และการต่อต้านอย่างสันตินั้นยังคงดำเนินไปในหลายเมืองทั่วประเทศ พร้อมๆ กับการตอบโต้อย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่คณะรัฐประหาร จนถึงจุดหนักหน่วงที่สุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งเรียกกันว่า ‘วันนองเลือดที่สุด’ เมื่อคณะรัฐประหารที่นำโดย นายพลมินอ่องหล่าย สังหารประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยไปถึง 38 คน หนึ่งในนั้นมีเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี ถึง 4 คน ต้องสิ้นลมหายใจไปด้วย 

เรื่องราวของ ‘มะแจซิน’ เยาวชนหญิง หนึ่งในผู้เสียชีวิต สั่นสะเทือนความรู้สึกผู้รักเสรีภาพไปทั่วโลก หลังจากที่เธอโพสต์ภาพผ้าผูกข้อมือสีแดงซึ่งพ่อของเธอมอบให้ ก่อนที่จะออกไปชุมนุมในเมืองมัณฑะเลย์ เธอได้เขียนโพสต์สุดท้ายในเฟซบุ๊คไว้ว่า “ฉันได้ลงชื่อบริจาคอวัยวะเอาไว้แล้ว หากฉันเป็นอะไรไป ใครที่ต้องการอวัยวะไปใช้ประโยชน์ ให้ไปแจ้งที่โรงพยาบาลได้เลย” 

ภาพสุดท้ายของมะแจซินที่ถูกถ่ายไว้ได้ เป็นภาพที่เธอสวมเสื้อที่เขียนว่า ‘Everything will be OK’ (ทุกอย่างจะดีขึ้น) เธอได้ต่อสู้อยู่แนวหน้าอย่างกล้าหาญร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ทุกคนมีเพียงโล่กับสองมือเปล่า ส่วนเธอเองถือขวดน้ำไว้ขวดหนึ่งสำหรับล้างหน้าหากโดนแก๊สน้ำตา 

การต่อสู้ของมะแจซิน เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยเมียนมา เพราะมันได้เปลี่ยนความทรงจำเดิมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา นับตั้งแต่การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนในปี 1988 หรือ ‘การปฏิวัติชายจีวร’ ที่นำโดยพระสงฆ์เมื่อปี 2007-2008 

วันนี้…ภารกิจการต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้เปลี่ยนมือมาสู่เยาวชนคนหนุ่มสาว 

คำถามคือ อะไรเป็นแรงผลักดันที่หล่อหลอมโลกทัศน์และชีวทัศน์ของคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาให้ลุกขึ้นสู้ในวันนี้ เหตุใด เจเนอเรชั่น Y-Z จึงก้าวเข้ามาเป็นกำลังหลักในการต่อสู้กับอำนาจกระบอกปืน 

WAY สนทนากับ นีนตเวยูออง (Hnin Thway Yu Aung) มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ปี 2018 เธอเป็นหนึ่งในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ก่อนการเสียชีวิตของ มะแจซิน เพียง 3 วัน นีนตเวยูอองจับไมโครโฟนนำมวลชนตะโกนเรียกร้องเสรีภาพและคืนอำนาจให้ประชาชน ณ บริเวณที่ทำการสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และยังใช้เวลาระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทย ติดตามสถานการณ์การเมืองในเมียนมาอย่างใกล้ชิด 

แง่มุมหลายอย่างในชีวิตของเธอ เป็นภาพเล็กๆ ที่ช่วยให้เห็นการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวเมียนมาโดยรวมได้รอบด้านยิ่งขึ้น 

ชีวิตที่ไร้หลักประกันในวัยเยาว์ 

การเกิดและเติบโตคาบเกี่ยวระหว่างยุคการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการกองทัพที่ครองอำนาจมายาวนานหลายทศวรรษ กับยุคที่ค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้นีนตเวยูออง ในวัย 25 ปี มองเห็นความสำคัญของการเมืองการปกครองที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนและตัวเธอเอง โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเธอมองว่าเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้ความฝันของเธอและเด็กคนอื่นๆ ในประเทศเป็นจริงได้ และที่สำคัญความฝันนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร 

นีนเล่าว่า “บ้านเกิดของนีนอยู่ที่เมืองเมะทีลา (ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเมะทีลา อยู่ห่างจากมัณฑะเลย์ไปทางทิศใต้ราวๆ 120 กิโลเมตร) เป็นเมืองที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองมากมาย ก่อนที่จะย้ายบ้านไปโตที่รัฐฉานตอนใต้ คือเมืองแรชา เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับเมืองตองจี เมืองที่สำคัญแห่งหนึ่งของรัฐฉาน 

