เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ชุมนุม

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่โรมแรมสุโกศล มีกิจกรรม ‘กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: เวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน’ จัดขึ้นโดย Amnesty International Thailand ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ อาทิ มูลนิธิอิสรชน กลุ่มเส้นด้าย และ Mob Data Thailand

ภายในงานมีผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วม 23 คน ผลัดกันขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ผู้สมัครตัวเต็งจากโพลของหลายสำนักเข้าร่วมเกือบครบทุกคน ขาดแต่เพียง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่สละสิทธิ์เนื่องจากติดภารกิจ

ช่วงแรกของกิจกรรมเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้สมัครที่ไม่ได้ถูกวางเป็นตัวเต็ง หรืออาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในสื่อกระแสหลัก ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้รับฟังวิสัยทัศน์ รวมถึงเห็นหน้าค่าตาผู้สมัครให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ 

ผู้สมัครหมายเลข 5 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครคนแรกที่ขึ้นมาบนเวที กล่าวว่า สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญคือนโยบายที่เกี่ยวกับประชากรแฝงต่างๆ เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ “ผมมองว่าทุกวันนี้ เรื่องนี้สำคัญที่สุดและต้องทำพรุ่งนี้ เรื่องผู้สูงอายุที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ ที่จริงนั้นแก้ง่ายๆ เลย คือแค่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันและใช้เทคโนโลยีนิดหน่อย คือเขียนแอพพลิเคชั่นใช้เทคโนโลยีมาเก็บข้อมูลของคนหายและคนที่หลง คือระหว่างคนที่ไปแจ้งคนหายกับคนที่เจอคนหลง เราจะเอาสองเรื่องนี้มาแมทช์กัน ทำได้ไม่เกิน 5 วัน ผมคิดว่าเรื่องคนหายและคนหลงสามารถแมทช์ได้เลย”

ด้านผู้สมัครหมายเลข 9 วัชรี วรรณศรี ที่ก้าวขึ้นเวทีมาก็ขอตอบคำถามของ Mob Data Thailand ในเรื่องสิทธิการชุมนุม “ในกรณีที่ผู้ชุมนุมเป็นเด็กและเยาวชน และต้องการขอพื้นที่ ดิฉันเห็นด้วยค่ะ เนื่องจากว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะถือเป็นสิทธิ สามารถทำได้ค่ะ แต่ดิฉันในฐานะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดิฉันต้องมีเวทีที่ชัดเจนให้กับผู้ชุมนุม ต้องให้ผู้ชุมนุมมีสิทธิ์เข้าถึงและก็ง่ายต่อการที่จะขอเวทีค่ะ และดิฉันก็มีวิธีการที่จะเอื้อให้กับผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ และเรื่องของสถานที่หรืออุปกรณ์ แต่ผู้ชุมนุมก็ต้องมีมาตรการให้ กทม. เช่น การบอกความต้องการว่าจะใช้พื้นที่เท่าไหร่ จำนวนคน และวันเวลาที่ชัดเจน”

ผู้สมัครหมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ผู้ที่เติบโตมาจากชุมชนแออัด กล่าวว่าด้วยเหตุนี้ทำให้ตนเองเป็นผู้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างดี “สิ่งที่จะทำให้ กทม. ก็คือ ผมมีแหล่งเงินทุน มีกลุ่มบริษัทเงินทุน สามารถสร้างบ้านพักรอบ กทม. เลยครับ เป็นตึกเหมือนกับคอนโดฯ ของผู้ร่ำรวย แล้วทำแบบดีเลยนะครับ มีสระว่ายน้ำ มีสนามกีฬา มีตลาด มีโรงเรียน เพื่อให้คนในชุมชนแออัดต่างๆ ได้ย้ายออกไปอยู่ หรือคนเร่ร่อนทั้งหลายได้ไปอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะทำเป็นอันดับแรก ผมจะไปใต้สะพานลอยต่างๆ จัดทีมไปใต้สะพานลอยที่คนเหล่านี้นอนกันเป็นแรมปี เพราะนี่คือสิ่งที่ผมประสบและพบด้วยตัวเอง”

ผู้สมัครหมายเลข 30 พงศา ชูแมน จากพรรคกรีน “ผมคิดว่า กทม. มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สุด เป็นมหานครที่มีสีเขียวน้อยที่สุด ข้อมูลลวงๆ ของ กทม. คือ 6 ตร.ม. ต่อคน นั่นคิดแค่ประชากร 5.7 ล้าน ทั้งที่จริงแล้วคน กทม. รวมทุกคนประมาณ 12 ล้าน เพราะฉะนั้นจะเหลือพื้นที่สีเขียวแค่ 3 ตร.ม. ต่อคน เอาง่ายๆ เลย วันนี้ผมฟังมาไม่มีใครกล้าบอกว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะมันมีกฎหมายโง่ๆ กำกับว่าจะนับเฉพาะพื้นที่สีเขียวของรัฐเท่านั้น กทม. มีพื้นที่สีเขียว 20,000 ไร่ ไม่สามารถเพิ่มจากนี้ได้เพราะติดกรอบกฎหมาย พื้นที่สีเขียวคืออะไร มันก็เป็นพื้นที่ต้นไม้ ดังนั้นต้นไม้ในพื้นที่ของประชาชนก็คือพื้นที่สีเขียวเหมือนกัน พรรคกรีนมีแนวคิดว่าถ้าจากนี้ไปต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจริงๆ ให้นับพื้นที่ของประชาชนด้วย โดยการสร้างแรงจูงใจให้จ่ายค่าตอบแทนตารางวาละ 100 บาทต่อปี”

