ในอาคารกลางเมืองขอนแก่น ห้องสี่เหลี่ยมถูกทำให้เป็นวงกลมขนาดย่อม ภายในบรรจุชีวิตของคนกลุ่มเล็กๆ เขาเหล่านั้นส่วนใหญ่ล้วนแล้วเป็นครูที่พกพาความรู้ ความอยากรู้ ความหวัง ความเชื่อ และความทุกข์ ของการเป็นครูในระบบการศึกษาที่คาดหวังครูในความหมายของแม่พิมพ์ของชาติ ครูต้องดีงามประเสริฐ โดยมองข้ามความเป็นครูในฐานะมนุษย์ที่ต่างก็เจ็บปวดเป็น เสียใจได้ หมดไฟได้
ความเจ็บปวดจากระบบการศึกษา จึงเป็นที่มาของ ‘ก่อการครู’ โครงการที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านครู คนตัวเล็กๆ ผู้เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา โดยการสร้างพื้นที่กิจรรมเพื่อนำเหล่าคุณครูไปสู่การค้นพบศักภาพภายใน เพื่อแชร์เทคนิคการเรียนการสอนและเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะนำไปสร้างสรรค์ห้องเรียน และเพื่อเติมฟืนเติมไฟให้กับชีวิตการเป็น ‘ครู’ ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง
ความเครียดของครู
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น ต้นทางของการมาเป็นครูก็สำคัญไม่ต่างกัน เราจึงชวน ครูแสน-ธีระวุฒิ ศรีมังคละ ครูฝึกสอนวิชาสังคมมาบอกเล่าความทรงจำว่าเหตุใด ครู จึงเป็นอาชีพที่เขาเลือกเดินต่อจากนี้
“เราชอบวิชาสังคมมาตั้งแต่ประถม รู้สึกว่ามันน่าเรียนรู้ พอมาเรียนมัธยมเราเจอครูที่สอนเราดี สอนในแนวทางของ PBL (การเรียนรู้จากฐานปัญหา) การเรียนรู้แบบนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ปัญหาของชุมชน เราได้ไปทำโครงการพัฒนาชุมชนกับหลายหน่วยงาน ก็เลยรู้สึกว่าการเป็นครูสังคมมันชัดขึ้น ครูสังคมในความหมายที่ต่างไป จากสังคมคือสิ่งเดิมๆ สังคมคือประวัติศาสตร์ สังคมคือศาสนา คือหน้าที่พลเมือง แต่เป็นสังคมที่เรามองว่า มันคือการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอด สังคมมันมีความพลวัตของมัน มันคือสิ่งใหม่ มันไปข้างหน้าเรื่อยๆ และมันไม่ย้อนกลับมาที่เดิมด้วย” ครูแสน ย้อนความทรงจำของการอยากเป็นครูเราฟัง และในฐานะครูฝึกสอนวิชาสังคมที่กำลังเผชิญหน้ากับแรงปะทะต่อชีวิตการเป็น ‘ว่าที่ครู’
“ครูเครียดครับ และยิ่งสูงมากกับการเป็นครูฝึกสอนเพราะเราต้องทำวิจัย เราต้องสอน เราต้องมาทำงานฝ่าย เราต้องมาเขียนแผนการสอน ทีนี้แผนการสอนเราต้องทำแผนรายชั่วโมง สมมุติผมมี 60 ชั่วโมง 60 แผน แผนหนึ่งมี 20 หน้า คูณไปสิครับ เท่านั้นไม่พอ โครงการระหว่างการสอนก็ต้องมี แล้วในฐานะครูฝึกสอน เราจะไปสอนนอกเหนือจากครูพี่เลี้ยงก็ไม่ได้ เพราะเขาบอกว่าต้องทำแบบนี้ๆ ยิ่งคน Gen Y อย่างผมด้วยมันชอบแหกชอบลอง แล้วคน Gen Y ไปเจอกับคน Gen mom ในสังคมโรงเรียนที่มีกฎระเบียบ คิดดูครับว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เป็นเหตุผลที่ว่าคนส่วนหนึ่งที่เรียนครูแล้วไม่อยากเป็นครู ก็ด้วยเหตุผลนี้”
เปลี่ยนระบบไม่ได้ ก็เปลี่ยนห้องเรียนแล้วกัน
เมื่อครูต้องสอน กอปรไปกับการกระทบกระทั่งกับระบบและสังคมที่เต็มไปด้วยกรอบเกณฑ์ ครูแสนจึงเลือกที่จะขวนขวาย มองหาแนวคิดและเครื่องมือใหม่ๆ เขาบอกกับเราว่า ในเมื่อเปลี่ยนระบบไม่ได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือการเปลี่ยนห้องเรียนของเรา ห้องเรียนที่เราสามารถคอนโทรลได้