“สิ่งที่อยากจะบอกเกี่ยวเมืองแรชาคือ ระบบการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานเหมือนกับในเมือง เหมือนกับว่า ‘ฉันให้คุณอ่านสิ่งนี้ คุณก็ต้องสอบตามสิ่งนี้’” นีนกล่าวถึงชีวิตที่เดินทางไปหลายเมืองตั้งแต่วัยเยาว์

เธอเองมองว่า สภาพการศึกษาเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่น หากยังปรากฏเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เธอเล่าถึงโรงเรียนในวัยเด็กว่า ไม่มีหลักสูตรด้านกีฬาและศิลปะอย่างเพียงพอ ทำให้ตัวเธอซึ่งสนใจการวาดภาพมาตั้งแต่เด็กต้องพบอุปสรรคไม่น้อยในการเข้าถึงความรู้เหล่านี้ เนื่องจากโรงเรียนไม่มีอุปกรณ์และครูที่จะให้ความรู้ด้านนี้ได้อย่างมีคุณภาพ เด็กๆ ที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ต้องมีทุนทรัพย์ในการเรียนพิเศษ 

ความคิดในเชิงเปรียบเทียบเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง หากเธอเป็นเพียงคนเมียนมาที่ปักหลักอยู่แต่บ้านเกิดของตน นีนบอกว่าเธอเข้าใจสิ่งนี้จากการเดินทางไปยังต่างประเทศ ได้พบเห็นโรงเรียนนานาชาติในหลายประเทศ โรงเรียนเหล่านั้นจะสนับสนุนให้มีการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กสามารถมีทางเลือกได้ว่า ตนเองมีความสนใจด้านใดอย่างแท้จริง 

ในมุมมองของนีน เห็นว่า “วัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ อย่างเช่นเรื่องศิลปะก็ควรมีช่องทางที่ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ฉะนั้นเมืองที่นีนโตขึ้นมา การศึกษาจึงยังอ่อนแออยู่มาก

“ตอนที่นีนอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ นั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านสุขภาพ โรงพยาบาลและหมอยังขาดแคลน” นีนบอก

ความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้านเช่นนี้ ทำให้เธอเห็นว่า การศึกษาควรจะเป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ 

มุ่งหน้าสู่วงการบันเทิง 

เมื่อเข้าสู่วัยมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย เธอได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งติดกับอำเภอแม่สายของไทย ที่นี่เธอได้พบเห็นธุรกิจการค้าที่เฟื่องฟู ได้รู้จักเครื่องอุปโภคบริโภคใหม่ๆ และที่สำคัญได้รู้จักวัฒนธรรมของไทย การพำนักอาศัยอยู่ที่ท่าขี้เหล็กจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว และทำให้เธอได้เห็นโลกในหลายมุม

หากย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนอาจจะเผลอลืมไปแล้วว่า ประเทศเมียนมาเคยเป็นประเทศชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในหลายๆ ด้าน ทั้งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวและพืชพันธุ์หลากหลายชนิดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เคยมีเลขาธิการสหประชาชาติเป็นคนเมียนมา ในด้านกีฬาเองก็โดดเด่น โดยเฉพาะฟุตบอล เมียนมาได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน 

ทว่าหลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน ในปี 1962 คณะรัฐประหารก็เริ่มปิดประเทศ และพาบ้านเมืองดำดิ่งลงสู่ยุคมืด การค้าขายเริ่มหดตัว ความก้าวหน้าในด้านต่างๆ หยุดชะงัก ความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับโลกสากลลดต่ำลง หนึ่งในนั้นคือการยุติการประกวดนางงามนับตั้งแต่ปี 1962 เป็นต้นมา 

เมื่อยุคแห่งความมืดมนของเมียนมาเริ่มคลายตัว ดอกผลจากการต่อสู้ของประชาชนทำให้คณะรัฐประหารเมียนมาผ่อนคลายอำนาจและเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2008 แต่ยังคงอำนาจของกองทัพไว้ จากนั้นเปิดให้มีการเลือกตั้งที่ไม่เสรีนักในปี 2010 และจนกระทั่งปี 2013 เมียนมาก็กลับมาสู่การเปิดเวทีการประกวดนางงามจักรวาลอีกครั้งหลังยุติไป 51 ปี