ผู้สมัครหมายเลข 12 ประยูร ครองยศ อดีตข้าราชการ กทม. “ผมเป็นผู้สมัครคนเดียวในบรรดาผู้สมัครที่อยู่ในบ้านหลังนี้มาสี่สิบปีกับอีกหนึ่งเดือน ถ้าใครก็ตามผ่านการเป็นผู้อำนวยการเขตมา ถือว่ารู้พื้นที่ มีประสบการณ์ รู้งาน รู้ปัญหา”

ต่อมาเป็นผู้สมัครหมายเลข 16 ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุด เริ่มต้นด้วยการสื่อสารเป็นภาษามือ “สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะอายุ เพศ ฐานะอะไร ทุกคนพึงมีเท่าเทียมกันค่ะ และความปลอดภัยก็คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีเช่นกัน แต่เชื่อไหมคะ ว่าคนกรุงเทพฯ ยังต้องหวาดระแวงกับความปลอดภัยต่างๆ จากสถิติ ตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564 พบว่าอาชญากรรมทางด้านทรัพย์สินมีมากถึง 46,000 ราย อาชญากรรมทางด้านร่างกาย รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศมีสูงถึง 16,000 ราย กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัยจริงๆ หรือคะ และนี่คือที่มาของนโยบาย กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน”

หลังจากนั้นมีตัวแทนจากภาคประชาชนและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ขึ้นมาสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และฝากคำถามถึงผู้สมัครแต่ละท่าน เริ่มต้นที่ Mob Data Thailand เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน กลุ่มเส้นด้ายที่พูดถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ต่อมาเป็นมูลนิธิอิสรชนมุ่งไปที่เรื่องการจัดการและสวัสดิการของผู้คนบนถนน ทั้งคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ผู้ป่วยทางจิตเวช ขณะที่ผู้ช่วยอุปนายกฝ่ายกิจการภายในสโมสรนิสิตจุฬาฯ ฝากคำถามว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ภาวะค่าครองชีพ การไล่รื้อชุนชนเก่า จำนวนคนว่างงาน ราคาค่าที่พักของนิสิตนักศึกษาและประชากรแฝง สุดท้ายผู้อำนวยการ Amnesty International Thailand ชวนมองถึงการทำความเข้าใจคำว่าสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำกัดสิทธิ์ เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี แรงงานข้ามชาติ และแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบของเมืองที่ให้สิทธิกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการรับผิดชอบของผู้บริหารจากความเหลื่อมล้ำและการถูกลิดรอนสิทธิ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องสิทธิในการชุมนุมว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากรถสุขา ไฟส่องสว่าง และกล้องวงจรปิด รัฐจะต้องเปิดพื้นที่ของกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ชุมนุม และการจัดเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างเป็นกลาง พร้อมทั้งทำงานร่วมกับนักข่าวพลเมือง

“ผมคิดว่าสังคมต้องการอะไรที่มากไปกว่านั้น จากคนที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องดูแลปกป้องชีวิตของผู้คน ผมขอพูดถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ผมคิดว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกฝ่ายที่เป็นฝ่ายปกป้องรัฐบาล กลับไม่เคยถูกบังคับใช้กฎหมายใดๆ เลย และที่สำคัญที่สุด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ควรจะนำมาใช้กับสายสัญญาณต่างๆ ที่รกรุงรัง หนำซ้ำที่กลับมีการดำเนินคดีกับโพสต์อิท กับกระดาษที่ติดตามที่ต่างๆ แล้วตู้คอนเทนเนอร์ล่ะ แล้วลวดหนามล่ะ พอผู้ชุมนุมไปเก็บลวดหนามกลับถูกดำเนินคดีหาว่าลักทรัพย์สินของทางราชการ 

“ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตู้คอนเทนเนอร์ต่างๆ ที่วางเกะกะ ลวดหนามที่วางแล้วสร้างอันตรายให้กับคนเดินเท้า เราจะต้องไปปรับคนที่ทำอย่างนั้น อีกเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้คือ BTS จะหยุดทำไม การหยุดการเดินรถไฟฟ้า BTS คุณต้องเสียค่าปรับให้กับ BTS ถามว่า กทม. ยังติดหนี้ BTS ไม่พอเหรอครับ และที่ต้องตั้งคำถามเพิ่มก็คือ คุณไปรอนสิทธิ์การเดินทางของคนอื่นทำไม และที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณหยุดการเดินรถ อันตรายจะเกิดกับผู้ชุมนุม คุณหมายจะให้ใครขึ้นไปบนรางเหรอ ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะไม่หยุดการเดินรถเด็ดขาด”