“ผมขวนขวายหาเครื่องมือในการสอนมาตั้งแต่ผมอยู่ปี 1 โดยการลงไปทำกิจกรรมกับเด็ก แล้วก็นำกระบวนการต่างๆ ไปใช้กับเด็กและดูว่ามันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร สิ่งที่ผมจับหลักๆ มันมีอยู่สามอย่างด้วยกันคือ 1.สันทนาการเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น 2.pattern based การเรียนรู้โดยใช้กระดาษปรูฟ ชวนเด็กวิเคราะห์โดยกระดาษปรูฟ โดยบูรณาการกิจกรรมเข้าไปร่วมด้วย และ 3.คือเกมการศึกษา เพราะเราทำวิจัยเรื่องบอร์ดเกมในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้สำหรับเด็กประถม ซึ่งเราค้นพบว่ามันเป็นวิธีการที่ใช่สำหรับตนเอง”
ผลที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นเชิงผลสัมฤทธิ์ แต่มันจะเกิดในลักษณะที่เด็กสนุก มีความสุขในการเรียน บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ปกติเราเรียนสังคมศึกษาก็จะซีเรียสมากเลย แต่พอเราหันมาใช้เกม เราจะเห็นเด็กสนุกและอยากเรียน และเด็กสะท้อนว่าคาบของครูเป็นคาบที่มีความสุขมากที่สุด เพราะว่าคาบที่แล้วเขาเพิ่งเรียนคณิตศาสตร์มาไงครับ (หัวเราะ)”
ครูแสนถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นครูฝึกสอน การค้นหาเครื่องมือในการออกแบบห้องเรียน และการเปลี่ยนแปลงที่เขาได้พบในห้องเรียนของการเป็นครูฝึกสอน ผ่านกิจกรรมมากมาย และหนึ่งในนั้นคือโครงการ ‘ก่อการครู’ ที่เขาร่วมเอาองค์ความรู้ที่ค้นหามาแชร์ในกิจกรรมวันนี้อีกด้วย
กว่า 8 กิจกรรมที่ครูต่างก็ขนเทคนิค องค์ความรู้ และประสบการณ์มาเเลกเปลี่ยนกันในกิจกรรม Each One Teach One ผลัดกันเรียนเปลี่ยนกันสอน เราขอเลือกเข้าคลาสเรียนหนึ่งที่เราเชื่อว่า มันคือต้นทางการค้นหาความหมายในการเป็นครู ห้องเรียนที่สะท้อนความสุขทุกข์ของครู และห้องเรียนที่พาครูไปค้นหาความหมายจากคำถามที่ว่า
“ฉันจะเป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร”
กลับสู่จุดเริ่มต้น
โจทย์คำถามง่ายๆ ถูกตั้งขึ้นผ่านห้องกิจกรรมที่ว่าด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน โดยอาจารย์เปี๊ยก ผศ.ดร. สิทธิชัย วิชัยดิษฐ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกระบวนกรผู้ที่กำลังจะพาครูทุกคนที่มาร่วมวงสนทนา ว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูนั้น แท้จริงแล้วความหมายของมันคือสิ่งใด ผ่านการสำรวจและเรียนรู้ตนเอง self-study (วิจัยเชิงศึกษาตนเอง) เพื่อทำความเข้าใจงานที่อยู่ตรงหน้า พัฒนามันให้ดีขึ้น และเข้าใจตนเองให้มากขึ้น เป็นครูที่ดีขึ้นอย่างไร
โดยอาจารย์เปี๊ยกได้ชวนครูผู้ร่วมกระบวนการย้อนความทรงจำไปยังประสบการณ์ในห้องเรียนที่มีทั้งวันที่ดี วันที่ห้องเรียนได้สร้างพลังให้กับครู วันที่ครูไม่อยากหยุดสอนและนักเรียนไม่อยากหยุดเรียน ไปจนถึงวันที่ครูเข้าไปสอนแล้วแทบจะหมดแรง หมดไฟ นำมาแลกเปลี่ยนในวงสนทนา เพื่อค้นหาคุณค่าที่สะท้อนผ่านเรื่องเล่าของเรา
