โรงไฟฟ้าและเขื่อนในลาว สัญญาค่าไฟระยะยาวที่คนไทยต้องร่วมจ่าย

เมื่อประเทศลาวมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็น ‘แบตเตอรีแห่งอาเซียน’ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในท้องถิ่นไม่พ้น ทั้งด้านวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่จะมีการแทรกแซงจากทุนและมหาอำนาจภายนอก โรงไฟฟ้าหงสา เมืองเงินและเมืองหงสาของ สปป.ลาว ซึ่งติดกับพื้นที่ชายแดนจังหวัดน่าน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการหนุนหลังจากทุนไทยข้ามพรมแดนเช่นกัน

นอกจากประเด็นเรื่องมลพิษข้ามพรมแดน และวิถีชีวิตที่แปรผันจากระบบโลจิสติกส์ซึ่งควบคุมโดยทุนใหญ่ ยังมีประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างใกล้ตัวคือ มิติด้านพลังงานไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน โดย ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ชี้ชวนให้เห็นต้นทุนในค่าไฟฟ้าที่อาจสูงเกินรับมือได้ในอนาคต ผ่านข้อมูลวิจัยในงานเสวนา ‘ความเสี่ยงข้ามพรมแดนและการกำกับดูแลอนาคตร่วมกันของอาเซียน: กรณีโรงไฟฟ้าหงสา ชายแดนไทย-ลาว’ เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ไฟฟ้าสำรองล้น ค่าไฟสูงเกินจำเป็น

โรงไฟฟ้าหงสารวมถึงโรงไฟฟ้าและเขื่อนในลาวอีกหลายแห่ง อยู่ภายใต้การผลักดันเพื่อการลงทุนของบริษัทพลังงานในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทั้งที่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับสูงมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากเปรียบเทียบกำลังการผลิตกับจำนวนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม จะเห็นว่าประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไปเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้สูงสุดทั้งประเทศในรอบปี หักลบกับกำลังไฟฟ้าในระบบทั้งหมด จะเหลือกำลังไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ กล่าวคือ จากที่กำหนดไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ กลับมีไฟฟ้าสำรองส่วนเกินอยู่ตั้งแต่ประมาณ 28-40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งในบริบทของพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่อง ‘เกินดีกว่าขาด’ แต่เป็นการลงทุนล้นเกินจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป แล้วปรากฏผลลัพธ์ที่ปลายทางเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน 

ถึงแม้จะมีกำลังไฟฟ้าสำรองส่วนเกินในปริมาณมาก แต่ประเทศไทยก็ยังจะซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากเขื่อนในลาวอีก 4-8 โครงการ หากเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เมื่อสินค้ามีปริมาณมากในตลาดแล้วผู้บริโภคไม่ได้ใช้มากเท่า ย่อมต้องมีราคาต่ำลง แต่ระบบไฟฟ้าไม่เป็นไปตามหลักการนั้น เพราะการซื้อขายไฟฟ้าต้องทำสัญญาผูกมัดถึง 25 ปี เมื่อรัฐไทยเซ็นสัญญาแล้วก็ต้องซื้อไฟฟ้า แม้ว่าคนไทยจะใช้หรือไม่ใช้ไฟฟ้าก็ตาม คนไทยก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าต่อไปโดยไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งถ้าหากเราไม่ต้องการจ่ายค่าไฟในอัตราที่สูงไปเรื่อยๆ ก็มีทางออกให้เลือกอยู่ 2 ทางคือ การแก้ไข MOU ของสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ หรือการเลือกว่าจะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนโครงการใดในจำนวน 4-8 โครงการข้างต้น แต่ทั้งหมดนี้คือการตัดสินใจภายในของกระทรวงพลังงานทั้งสิ้น 

พลังงานหมุนเวียนถูกลง แต่ประเทศไทยยังคงเดินสวนทาง

ในขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ทั้งประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อม มีพลังงานหลายประเภทที่ปล่อยคาร์บอนน้อยและราคาถูกลงเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ทั้งนี้อาจยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น สายส่งไฟฟ้าแรงสูง แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าต้นทุนของโซลาร์เซลล์ยังคงถูกกว่า เนื่องจากรูปแบบการส่งไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์เป็น smart grid ที่ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในชุมชน เมือง หรือประเทศมากขึ้น ในขณะที่ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนต้องส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามประเทศ ทำให้มีต้นทุนที่แพงกว่า 

รายงานขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถูกกว่าถ่านหินโรงใหม่และก๊าซธรรมชาติโรงใหม่ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกแล้ว ณ ปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่จะถูกลงอีกเรื่อยๆ แต่ระบบพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอาจประสบปัญหาการถูก disrupt กล่าวคือ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และอาจถูกกีดกันจากรัฐเนื่องจากรัฐติดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลาวอยู่ เพราะเมื่อคนหันไปลงทุนกับพลังงานทางเลือกและแบตเตอรีที่ราคาถูกลงมากขึ้น จำนวนคนที่หารค่าไฟฟ้ากว่า 20 ล้านรายในประเทศก็ลดลง ทำให้รัฐต้องขึ้นค่าไฟในที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยอาจไปต่อไม่ได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จำนวนมากได้เปลี่ยนไปแล้ว ศุภกิจชี้ว่า อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วกับรถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งประเทศไทยจะกลายเป็นฐานผลิตรถยนต์น้ำมันแหล่งท้ายๆ ในโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว

ระบบกำกับดูแลร่วมกัน ทบทวนสัญญา สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

ระบบไฟฟ้าและพลังงานสามารถมองเป็นภาพใหญ่ในระดับภูมิภาคได้ เนื่องจากความมั่นคงทางพลังงานต้องอาศัยแนวทางกำกับดูแลร่วมกัน (governance) เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งไม่ใช่การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในขณะที่โลกกำลังปรับตัวไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน แม้จะอ้างว่าต้นทุนของเขื่อนในประเทศลาวมีราคาถูกก็ตาม โดยต้องอาศัยกลไกเหล่านี้

  1. ปรับปรุงโรงไฟฟ้าก๊าซที่มีอยู่แล้ว
  2. พัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า
  3. เพิ่มพลังงานหมุนเวียน ก๊าซชีวภาพ ก๊าซชีวมวล และพลังน้ำขนาดเล็ก
  4. ปรับค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลา (Time of Use: TOU)
  5. บริหารจัดการยานยนต์ไฟฟ้า
  6. ลงทุนแบตเตอรี และอื่นๆ

กลไกดังกล่าวต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะหากรัฐยอมปรับค่าไฟฟ้าตาม TOU เป็นช่วงหัวค่ำราคาแพงที่สุด ในขณะที่กลางวันราคาถูก จะทำให้เกิดการปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานไฟฟ้าให้สมดุลกันมากขึ้น โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่สำรองไว้จำนวนมาก รัฐมีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการเพื่อทำให้กลไกดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะทำให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน 

 นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่อยู่ในระบบการกำกับดูแลร่วมกันคือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สัญญาที่ผูกมัดประเทศไทย 25 ปี จะกลายเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างแน่นอน ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาข้าราชการระดับสูง กระทรวงพลังงานและกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีการบริหารจัดการปัญหานี้อย่างชัดเจน อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ผูกขาดการรับซื้อไฟฟ้าและสายส่งของประเทศอยู่ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในการออกแบบระบบกำกับดูแลของประเทศไทยในระยะยาว

สนับสนุนโดย

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า