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมาย 3 เริ่มโดยการกล่าวว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่ชื่องาน ‘เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ตรงกับชื่อนโยบายที่ตนแถลงไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่จะรวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิดยันแก่ 

“เรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ ผมพูดตรงๆ ก็คือเห็นด้วยกับการมีสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมอย่างเต็มที่ เพราะอะไรครับ—เพราะผมก็เคยทำมาก่อน หลายท่านก็รู้จักผมจากบทบาทที่เคยชุมนุมเรียกร้องสิทธิของทุกคนมา ผมคิดว่าพื้นที่ ถ้าทำอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือว่าในพื้นที่ที่กำหนดไว้ กทม. ต้องให้ครับ ต้องเปิดให้กับคนที่เขาอยากมาเรียกร้องสิทธิ ตราบเท่าที่กฎหมายให้ทำได้ 

“แต่ถ้ากฎหมายไม่ให้ทำแล้วยังทำ อย่างผมเป็นตัวอย่าง ตัวอย่างที่ไม่ดี ก็ต้องรับผลของการกระทำ ผมก็สู้คดีมา 7-8 ปี กว่าจะหลุดพ้นมาก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ถ้าผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ถ้าไม่ผิดกฎหมายต้องช่วยครับ กทม. สนับสนุนได้ครับ ในเรื่องการเก็บขยะ เรื่องของไฟ เรื่องของห้องน้ำ สิทธิ์ขั้นพื้นฐานเราต้องช่วยเขา ผมยืนยันตรงนั้น 

“และพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ บางครั้งไม่ควรจะเจาะจงทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว ผมยกตัวอย่างสวนสาธารณะ บางครั้งไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างเดียว สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ คนที่อยากขอมาแสดงงานศิลปะ มาจัดแสดงดนตรี สามารถทำได้ในโซนที่ไม่ไปเบียดเบียนคนที่มาใช้สวนสาธารณะ เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องพยายามดึงศักยภาพของสิ่งที่ตัวเองมีออกมาให้ได้มากที่สุด”

ในขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนตรงกับวิสัยทัศน์ที่จะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน 

“คำว่าทุกคนนั้นสำคัญ เพราะเราไม่ได้ดูเฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนเปราะบาง คนแก่ หรือเด็ก เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญของนโยบายเรา เราเน้นการทำเส้นเลือดฝอย หมายความว่าพวกโครงการใหญ่ๆ กทม. มีพอสมควรแล้ว แต่ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่เข้าถึงชุมชน คนตัวเล็กตัวน้อยนี่แหละที่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน 

“เรื่องแรกที่ผมอยากพูดคือการชุมนุม เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ยืนยันนะครับ กทม. ต้องทำสองอย่าง อย่างแรกในการชุมนุมเราต้องอำนวยความสะดวกทุกอย่างเต็มที่เลยครับ เก็บขยะ น้ำดื่ม ห้องน้ำ ความปลอดภัย แพทย์ฉุกเฉิน กล้อง cctv เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าที่ของ กทม. คือดูแลประชาชน ไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นต่างจากเรา หรือต่างจากรัฐบาล กทม. ต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

“อย่างที่สอง กทม. ต้องเตรียมพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมได้ หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่ให้เป็นที่ชุมนุม ถ้ากำหนดแล้วไม่ต้องขออนุญาต กทม. สามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ชุมนุมได้ เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง สวนลุมพินีบางส่วน หรือกระทั่งพื้นที่สาธารณะในทุกเขต คนก็จะจัดการชุนนุมได้ง่ายขึ้น เผลอๆ จัดตลาดข้างๆ ได้ด้วย ให้มันเป็นวัฒนธรรมของการมาพูดคุยกันเมื่อมีความเห็นแตกต่างกัน ไม่ต้องรอให้เป็นเรื่องใหญ่ เริ่มได้จากเรื่องเล็กๆ มีการมาคุยกัน มีการไฮด์ปาร์ค ข้างๆ ก็เป็นตลาดนัด สร้างเศรษฐกิจในเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่ กทม. ทำได้”

อย่างไรก็ตาม เวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่จัดขึ้นครั้งนี้ไม่สามารถใช้สถานที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครตามที่ตกลงไว้ก่อนหน้า แม้ทางหอศิลปฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอนุญาตแล้ว เนื่องจากสำนักงานเขตปทุมวันไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โดยอ้างเรื่องมาตรการโควิด และมาตรการด้านความปลอดภัย ทำให้ผู้จัดงานต้องย้ายไปจัดในสถานที่ปิด 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถชมย้อนหลังทั้งหมดได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Amnesty International Thailand

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า