ในช่วงนี้เอง นีนตเวยูอองเติบโตขึ้น เธอเริ่มสนใจงานด้านศิลปะและวงการบันเทิง พร้อมๆ กับการมีโอกาสได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2015 โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ที่เธอเลือก ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น 

บ้านเมืองเหมือนจะสดใสเบ่งบานรอรับความฝันของเด็กต่างจังหวัดเช่นเธอ ในปี 2018 นีนได้เข้าประกวดมิสเมียนมา จนได้รับการคัดเลือกจากกองประกวดมิสเมียนมา ให้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2018 ที่ประเทศไทย ซึ่งในปีนั้น แคทรีโอนา เกรย์ (Catriona Gray) นางงามฟิลิปปินส์เชื้อสายออสเตรเลีย คว้ามงกุฎไปครอง ถึงแม้นีนจะพลาดรางวัลสำคัญ แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าสำหรับเธอ

นีนเล่าว่า “ตั้งแต่นีนได้เป็นมิสเมียนมาแล้วได้เดินทางไปที่ย่างกุ้ง เพื่อเริ่มทำงานวงการบันเทิง นีนก็มีโอกาสได้เดินทางไปยังต่างประเทศ ได้เจอกับผู้เข้าร่วมประกวดจากต่างประเทศหลายคน ประมาณ 90 ประเทศ 

“ถ้าเราอยากรู้ว่าการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นยังไง เราสามารถรับรู้ได้จากตัวแทนนางงามของแต่ละประเทศ แต่สำหรับนีนที่ต้องเป็นตัวแทนนางงามของประเทศเมียนมา มีสิ่งที่กังวลอยู่บ้างว่าจะนำเสนอเกี่ยวกับประเทศตัวเองอย่างไร เพราะนางงามจากประเทศอื่นไม่ค่อยรู้จักเมียนมา และในด้านวงการศิลปะและบันเทิงก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปมากขนาดนั้น ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมียนมาก็กำลังพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ”

นีนกล่าว 

หลังจากเมียนมาเริ่มกลับมายืนบนกติกาการปกครองที่ทั่วโลกยอมรับ ทำให้เมียนมาค่อยๆ เปิดม่านออกสู่โลกกว้าง และอาจกล่าวได้ว่า ณ จุดนี้เอง เธอเริ่มมีความฝันอยากเห็นบ้านเมืองของเธอเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้า

‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ ตัดวงจรอุบาทว์รัฐประหาร

ในปี 2020 การเลือกตั้งทั่วไปถูกจัดขึ้น นีนตเวยูอองออกไปใช้สิทธิด้วยความหวังเต็มเปี่ยม คล้ายๆ กับมะแจซินที่ใช้สิทธิครั้งแรกด้วยความภาคภูมิใจ พรรค NLD ของนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น โดยกวาดที่นั่งทั้งหมด 396 ที่นั่ง สูงกว่าเดิม 390 ที่นั่งจากการเลือกตั้งปี 2015

ทว่าการเปิดประชุมรัฐสภาเมียนมาตามกำหนดการเดิมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กลับไม่อาจเกิดขึ้น เมื่อคณะรัฐประหารที่นำโดย นายพลมินอ่องหล่าย ตัดสินใจใช้กำลังเข้าควบคุมผู้นำรัฐบาลหลายคน รวมถึง ‘อะเมซู’ (หมายถึงแม่ซู) ที่นีนและประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งใช้เรียกนางอองซานซูจี 

การรัฐประหารในปี 2021 เพื่อล้มการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2020 หวนกลับมาอีกครั้ง หลังการใช้กำลังยึดอำนาจ คณะรัฐประหารประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสัญญาจะกลับมาจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่คำถามคือ ใครจะรับประกันคำสัญญานั้น 

นีนตเวยูอองใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการติดตามข่าวสารที่เมียนมาระหว่างที่เธอมาถ่ายทำละครเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-เมียนมา เธอเล่าว่า 

“ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง ตอนนั้นก็มีความหวังอย่างมากว่าจะเกิดการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพราะเป็นรากฐานต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ทั้งสาธารณูปโภคหรือสาธารณสุข แต่การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้ทุกอย่างที่กำลังเปลี่ยนหยุดชะงักลง 