“ตอนที่ตัวเองเริ่มสอน คือเราจบปริญญามาใหม่ๆ ความรู้อัดแน่นมาก เราก็อัดเข้าไปเต็มที่เป็นร้อยสไลด์ หน้าตานักเรียนก็เวิ้งว้างไปเลย ซึ่งสไลด์นั้นเราเตรียมนานมาก พอสอนเสร็จ เราก็คิดได้ว่านี่เด็กได้อะไรจากเราจริงๆ เหรอ เราต้องไม่เหมาะกับอาชีพนี้แน่ๆ เลย เอายังไงดี” ครูแยม ได้สะท้อนประสบการณ์ในห้องเรียนในช่วงแรกของการเป็นครู และยังสะท้อนต่อว่า “พอหลังๆ เราเริ่มมาเรียนรู้กระบวนการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เราคิดถึงประโยคหนึ่งที่บอกว่า กล้าที่จะไม่สอน นึกถึงเนื้อหาของมันจริงๆ ว่าเด็กจะได้อะไร เราก็เริ่มสว่างไสวมากขึ้น เราพยายามใช้เกมเข้ามาเพิ่มความสนุก แล้วมันเป็นวิชายากๆ อย่างเภสัชด้วย เด็กเขาเริ่มสนุกมากขึ้น เด็กมี activity มากขึ้น ได้ลุกได้เล่น ครั้งหลังๆ พอเด็กเริ่มเข้าที่เขาก็มีเดินมาบอกตอนเลิกคลาสว่า อาจารย์เอาแบบนี้แหละ สนุกดี”
เมื่อครูแต่ละคนได้ย้อนกลับไปเช็คและตกตะกอนตนเองในบางมุมของชีวิตแล้วว่า เราทุกข์และสุขกับเรื่องอะไร นำมาสู่การตั้งคำถามเพื่อให้ตะกอนของการสำรวจตัวเองผ่านเรื่องเล่าเมื่อสักครู่ชัดเจนขึ้น นั่นคือ ตัวเราในฐานะครูเป็นอย่างไร เราให้คุณค่ากับอะไร และเมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร แล้วเราอยากให้ชั้นเรียนเป็นอย่างไร ชั้นเรียนที่สอดคล้องกับคุณค่าที่เราคิดถึง สุดท้ายคือ จากตัวเรา จากชั้นเรียนที่เราอยากให้เป็น มันนำไปสู่คำถามว่า เราจะพัฒนาบางสิ่งบางอย่างของนักเรียนขึ้นมาได้อย่างไร บางสิ่งบางอย่างที่ว่า นั่นคือย้อนกลับไปสู่คุณค่าที่เรายึดถือ
“ส่วนตัวเราเริ่มรู้สึกว่าการเรียนการสอนแบบเดิมมันเริ่มที่จะใช้การไม่ได้ด้วยหลายๆ อย่าง ด้วยองค์ความรู้เองด้วย และนักศึกษาเองที่เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ช่วงหลังเราเริ่มรู้สึกว่า คำว่าคนรุ่นใหม่มันใกล้ตัวเรามาเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเด็กเขารู้เยอะขึ้นและเขาต้องการวิธีการเรียนที่มันไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนที่เราเคยทำหรือที่เราเคยเรียนหรือถูกสอนมา”
เด็กก็เหมือนเรา เขาก็งงได้
ครูต้อง-นพ.วรานนท์ มั่นคง ผู้เป็นทั้งหมอและอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ถ่ายทอดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาซึ่งการค้นหาเครื่องมือหรือวิธีการบางอย่างเพื่อพัฒนาตนเอง รวมถึงการกลับมาสำรวจตนเองในฐานะมนุษย์และในฐานะของครู
“ครูมักจะยืนบนความคาดหวัง ไม่ว่าครูจะอยู่ในระบบใด ครูก็จะมีความคาดหวังเสมอ โดยเฉพาะตัวเรา เราพกพาความคาดหวังนี้ไปในทุกๆ ที่ ขนาดเราออกมาสู่กระบวนการที่เรารู้สึกว่ามันไม่ conventional แล้ว แต่เราก็พกพาความคาดหวังมา สิ่งที่พบก็คือว่าเราเองก็มักจะคาดหวังและบีบคั้น เราเชื่อในการเปิดพื้นที่ ใช่ เราเปิด แต่มุมหนึ่งเราบีบคั้นเขาเหมือนกัน ดังนั้นปัจจัยต่อมาจากการให้พื้นที่ เราต้องมีเวลาให้เขา เพราะอยู่ดีๆ เราจะไปหวังให้เขาเปลี่ยนแปลงโดยแค่การที่เราเปิดพื้นที่ให้เขาแล้ว มันไม่ใช่ และเราก็ได้เรียนรู้นะว่าคนที่ต้องเปลี่ยนคนแรกไม่ใช่ใครเลย คือตัวครูเอง ซึ่งเราพบว่ามันทำให้เรามี sense of understanding หรือ sense of awareness ทำให้เราได้ไปเห็นว่ามุมนี้เด็กก็เหมือนเรา เขางงได้ มุมนี้เราก็เหมือนเด็ก เราก็งงได้เหมือนกัน” ครูต้องกล่าวเพิ่มเติม จากการตั้งคำถาม ค้นหา และค้นพบบางอย่าง เขายังกล่าวกับเราว่า การเป็นครูนั้นคือการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ดังเช่นที่เขามาเรียนรู้ในวันนี้
ครูไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว
เมื่อครูกลุ่มหนึ่งกำลังมองหาการเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาไทย ที่มองไปก็ได้แต่ถอนหายใจเฮือกกับความเป็นไปได้ที่เลือนราง นำมาซึ่งการตั้งหลักใหม่ต่อวิชาชีพการเป็นครู ดังเช่น ครูตู้-สราวุฒิ พลตื้อ เขาได้ตั้งคำถามต่อตนเองว่า หากระบบมันไม่เปลี่ยนเสียที ครูหรือเปล่าที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง
“ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในยุคที่ค่อนข้างจะยาก ฉะนั้นการที่เราได้เจอโจทย์ยากๆ มันคือความท้าทายว่าใครจะเปลี่ยนล่ะ เราไหมที่ควรจะเปลี่ยน ส่วนโครงสร้างนั้นมันไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้ในเร็ววันแน่นอน เราต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราเอง สำคัญคือวางใจลงนิดหนึ่ง ลดความคาดหวังกับตัวเราและตัวเด็กลง จึงจะเจอจุดที่สมดุลครับ เรามาตั้งหลักใหม่และอยู่ในพื้นที่ของเราให้มั่นคง ทำให้คนอื่นเห็นแนวทางที่ชัดเจนของเรา” เมื่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนั้นเลือนรางจนถึงขีดสุด ครูจึงจำเป็นต้องแสวงหาเครื่องมือ หรือวิธีการเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งการเป็นครู ครูที่มีคุณภาพ ครูที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
“เวลาเรามากิจกรรมเช่นนี้ เราไม่ได้แค่มาแชร์ หรือมาเอาความรู้อย่างเดียว แต่เรามาให้คนอื่นเห็นว่า ครูตู้ก็เป็นเครือข่ายนะ กาฬสินธุ์มีครูตู้นะ มันจะสร้างกำลังใจร่วมกัน นอกเหนือจากการที่เราจะไปเอาเรื่องเครื่องมือต่อการเรียนรู้ ผมมั่นใจว่าครูต้องเห็นกันและกัน ครูไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวนะ มันคือการน้อมตัวเราเข้าไปหาคนอื่น ในยุคนี้ครูต้องดูแลหัวใจของตัวเองให้ดี และสำคัญต้องดูแลหัวใจเพื่อนครูด้วยกัน ผมเชื่อว่าเครือข่ายหรือกลุ่มก้อนอะไรก็ตามมันจะนำมาสู่การปลดล็อคปัญหาที่มันคาราคาซังอยู่” ครูตู้สะท้อนบอกเรา
เกือบสองชั่วโมงกับคำถาม ‘ฉันจะเป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร’ ผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนของอาจารย์เปี๊ยก แน่นอนว่าจากกระบวนการทั้งหมดที่ว่า หาใช่สูตรสำเร็จในการออกแบบห้องเรียน หาใช่สูตรสำเร็จของการเป็นครูที่ดี แต่เป็นการพากลับไปสำรวจตัวตนผ่านอดีต ผ่านคุณค่าของการเป็นครูของแต่ละคน ผ่านความสนุกในชั้นเรียน และผ่านความเศร้าในชีวิตของการเป็นครู เพื่อนำคุณค่าที่เราสำรวจหาในวันนี้ นำไปพัฒนาตัวครู ห้องเรียนของครู เพื่อที่จะเป็นครูที่ดีขึ้น