‘ก้าวไกล’ ซัดเหตุเรือหลวงสุโขทัยล่ม อย่าโทษคน โทษฝนฟ้า แต่เพราะประมาทเลินเล่อ-ทุจริตซ่อมเรือ

การอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยกประเด็นเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาในการอภิปราย โดยนำเสนอว่าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางเกิดจากการประมาทเลินเล่อ ไร้ความพร้อมในการซ่อมบำรุง และการทุจริตของกองทัพ ซึ่งสุดท้ายแล้วนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล

พิจารณ์ยกความเป็นไปได้ 3 อย่างของเหตุการณ์นี้ คือ หนึ่ง-ความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) และสอง-สภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอ แม้รายงานสภาพอากาศในวันดังกล่าวจะระบุว่ามีคลื่นสูงถึง 6 เมตร แต่เรือหลวงสุโขทัยนั้นเป็นเรือระดับคอร์เวต (corvette) ที่มีการออกแบบโครงสร้างให้สามารถทนคลื่นสูงได้ถึง 6 เมตรอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการเตรียมพร้อมย่อมไม่ใช่ปัญหา ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่ความเป็นไปได้อย่างที่สาม คือ ความไม่พร้อมของเรือหลวงสุโขทัย 

พิจารณ์หยิบยกข้อมูลจากเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ระหว่างพฤษภาคม 2561 ถึงมกราคม 2564 ที่ชี้ว่าแม้จะทำการซ่อมเสร็จแล้ว แต่ตัวเรือยังมีปัญหาอีกหลายจุด เช่น สมอเรือ มอเตอร์เรือขัดข้อง มาตรวัดแรงดันต่างๆ ใช้งานไม่ได้ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ใช้งานไม่ได้ 1 ตัว จากทั้งหมด 4 ตัว 

ความบกพร่องในการซ่อมเรือหลวงสุโขทัยคือ การซ่อมตัวเรือ โดยเฉพาะตัวเรือส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะถูกน้ำทะเลกร่อนไปเรื่อยๆ โดยการบำรุงรักษาจะต้องทำการเชื่อมเหล็กของตัวเรือให้มีความหนาแน่นตามมาตรฐาน แต่หลายจุดกลับไม่ได้ซ่อม โดยจุดที่สำคัญที่สุดคือ ผนังห้องเครื่องยนต์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งหากมีการแตกร้าว น้ำทะเลจะทะลักเข้ามา ซึ่งพิจารณ์คาดว่านี่เป็นสาเหตุสำคัญของการอับปาง

พิจารณ์ชี้ให้เห็นว่า แม้การซ่อมบำรุงจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ตัวเรือยังไม่มีความพร้อมในหลายจุด ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นการตั้งใจบกพร่องเพื่อหวังการผลประโยชน์จากการซ่อมบำรุงในอนาคตอีกเรื่อยๆ 

“นี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริตในการซ่อม แบ่งกันกินทีละส่วน คนละคำ จนผมชักไม่แน่ใจว่า ตกลงนี่มันเรือรบ หรือขนมเค้กกันแน่”

ทั้งนี้ บริษัทที่เข้ามาทำการบำรุงรักษาเรือ เป็นเพียงบริษัทเอกชนเล็กๆ รายหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และมีพนักงานเพียง 20 คน ซึ่งไม่น่ามีความพร้อมในการซ่อมบำรุงเรือของกองทัพ แต่พิจารณ์ชี้ว่าด้วยความสัมพันธ์อันดีของบริษัทแห่งนี้กับนายพลคนหนึ่งในกองทัพเรือ ทำให้บริษัทนี้ได้งานซ่อมบำรุงเรือของกองทัพอยู่เสมอ

นอกจากนี้ พิจารณ์ยังชี้ให้เห็นถึงวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ได้มองเรือหลวงสุโขทัยในฐานะเรือรบแบบที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่มีการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมรบอยู่เสมอ ส่งผลให้มีความบกพร่องในหลายๆ จุด

“หรือจริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้ต้องไปรบกับใคร แค่เอาไว้แสดงวันเด็ก กับพาผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพออกไปประกอบพิธีลอยอังคารก็พอ สรุปแล้วคือซ่อม โดยไม่ได้สนใจภารกิจป้องกันประเทศเลยใช่ไหม” 

สุดท้าย พิจารณ์ชวนให้จับตามองการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาทำภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งตอนนี้มีบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 30 ราย แสดงความสนใจจะเข้าทำภารกิจครั้งนี้ โดยมีบริษัทจากสหรัฐอเมริกาที่มีความพร้อมสูง เคยทำภารกิจกู้เรือของอินเดีย รวมถึงบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ที่เคยทำการกู้เรือขนส่งสินค้าน้ำหนักกว่า 10,000 ตันมาแล้ว จึงขอให้ประชาชนจับตามองให้ดี ว่าอาจมีบริษัทเอกชนไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คว้างานนี้ไปได้

อ้างอิง

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า