“สำหรับนีนแล้ว แม้ตอนนี้จะอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะมีภารกิจ แต่ก็ยังอยู่เคียงข้างประชาชน และพยายามร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ในทางออนไลน์เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา แม้ว่านีนจะทำได้แค่นี้ และดูเหมือนจะยังไม่เต็มที่มากนัก แต่อย่างน้อยนีนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกับทุกคน” เธอกล่าว

บัดนี้การต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาแพร่ขยายไปหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ ทวาย และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ นีนตเวยูอองได้เล่าข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งมาจากการที่เธอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไว้ว่า

“พี่น้องประชาชนทุกคนได้ออกมาชุมนุมอย่างเข้มแข็งและมีอารยะ ได้เห็นถึงความร่วมมือ ความสามัคคีของทุกคนแล้วนีนรู้สึกมีพลังมาก แต่การเมืองครั้งนี้เป็นการต่อสู้ ไม่ใช่งานสังสรรค์ เป็นการต่อสู้ที่ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน เราจะไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ง่ายๆ นีนเชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้ ประชาชนจะได้รับชัยชนะ และนีนจะสู้ไปพร้อมกับทุกคน” 

ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ในขณะนี้ สิ่งที่เธอมองเห็นดูเหมือนจะมีสองอย่าง อย่างแรกคือ ความหวัง ความหวังที่จะได้ประชาธิปไตยคืนกลับมา ได้เห็นผู้นำจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเอง และคืนอิสรภาพแก่ประธานาธิบดีอูวินมยิน และที่ปรึกษา ด่ออองซานซูจี 

“นีนและประชาชนทุกคนเชื่อว่า อะเมซูจะได้กลับมาเคียงข้างพวกเราในอีกไม่นาน พวกเรายังคงเชื่อมั่นในตัวของเขาว่าจะเป็นที่พึ่งพาให้กับพวกเรา และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศของพวกเรามีประชาธิปไตย”

ประการที่สอง สิ่งที่เธอมองเห็นคือ การต่อต้านรัฐประหารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งวิธีการที่เธอเน้นย้ำคือ การต่อต้านอย่างสันติ เพราะหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์การได้มาซึ่งประชาธิปไตยของทุกๆ ประเทศย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย รวมไปถึงในเมียนมาเอง เธอเล่าย้อนไปถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 1988 ซึ่งเธอเห็นว่ามีคุณูปการต่อช่วงชีวิตของเธอ

“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 1988 ตอนนั้นนีนยังไม่เกิด แต่ได้ฟังจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย เขาก็ได้ออกมาต่อสู้ ตอนนั้นมีนักศึกษาออกมาต่อต้านรัฐประหารเช่นกัน ตอนนี้พวกเขากลายเป็นคนรุ่นลุงป้าไปแล้ว พวกเขาต่อสู้เพื่ออะไร เรารู้ดี ว่าเพื่อรุ่นเรา และเพื่ออนาคตของเรา ในรุ่นเรา เราจึงมีความฝันเยอะมาก และความฝันนั้นจะเป็นจริงได้ จะต้องไม่มีใครมาใช้กำลังอำนาจบังคับ 

“ฉะนั้น ถ้าเรายังต้องอยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร ใครจะรับรองความฝันของเราได้” เธอกล่าว 

ในตอนท้ายของการพูดคุย เธอได้พาเราย้อนกลับไปทวนความทรงจำในวัยเด็กซึ่งสัมพันธ์กับความปรารถนาในวัยรุ่น ที่ทำให้เราเห็นแรงผลักดันที่มาจากความฝันได้เป็นอย่างดีว่า เธอไม่อยากกลับไปอยู่ในยุคที่ตกต่ำเช่นนั้นอีกแล้ว 

“แม้ว่านีนจะเป็นคนรุ่นใหม่ร่วมกับอีกหลายคนที่ออกมาต่อสู้ แต่นีนมองว่าที่เราต่อสู้ก็เพราะไม่อยากให้เด็กรุ่นถัดไปเติบโตขึ้นมาสภาพการศึกษาและสังคมที่ไม่ดีเหมือนที่นีนเติบโตมา

“เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า เราจะต้องใช้วิธีต่อต้านอย่างสันติ เพื่อให้คณะรัฐประหารหรืออำนาจของกองทัพจบลงที่รุ่นเรา”

นีนตเวยูออง ปิดท้ายการให้สัมภาษณ์กับ WAY ด้วยความหวัง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า